[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 267
๑๐. กาฬิโคธาภัททิยสูตร
ว่าด้วยอุทานว่าสุขหนอๆ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 267
๑๐. กาฬิโคธาภัททิยสูตร
ว่าด้วยอุทานว่าสุขหนอๆ
[๖๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน ก็สมัยนั้นแล ท่านพระภัททิยะพระโอรสของพระราชเทวีพระนามว่า กาฬิโคธา อยู่ในป่าก็ดี อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่เรือนว่างก็ดี ได้เปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ ภิกษุเป็นอันมากได้ฟังท่านพระภัททิยะพระโอรสของพระราชเทวีกาฬิโคธา อยู่ในป่าก็ดี อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่เรือนว่างก็ดี เปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ ครั้นแล้วภิกษุเหล่านั้นได้พากันปริวิตกว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านพระภัททิยะพระโอรสของพระราชเทวีกาฬิโคธา ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์โดยไม่ต้องสงสัย ท่านอยู่ป่าก็ดี อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่เรือนว่างก็ดี คงหวนระลึกถึงความสุขในราชสมบัติเมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์ในกาลก่อน จึงได้เปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ ครั้งนั้นแล ภิกษุเป็นอันมากเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระภัททิยะพระโอรสของพระราชเทวีกาฬิโคธา คงไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์โดยไม่ต้องสงสัย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 268
ท่านอยู่ในป่าก็ดี อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่เรือนว่างก็ดี คงหวนระลึกถึงความสุขในราชสมบัติเมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์ในกาลก่อน จึงได้เปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ.
[๖๕] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสั่งภิกษุรูปหนึ่งว่า ดูก่อนภิกษุ เธอจงไปเรียกภัททิยะภิกษุมาตามคำของเราว่า ภัททิยะผู้มีอายุ พระศาสดาตรัสสั่งให้หาท่าน ภิกษุนั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว เข้าไปหาท่านพระภัททิยะพระโอรสของพระราชเทวีกาฬิโคธา ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระภัททิยะพระโอรสของพระราชเทวีกาฬิโคธาว่า ดูก่อนอาวุโสภัททิยะ พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน ท่านพระภัททิยะพระโอรสของพระราชเทวีกาฬิโคธา รับคำภิกษุนั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามท่านพระภัททิยะพระโอรสของพระราชเทวีกาฬิโคธาว่า ดูก่อนภัททิยะ ได้ยินว่า ท่านอยู่ในป่าก็ดี อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่เรือนว่างก็ดี เปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ ดังนี้จริงหรือ ท่านพระภัททิยะทูลรับว่า จริงพระเจ้าข้า.
พ. ดูก่อนภัททิยะ ท่านเห็นอำนาจประโยชน์อะไรเล่า อยู่ในป่าก็ดี อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่เรือนว่างก็ดี จึงเปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ.
ภ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์เป็นคฤหัสถ์ในกาลก่อน เสวยสุขในราชสมบัติอยู่ ได้มีการรักษาอันพวกราชบุรุษจัดแจงดีแล้ว ทั้งภายในพระราชวัง ทั้งภายนอกพระราชวัง ทั้งภายในพระนคร ทั้งภายนอกพระนคร ทั้งภายในชนบท ทั้งภายนอกชนบท ข้าแต่พระองค์
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 269
ผู้เจริญ ข้าพระองค์นั้นแลเป็นผู้อันราชบุรุษรักษาแล้ว คุ้มครองแล้วอย่างนี้ ยังเป็นผู้กลัว หวาดเสียว ระแวง สะดุ้งอยู่ แต่บัดนี้ข้าพระองค์ผู้เดียว อยู่ป่าก็ดี อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่เรือนว่างก็ดี ไม่กลัว ไม่หวาดเสียว ไม่ระแวง ไม่สะดุ้ง มีความขวนขวายน้อย มีขนตก เป็นไปอยู่ด้วยของที่ผู้อื่นให้ มีใจดุจเนื้ออยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นอำนาจประโยชน์นี้แล อยู่ในป่าก็ดี อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่เรือนว่างก็ดี จึงได้เปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ.
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
ความกำเริบ (ความโกรธ) ย่อมไม่มีจากจิตของพระอริยบุคคลผู้ก้าวล่วงความเจริญและความเสื่อมมีประการอย่างนั้น เทวดาทั้งหลายย่อมไม่สามารถเพื่อจะเห็นพระอริยบุคคลนั้นผู้ปราศจากภัย มีความสุข ไม่มีความโศก.
