ความจำ / ความคิดนึก คือ ธรรมะใด
โดย ใหญ่ราชบุรี  16 ต.ค. 2556
หัวข้อหมายเลข 23867

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต

อะระหะโต สัมมา สัมพุทธธัสสะ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

ขอเรียนถาม เพื่อความรู้ความเข้าใจ ทั้งแบบเป็น หรือไม่เป็นวิชาการ ดังนี้ นะคะ

๑. ธรรมใดบ้าง ทำหน้าที่ “คิดนึก” ธรรมใดบ้าง ทำหน้าที่ “จำ”

๒. ลักษณะธรรมนั้น มีกี่ประเภท หรือ กี่ลักษณะ หรือไม่ประการใด

๓. ธรรมใดเป็นเหตุให้เกิด “ความคิดนึก” และ “ความจำ”

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาสำหรับคำอธิบายและกุศลทุกประการของทุกๆ ท่านค่ะ ด้วยความเคารพ จาก ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี (ใหญ่ราชบุรี)



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 16 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. ธรรมใดบ้าง ทำหน้าที่ “คิดนึก” ธรรมใดบ้าง ทำหน้าที่ “จำ”

วิตกเจตสิก วิตกเจตสิก เป็นสภาพธรรม ที่ทำหน้าที่ ตรึกนึกคิดด้วย และเป็นสภาพธรรมที่จรดในอารมณ์ ด้วยครับ ส่วน สัญญาเจตสิก ทำหน้าที่ จำ

๒. ลักษณะธรรมนั้น มีกี่ประเภท หรือกี่ลักษณะ หรือไม่ประการใด

วิตก มีลักษณะ คือ ตรึก และจรดในอารมณ์ ซึ่งขณะที่เป็นกุศลจิต เช่น ไม่ติดข้องออกจากกาม ก็มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย และก็มีวิตกเจตสิก ทำกิจหน้าที่ ตรึก นึกคิด นึกคิดที่จะออกจากกาม ซึ่งเราก็คงจะเคยได้ยินใช่ไหมครับว่า เนกขัมมะวิตก คือ การตรึกนึกคิดที่จะออกจากกาม ซึ่ง การคิดในทางที่ดี ก็มีแสดง ไว้ ๓ ประการ คือ

1. เนกขัมมะวิตก ความคิดที่จะออกจากกาม

2. อพยาปาทะวิตก ความคิดที่ตรึกที่จะไม่พยาบาท ปองร้าย

3. อวิหิงสาวิตก ความคิดที่ตรึกที่จะไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย

ส่วน วิตกในทางที่ไม่ดี ก็มี ๓ ประการ คือ

1. กามวิตก

2. พยาปาทะวิตก

3. วิหิงสาวิตก

ส่วนวิตกเจตสิกที่เกิดกับจิตประเภทอื่นๆ ก็ทำกิจหน้าที่ จรดในอารมณ์นั้น ครับ จะเห็นถึงความละเอียดของวิตกเจตสิก ที่เปรียบเหมือนเท้าของโลก ให้ตรึก นึกคิดเรื่อยไป ในทางกุศล และ ในทางอกุศลด้วย ครับ ดังนั้น ขณะที่เป็นกุศลจิต ก็มีสติที่ทำหน้าที่ระลึกเป็นไปในทางที่ดี และ ก็มีวิตกเจตสิก ทำหน้าที่ ตรึกนึกคิดได้ ในทางกุศล และจรดในอารมณ์นั้น ซึ่งแม้การนึกขึ้นได้ การตรึก ในทางอกุศล ก็มีได้ ด้วย วิตกเจตสิก เช่นกัน ครับ ส่วน สัญญาเจตสิก มีหลากหลายประเภท ที่เป็นความจำประเภทต่างๆ เช่น อนัตตสัญญา ความจำที่จำว่า ไม่มีสัตว์ บุคคล เป็นธรรมและเป็นอนัตตา อัตตสัญญา ความจำว่า มีเรา มีสัตว์ บุคคล ฆนสัญญา ความจำที่ป็นกลุม เป็นก้อน

เชิญคลิกอ่าน สัญญาประการต่างๆ ดังนี้

ทุกเขอนัตตสัญญา

อนิจเจทุกขสัญญา

อนิจจสัญญา

สัพพโลเกอนภิรตสัญญา

อาหาเรปฏิกูลสัญญา

มรณสัญญา

อสุภสัญญา

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 16 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สภาพธรรมเป็นจริงแต่ละหนึ่ง ไม่ปะปนกัน ซึ่งสภาพธรรมหลากหลายมากเมื่อประมวลแล้ว ก็ไม่พ้นไปจากนามธรรมและรูปธรรม, นามธรรมคือจิตและเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่น้อมไป สู่อารมณ์เป็นสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้เป็นธาตุรู้ มีจริงๆ ในขณะนี้ เพราะทุกขณะไม่เคยขาดจิตเลย และเมื่อจิตเกิดขึ้นก็มรเจตสิกธรรมเกิดร่วมด้วย ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ ส่วนรูปธรรมเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้เกิดขึ้นจากสมุฏฐานต่างๆ แล้วก็ดับไปไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน

สภาพธรรมที่ตรึกนึกคิดต้องเป็นนามธรรมเท่านั้น คือวิตักกเจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตเป็นส่วนใหญ่ ต้องอาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเท่านั้น จึงจะมีความเข้าใจที่ถูกต้องได้ ขณะที่คิดดีเป็นไปเพื่อความเกื้อกูลผู้อื่น คิดถึงพระธรรมที่ได้ยินได้ฟัง เป็นต้น นี้คือตัวอย่างของวิตักกเจตสิก และทุกขณะที่จิตเกิดขึ้นนั้น จะไม่ปราศจากสัญญาเจตสิกเลย สัญญาเจตสิกทำกิจหน้าที่จำหมายในอารมณ์ จิตรู้อารมณ์ใด สัญญาก็จำอารมณ์นั้น สภาพธรรมอย่างอื่นทำกิจหน้าที่จำไม่ได้ นอกจากสัญญาเจตสิกเท่านั้นครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 16 ต.ค. 2556

สัญญาทำหน้าที่ จำ เช่น จำรสอาหาร วิตก ทำหน้าที่ตรึก ตรึกไปในอารมณ์ต่างๆ เปรียบเหมือนเท้าของโลก ค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย chatchai.k  วันที่ 26 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย ค่อยๆศึกษา  วันที่ 28 ส.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