ชีวิตที่ยังมีโลภะ ไม่มั่นคงอย่างไร?
โดย เมตตา  23 ส.ค. 2567
หัวข้อหมายเลข 48343

สนทนาปัญหาธรรม วันอังคารที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๗

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ หน้า 283-284

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"ต้นไม้ เมื่อรากไม่มีอันตราย ยังมั่นคง ถึงบุคคลตัดแล้ว ย่อมงอกขึ้นได้อีกทีเดียว แม้ฉันใด, ทุกข์นี้ เมื่อตัณหานุสัย อันบุคคลยังขจัดไม่ได้แล้ว ย่อมเกิดขึ้นร่ำไป แม้ฉันนั้น. กระแส (แห่งตัณหา) ๓๖ อันไหลไปในอารมณ์เป็นที่พอใจ เป็นธรรมชาติกล้า ย่อมมีแก่บุคคลใด, ความดำริทั้งหลายอันใหญ่ อาศัยราคะย่อมนำฉุดบุคคลนั้น ผู้มีทิฏฐิชั่วไป. กระแส (แห่งตัณหาทั้งหลาย) ย่อมไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง ตัณหาดุจเถาวัลย์แตกขึ้นแล้วย่อมตั้งอยู่, ก็ท่านทั้งหลายเห็นตัณหานั้น เป็นดังเถาวัลย์เกิดแล้ว จงตัดรากเสียด้วยปัญญาเถิด. โสมนัสทั้งหลายที่ซ่านไปและเปื้อนตัณหาดุจยางเหนียว (๑) ย่อมมีแก่สัตว์, สัตว์ทั้งหลายนั้น อาศัยความสำราญ จึงเป็นผู้แสวงหาความสุข, นระเหล่านั้นแล ย่อมเป็นผู้เข้าถึงซึ่งชาติชรา. หมู่สัตว์อันตัณหาผู้ทำความดิ้นรนล้อมไว้แล้ว ย่อมกระเสือกกระสน เหมือนกระต่ายอันนายพรานดักได้แล้วฉะนั้น, หมู่สัตว์ผู้ข้องอยู่ในสังโยชน์และกิเลสเครื่องข้อง ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อยๆ อยู่ช้านาน. หมู่สัตว์อันตัณหาผู้ทำความดิ้นรนล้อมไว้แล้ว ย่อมกระเสือกกระสนเหมือนกระต่ายที่นายพรานดักได้แล้ว ฉะนั้น. เพราะเหตุนั้น ภิกษุหวังธรรมเป็นที่สำรอกกิเลสแก่ตน พึงบรรเทาตัณหาผู้ทำควานดิ้นรนเสีย."


อ.อรรณพ: ยิ่งได้ฟังได้ศึกษา ขั้นฟัง ขั้นไตร่ตรอง ก็ยิ่งเห็นความมากมายของโลภะ ที่มีอาการต่างๆ ไม่ว่า อะไรก็ยึดเอาไว้ ผูกเอาไว้ อะไรเต็มที่ทุกอย่างมากมายตามการอธิบายอาการของโลภะเยอะที่สุด และก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ

แล้วท่านอาจารย์ถามว่า มีทางรอดไหม? โลภะเกิดขึ้นทันที แต่ความเข้าใจเกิดสลับบ้างว่า เป็นจริงอย่างนั้น เพราะรู้ว่า จะวิงวอนขอร้องใครให้ช่วยปล่อยไปจากโลภะ ก็เป็นไปไม่ได้เลย ท่านอาจารย์มีเมตตามากมาย แต่เราก็ไม่สามารถจะกราบวิงวอนให้ท่านอาจารย์ปล่อยพวกผมไปจากโลภะที แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่สามารถที่จะไปให้ใครรอดจากโลภะไปได้

