รบกวนเรียนถามท่านผู้รู้ครับ
ผมมีความไม่สบายใจอย่างหนึ่ง คือ ได้รับให้ทำหน้าที่ตรวจทานธรรมที่ถอดจากเสียง ของอาจารย์ ที่ท่านเทศน์ทุกวัน (ท่านเป็นพระ ผมเป็นฆราวาส) จากการที่ตรวจทานผมมีเจตนาว่า จะให้ธรรม ที่จะต้องพิมพ์เป็นหนังสือแจกให้ญาติโยม (ซึ่งโดยส่วนตัวผมคิดว่าหนังสือนั้นจะอยู่ไปอีกนานมาก ถ้าธรรมที่พิมพ์ลงไปนั้นผิดเพี้ยน ก็จะทำให้คนรุ่นหลังที่อ่านเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนไปจากความจริง)
ซึ่งจากการตรวจสอบก็มีธรรมบางเรื่อง สอนผิดไปจากหลักพระอภิธรรมโดยผมเทียบเคียงกับพระไตรปิฎก ก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไงดี ถ้าตัดทิ้งทั้งเรื่องก็อาจจะถูกตำหนิจากเจ้าของหนังสือ ว่าหัวข้อนี้หายไปไหน (เพราะการเทศน์ จะเป็นลักษณะเทศน์ให้ฟังคนเดียว แล้วอัดไว้ และนำมาถอดเป็นตัวหนังสือ) โดยส่วนตัวแล้วค่อนข้างทำใจลำบาก เพราะตัวผู้ฟังเทศน์นั้น ค่อนข้างเชื่อครูบาอาจารย์ มากกว่าพระไตรปิฎก และเขาก็เป็นเจ้านายผมด้วย ครั้นจะขอออกตัวไม่ทำก็เกรงว่าจะทำให้เจ้านายไม่พอใจ (แต่ในใจก็คิดว่าอย่างน้อยเราเป็นคนตรวจและแก้ไข คำสอนก็จะผิดเพี้ยนน้อยลง) จึงรบกวนท่านผู้รู้ทุกท่านช่วยชี้แนะด้วยครับ
ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สำคัญที่สุดของการได้พบพระพุทธศาสนา คือ ได้มีโอกาสศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมที่ถูกต้อง เพื่อความเจริญขึ้นของปัญญาและกุศลธรรมประการต่างๆ เมื่อเป็นผู้มีความเห็นถูกในพระธรรมแล้ว ก็เห็นคุณค่าของพระธรรม ที่จะรักษาด้วยการคงไว้ซึ่งพระธรรมที่ถูกต้อง ดังนั้นเมื่อเรามีส่วนในการเผยแพร่พระธรรมแล้ว ก็ควรเผยแพร่ในสิ่งที่ถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัย สิ่งใดไม่ถูกต้อง ไม่ควรเผยแพร่ เพราะเป็นโทษกับตนเอง รวมทั้งผู้อื่นด้วย ก็จะทำให้พระศาสนาอันตรธานเร็วขึ้น เพราะมีคำสอนที่ไม่ตรงตามพระธรรมวินัย และทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดไปด้วย การถูกตำหนิ การถูกไม่ชอบเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่การรักษาพระธรรมเป็นเรื่องที่ประเสริฐสูงสุด หากหลีกเลี่ยงที่จะไม่ทำ งานนี้ได้เป็นการดี แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรเป็นผู้ตรง ด้วยเห็นประโยชน์ในการรักษาพระธรรมวินัย ปรึกษาผู้รู้ ตรวจสอบกับพระไตรปิฎก ตัดในสิ่งที่ไม่ถูกต้องออกไปครับ
เพื่ออะไร เพื่อรักษาคนพูดด้วย จะได้ไม่เผยแพร่สิ่งที่ผิดมากขึ้น รักษาตัวผู้ทำหนังสือเอง (ผู้ถาม) และคนอื่นๆ ที่มาร่วมพิมพ์หนังสือเล่มนี้เพราะจะกลายเป็นบาปไป โดยไม่รู้ตัวเพราะเผยแพร่สิ่งที่ผิด ดังนั้น การทำให้ตรงตามพระธรรม ก็รักษาคนที่ทำหนังสือ และร่วมเงินทำหนังสือด้วย และที่สำคัญที่สุด รักษาพระศาสนา รักษาคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ดำรงยาวนานขึ้นครับ
ซึ่งพระพุทธเจ้าแสดงว่า บุคคลที่มีความเห็นผิดและชักชวนผู้อื่นให้มีความเห็นผิด และผู้ที่ปฏิบัติตาม ก็เป็นบาปมากครับ
[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 192
[๑๙๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ผู้ที่ชักชวนเข้าในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่ว ๑
ผู้ที่ถูกชักชวนแล้วปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ๑
คนทั้งหมดนั้น ย่อมประสบกรรม มิใช่บุญ เป็นอันมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ชั่ว.
