จิตลิ้มรส
โดย papon  18 เม.ย. 2557
หัวข้อหมายเลข 24731

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

ฟังพระอภิธรรมพื้นฐานตอนที่ 227 (ถ้าผิดต้องขออภัยครับ) ท่านอาจารย์บรรยายว่า

จิตลิ้มรสส้มว่าหวานในแต่ละครั้งไม่เหมือนกัน เป็นสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ถ้าหวานพอดี อิฏฐารมณ์ก็เกิด หรือหวานเกินไปอนิฏฐารมณ์ก็เกิด หวานเป็นรูป

ในกรณีที่เป็นรสหวานที่พอใจ ขณะนั้นรูปเกิดเป็นรสหวานที่พอดีหรือว่าขณะนั้น จิตลิ้มที่เป็นวิบากเกิดความพอใจเองครับ ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ ขออนุโมทนาครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 18 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อิฏฐารมณ์ กับ อนิฏฐารมณ์ คือ อะไร

อิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าพอใจ หมายถึง อารมณ์ที่ดีปานกลาง เช่น สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่สวยงาม เป็นที่น่าปรารถนาของคนทั่วไป แต่ไม่ถึงกับ ประณีตจนเป็นทิพย์ เป็นอารมณ์ของจิตได้ทั้ง ๔ ชาติ แต่สำหรับชาติวิบาก กรรม จัดสรรให้เฉพาะ "กุศลวิบากที่เกิดจากกุศลกรรมที่ปานกลางเท่านั้น" ที่มีอิฏฐารมณ์เป็น อารมณ์ (กุศลวิบากที่เกิดจากกุศลกรรมที่ประณีต มีอติอิฏฐารมณ์เป็นอารมณ์ อกุศล วิบากซึ่งเกิดจากอกุศลกรรม มีอนิฏฐารมณ์เป็นอารมณ์)

อนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจ หมายถึง อารมณ์ที่ไม่ดี เป็นสภาพที่หยาบทราม ไม่ประณีต เช่น สีที่ซากศพ เสียงด่า กลิ่นเหม็น รสเผ็ดจัด โผฏฐัพพะแข็งไป อ่อนไป ร้อนไป เย็นไป อนิฏฐารมณ์เป็นอารมณ์ของกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต หรือกิริยาจิตก็ได้ แต่สำหรับวิบากจิต อนิฏฐารมณ์เป็นอารมณ์ของอกุศลวิบากเท่านั้น เพราะอกุศลกรรมจัดสรรให้อกุศลวิบากรู้เฉพาะอนิฎฐารมณ์

การประสบกับ อนิฏฐารมณ์ หรือ อนิฏฐารมณ์ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย การไดัรับสิ่งที่น่าปรารถนา เป็นผลของกุศลกรรม แต่ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมแล้ว จะทำให้ได้รับในสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ไม่มีใครทำให้เลย ต้องมาจากเหตุ คือกรรมที่แต่ละคนได้กระทำแล้ว

อารมณ์ที่น่าปรารถนา กับ ไม่น่าปรารถนา เป็นธรรมที่มีจริง โดยที่ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ได้ ถ้าเกิดความยินดี พอใจติดข้องในสิ่งใดหรือ เกิดความไม่พอใจ ในสิ่งใด ขณะนั้นเป็นผู้ถูกกิเลสทั้งหลายครอบงำ แล้ว ที่ติดข้อง ยินดีพอใจ หรือ แม้กระทั่ง ไม่พอใจ นั้น เพราะการได้สั่งสมกิเลสประเภทนั้นๆ มาแล้ว เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย กิเลสก็เกิดขึ้น เป็นธรรม ไม่ใช่เรา

ซึ่งจะเห็นได้ว่าเพราะมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จึงมีการรู้อารมณ์ต่างๆ มี รูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น และโดยปกติของผู้ที่เป็นปุถุชนจะห้ามไม่ให้ติดข้อง จะห้ามไม่ให้ยินดีในสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จะห้ามไม่ให้โทสะเกิดก็เป็นไปไม่ได้ เพราะสะสมมากิเลสประเภทนั้นๆ มาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ฎ์ อีกทั้งยังไม่เห็นโทษของกุศล ยังไม่เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง จึงถูกกิเลสกุศลครอบงำอยู่เป็นประจำ เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย กิเลสก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ส่วนผู้ที่ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาดแล้ว กิเลสย่อมไม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะประสบกับอารมณ์ประเภทใดๆ ก็ตาม ดังนั้น ผู้ที่หมดกิเลสแล้ว กับ สัตว์โลกผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น จึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ครับ

ดังนั้น จิตลิ้มรส ที่รู้รสหวาน จะเป็นอิฏฐารมณ์หรือ อนิฏฐารมณ์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความชอบ ไม่ชอบของเรา แต่ขึ้นอยู่กับสภาพธรรมนั้นครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 18 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เป็นสภาพธรรมที่สั้นแสนสั้น มีอายุเพียงแค่ขณะที่เกิดขึ้น ขณะที่ตั้งอยู่ และขณะที่ดับไปเท่านั้น เมื่อจิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับไปก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ เมื่อกล่าวถึงจิตแล้ว ไม่ใช่ว่าจะต้องมีเฉพาะจิตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีสภาพธรรมอีกประเภทที่เกิดร่วมกับจิต นั้นด้วย เมื่อเกิดร่วมกับจิต ก็ต้องรู้อารมณ์เดียวกันกับจิต ดับพร้อมกับจิต และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็ต้องอาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิตด้วย

จิตลิ้มรส (ชิวหาวิญญาณ) เป็นจิตประเภทหนึ่ง เป็นจิตชาติวิบาก เป็นจิตที่เกิดขึ้ันทำกิจหน้าที่โดยอาศัยลิ้น (ชิวหา) เป็นทางในการลิ้มรส และในขณะนั้นก็ต้องมีรสปรากฏ เป็นอารมณ์ของจิตลิ้มรส จิตลิ้มรสไม่ได้ชอบพอใจในรส เพราะเป็นจิตชาติวิบาก เป็นผลของกรรม มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ เท่านั้น ไม่ได้มีความพอใจเกิดร่วมด้วยเลยในขณะที่กำลังลิ้มรส แสดงให้เห็นถึงความเกิดดับสืบต่อกันของจิต ความพอใจ หรือ ความไม่พอใจ ในรสที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ในขณะที่ลิ้มรส แต่เป็นในขณะต่อๆ มา ที่เป็นอกุศลจิตประกอบด้วยความพอใจ (โลภะ) หรือ ความไม่พอใจ (โทสะ) เป็นเรื่องของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่อย่างแท้จริง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย papon  วันที่ 18 เม.ย. 2557

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

อนิฏฐารมณ์เป็นอารมณ์ของกุศลจิตและอกุศลจิตอย่างไรครับ ขอความกรุณาช่วยยกตัวอย่างด้วยครับ ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย paderm  วันที่ 18 เม.ย. 2557

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

อารมณ์ที่ไม่ดีเป็นอารมณ์ของอกุศล เช่น กลิ่นขยะทำให้เกิดโทสมูลจิต และเป็นอารมณ์ของกุศลก็ได้ เมื่อ กลิ่นขยะเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน ที่เป็นกุศลจิตที่มีปัญญา ขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของกลิ่นที่เหม็นว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ครับ


ความคิดเห็น 5    โดย ประสาน  วันที่ 19 เม.ย. 2557

ขออนุโมทนาในกุศลจิตครับ