จบกาฬิโคธาภัททิยสูตรที่ ๑๐
จบมุจจลินทวรรคที่ ๒
อรรถกถากาฬิโคธาภัททิยสูตร
กาฬิโคธาภัททิยสูตรที่ ๑๐ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อนุปิยายํ ได้แก่ ใกล้พระนครอันมีชื่ออย่างนี้.
บทว่า อมฺพวเน ความว่า ในที่ไม่ไกลแต่นครนั้น เจ้ามัลละทั้งหลายได้มีสวนมะม่วงแห่งหนึ่ง ในสวนมะม่วงนั้น เจ้ามัลละทั้งหลายได้สร้างวิหารถวาย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 270
แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า วิหารนั้นเขาเรียกกันว่า อัมพวัน. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำอนุปิยนครให้เป็นโคจรคาม ประทับอยู่ในอัมพวันนั้น. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อนุปิยายํ วิหรติ อมฺพวเน.
บทว่า ภทฺทิโย เป็นชื่อของพระเถระนั้น.
บทว่า กาฬิโคธาย ปุตฺโต ความว่า สักยราชเทวี สากิยานี พระนามว่า กาฬิโคธา เป็นพระอริยสาวิกา บรรลุอริยผลแล้ว เข้าใจศาสนาแจ่มแจ้งแล้ว, พระเถระนี้เป็นบุตรของพระนาม. บรรพชาวิธีของพระเถระนั้นมาในขันธกะนั้นแล. พระเถระนั้น ครั้นบรรพชาแล้วเริ่มตั้งวิปัสสนา ไม่นานนักก็ได้อภิญญา ๖ ท่านสมาทานประพฤติธุดงค์แม้ทั้ง ๑๓. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสถาปนาท่านไว้ในเอตทัคคะในทางผู้มีสกุลสูงว่า ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้สาวกของเราผู้มีสกุลสูง บุตรของพระนางกาฬิโคธา ชื่อว่าภัททิยะ เป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในจำนวนพระสาวก ๘๐ องค์.
ด้วยบทว่า สุญฺาคารคโต ท่านกล่าวว่า เว้นบ้านและอุปจารบ้าน นอกนั้นชื่อว่าป่า, เว้นป่าและโคนไม้เสีย ที่อยู่อาศัยอย่างอื่นมีซอกภูเขาเป็นต้นอันสมควรแก่บรรพชิต ท่านประสงค์เอาว่า สุญญาคารในที่นี้ เพราะไม่แออัดด้วยหมู่ชน. อีกอย่างหนึ่ง แม้เรือนหลังใดหลังหนึ่งที่สงัด ก็พึงทราบว่า สุญญาคาร เพราะไม่มีเสียงที่เป็นข้าศึกต่อฌาน. ผู้เข้าถึงสุญญาคารนั้น.
บทว่า อภิกฺขณํ แปลว่า มากหลาย.
บทว่า อุทานํ อุทาเนสิ ความว่า เพราะท่านผู้มีอายุนั้นแม้เข้าพักผ่อนกลางวันก็ดี เข้าพักผ่อนตอนกลางคืนก็ดี โดยมากให้กาลผ่านไปด้วยสุขอันเกิดแต่ผลสมาบัติ และสุขอันเกิดแต่นิโรธ ฉะนั้น ท่านหมายเอาสุขนั้น จึงเกลียดสุขในราชสมบัติอันมีภัย มีความเร่าร้อน อันตนเคยเสวยในกาลก่อน จึงเปล่งถึงสุข
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 271
อันเกิดพร้อมด้วยโสมนัส มีญาณเป็นสมุฏฐาน มิปีติเป็นสมุฏฐานว่า สุขจริงหนอ สุขจริงหนอ ดังนี้.
บทว่า สุตฺวาน เตสํ เอตทโหสิ ความว่า ภิกษุเป็นอันมากเหล่านั้น ครั้นได้ฟังอุทานของท่านผู้มีอายุเปล่งว่า สุขจริงหนอ สุขจริงหนอ ก็ได้มีปริวิตกดังนี้ว่า ท่านผู้มีอายุนี้เบื่อหน่ายประพฤติพรหมจรรย์โดยไม่ต้องสงสัย จริงอยู่ ภิกษุเหล่านั้นเป็นปุถุชน เมื่อไม่รู้อุทานอันหมายถึงสุขอันเกิดแต่วิเวกของท่านผู้มีอายุนั้น จึงได้ดูหมิ่นอย่างนั้น ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคำว่า นิสฺสํสยํ ดังนี้เป็นต้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิสฺสํสยํ คือ โดยไม่ต้องสนเท่ห์ อธิบายว่า โดยแท้จริง. อาจารย์บางพวกกล่าวบาลีเป็นต้นว่า ยํ โส ปุพฺเพ อคาริยภูโต สมาโน (ท่านเป็นผู้ครองเรือนในกาลก่อน เสวยสุขใด) แล้วพรรณนาอรรถด้วยคำที่เหลือว่า อนุภวิ (เสวย) อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า ยํส. แต่บาลีเป็น ยํส ปุพฺเพ อคาริยภูตสฺส.
