[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 28
อรรถกถาสูตรที่ ๕
ประวัติพระธรรมทินนาเถรี
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 33]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 28
อรรถกถาสูตรที่ ๕
๕. ประวัติพระธรรมทินนาเถรี
ในสูตรที่ ๕ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
ด้วยบทว่า ธมฺมกถิกานํ ท่านแสดงว่า พระธรรมทินนาเถรีเป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกา ผู้เป็นธรรมกถึก.
ได้ยินว่า ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านบังเกิดในสถานของคนที่ต้องอาศัยเขา กรุงหังสวดี ทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไปแก่ท่านพระสุชาตเถระ อัครสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระแล้ว ปรารถนาตำแหน่งนั้น ท่านทำกุศลจนตลอดชีวิต บังเกิดในสวรรค์. ทุกอย่างพึงทราบ โดยอำนาจอภินิหารของพระเขมาเถรี ในหนหลัง. ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปุสสะ นางก็อยู่ในเรือนของคนทำงาน ที่ถูกแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งเป็นใหญ่ในเรื่องทานของ
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 29
สามพี่น้องต่างมารดากัน ถูกสั่งว่า จงให้หนึ่ง แต่ก็ให้เสียสอง. นางถวายทานทุกอย่างไม่ลดลงเลยอย่างนี้ ล่วงกัปที่ ๙๒ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ ถือปฏิสนธิในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้ากิงกิ เป็นราชธิดาพระองค์หนึ่งระหว่างพระพี่น้องนาง ๗ พระองค์ ประพฤติพรหมจรรย์ถึง ๒๐,๐๐๐ ปี สร้างบริเวณที่อยู่ถวายพระภิกษุสงฆ์ เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์พุทธันดรหนึ่ง ในพุทธุปบาทกาลนี้ ถือปฏิสนธิในครอบครัวหนึ่ง.
ภายหลัง นางมีเรือน เป็นภริยาของวิสาขเศรษฐี. ธรรมดาว่า วิสาขเศรษฐีเป็นพระสหายของพระเจ้าพิมพิสาร ไปเฝ้าพระทศพลครั้งแรกกับพระเจ้าพิมพิสาร ฟังธรรมแล้วดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ต่อมาก็กระทำให้แจ้งพระอนาคามิผล. วันนั้น วิสาขเศรษฐีนั้นกลับบ้านแล้ว เมื่อนางธรรมทินนาผู้ซึ่งยืนที่หัวบันไดยื่นมือมา ก็ไม่เกาะมือไว้ ขึ้นปราสาทเลย แม้กำลังบริโภคก็ไม่สั่งว่า จงให้สิ่งนี้ จงนำสิ่งนี้มา นางธรรมทินนาถือทัพพีเลี้ยงดูอยู่คิดว่า เศรษฐีนี้เมื่อเรายื่นมือให้เกาะก็ไม่เกาะ. เมื่อบริโภคก็ไม่พูดจาอะไร เรามีโทษผิดอะไรหรือหนอ ครั้นเศรษฐีบริโภคแล้ว นางจึงถามว่า พ่อลูกเจ้า ฉันมีโทษผิดอะไรหรือ. เศรษฐีกล่าวว่า ธรรมทินนา เจ้าไม่มีโทษผิดดอก แต่นับแต่วันนี้ไป ฉันไม่ควรนั่ง ไม่ควรยืน ไม่ควรให้นำอาหารมาเคี้ยว มากินใกล้ๆ เจ้าด้วยความชื่นชมได้ดอก ถ้าเจ้าประสงค์ทรัพย์เท่าใด จงเอาไปเท่านั้น กลับไปครอบครัวเดิมเสียเถิด. นางกล่าวว่า พ่อลูกเจ้า เมื่อเป็นเช่นนี้ ดิฉันก็จักไม่เอาศีรษะเทินหยากเยื่อซึ่งเปรียบเหมือนน้ำลายที่ท่านทิ้งแล้วเที่ยวไปได้. ขอได้โปรดอนุญาตให้ดิฉันบวชเถิด. วิสาขเศรษฐีกล่าวว่า
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 30
