ช่วยโดยหวังผล ทำประโยชน์ให้เสื่อม
โดย สารธรรม  1 พ.ย. 2551
หัวข้อหมายเลข 10268

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ข้อความบางตอนจาก แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๗๐๘

บรรยายโดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ช่วยโดยหวังผล ทำประโยชน์ให้เสื่อม

ข้อความที่ว่า " บุคคลอนุเคราะห์มิตรสหาย เป็นผู้มีจิตปฏิพัทธ์แล้ว ชื่อว่าย่อมยังประโยชน์ให้เสื่อม " เป็นข้อความที่สั้น แต่แสดงความละเอียดของจิตในการสงเคราะห์อนุเคราะห์มิตรสหายแต่ละครั้งว่า เป็นเพราะความผูกพัน ความรักใคร่สนิทสนม หรือว่าเป็นกุศลจิตอย่างแท้จริง พระผู้มีพระภาคไม่ทรงสนับสนุน ไม่ทรงส่งเสริมอกุศลธรรมใดๆ ทั้งสิ้น เพราะถ้าอกุศลจิตเกิดขึ้น เป็นปัจจัยให้กระทำความช่วยเหลือนั้นๆ ชื่อว่า ย่อมยังประโยชน์ให้เสื่อม ผู้รับได้รับประโยชน์ แต่ผู้ให้ทำไปด้วยอกุศลจิต เพราะกระทำไปด้วยความผูกพัน ด้วยจิตปฏิพัทธ์ ไม่ใช่ด้วยการอบรมเจริญกุศลอย่างแท้จริง เคยรู้สึกเป็นอย่างนี้ไหมคะ

มันเป็นมากเสียด้วยซิครับอาจารย์ การให้ไปส่วนใหญ่ถ้าไม่ได้ให้กับพระภิกษุหรือว่าญาติผู้ใหญ่แล้วละก็ ถ้าให้กับเพื่อนฝูงแล้ว ก็จะเป็นลักษณะนี้เป็นส่วนใหญ่ คือว่า มักจะให้เขาด้วยหวังว่า เอ๊ะ ! คนนี้เป็นทนาย เราเห็นหน้าเขา ควรจะเลี้ยงเขาบ้างเผื่อวันหลังเรามีเรื่องมีราวจะไปปรึกษากับเขาบ้าง ลักษณะนี้เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น

อย่างนั้นไม่ใช่กุศล เป็นความหวังค่ะ ความหวังในขณะนั้นต้องเป็น "โลภะ" มีความต้องการผล แต่ท่านผู้ฟังต้องพิจารณาสภาพจิตให้ละเอียด เพื่ออะไรคะ? เพื่อขัดเกลา รู้ว่าท่านยังกระทำไปด้วยอกุศลจิต ไม่ใช่กุศล ในคราวต่อไปจะได้ละอกุศลนั้นเสีย แล้วก็กระทำด้วยกุศลอย่างแท้จริง

ไม่ว่าจะสงเคราะห์มิตรสหาย ผู้ใกล้ชิด หรือผู้ห่างไกลก็ขอให้กระทำด้วยกุศลจิตจริงๆ อย่าให้มีความผูกพัน หรือว่า มีโลภะเกิดขึ้น ซึ่งจะยังประโยชน์ให้เสื่อม เพราะในขณะนั้นไม่ใช่กุศล อกุศลจิตเกิดนี่คะ สะสมอกุศลจิต ไม่ใช่ขัดเกลาอกุศลจิตต้องเป็นผู้ตรงจริงๆ ค่ะ ในชีวิตประจำวัน สภาพธรรมย่อมปรากฏตามความเป็นจริงให้รู้ได้


พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ธรรมเป็นเลิศกว่าอามิสในทุกด้าน ดังนี้

ธรรมทานเป็นเลิศกว่า อามิสทาน

การบูชาด้วยธรรม เป็นเลิศกว่า การบูชาด้วยอามิส

การสละธรรม เป็นเลิศกว่า การสละอามิส

การบริจาคธรรม เป็นเลิศกว่า การบริจาคอามิส

การบริโภคธรรมเป็นเลิศกว่า การบริโภคอามิส

การจำแนกธรรมเป็นเลิศกว่า การจำแนกอามิสการ สงเคราะห์ด้วยธรรมเป็นเลิศกว่า การสงเคราะห์ด้วยอามิส

การอนุเคราะห์ด้วยธรรมเป็นเลิศกว่า การอนุเคราะห์ด้วยอามิส ความเอื้อเฟื้อด้วยธรรมเป็นเลิศกว่า ความเอื้อเฟื้อด้วยอามิส

ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่

ธรรมเป็นเลิศกว่าอามิสในทุกด้าน [ทานวรรคที่๓]

ขออุทิศส่วนกุศลแด่สรรพสัตว์



ความคิดเห็น 1    โดย wannee.s  วันที่ 1 พ.ย. 2551

มิตรทุกวันนี้คบกันไม่หวังผลประโยชน์หาได้ยาก เช่น ไปเป็นเพื่อน อยู่เป็นเพื่อน ฯลฯ ค่ะ


ความคิดเห็น 2    โดย suwit02  วันที่ 1 พ.ย. 2551

สาธุ


ความคิดเห็น 3    โดย pornpaon  วันที่ 1 พ.ย. 2551

"บุคคลอนุเคราะห์มิตรสหาย เป็นผู้มีจิตปฏิพัทธ์แล้ว ชื่อว่าย่อมยังประโยชน์ให้เสื่อม"

พระผู้มีพระภาค ไม่ทรงสนับสนุน ไม่ทรงส่งเสริมอกุศลธรรมใดๆ ทั้งสิ้น เพราะถ้าอกุศลจิตเกิดขึ้น เป็นปัจจัยให้กระทำความช่วยเหลือนั้นๆ ชื่อว่าย่อมยังประโยชน์ให้เสื่อม ผู้รับได้รับประโยชน์ แต่ผู้ให้ ทำไปด้วยอกุศลจิต เพราะกระทำไปด้วยความผูกพัน ด้วยจิตปฏิพัทธ์ ไม่ใช่ด้วยการอบรมเจริญกุศลอย่างแท้จริง

ขอถวายความนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

พระพุทธดำรัส จริงแท้ ไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใด เพราะกิเลสของคนเราย่อมอนุเคราะห์ผู้อื่นด้วย รัก ใคร่ พอใจและหวังในผลที่จะเป็นการอนุเคราะห์ด้วยเมตตาโดยแท้นั้น เกิดได้ยากจริงๆ กระทำด้วยอกุศลจิต ย่อมได้รับผลเป็นอกุศลวิบาก ย่อมเสียประโยชน์ แต่เมื่อไหร่มีความเข้าใจในพระธรรมเพิ่มขึ้น การขัดเกลาเพิ่มขึ้น การอนุเคราะห์โดยความเข้าใจผิดว่าอกุศลเป็นกุศลคงค่อยๆ ลดลง และกว่าจะมั่นคงว่าไม่ใช่เราที่อนุเคราะห์หรือไม่อนุเคราะห์คงใช้เวลาอีกนาน

ขออนุโมทนาคุณสารธรรม

ขออนุโมทนาในกุศลจิตและกุศลวิริยะของทุกท่านค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย เมตตา  วันที่ 1 พ.ย. 2551

เมื่อก่อนไม่ได้ฟังพระธรรมเวลาอนุเคราะห์พี่น้อง หรือ มิตรสหาย ทุกครั้งจะเป็นเพราะความผูกพันและความรักใคร่ แม้ได้ฟังพระธรรมแล้วก็ยังเป็นไปกับอกุศลจิตตามกิเลสที่ได้สะสมมานานแสนนาน แต่มีความเข้าใจขึ้นในพระธรรมว่าธรรมที่เกิดขึ้น ล้วนมาจากเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครได้ มีหนทางเดียวคือ การฟังพระธรรมให้เข้าใจ เมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นๆ ก็จะเป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิดขึ้นแทนอกุศลจิต

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย khampan.a  วันที่ 2 พ.ย. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น มีความละเอียด ลึกซึ้ง เป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา มีความประพฤติที่ดีงาม ทั้งทางกาย ทางวาจาและทางใจ เริ่มจากความดีประการต่างๆ ที่ควรมี ควรเจริญในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งสูงสุดคือ การอบรมเจริญปัญญา มีปัญญาคมกล้า สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม บรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคล ถึงแม้จะได้ฟัง ได้ศึกษามาอย่างนี้ ว่าอกุศลธรรมควรละ กุศลธรรมควรเจริญ แต่ถึงอย่างนั้น ในชีวิตปกติประจำวันอกุศลจิตก็ยังเกิดบ่อยมาก เพราะคุ้นเคยกับอกุศลและได้สั่งสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ซึ่งแสดงให้เห็นว่าขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้นนั้น ชื่อว่าย่อมยังประโยชน์ของตนให้เสื่อม ไม่ว่าจะเป็นอกุศลประเภทใดๆ ก็ตาม ไม่นำคุณประโยชน์อะไรมาให้เลย ดังนั้นจึงมีการฟัง มีการศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ตามความเป็นจริงเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง เมื่อมีอกุศล มีกิเลส แต่ถ้าขาดการฟัง การศึกษาย่อมไม่มีทางที่จะรู้ว่าตนเองมีอกุศล ตนเองมีกิเลส แล้วจะขัดเกลาให้เบาบางลงได้อย่างไร เพราะฉะนั้น จึงต้องฟังพระธรรมต่อไป ด้วยความไม่ท้อถอย ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ


ความคิดเห็น 6    โดย paderm  วันที่ 2 พ.ย. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่...

เป็นผู้ฉลาดในการนำประโยชน์เข้าไปในที่ทั้งปวง [จริยาปิฎก]

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 7    โดย JANYAPINPARD  วันที่ 6 พ.ย. 2551

การช่วยเหลือหรืออนุเคราะห์ ง่ายที่จะทำกับบุคคลที่เราชอบหรือพอใจ โดยไม่รู้ว่ามีการหวังผลหรือไม่หวังผล จนกว่าบุคคลเหล่านั้นทำให้ไม่พอใจหรือผิดหวัง ก็จะโกรธหรือผิดหวังมากกว่าธรรมดา เจ้าอกุศลนั้นมักแอบแฝงจนบางครั้งไม่รู้ตัวจากการศึกษาธรรมะทำให้รู้ว่าหากเหตุเกิดจากุศลผลย่อมเป็นผลของกุศล หากทำโดยไม่หวังก็จะไม่มีการผิดหวัง และหวังมากก็ผิดหวังมาก หวังน้อยก็ผิดหวังน้อย

ขออนุโมทนาคะ


ความคิดเห็น 8    โดย JANYAPINPARD  วันที่ 6 พ.ย. 2551

คำว่าจิตปฏิพัทธ์ใช่ระหว่างชายกับหญิงเท่านั้นหรือเปล่าคะ


ความคิดเห็น 9    โดย Noparat  วันที่ 6 พ.ย. 2551

ต้องเป็นผู้ตรงตั้งแต่ต้น จึงจะได้สาระจากพระธรรมคือการขัดเกลากิเลส ไม่เช่นนั้นก็จะเพิ่มพูนอกุศลมากขึ้น แทนที่จะเป็นการอนุเคราะห์ด้วยกุศลธรรมครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