ในบทเหล่านั้น บทว่า ยํส ตัดเป็น ยํ อสฺส, เพราะลบ อ อักษรและ ส อักษร ด้วยอำนาจสนธิ เหมือนในประโยคมีอาทิว่า เอวํส เต และว่า ปุปฺผํสา อุปฺปชฺชติ. พึงทราบความหมายของคำนั้นดังต่อไปนี้ ท่านพระภัททิยะนั้น ก่อนแต่บวช เป็นคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนเสวยสุขในราชสมบัติใด.
บทว่า โส ตมนุสฺสรมาโน ความว่า บัดนี้ ท่านหวนระลึกถึงสุขนั้น ด้วยความเบื่อหน่าย.
บทว่า เต ภิกฺขู ภควนฺตํ เอตทโวจุํ ความว่า ภิกษุเป็นอันมากเหล่านั้น ตั้งอยู่ในสภาพกล่าวอวด จึงได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยประสงค์จะอนุเคราะห์ท่าน ไม่ใช่ประสงค์จะยกโทษ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 272
บทว่า อญฺตรํ ได้แก่ ภิกษุรูปหนึ่งผู้ไม่ปรากฏนามและโคตร.
บทว่า อามนฺเตสิ ได้แก่ มีพระประสงค์จะให้ภิกษุเหล่านั้นเข้าใจ จึงมีพระบัญชา.
บทว่า เอวํ ได้แก่ ในการรับพระดำรัส. อธิบายว่า ดังข้าพระองค์ขอวโรกาส.
บทว่า เอวํ ได้แก่ ด้วยการปฏิญญาอีก.
บทว่า อภิกฺขณํ อโห สุขํ อโห สุขนฺติ อิมํ อุทานํ อุทาเนสิ ความว่า รับรู้อุทานของตนว่า ข้อนั้น จงเป็นอย่างนั้น คือ จงเป็นโดยประการที่ภิกษุเหล่านั้นกล่าว.
บทว่า กึ ปน ตฺวํ ภทฺทิย ถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสถาม พระองค์ไม่ทรงทราบจิตของท่านหรือ?
ตอบว่า ไม่ทรงทราบก็หามิได้ ก็เพราะเหตุนั้นนั่นแล พระองค์จึงตรัสถาม เพื่อให้กล่าวเรื่องนั้น แล้วให้ภิกษุเหล่านั้นยินยอม. สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้มีอาทิว่า พระตถาคตทั้งหลายทั้งที่รู้ตรัสถามก็มี ทั้งที่รู้ไม่ตรัสถานก็มี.
บทว่า อตฺถวสํ แปลว่า เหตุ.
บทว่า อนฺเตปุเร ได้แก่ ในภายในพระราชตำหนักอันเป็นที่สัญจรของสาวชาววัง อันเป็นที่ทรงสนาน ทรงเสวย และเป็นที่บรรทมเป็นต้นของพระราชา.
บทว่า รกฺขา สุสํวิหิตา ได้แก่ การคุ้มครองอันพวกราชบุรุษกระทำการรักษาอย่างกวดขัน ได้จัดแจงไว้โดยรอบอย่างดี.
บทว่า พหิปิ อนฺเตปุเร ได้แก่ ในราชตำหนักอันเป็นภายนอกจากภายในพระราชวัง มีหอคอยเป็นต้น.
บทว่า เอวํ รกฺขิโต โคปิโต สนฺโต ความว่า ข้าพระองค์นั้นเป็นผู้อันราชบุรุษหลายร้อยรักษา คุ้มครอง เพื่อความปลอดภัย เพื่อความอยู่สำราญของข้าพระองค์เอง ด้วยการจัดแจง การรักษาป้องกัน และคุ้มครองอย่างดีในที่มากมาย ทั้งภายในและภายนอกพระตำหนักราชธานี ราชอาณาเขต ด้วยประการอย่างนี้.
บทว่า ภีโต เป็นต้น เป็นไวพจน์ของกันและกัน. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ภีโต
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 273
ได้แก่ อันราชศัตรูเกรงกลัว.
บทว่า อุพฺพิคฺโค ได้แก่ เป็นผู้หวาด หวั่นไหวด้วยความหวาดภัยอันเกิดจากการก่อความกำเริบตามปกติ แม้ในราชสีมาอาณาจักร.
บทว่า อุสฺสงฺกี ได้แก่ ระแวงอยู่เป็นเบื้องหน้า ด้วยการไม่วางใจในที่ทุกแห่ง และด้วยความระแวงถึงกิจและกรณียะนั้น เพราะคำพูดว่า ธรรมดาพระราชาไม่ควรไว้วางใจทุกๆ เวลา.
บทว่า อุตฺราสี ได้แก่ สะดุ้งด้วยความสะดุ้งอันสามารถทำให้เกิดตัวสั่นอันเกิดขึ้นว่า ในกาลบางคราว ความพินาศพึงมีแก่เราผู้ไม่รู้ตัวเลย แม้เพราะคนใกล้ชิด. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า อุตฺราโส ดังนี้ก็มี.
บทว่า วิหาสึ ได้แก่ เราเป็นอย่างนี้อยู่.
บทว่า เอตรหิ ได้แก่ บัดนี้ นับตั้งแต่เวลาที่บวชมา.
บทว่า เอโก ได้แก่ ไม่มีเพื่อน, ด้วยบทว่า เอโก นั้น ท่านแสดงถึงความเป็นผู้มีตนหลีกออกแล้ว. พึงทราบอรรถแห่งบทว่า อภีโต เป็นต้น โดยปริยายตรงกันข้ามกับคำที่กล่าวแล้ว. ท่านแสดงถึงจิตวิเวกด้วยคำมีอาทิว่า ความที่ท่านไม่มีความกลัวเป็นต้น เพราะไม่มีการกำหนดจับนิมิตมีภัยเป็นต้น และภัยคือกิเลสอันมีการกำหนดนั้นเป็นนิมิต.
บทว่า อปฺโปสฺสุกฺโก ได้แก่ ปราศจากความขวนขวายในการคุ้มครองร่างกาย.
บทว่า ปนฺนโลโม ได้แก่ ไม่มีขนชูชัน เพราะไม่มีความหวาดเสียวอันทำให้เกิดขนชูชันเป็นต้น. ด้วยบททั้งสอง ท่านแสดงถึงการอยู่อย่างเสรี.
บทว่า ปรทวุตฺโต ความว่า เป็นไปอยู่ด้วยจีวรเป็นต้นที่คนอื่นให้, ด้วยบทนั้น ท่านแสดงถึงการเว้นจากเหตุแห่งภัยโดยเด็ดขาด ด้วยมุข คือ ความไม่มีความติดขัดโดยประการทั้งปวง.
บทว่า มิคภูเตน เจตสา ได้แก่ มีจิตเกิดเป็นเหมือนมฤค เพราะอยู่อย่างโล่งใจ. จริงอยู่ มฤคอยู่ในป่าอันเป็นถิ่นที่ไม่มีมนุษย์
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 274
จะยืนนั่งนอนก็โล่งใจ และก้าวไปตามความปรารถนา เที่ยวไปโดยไม่ติดขัด ท่านแสดงว่า แม้เราก็อยู่อย่างนั้น. สมจริงดังที่พระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
วิญญูชนมุ่งถึงความเสรีภาพ เป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรด เปรียบเหมือนมฤคในป่า ไม่ถูกมัดไว้ เที่ยวหากินไปตามความปรารถนา.
บทว่า อิมํ โข อหํ ภนฺเต อตฺถวสํ ความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ข้าพระองค์เมื่อพิจารณาเห็นเหตุคือสุขอันเกิดแต่วิเวก และสุขอันเกิดแต่ผลสมาบัติอันยอดเยี่ยมนี้เท่านั้น จึงเปล่งอุทานว่า สุขหนอ สุขหนอ.
