การตัดสินใจกระทำเช่นนี้ของญาติและแพทย์ พยาบาล ถือว่าเป็นปาณาติบาตหรือไม่? และจะเป็นอกุศลกรรมบถที่ให้ผลกรรมในชาติต่อๆ ไปหรือไม่? คำถามนี้รวมไปถึงการช่วยสัตว์ที่ป่วยหนักคิดว่าจะไม่รอด และเจ้าของต้องฉีดยาให้สิ้นชีวิต เพี่อให้พ้นทรมานด้วยค่ะ
[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 287
องค์ของปาณาติบาตนั้น มี ๕ อย่าง คือ
๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต
๒. ปาณสัญญิตา รู้ว่าสัตว์มีชีวิต
๓. วธกจิตตัง มีจิตคิดฆ่า
๔. อุปักกโม มีความพยายาม
๕. เตนะ มรณัง สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น
ถ้ามีเจตนาให้ผู้ป่วยหรือสัตว์ตายไป และสัตว์นั้นตายด้วยเจตนานั้น เป็นอกุศลกรรมบถข้อปาณาติบาต เมื่อสำเร็จเป็นกรรมบถ ย่อมให้ผลเป็นวิบากในชาติต่อๆ ไปได้ จนกว่าจะดับขันธ์ปรินิพพาน
ถ้าอย่างนี้การถอดเครื่องช่วยหายใจก็ถือว่าเป็นปาณาติบาตใช่หรือเปล่าคะ (ยังงงๆ อยู่ค่ะ)
แพทย์หรือญาติผู้ป่วยคงไม่มีเจตนาฆ่าผู้ป่วยอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นต้องดูที่เจตนานะครับ อีกอย่างหนึ่งผู้ป่วยคงไม่เสียชีวิตทันทีหลังจากการถอดเครื่องช่วยหายใจ ผู้ป่วยมีเหตุที่จะต้องเสียชีวิตอยู่แล้ว ถ้ากรรมไม่ให้ผล จุติจิตก็เกิดไม่ได้เพราะจุติจิตเป็นวิบากจิต
เป็นเรื่องเข้าใจยากและลำบากใจแทนนะคะ ทั้งแพทย์ พยาบาลและญาติๆ คงต้องพยายามช่วยจนทุกวิถีทางแล้ว กว่าจะตัดสินใจอย่างทุกข์ใจพอๆ กัน ก่อนถอดเครื่องช่วยหายใจ โดยเจตนาเพื่อให้พ้นทรมาน คนเรานั้นมักปรารถนาจะให้คนที่รักอยู่ด้วยมากกว่าที่จะให้ตายจากไปค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