การปฏิบัติธรรม ปฏิบัติได้ทุกที่ แล้วการออกบวชจะได้เปรียบกว่าอย่างไรครับ
โดย ชะอมทอดกรอบ  6 ม.ค. 2556
หัวข้อหมายเลข 22291

ในชีวิตฆราวาสที่ต้องทำการงาน พบปะผู้คน ทำให้มีโอกาสเจออารมณ์มากระทบได้มาก จึงทำให้มีโอกาสตามดู ตามรู้ความเกิดดับมาก แบบนี้จะได้เปรียบกว่าเพศบรรพชิตไหม แล้วเพศบรรพชิตได้เปรียบกว่าอย่างไรครับ ใช้ชีวิตอยู่กับความสงบจะติดในความสงบไหม



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 6 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทุกขณะ ไม่พ้นไปจากธรรม มีธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอด ไม่เคยขาดธรรมเลย แต่สิ่งที่ขาด และควรแสวงหา ก็คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูก ความเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริง เป็นปัญญาที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ไม่ใช่เรา และปัญญา เป็นธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เหตุที่ทำให้ปัญญาเจริญขึ้นนั้น ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ด้วยความละเอียดรอบคอบ เป็นผู้ตรง จริงใจในการฟังในการศึกษา เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกเท่านั้น

แต่ละบุคคลมีชีวิตเป็นไปตามการสะสม ไม่ว่าจะอยู่ในเพศใดก็ตาม สำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก เห็นประโยชน์ของการอบรมเจริญปัญญา เพราะการอบรมเจริญปัญญา ไม่ได้จำกัดเฉพาะเพศหนึ่งเพศใด ขึ้นอยู่กับว่าผู้นั้นจะเห็นความสำคัญมากน้อยแค่ไหน ถ้าเป็นผู้ประมาทมัวเมา ไม่เห็นประโยชน์ของการอบรมเจริญปัญญา จะอยู่ในเพศใด ก็ไม่ถูก ไม่ควรทั้งนั้น เพราะไม่ได้สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมที่มีจริง ที่ควรจะได้พิจารณา คือ ถ้าเริ่มต้นด้วยความไม่รู้ เริ่มต้นด้วยการไปทำอะไรด้วยความเห็นผิด ด้วยความจดจ้องต้องการ นั่นไม่ใช่หนทางที่จะเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญาเลย

ดังนั้น ความเข้าใจธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเท่านั้น ที่จะเป็นสาระ เป็นประโยชน์ที่แท้จริงสำหรับชีวิต เพราะแต่ะละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง ไม่เหมือนกันเลย ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ทั้งนามธรรมและรูปธรรม การอบรมเจริญปัญญา จึงเป็นเรื่องของบุคคลที่เห็นประโยชน์ของความเข้าใจธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน เป็นการดำเนินไปตามหนทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ หนทางที่จะรู้ความจริง ต้องเริ่มที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ไม่ใช่ว่าพบข้อความใด แล้วจะทำตามอย่างนั้นเลย เป็นไปไม่ได้ เพราะธรรม เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรื่องทำ แต่เป็นสิ่งที่ควรศึกษาให้เข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วก็จะเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ โดยไม่มีตัวตนที่ไปทำอะไรที่ผิดปกติ ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การไปทำปฏิบัติ

ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 6 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เราที่ปฏิบัติ แต่เป็นธรรมฝ่ายดี คือ สติและปัญญา เป็นต้น เกิดปฏิบัติรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเพศบรรพชิต และ เพศคฤหัสถ์ ก็ไม่แตกต่างกันเลย สำหรับอารมณ์ที่มากระทบ มีเท่ากัน คือ 6 ทาง ทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ซึ่งก็แล้วแต่ว่า จิตหลังจากเห็น ได้ยิน เป็นต้นแล้ว จะคิดปรุงแต่งเป็นอย่างไรนั้น ก็แล้วแต่การสะสมมาของแต่ละคน

ดังนั้น การปฏิบัติธรรม สำคัญที่ปัญญาเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะอยู่เพศบรรพชิต หรือ คฤหัสถ์ หากไม่มีปัญญา เพศที่ต่างกันแม้เพศบรรพชิตก็ไม่สามารถให้ปัญญาเจริญได้ หากปราศจากปัญญา และไม่มีการอบรมเหตุที่ถูกต้อง คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในหนทางที่ถูก