บทว่า เอตมตฺถํ ความว่า ทรงทราบโดยทุกประการถึงความนี้ กล่าวคือ สุขอันเกิดแต่วิเวกอันล่วงวิสัยปุถุชนของพระภัททิยเถระ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยสฺสนฺตรโต น สนฺติ โกปา ความว่า กิเลสมีราคะเป็นต้น ชื่อว่าทำจิตให้กำเริบ เพราะเป็นเหตุทำจิตให้ฟุ้งขึ้นตามเวลา (และ) ความโกรธมีหลายประเภท ต่างโดยเหตุมีอาฆาตวัตถุเป็นต้น ย่อมไม่มีในภายใน คือ ในจิตของตน จากจิตของพระอริยบุคคลใดชื่อว่าย่อมไม่มี เพราะพระอริยบุคคลละได้ด้วยมรรค. จริงอยู่ อันตรศัพท์นี้ ปรากฏในเหตุ ในประโยคมีอาทิว่า ส่วนเราและท่านเป็นเพราะอะไร. ปรากฏในท่ามกลาง ในประโยคมีอาทิว่า ในสมัยหิมะตกอันตั้งอยู่ในท่ามกลาง. ปรากฏในระหว่าง ในประโยคมีอาทิว่า ระหว่างพระวิหารเชตวันกับกรุงสาวัตถี. ปรากฏในจิต ในประโยคมีอาทิว่า ภัยเกิดจากจิต ดังนี้ก็จริง, แม้ในที่นี้ พึงเห็นอันตรศัพท์ ใช้ในจิตเท่านั้น. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อนฺตรโต อตฺตโน จิตฺเต จากจิต คือ ในจิตของตน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 275
บทว่า อิติ ภวาภวตญฺจ วีติวตฺโต ความว่า เพราะเหตุที่สมบัติชื่อว่า ภพ วิบัติชื่อว่า อภพ. อนึ่ง ความเจริญชื่อว่า ภพ ความเสื่อมชื่อว่า อภพ. อนึ่ง ความเที่ยงชื่อว่า ภพ ความขาดสูญชื่อว่า อภพ. อนึ่ง บุญชื่อว่า ภพ บาปชื่อว่า อภพ. อนึ่ง สุคติชื่อว่า ภพ ทุคติชื่อว่า อภพ. อนึ่ง ภพเล็กชื่อว่า ภพ ภพใหญ่ชื่อว่า อภพ. ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่าเป็นภวาภวะ ภพ อภพ มีประการเป็นอเนก คือ สมบัติ วิบัติ ความเจริญ ความเสื่อม ความเที่ยง ความขาดสูญ บุญ บาป สุคติ ทุคติ และอุปบัติภพน้อยใหญ่. พระอริยบุคคลผ่านพ้น คือ ก้าวล่วงความโกรธนั้น และภพ อภพ ดังกล่าวมาในนัยนั้นๆ ตามความเป็นจริง ด้วยอริยมรรคทั้ง ๔. พึงเปลี่ยนวิภัตติไปตามอรรถ.
บทว่า ตํ วิคตภยํ ความว่า ซึ่งพระขีณาสพนั่น คือ เห็นปานนั้น ผู้ประกอบด้วยคุณดังกล่าวแล้ว ชื่อว่า ผู้ปราศจากภัย เพราะปราศจากเหตุแห่งภัยโดยไม่มีความกำเริบแห่งจิต และโดยก้าวล่วงภวาภวะดังกล่าวแล้ว, ชื่อว่า มีความสุข ด้วยสุขอันเกิดแต่วิเวก และสุขอันเกิดแต่มรรคจิตและผลจิต, ชื่อว่า ผู้ไม่มีความโศก เพราะปราศจากภัยนั่นเอง.
บทว่า เทวานานุภวนฺติ ทสฺสนาย ความว่า อุปบัติเทพแม้ทั้งหมด เว้นผู้บรรลุมรรค แม้พยายามอยู่ก็ไม่ได้ ไม่อาจ ไม่สามารถ เพื่อจะเห็น คือ แลเห็น ด้วยการเห็นโดยการท่องเที่ยวไปแห่งจิต จะป่วยกล่าวไปไยถึงพวกมนุษย์เล่า ก็แม้พระเสขะทั้งหลาย ก็ไม่รู้ความเป็นไปแห่งจิตของพระอรหันต์ได้ เหมือนปุถุชนไม่รู้ความเป็นไปแห่งจิตของพระเสขะแล.
จบอรรถกถากาฬิโคธาภัททิยสูตรที่ ๑๐
จบมุจลินทวรรควรรณนาที่ ๒
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 276
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. มุจจลินทสูตร ๒. ราชสูตร ๓. ทัณฑสูตร ๔. สักการสูตร ๕. อุปาสกสูตร ๖. คัพภินีสูตร ๗. เอกปุตตสูตร ๘. สุปปวาสาสูตร ๙. วิสาขาสูตร ๑๐. กาฬิโคธาภัททิยสูตร และอรรถกถา.