ดีละ ธรรมทินนา แล้วกราบทูลพระราชา เอาวอทองส่งนางธรรมทินนาไปสำนักภิกษุณีเพื่อบวช. นางบวชแล้วคิดว่า แต่ก่อนเศรษฐีนี้ก็อยู่กลางเรือน ยังทำที่สุดทุกข์ได้ นับแต่ได้บวชแล้ว แม้เราก็ควรจะทำที่สุดทุกข์ได้ จึงเข้าไปหาอุปัชฌาย์อาจารย์กล่าวว่า พระแม่เจ้า จิตของดิฉันน้อมไปในสถานที่เคยไปบ่อยๆ ดิฉันจะไปยังอาวาสใกล้บ้าน. พระเถรีทั้งหลายไม่อาจห้ามจิตของนางได้ ด้วยความที่นางออกจากสกุลใหญ่ จึงพานางไปยังหมู่บ้าน. เพราะเหตุที่นางย่ำยีสังขารได้ในอดีตกาล ไม่นานนัก นางก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา
ครั้งนั้น พระธรรมทินนาเถรีดำริว่า กิจของเราถึงที่สุดแล้ว อยู่ในที่นี้จักทำอะไร จำเราจะไปกรุงราชคฤห์ หมู่ญาติเป็นอันมากอาศัยเรา ในที่นั้นจักทำบุญทั้งหลายกัน. แล้วก็พาพระเถรีทั้งหลายกลับสู่พระนคร. วิสาขอุบาสกรู้ว่านางกลับมาก็รีบไป สงสัยว่า นางคงจักกระสันกระมัง เวลาเย็นก็เข้าไปสำนักนาง ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง คิดว่า จะถามถึงภาวะที่นางกระสันไม่สมควร จึงถามปัญหาด้วยอำนาจปัญจขันธ์เป็นต้น. พระธรรมทินนาเถรีก็วิสัชนาปัญหาที่วิสาขอุบาสกถามแล้ว เหมือนเอาพระขรรค์ตัดก้านบัวฉะนั้น. อุบาสกรู้ว่า พระธรรนทินนาเถรีมีญาณกล้า จึงถามปัญหาโดยอาการทุกอย่างในมรรค ๓ ตามลำดับ ในฐานะที่ตนบรรลุแล้ว ทั้งยังถามปัญหาในอรหัตตมรรค โดยอำนาจการเล่าเรียน พระธรรมทินหาเถรีก็รู้ว่า อุบาสกมีวิสัยเพียงอนาคามิผลเท่านั้น คิดว่า บัดนี้ อุบาสกจักแล่นเกินวิสัยของตนไป จึงทำให้อุบาสกนั้นกลับ กล่าวว่า ท่านวิสาขะ ท่านยังไม่อาจกำหนดที่สุดแห่งปัญหาทั้งหลายได้ ท่านวิสาขะ ก็ท่านยังจำนงหวังพรหมจรรย์ที่หยั่งลงสู่พระ-
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 31
นิพพาน มีพระนิพพานเป็นเบื้องหน้า มีพระนิพพานเป็นที่สุด ท่านวิสาขะ ท่านจงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลถามความข้อนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์อย่างไร ก็พึงทรงจำไว้อย่างนั้น. วิสาขอุบาสกเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ก็กราบทูลนัยแห่งปุจฉาและวิสัชนาถวายทุกประการ. พระศาสดาทรงสดับคำของวิสาขอุบาสกนั้นแล้วตรัสว่า ธิดาของเราไม่มีตัณหาในขันธ์ทั้งหลาย ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต แล้วตรัสพระคาถาในพระธรรมบท ดังนี้ว่า
ยสฺส ปุเร จ ปจฺฉา จ
มชฺเฌ จ นตฺถิ กิญฺจนํ
อกิญฺจนํ อนาทานํ
ตมหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ.
ผู้ใดไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ทั้งก่อน ทั้งหลัง ทั้งกลาง เราเรียกผู้นั้นซึ่งไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่ยึดมั่น ว่าเป็นพราหมณ์ ดังนี้.
แต่นั้น ก็ประทานสาธุการแก่พระธรรมทินนาเถรี แล้วตรัสกะวิสาขอุบาสกว่า ดูก่อนวิสาขะ ธรรมทินนาภิกษุณีเป็นบัณฑิต ธรรมทินนาภิกษุณีมีปัญญามาก ดูก่อนวิสาขะ ถ้าแม้ท่านพึงถามความข้อนั้น ถึงเราก็พึงพยากรณ์ความอย่างนั้น เหมือนอย่างที่ธรรมทินนาภิกษุณีพยากรณ์ไว้แล้ว ความของข้อนั้นก็เป็นอย่างนั้น ท่านจงทรงจำความข้อนั้นไว้อย่างนั้นเถิด. เรื่องนี้ตั้งขึ้นด้วยประการฉะนี้. ต่อมาพระศาสดาประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร เมื่อทรงสถาปนาเหล่าภิกษุณีไว้ในตำแหน่งต่างๆ ตามลำดับ ทรงนำจูฬเวทัลลสูตรนี้นี่แลให้เป็นอัตถุปปัตติ เหตุเกิดเรื่อง จึงทรงสถาปนาพระเถรีไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณี
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 32
สาวิกา ผู้เป็นธรรมกถึก ในพระศาสนานี้ แล.
จบอรรถกถาสูตรที่ ๕