และพระองค์ทรงแสดงต่อไปว่า การที่บุคคลเกียจคร้านในธรรมวินัยที่ไม่ดี ย่อมอยู่เป็นสุข เพราะว่าธรรมนั้นกล่าวไว้ไม่ดี ครับ
[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 193
[๒๐๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่เกียจคร้านในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่ว ย่อมอยู่เป็นสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ชั่ว.
ดังนั้น ไม่ควรขยันไม่ควรเผยแพร่ในสิ่งที่ผิดครับ ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม บางทีเราอาจมองการได้รับสิ่งที่ไม่ดีในชาตินี้ เช่น จะถูกว่ากล่าว ถูกตำหนิ ไม่เป็นที่รัก แต่เราลืมสิ่งที่สำคัญที่จะสะสมต่อไปในอนาคต คือ ความเป็นผู้ตรง ถ้าขาดความเป็นผู้ตรงแล้ว ก็จะทำให้ผิดเพี้ยนไป และก็ยากที่จะบรรลุธรรมได้ครับ และผลในอนาคตที่เราเผยแพร่สิ่งที่ผิด ก็จะทำให้เราบาปมาก และก็จะต้องได้รับทุกข์ในอนาคตที่ไม่ดีมากมาย และยังทำให้ชาติต่อๆ ไป ก็จะพบกับคำสอนที่ผิด เพราะเราทำเหตุคือให้สิ่งที่ผิดกับคนอื่น ทำให้ในอนาคตเรามีความเห็นผิดได้ครับ
นี่คืออันตรายที่ยังไม่ถึง มองไม่เห็นในอนาคตครับ เพราะฉะนั้น หากเป็นผู้รักตนจริงๆ ก็ไม่ควรทำสิ่งที่ไม่ดี คือ เผยแพร่ในสิ่งที่ผิด ย่อมผิดในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แม้ตนเองจะต้องถูกว่ากล่าว นั่นเป็นวิบากเพียงเล็กน้อย แต่ไม่คุ้มเลยถ้าจะเผยแพร่สิ่งที่ผิด แล้วทำให้ตัวเองต้องได้รับผลของกรรมที่ไม่ดีในอนาคตและสะสมความไม่ตรงและทำให้ผู้อื่นเห็นผิด และพระศาสนาก็อันตรธานเร็วขึ้นครับ ดังนั้น ที่กล่าวมายากที่จะทำใช่ไหมครับ ยากไม่ใช่เพราะอย่างอื่น หรือ เหตุการณ์แต่ ยากเพราะกิเลสของเราเอง
ขออนุโมทนาครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...
พระอาจารย์สอนผิด
ความคิดเห็นจากท่านผู้หนึ่งครับ ...
ควรคิดพิจารณาว่าเพื่อตัวเอง หรือ เพื่อดำรงพระสัทธรรมไว้ครับ ถ้าเพื่อตัวเอง คือ กลัวไม่เป็นที่รัก หรือกลัวถูกตำหนิ ก็นิ่งซะ หรือเห็นดีด้วย แต่ถ้าเพื่อธรรม ก็คือควรพูดเพื่อความถูกต้อง ที่สำคัญ ไม่ใช่เพื่อเราแต่เพื่อรักษาพระธรรม รักษาบุคคลอื่น ด้วยการให้มีความเข้าใจถูก เพราะฉะนั้น จึงควรกล้าในสิ่งที่ควรกล้า ไม่ควรกล้าในสิ่งที่ไม่ควรกล้า ซึ่งในพระไตรปิฎกแสดงไว้ว่า ถ้าเป็นการลำบาก เพราะบุคคลนั้นเป็นอาจารย์ และอาจทำให้เขาโกรธได้เมื่อพูด แต่ว่าเมื่อพิจารณาแล้วว่าสามารถทำให้เขาออกจากอกุศล เป็นกุศลได้ เธอก็ควรพูด ความลำบากใจหรือการไม่เป็นที่รักเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่การทำให้บุคคลนั้นออกจากอกุศลตั้งอยู่ในกุศลสำคัญกว่า สำคัญที่ประโยชน์ เพราะฉะนั้น เธอก็ควรพูด แต่ถ้าเธอเห็นว่าเขาไม่สามารถออกจากอกุศลได้เพราะเป็นคนดื้อ เธอก็ไม่ควรพูด และไม่ควรละเลยความวางเฉยเสีย.
