ผมรู้ว่าการถือฤกษ์ยามต่างๆ ถ้าตามแบบที่พระพุทธองค์ได้เคยทรงตรัสไว้ก็คือให้ถือตามสะดวก เช่น ฤกษ์งานต่างๆ หากเจ้าของงานสะดวกเช้า ผู้มางานสะดวกเช้า งานก็พร้อมตอนเช้าแล้วฤกษ์ดีก็คือตอนเช้า ผมเลยขอสอบถามผู้รู้ว่าฤกษ์ยามผ่าคลอดหรือคลอดนั้นในสมัยพุทธกาลมีหรือไม่ อย่างไรครับ
ขอบคุณครับ ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านครับ
ฤกษ์ยามผ่าคลอดหรือคลอดนั้นในสมัยพุทธกาลไม่มี ฤกษ์ดีเวลาดีคือ ขณะที่ทำความดี ดังข้อความในพระสูตรว่า
[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 591
๑๐. สุปุพพัณหสูตร
ว่าด้วยเวลาที่เป็นฤกษ์ดี
[๕๙๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริต ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในเวลาเช้า เวลาเช้านั้น ก็เป็นเวลาดีของสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในเวลากลางวัน เวลากลางวันนั้น ก็เป็นเวลาดีของสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในเวลาเย็น เวลาเย็นนั้น ก็เป็นเวลาดีของสัตว์เหล่านั้น.
[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 49
๙. นักขัตตชาดก
ว่าด้วยประโยชน์คือฤกษ์
[๔๙] "ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนโง่เขลา ผู้มัวคอยฤกษ์อยู่ ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวจักทำอะไรได้."
จบ นักขัตตชาดกที่ ๙
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
การที่บุคคลใดจะเกิดมานั้น ก็เป็นไปตามกรรม จะคลอดตอนไหนก็แล้วแต่กรรม คำว่าฤกษ์ที่เราเข้าใจ คือ เวลาที่ดีเหมาะสม เมื่อทำในเวลานั้นย่อมเจริญ แต่เราก็ต้องเข้าใจว่า เหตุที่ให้เจริญนั้น คือเวลา หรือสภาพธัมมะที่เป็นกุศล เวลาดี (ตามความเข้าใจ) แต่เป็นอกุศล ชื่อว่าเป็นเหตุให้เจริญหรือไม่ เวลาไม่ดี (ตามชาวโลกเข้าใจ เช่น วันอุบาทว์) แต่ประกอบกุศล เป็นเหตุแห่งความเจริญหรือไม่
ดังนั้น ฤกษ์หรือเวลาที่เหมาะสมในการกระทำอะไรอย่างหนึ่งนั้น ก็คือ ขณะที่เป็นกุศล เป็นเวลาดี เพราะนำมาซึ่งความเจริญครับ ดังนั้น พระธรรมของพระพุทธเจ้าจึงเป็นสิ่งที่ตรง เหตุดี (กุศล) ผลย่อมดี (ไม่ว่าเวลาไหน) เหตุไม่ดี (อกุศล) ผลย่อมไม่ดี (ไม่ว่าเวลาไหน) และขณะที่ทุกท่านอ่าน และเข้าใจพระธรรม เป็นฤกษ์ดีไหม ที่ได้เข้าใจความจริง
ขออนุโมทนาครับ
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ทำความดีขณะไหน ขณะนั้นเป็นฤกษ์ดี เวลาดีค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ยินดีในกุศลจิตค่ะ