เพราะฉะนั้น ทางรอดจากโลภะเป็นทางที่ละเอียดลุ่มลึกมาก เพราะว่า แม้ที่จะคิดหาทางออกจากโลภะ ก็เป็นโลภะเสียแล้ว ยิ่งวนวกเข้าไปในหลุมโลภะเข้าไปอีก ความลุ่มลึกของโลภะเห็นได้ยากจริงๆ

อ.ธีรพันธ์: ได้ยินท่านอาจารย์สนทนาธรรม ประโยชน์แต่ละคำๆ บางทีก็พูดถึงความติดข้องต้องการ ส่วนใหญ่ก็ดูเหมือนว่าเป็นโทษ โลภะนี่ ชื่อมันไม่ค่อยดี แต่เวลาเกิดขึ้นจริงๆ คือไม่ใช่เพียงไม่ชอบชื่อ แต่เวลาเกิดขึ้นจริงๆ ชอบ อยากจริงๆ

ท่านอาจารย์: ขอโทษนะคุณธีรพันธ์ โลภะ ชื่อไม่ดีเลยหรือ? สลิตา เพราะไหม?

อ.ธีรพันธ์: ก็มีเพราะครับ บางชื่อก็เพราะ บางชื่อก็ดูไม่ค่อยเพราะครับ

อ.อรรณพ: วิ สัตติกา ก็เพราะนะครับ

[เล่มที่ 52] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ หน้า 314-315

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บทว่า วิสตฺติกํ คือ ตัณหา. ก็ตัณหานั้น ท่านเรียกว่า วิสัตติกา เพราะอรรถว่า แผ่ซ่านไป, เพราะอรรถว่า กว้างขวาง, เพราะอรรถว่า หลั่งไหลไปทั่ว เพราะอรรถว่า ไม่อาจหาญ, เพราะอรรถว่า นำไปสู่สิ่ง มีพิษ. เพราะอรรถว่า หลอกลวง. เพราะอรรถว่า มีรากเป็นพิษ, เพราะอรรถว่า มีผลเป็นพิษ, เพราะอรรถว่า บริโภคเป็นพิษ, ก็อีก

อย่างหนึ่ง ตัณหานั้น ที่กว้างขวางใหญ่โต ท่านเรียกว่าวิสัตติกา เพราะ อรรถว่า แพร่กระจายไป ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมะ ตระกูล และหมู่คณะ.

บทว่า ปปญฺจสงฺฆาตทุขาธิราหินึ ความว่า ชื่อว่า ปปัญจะ เพราะ อรรถว่า ทำความสืบต่อแห่งสัตว์ในสงสารให้ชักช้า คือให้ยืดยาว ได้แก่ ราคะเป็นต้น และได้แก่มานะเป็นต้น. ปปัญจธรรมทั้งหลายเหล่านั้นนั่น แล ชื่อว่า สังฆาตา เพราะอรรถว่า รวบรวมทุกข์ที่เกิดขึ้นไว้, และ ชื่อว่าทุกข์ เพราะมีสภาวะกระวนกระวายและเร่าร้อน เหตุนั้น จึงชื่อว่า ปปัญจสังฆาตทุขาธิวาหินี เพราะนำมาเฉพาะ คือ เพราะเกิดความทุกข์ที่ รวบรวมไว้ซึ่งธรรมเครื่องเนิ่นช้า. บทว่า ตณฺหํ ปหนฺตฺวาน ได้แก่ ตัด ได้เด็ดขาดซึ่งตัณหานั้น ด้วยอริยมรรค.


ท่านอาจารย์: ชื่อก็เพราะ สภาพก็น่ายินดี

อ.ธีรพันธ์: ชอบชื่อ สมชื่อครับ

ท่านอาจารย์: ไม่ใช่ชื่อค่ะ ไม่ใช่เรียกชื่อ ถ้าชอบก็โลภะนั่นแหละ ไม่ต้องเรียกว่าอะไรแล้ว

อ.อรรณพ: เมื่อวานก็สนทนากันเรื่อง ความมั่นคงในชีวิต ครับ โลภะนี่ โดยสภาพเป็นสภาพที่ติดข้องพอใจ มีหลายชื่อ อย่างเช่น นันทิ ความยินดี พอใจ เพลิดเพลินมากมาย อะไรต่างๆ เหล่านี้ กราบเท้าท่านอาจารย์ว่า ชีวิตที่ยังมีโลภะ ไม่มั่นคงอย่างไร

ท่านอาจารย์: มั่นคง หมายความว่าอะไร?