สำคัญที่เราต้องรู้จักพูด รู้จักกาละ รู้จักว่าพิจารณาว่าเป็นประโยชน์หรือไม่ ประโยชน์ ในที่นี้คือไม่ใช่พูดแล้วเขาไม่โกรธ แต่ประโยชน์คือให้บุคคลนั้นเข้าใจถูกและรักษาพระสัทธรรมไว้ครับ การไม่เป็นที่รักเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ประโยชน์ของผู้อื่นสำคัญกว่า และการรักษาพระสัทธรรมก็ประเสริฐสูงสุด ควรพิจารณาตามที่กล่าวมาว่าควรพูด หรือไม่ควรพูดอย่างไร และเมื่อพูดควรพูดอย่างไรครับ คือ พูดด้วยเมตตา รู้จักกาลและอธิบายเนื้อความตามความเป็นจริง ด้วยเหตุผล โดยวิธีที่ถูกธรรม เป็นไปในทางที่ถูกต้อง สำคัญที่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาจริงๆ ว่า สิ่งใดก็ตามที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามพระวินัย ไม่ควรที่จะประพฤติไม่ควรที่จะกระทำ ไม่ควรให้การสนับสนุนด้วย แม้แต่ในเรื่องของความเข้าใจผิด ที่ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ก็เช่นเดียวกัน ไม่ควรทำ ไม่ควรเผยแพร่ เพราะถ้ากระทำการเผยแพร่ไปแล้ว มีแต่จะทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดมากขึ้น ท่านเปรียบเหมือนกับการกระจายหนาม และ การหว่านยาพิษ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์แก่ใครๆ ทั้งสิ้น และไม่เป็นธรรมทานอีกด้วย เพราะธรรมทาน เป็นการให้ความจริง ให้ความเข้าใจธรรมที่ถูกต้องแก่ผู้อื่น เท่านั้น ไม่ใช่ว่าให้อะไรๆ แล้วจะเป็นธรรมทานทั้งหมด ควรอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้กล้าในทางที่เป็นกุศล รักษาความถูกต้อง รักษาพระธรรมวินัยไว้ ถ้ามีอะไรที่พอจะกราบเรียนให้พระคุณเจ้ารูปนั้นทราบ ก็ควรที่จะกล่าว ควรที่จะบอก ตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงอย่างนี้เป็นสิ่งที่สมควรอย่างยิ่ง ถ้าท่านเห็นด้วยรับฟัง นั่นเป็นการดี แต่ถ้าท่านไม่รับฟัง ไม่ยอมรับในสิ่งที่ถูกต้อง เราก็ควรที่จะพิจารณาว่า สัตว์โลกมีกรรมเป็นของของตน เป็นไปตามกรรม เพราะอกุศลธรรมที่ได้สะสมมามีมากทั้งความไม่รู้ ความเห็นผิด และความสำคัญตน เป็นต้น จึงทำให้เป็นผู้ไม่น้อมมาในสิ่งที่ถูกต้อง
อีกประการหนึ่ง ถ้าเห็นว่าเราไม่ควรที่จะกระทำหรือสนับสนุนในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แล้วก็ควรที่ออกห่างจากสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหล่านั้น อย่างเร็วที่สุด โดยไม่ต้องไปเสียดายอะไรเลยทั้งสิ้น แล้วตั้งใจสะสมแต่สิ่งที่ถูกต้องดีงาม ต่อไป เพราะกุศลธรรม เท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งที่แท้จริงสำหรับชีวิต ไม่ใช่สิ่งอื่น ไม่ใช่ใครอื่น และไม่ใช่อกุศลธรรม ด้วยโดยเฉพาะที่พึ่งที่สูงสุดอย่างยิ่ง คือ ปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูก
ควรที่จะเป็นผู้มีความเพียรยิ่งขึ้นในการที่จะฟัง ที่จะศึกษาพระธรรมต่อไป เพราะบุคคลผู้มีความเพียรในพระธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข เพราะพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง สามารถนำออกจากทุกข์ได้จริง
แต่ละบุคคลล้วนเป็นผู้มาก และหนักไปด้วยอกุศลด้วยกันทั้งนั้น แต่ถ้าเป็นผู้เห็นโทษของอกุศลและเห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ย่อมมีทางที่จะทำให้เป็นผู้อยู่เป็นสุข อันเนื่องมาจากเป็นผู้มีกิเลสที่เบาบางลงจนกระทั่งสามารถดับกิเลสทั้งปวงได้ในที่สุด ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ในพระไตรปิฎกก็มีแสดงไว้ กลองตะโพน พวกกษัตริย์ ได้ตอกลิ่มอื่นลงไป ทำให้โครงเก่าของกลองตะโพนหายไป เปรียบเหมือนคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่มีอรรถอันลึก เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยสุญญตธรรม คนก็ไม่อยากฟัง ไม่ศึกษา แต่จะฟังคำของนักปชาชญ์ หรือสาวกภาษิต ว่าควรศึกษา ควรเรียน
สรุปคือ ถ้าสอนธรรมผิด ไม่สอนดีกว่า เพราะมีโทษมากค่ะ
บ่อยครั้ง ที่ข้าพเจ้าได้เห็นความต่างของ "ความเห็นต่างๆ " ส่วนหนึ่งก็รู้สึกยินดี ที่มีผู้สนใจในพระศาสนา อีกส่วนหนึ่ง รู้สึกอนุโมทนาในความเพียร ในกุศลจิตของท่านผู้ตอบคำถาม ที่ไม่มีเจตนาอื่น นอกจากความเอื้อเฟื้อในธรรม ที่มีให้แก่ "ผู้ไม่รู้" ผู้เห็นประโยชน์ของคำสอนที่ถูกต้องเท่านั้น จึงจะได้ประโยชน์ จากการสนทนาพระธรรม ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้และทรงแสดงไว้ ไม่สาธารณะแก่บุคคลทั่วไปจริงๆ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตและกุศลเจตนาของทุกท่านในความเอื้อเฟื้อ คำสอนที่ถูกต้อง ครับ
ที่จริงถ้าได้เห็นข้อความที่ว่าท่านสอนผิดก็จะดีนะครับ จะได้ช่วยกันพิจารณาเพราะบางครั้งธรรมมะก็มีมากมายหลากหลายพิสดารหลายระดับ แล้วแต่เหตุการณ์, สถานที่และอุปนิสัยของบุคคล แต่ถ้าผิดจริงเราก็น่าจะมีวิธีทำให้ท่านได้สติ เช่น เข้าไปถามท่านว่า ท่านอาจารย์ข้อนี้ผมยังสงสัยอยู่ ยังไม่เข้าใจ ตรงนี้หมายความว่าอย่างไร ขอท่านช่วยอธิบายหน่อย อย่างนี้เป็นต้น ก็น่าจะดีนะครับ.
ขโณ โว มา อุปจฺจคา
ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับขอบคุณท่านอาจารย์ทุกๆ คนที่เอื้อเฟื้อ อธิบายธรรมเสมอมาเพื่อให้เกิความเข้าใจเพิ่มขึ้น รวมถึงขอบคุณสหายธรรมที่ยกคำถามขึ้นมาให้เราร่วมพิจารณาค่ะและ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านด้วยค่ะ
ค่อนข้างเข้าใจและเห็นใจท่านผู้ตั้งหัวข้อนี้ครับ เพราะในหน้าที่การงานที่ผมทำอยู่ก็มีเหตุการณ์ที่ต้องอดทนฟังความเห็นที่คลาดเคลื่อนในธรรมะจากผู้ใหญ่หรือเพื่อนร่วมงานอยู่เสมอ ซึ่งเมื่อก่อนทำให้เครียดมากเพราะจะพูดจะทำอะไรก็ต้องระวัง ด้วยเกรงว่าจะมีผลต่อหน้าที่การงาน
ในช่วงนั้นก็คิดไปว่า คงเป็นเพราะเราเคยเผยแพร่ความเห็นผิดทำให้คนอื่นเข้าใจผิด ชาตินี้จึงต้องมาพบกับผู้ที่หวังดีกับเราแต่มีความเห็นผิด คิดแล้วก็ยังทุกข์ใจ
เมื่อฟังธรรมต่อมาเรื่อยๆ ความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น ความหวั่นไหวต่างๆ ค่อยๆ ลดลงไปตามลำดับ จนในทุกวันนี้ หากมีผู้แสดงความเห็นผิด และเรามีโอกาสแสดงความคิดเห็น ก็จะไม่ลังเลที่จะชี้แจงหลักธรรมที่ถูกต้องกับท่านผู้นั้นและผู้ฟังคนอื่นๆ โดยไม่ได้พูดด้วยความไม่พอใจ หากแต่เข้าใจว่าสิ่งที่เราอธิบายนั้นจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงสำหรับทุกคน
ขอเป็นกำลังใจให้ท่านผู้ตั้งหัวข้อ และขอให้เจริญปัญญาด้วยการฟังต่อไป เพราะความเข้าใจในธรรมะเท่านั้น ที่จะช่วยให้เราพบทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมและเป็นไปตามหลักธรรมที่ถูกต้องครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาอย่างยิ่ง ครับ.
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
กราบอนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