ทำไมรูปเป็นพระอภิธรรม เป็นธรรม ไม่ใช่เรา
โดย เมตตา  18 มี.ค. 2557
หัวข้อหมายเลข 24599

ไม่ใช่ไปตั้งชื่อให้รูปว่า เป็นพระอภิธรรม แต่รูปทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรม ละเอียดลึกซึ้ง ยากที่จะรู้ตามได้ จึงเป็นพระอภิธรรม ธรรมทั้งหลายแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ เป็นนามธรรม และรูปธรรม นามธรรมเป็นสภาพรู้ได้แก่จิตและเจตสิก ส่วนรูปไม่ใช่สภาพรู้ เป็นสภาพที่ไม่รู้อะไร รูปทั้งหมดมี ๒๘ รูป เป็นมหาภูตรูป ๔ และอุปทายรูป ๒๔ มหาภูตรูป ๔ เป็นใหญ่เป็นประธาน หากไม่มีมหาภูตรูปแล้ว อุปทายรูปก็เกิดไม่ได้ มหาภูต ๔ ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม ถ้าไม่มีดิน น้ำ ไฟ ลม แล้ว สี กลิ่น รส โอชา ก็เกิดไม่ได้

รูปที่เล็กที่สุดไม่สามารถแยกย่อยออกได้ประกอบด้วยรูป ๘ รูปเรียกว่า อวินิโภครูป ถ้านำดินมาปั้นเป็นตุ๊กตา แล้วแต่งสีต่างๆ ลงไป สีเป็นสิ่งที่มีอยู่กับธาตุดิน ซึ่งไม่แยกจากกันเลย แต่เป็นเพียงสีที่ปรากฏกับจิตเห็นเท่านั้น หลังเห็นแล้วจึงคิดเป็นตุ๊กตา ถ้าไม่มีดินตุ๊กตาก็ไม่มี สีจึงเปรียบดังนางยักษิณี แปลงร่างเป็นสิ่งต่างๆ บางท่านกินข้าวก็ไม่ได้นึกถึงแข็ง แต่คิดถึงรสที่เกิดกับดินนั้นเอง ไม่ว่ารสหวาน ขม เปรี้ยว เค็ม ก็อยู่ที่มหาภูตรูป ที่มหาภูตรูปหลากหลายมาก จึงปรากฏเป็นสิ่งต่างๆ เป็นสีต่างๆ ซึ่งทำให้จำได้เป็นนิมิต รูปร่าง กว่าจะน้อมไปที่จะละความติดข้องในสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ น้อมไปที่จะรู้ความจริงว่าเป็นเพียงธาตุต่างๆ มีเห็นซึ่งเป็นธาตุรู้ มีสิ่งที่ปรากฏทางตาคือ สี มีรู้แข็ง มีแข็งซึ่งเป็นเพียงธาตุดิน ไม่มีอะไรที่ยั่งยืน เกิดแล้วก็ดับหมดไปไม่มีเหลือ แล้วจะละได้อย่างไร? ยังไม่ต้องคิดที่จะละ เพียงแต่คลายความติดข้องได้บ้างหรือยัง? แม้จะคลายความติดข้องได้ ก็ต้องมาจากการค่อยๆ เข้าใจความจริง ฟังแล้วฟังอีกว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น เข้าใจถึงความจริง ไม่ใช่ถูกลวง

เพราะฉะนั้น รูปเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ใครเลย ไม่ใช่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง บังคับบัญชาไม่ได้ ใครจะไปเปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้ นี่ก็เป็นพื้นฐานอภิธรรมจริงๆ มั่นคงแล้วหรือยัง มั่นคงในสัจจญาณ เมื่อมั่นคงก็เป็นกิจจญาณ สติเกิดระลึกตรงสภาพธรรม เพราะฉะนั้นขั้นปริยัติก็ต้องเข้าใจรูปตามความเป็นจริงก่อนเพื่อเป็นอุปนิสสยปัจจัย เพื่อเป็นอุปนิสสัยจนกว่า ผูกจิตไว้กับสิ่งที่มีจริง หากไม่ได้ฟังพระธรรมที่เป็นวาจาสัจจ์ ก็ไม่มีทางใดที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงได้เลย

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ อย่างยิ่งค่ะ...



ความคิดเห็น 1    โดย เมตตา  วันที่ 18 มี.ค. 2557

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้าที่ 251

๖. วลาหกกัสสชาดก

ว่าด้วยความสวัสดี

[๒๔๑] นรชนเหล่าใดไม่ทำตามโอวาทอันพระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว นรชนเหล่านั้นจักต้องถึงความพินาศ เหมือนพ่อค้าทั้งหลายถูกนางผีเสื้อหลอกลวงให้อยู่ในอำนาจ ฉะนั้น.

[๒๔๒] นรชนเหล่าใด ทำตามโอวาทอันพระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว นรชนเหล่านั้นจักถึงฝั่งสวัสดีดุจพ่อค้าทั้งหลายทำตามถ้อยคำอันม้าวลาหกกล่าวแล้ว ฉะนั้น.

จบ วลาหกัสสชาดกที่ ๖

อรรถกถาวลาหกัสสชาดกที่ ๖

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้กระสันรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า เย น กาหนฺติ โอวาทํ ดังนี้.

ความย่อมีอยู่ว่า ภิกษุนั้นเมื่อพระศาสดาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุเธอกระสันจริงหรือ กราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า ตรัสถามว่า เพราะเหตุไร กราบทูลว่า เพราะเห็นมาตุคามแต่งตัว


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 18 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย papon  วันที่ 18 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย khampan.a  วันที่ 18 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย j.jim  วันที่ 19 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย nattawan  วันที่ 19 มี.ค. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย ms.pimpaka  วันที่ 12 เม.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย ชัยญานพ  วันที่ 31 ม.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 9    โดย chatchai.k  วันที่ 17 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