ทบทวนเรื่องของปัจจัย [๒]
โดย พุทธรักษา  27 พ.ย. 2552
หัวข้อหมายเลข 14370

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วันนี้ ของประมวลและสรุปเรื่องของ "อธิปติปัจจัย" อีกครั้ง สำหรับ อธิปติปัจจัย นั้น มี ๒ คือ สหชาตาธิปติปัจจัย ๑ และ อารัมมณาธิปติปัจจัย ๑

ท่านผู้ฟัง ซึ่งเพิ่งมาฟังได้กรุณาแจ้งให้ทราบว่า ยังไม่เข้าใจความหมายของศัพท์บางศัพท์โดยชัดเจน เพราะฉะนั้น ก็จะได้อธิบายความหมายของศัพท์ด้วย

คำว่า สหชาตาธิปติ เป็นคำรวมของ สหชาต และ อธิปติ

สหชาต หมายความว่า เกิดพร้อมกัน เกิดร่วมกัน ได้แก่ จิตและเจตสิก ซึ่งเกิดร่วมกัน.

อธิปติ หมายความถึง สภาพธรรมซึ่งเป็นหัวหน้า หรือเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้น "สหชาตาธิปติ" หมายถึง สภาพธรรมที่สามารถกระทำจิตให้เป็นหัวหน้า หรือเป็นใหญ่ คือ ชักจูงให้สภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วย

ในบรรดาจิตและเจตสิก ซึ่งจะเป็น "สหชาตาธิปติปัจจัย" (อธิบาย) ทีละอย่างนั้น ก็ได้แก่ "ฉันทเจตสิก" เป็น สหชาตธิปติ เพราะเป็นสภาพธรรมซึ่งสามารถเป็นหัวหน้า สามารถชักจูงให้จิตและเจตสิกอื่นเกิดพร้อมตนได้ แล้วแต่ว่าจะเป็น ฉันทะในกุศล หรือ ฉันทะในอกุศล ก็ได้ แต่ให้เห็นว่า ในวันหนึ่งๆ นั้น ขณะที่จิตเกิดขึ้น เพราะมี ฉันทะ คือ สภาพธรรมที่พอใจจะกระทำ ซึ่งจะต้องเข้าใจลักษณะที่ต่างกันของฉันทะ และ โลภะว่า โลภเจตสิก เป็นอกุศลเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ติดยึดมั่นไม่ปล่อยวาง ส่วน "ฉันทเจตสิก" เป็นสภาพธรรมที่พอใจจะกระทำ เพราะฉะนั้น สำหรับ ฉันทเจตสิกนั้นเป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้เป็นวิบากก็ได้ เป็นกริยาก็ได้

นอกจากฉันทเจตสิก เป็นสหชาตาธิปติปัจจัยแล้ว ก็ยังมีวิริยเจตสิก ชวนจิต ๕๒ ประเภท, วิมังสะ คือ ปัญญาเจตสิกอีก ๑ รวมเป็นสภาพธรรม ที่จะเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยได้ มี ๔ ประเภทคือ เจตสิก ๓ ได้แก่ ฉันทเจตสิก ๑ วิริยเจตสิก ๑ ปัญญาเจตสิก ๑ และ ชวนจิต ๕๒ ประเภท



ความคิดเห็น 1    โดย พุทธรักษา  วันที่ 27 พ.ย. 2552

ท่านผู้ฟังบางท่านที่เพิ่งจะรับฟัง อาจจะสงสัยว่าชวนจิตคืออะไร

ชวนะ โดยศัพท์ หมายความถึงแล่น หรือ เร็ว ที่ภาษาไทยใช้คำว่าเชาวน์ ความไว การแล่นไปโดยความเร็ว ซึ่งท่านผู้ฟังคงจะคิดว่าจิตจะแล่นได้หรือ เพราะเหตุว่า จิตทุกขณะเกิดดับๆ มีอายุเท่ากันทุกขณะ อุปาทขณะ ขณะที่เกิดขึ้น ฐีติขณะ-ขณะที่ตั้งอยู่ ภังคขณะคือขณะที่ดับไป จิตทุกขณะ มีอายุเท่ากัน คือ แบ่งเป็นอนุขณะ ๓ ขณะ แต่ว่าสำหรับจิตอื่น เช่น จักขุวิญญาณจิต ที่ทำกิจเห็น เกิดขึ้นขณะเดียวแล้วดับไปจักขุวิญญาณจิต จึงไม่สามารถที่จะแล่นไปในอารมณ์โดยเกิดดับสืบต่อซ้ำกันได้หลายขณะเท่ากับจิตที่เป็นชวนจิต

เพราะฉะนั้น คำว่า "ชวนจิต" ไม่ได้เป็นจิตอื่น แต่เป็นจิตที่ต่างกันขณะที่เป็นโลภะ โมหะ โทสะ คือ ขณะที่เป็นอกุศลจิตบ้าง กุศลจิตบ้างในชีวิตประจำวัน

สำหรับ สหชาตาธิปติปัจจัย หรือว่า ชวนจิต ไม่ใช่จิตอื่น แต่เป็นจิตที่มีอยู่เป็นประจำในชีวิตประจำวัน เพียงแต่โดยศัพท์ ทำให้ไม่เข้าใจว่าหมายความถึงจิตขณะไหน ประเภทไหน แต่ถ้าเข้าใจว่าหมายความถึง ไม่ใช่จิตเห็น ไม่ใช่จิตได้ยิน ไม่ใช่จิตได้กลิ่น ไม่ใช่จิตลิ้มรส ไม่ใช่จิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย คือ ไม่ใช่จักขุวิญญาณจิต ไม่ใช่โสตวิญญาณจิต ไม่ใช่ฆานวิญญาณจิตไม่ใช่ชิวหาวิญญาณจิต ไม่ใช่กายวิญญาณจิต ไม่ใช่สัมปฏิจฉันนจิต ซึ่งเกิดต่อจากจักขุวิญญาณจิต ถ้าเป็นการเห็นทางตา หรือว่า เกิดต่อจากโสตวิญญาณจิต ถ้าเป็นการได้ยินเสียงทางหู หรือว่า เกิดต่อจากฆานวิญญาณจิต ถ้าเป็นการได้กลิ่นหรือว่า เกิดต่อจากชิวหาวิญญาณจิต ในขณะที่ลิ้มรส หรือว่า เกิดต่อจากกายวิญญาณ ในขณะที่กระทบรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส
สัมปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้นขณะเดียวแล้วดับ ไม่ใช่ชวนจิต เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับไปแล้ว สันตีรณจิตเกิดต่อขณะเดียวแล้วดับไปขณะนั้นไม่ใช่ชวนจิต เพราะว่าสันตีรณจิตเกิดขึ้นขณะเดียว กระทำกิจตัดสินอารมณ์ เพื่อกุศลหรืออกุศลที่จะเกิดต่อสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น จิตต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่ชวนจิต แต่ ชวนจิต คือขณะที่เห็นแล้วพอใจเป็นโลภมูลจิต (เป็นต้น) ทุกท่านรู้สึกในสภาพธรรมที่พอใจ เพราะเหตุว่า ขณะนั้นเป็นเพราะโลภมูลจิต ซึ่งทำชวนกิจ เกิดดับสืบต่อกันเท่ากับแล่นไปในอารมณ์ จนปรากฏเป็นความพอใจ.
ข้อความบางตอนจากเทปชุดปัฏฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ ๔

โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์.

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย ups  วันที่ 30 พ.ย. 2552

กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์สุจินต์ และ คุณพุทธรักษา ครับ ซาบซึ้ง


ความคิดเห็น 3    โดย papon  วันที่ 7 ต.ค. 2556

กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์สุจินต์ และ คุณพุทธรักษา ครับ ซาบซึ้งเช่นกันครับ


ความคิดเห็น 4    โดย chatchai.k  วันที่ 8 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