แต่หากมีปัญญาความเห็นถูกแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในเพศใด ก็สามารถบรรลุธรรมด้วยกันได้ทั้งสิ้น แต่ในความแตกต่างระหว่างเพศบรรพชิต และคฤหัสถ์ คือ สำหรับเพศบรรพชิต เป็นเพศที่สละทุกสิ่งทุกอย่างจนหมดสิ้น จุดประสงค์ไม่มีอย่างอื่น นอกเสียจากการอบรมปัญญาดับกิเลสทุกประการ ดังนั้น ข้อวัตรปฏิบัติทั้งทางกาย วาจา จึงเป็นการขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง ตามสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะฉะนั้น เมื่อเทียบกัน เมื่อมีปัญญาเท่ากัน ระหว่างเพศบรรพชิต และ เพศคฤหัสถ์ เพศบรรพชิตย่อมจะสละ ละคลายกิเลสมากกว่า ในประการต่างๆ ทั้งมีสิกขาบท เป็นเครื่องกำกับ ให้ละอกุศลทั้งขั้นหยาบ กลางและละเอียดด้วยการเจริญวิปัสสนา เพราะฉะนั้น เพศบรรพชิต จึงอาจเรียกได้ว่า เป็นเพศที่ละอกุศล ดุจสังข์ที่ขัดให้บริสุทธิ์ คือ ขัดจนขาวสะอาดอย่างยิ่ง เพราะมีข้อวัตรปฏิ บัติขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง การบรรลุธรรมของเพศบรรพชิต กับ เพศคฤหัสถ์ ผู้ที่มีปัญญาเท่าๆ กัน เพศบรรพชิตย่อมละ สละกิเลสได้รวดเร็วกว่าเพศคฤหัสถ์ เพราะเพศคฤหัสถ์ ไม่ได้มีสิกขาบทที่ขัดเกลากิเลสอย่างหยาบ และละอกุศลโดยประการทั้งปวง และยังเป็นเพศที่หมกมุ่น ติดข้องในการอยู่ครองเรือน เป็นต้น นี่คือ ความแตกต่างและการได้เปรียบของเพศบรรพชิตที่มีต่อคฤหัสถ์ แต่ต้องไม่ลืมว่า มีรากฐานมาจากมีปัญญา ความเห็นถูกอยู่แล้วเป็นสำคัญ

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้าที่ 538

คฤหัสถ์แม้บรรลุโสดาก่อนก็ฉันนั้น ย่อมเป็นผู้ที่น่าดูด้วยมรรคทัสสนะแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้นแล คฤหัสถ์นั้น ทำตามภิกษุผู้บรรลุโสดาภายหลังก็ดี ผู้มีภาวะอันเที่ยงตรงน่าดู ด้วยมรรคทัสสนะก็ดี ด้วยเชาว์ไม่ได้

ถามว่า ด้วยเชาว์ไหน

ตอบว่า ด้วยเชาว์ คือ วิปัสสนาญาณในมรรคเบื้องสูง เพราะญาณนั้นของคฤหัสถ์เป็นของช้า เพราะความเป็นญาณที่ยุ่ง ด้วยความยุ่งมีบุตรภรรยา เป็นต้น ส่วนญาณของภิกษุเป็นของเร็ว เพราะ ความยุ่งนั้นถูกสางแล้ว เนื้อความนี้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วด้วยบทนี้ว่า ผู้เป็นมุนี สงัดเงียบเพ่งอยู่ในป่า ก็ภิกษุผู้เสกขมุนีนี้ สงัดเงียบด้วยกายวิเวกและจิตวิเวกและเพ่งอยู่ในป่าเป็นนิตย์ ด้วยลักขณารัมมณูปนิชฌานวิเวกและฌานเห็นปานนี้ของคฤหัสถ์ จะมีแต่ที่ไหน ก็อธิบายในคาถานี้ มีเพียงเท่านี้แล.

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ


ความคิดเห็น 3    โดย นิรมิต  วันที่ 7 ม.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย nopwong  วันที่ 7 ม.ค. 2556

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 6    โดย kinder  วันที่ 9 ม.ค. 2556

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย jaturong  วันที่ 10 ม.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 8    โดย chatchai.k  วันที่ 3 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