อ.อรรณพ: มั่นคง ก็หมายความว่า ไม่หวั่นไหวครับ

ท่านอาจารย์: ย้่งยืนหรือเปล่า?

อ.อรรณพ: มั่นคงยั่งยืนครับ

ท่านอาจารย์: ไม่เปลี่ยนหรือเปล่า?

อ.อรรณพ: ไม่เปลี่ยนครับ ถ้ามั่นคง ไม่เปลี่ยนแปรผัน ยั่งยืน คำว่ามั่นคงต้องเป็นอย่างนั้นครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น คนที่มั่นคงแล้ว เกรงว่ามีเรา มีไหม?

อ.อรรณพ: มีครับ

ท่านอาจารย์: แต่มีใช่ไหม?

อ.อรรณพ: มีครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงความมั่นคง ทุกคนก็หมายความว่าปลอดภัยจากอันตราย พ้นจากอันตรายใช่ไหม?

อ.อรรณพ: ใช่ครับ

ท่านอาจารย์: แล้วรู้จักอันตรายแล้วหรือยัง?

อ.อรรณพ: ไม่รู้ครับ

ท่านอาจารย์: แล้วจะไปมั่นคงได้อย่างไรล่ะ

อ.อรรณพ: ก็อยู่กับสิ่งที่เป็นอันตราย

ท่านอาจารย์: ก็เป็นคำพูดง่ายๆ ธรรมดาของชาวโลกที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจอะไร รู้แต่ว่า ถ้ามีชีวิตที่มั่นคง ปลอดภัย ไร้ทุกข์ อะไรต่างๆ ก็ว่ากันไป แต่ว่า ไม่ได้เข้าใจความจริงเลยว่า มั่นคงที่นี่ มั่นคงอย่างไรที่ประเสริฐ ไม่ใช่มั่นคงในทางที่ไม่รู้อะไร เหมือนเดิม

อ.อรรณพ: กราบเท้าท่านอาจารย์ได้กรุณาแสดง ความมั่นคงที่ประเสริฐที่จะย่างยืนจริงๆ คืออย่างไร ครับ

ท่านอาจารย์: สิ่งที่มีจริงเป็นจริงตามลักษณะของสิ่งนั้น ไม่เปลี่ยน แค่นี้ เชื่อไหม?

อ.อรรณพ: ไตร่ตรองแล้วก็เข้าใจตามอย่างนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ท่านอาจารย์: ใครจะเปลี่ยน เห็น ให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม?

อ.อรรณพ: เป็นไปไม่ได้

ท่านอาจารย์: มั่นคงไหม?

อ.อรรณพ: มั่นคง ที่ฟังแล้วเข้าใจ

ท่านอาจารย์: ไม่มีหนทางอื่นที่จะรู้ว่า เห็น เดี๋ยวนี้ความจริงคืออะไร จนกว่าจะรู้ว่า มีหนทางที่จะรู้ และอะไรขณะนั้นมั่นคง

ฟังธรรมแล้วมั่นคงไหม หรือว่า ฟังธรรมก็ยังเหมือนเดิมไม่มั่นคงเลย เดี๋ยวเปลี่ยนเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวเปลี่ยนเป็นอย่างนี้ มั่นคงหรือเปล่า?

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

เหมกปัญหาที่ ๘ ว่าด้วยเรื่องกําจัดตัณหา

โลกอันตัณหาดักไว้

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

ยังไม่เป็นไท

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 24 ส.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตครับ