[เล่มที่ 48] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 341
๑. อิตถิวิมานวัตถุ
มัญชิฏฐกวรรคที่ ๔
๓. นาควิมาน
ว่าด้วยนาควิมาน
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 48]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 341
๓. นาควิมาน
ว่าด้วยนาควิมาน
พระวังคีสเถระถามเทพธิดาองค์หนึ่งว่า
[๔๑] ท่านประดับองค์แล้ว ขึ้นนั่งคชสารตัวประเสริฐ ซึ่งมีขนาดใหญ่ งามไปด้วยแก้วและทองวิจิตรด้วยข่ายทอง ผูกสายรัดประคนเรียบร้อย เลื่อนลอยในอากาศเวหามาในที่นี้ ที่งาทั้งสองของคชสารมีสระโบกขรณีที่เนรมิตไว้ มีน้ำใสสะอาดดาดาษไปด้วยดอกปทุมบานสะพรั่ง ดอกปทุมทั้งหลายมีหมู่เทพอัปสรนักดนตรีพากันมาขับร้องประสานเสียงและฟ้อนรำ ชวนให้เกิดความประทับใจ ดูก่อน เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก ท่านบรรลุเทวฤทธิ์แล้ว ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ ท่านได้ทำบุญอะไรไว้ เพราะบุญอะไร ท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้ และวรรณะของท่านจึงสว่างไสวไปทั่วทิศ.
เทพธิดานั้นตอบว่า
ดีฉันได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่กรุงพาราณสี ได้ถวายผ้าคู่แด่พระพุทธเจ้า ถวายบังคมพระยุคลบาท แล้วนั่งอยู่ที่พื้นดิน ดีฉันปลื้มใจได้กระทำอัญชลี อนึ่ง พระพุทธเจ้ามีพระฉวีวรรณผุดผ่องดุจทองคำ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 342
ธรรมชาติ ได้ทรงแสดงทุกขสัจและสมุทยสัจ และได้ทรงแสดงทุกขนิโรธอันปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ และมรรคสัจแก่ดีฉัน โดยประการที่ดีฉันจักรู้แจ้งได้ ดีฉันเป็นคนมีอายุน้อย ทำกาละ (ตาย) จุติจากชาตินั้นแล้ว ไปเกิดในชั้นไตรทศ (ดาวดึงส์) เป็น ผู้เรืองยศ เป็นปชาบดีองค์หนึ่งของท้าวสักกะ นามว่า ยสุตตรา ปรากฏไปทุกทิศ.
จบนาควิมาน
อรรถกถานาควิมาน
นาควิมาน มีคาถาว่า อลงฺกตา มณิกญฺจนาจิตํ เป็นต้น. นาควิมานนั้นเกิดขึ้นอย่างไร?
พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ อิสิปตนมฤคทายวัน กรุงพาราณสี. สมัยนั้น อุบาสิกาชาวพาราณสีคนหนึ่งมีศรัทธาปสาทะ สมบูรณ์ด้วยศีลและจรรยา นางให้ทอผ้าคู่อุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้ซักย้อมดีแล้ว เข้าเฝ้าวางผ้าไว้แทบพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว กราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดอนุเคราะห์ทรงรับผ้าคู่นี้ ซึ่งจะพึงเป็นประโยชน์ เป็นสุขตลอดกาลนานแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับผ้าคู่นั้น ทรงเห็น อุปนิสัยสมบัติของนาง จึงทรงแสดงธรรม. จบเทศนา นางดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำประทักษิณแล้วกลับบ้าน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 343
ต่อมาไม่นานนัก นางตายไปเกิดในภพดาวดึงส์ ได้เป็นที่สนิทเสน่หาของท้าวสักกเทวราช มีนามว่า ยสุตตรา. ด้วยบุญญานุภาพของนาง ก็บังเกิดกุญชรชาติตัวประเสริฐ คลุมด้วยข่ายทอง ที่คอของกุญชรนั้นมีมณฑปแก้วมณี กลางมณฑปก็บังเกิดรัตนบัลลังก์ที่ตกแต่งไว้อย่างดี และที่งาทั้งสองของกุญชรนั้น ปรากฏมีสระโบกขรณี ๒ สระ ดาดาษไปด้วยดอกปทุมบานสะพรั่งน่ารื่นรมย์ ในดอกปทุมนั้นๆ มีเทพธิดายืนอยู่ตามกลีบปทุม ประโคมดนตรีเครื่อง ๕ และขับร้องกัน.
พระศาสดาประทับที่กรุงพาราณสี ตามพระพุทธอัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปยังกรุงสาวัตถี. ครั้นเสด็จถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับแล้ว ได้ยินว่า ในสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ครั้งนั้น เทพธิดานั้นตรวจดูทิพยสมบัติที่คนเสวยอยู่ ทบทวนถึงเหตุที่ได้เสวยทิพยสมบัติ ทราบว่า เหตุคือถวายผ้าคู่แด่พระศาสดาเกิดโสมนัสเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้ามาก ประสงค์จะถวายบังคม ครั้นล่วงราตรีปฐมยาม นางนั่งเหนือคอ ช้างตัวประเสริฐ เหาะมาลงจากคอช้างนั้นแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ยืนประคองอัญชลีอยู่ ณ ที่ควรแห่งหนึ่ง. ท่านพระวังคีสะโดยพระพุทธานุญาติได้ถามนางด้วยคาถาเหล่านี้ว่า
ท่านประดับองค์แล้ว ขึ้นนั่งคชสารตัวประเสริฐ ซึ่งมีขนาดใหญ่ งามไปด้วยแก้วและทอง วิจิตรด้วยข่ายทอง ผูกสายรัดประคนเรียบร้อย เลื่อนลอยในอากาศเวหามาในที่นี้ ที่งาทั้งสองของคชสาร มี
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 344
สระโบกขรณีที่เนรมิตไว้ มีน้ำใสสะอาดดาดาษไปด้วยดอกปทุมบานสะพรั่ง ดอกปทุมทั้งหลายมีหมู่เทพอัปสรนักดนตรีพากันมาขับร้องประสานเสียงและฟ้อนรำ ชวนให้เกิดความประทับใจ.
ดูก่อนเทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก ท่านบรรลุเทวฤทธิ์แล้ว ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ ท่านได้ทำบุญอะไรไว้ เพราะบุญอะไร ท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้ และวรรณะของท่านจึงสว่างไสวไปทั่วทิศ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อลงฺกตา ได้แก่ ประดับประดาด้วยอาภรณ์ทุกอย่าง. บทว่า มณิกญฺจนาจิตํ ความว่า ประดับด้วยแก้วและทองซึ่งนับว่าเป็นทิพย์เหล่านั้น. บทว่า สุวณฺณชาลจิตํ ได้แก่ คลุมด้วยข่ายทอง. บทว่า มหนฺตํ ได้แก่ไพบูลย์ [สูงใหญ่]. บทว่า สุกปฺปิตํ ความว่า ผูกสอดอย่างดีด้วยเครื่องผูกสอดสำหรับเดิน. บทว่า เวหาสยํ ได้แก่ เหนือหลังช้างกลางหาว. บทว่า อนฺตลิกฺเข ได้แก่ ในอากาศ. ปาฐะว่า อลงฺกตมณิกญฺจนาจิตํ ดังนี้ก็มี และในข้อนี้มีความย่อดังต่อไปนี้ ดูก่อนเทพธิดา ท่านประดับองค์ด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง ขึ้นช้างตัวประเสริฐ คือช้างสูงสุดเป็นช้างขนาดใหญ่ คือใหญ่เหลือเกิน งามด้วยแก้วและทองที่ประดับแล้ว ระยับด้วยแก้วและทองซึ่งนับว่าเป็นทิพย์อย่างยิ่ง โดยทำให้เป็นของที่ประดับอยู่แล้ว ครอบคลุมด้วยข่ายทอง คือเครื่องประดับช้าง ต่างโดยเครื่องประดับกระพองเป็นต้น นั่งบนหลังช้างเหาะลงในที่นี้เข้ามาหาเรา.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 345
บทว่า นาคสฺส ทนฺเตสุ ทุเวสุ นิมฺมิตา ความว่า ที่งาทั้งสองของช้างนี้ ศิลปินผู้ชำนาญสร้างสระโบกขรณีไว้อย่างดีสองสระ เหมือนของพระยาช้างเอราวัณ. บทว่า ตุริยคณา ได้แก่ หมู่เทพอัปสรนักดนตรีเครื่อง ๕ คือกลุ่มเทพอัปสรนักดนตรีเครื่อง ๕. บทว่า ปภิชฺชเร ความว่า แยกเสียงประสาน ๑๒ ประเภท เกจิอาจารย์กล่าวว่า ปวชฺชเร บ้าง อธิบายว่า บรรเลงหลายประการ. ถูกพระเถระถามอย่างนี้แล้ว เทพธิดาก็กล่าวตอบด้วยคาถาเหล่านี้ว่า
ดีฉันได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่กรุงพาราณสี ได้ถวายผ้าคู่หนึ่งแด่พระพุทธเจ้า ถวายบังคมพระยุคลบาท แล้วนั่งอยู่ที่พื้นดิน ดีฉันปลื้มใจได้กระทำอัญชลี อนึ่ง พระพุทธเจ้ามีพระฉวีวรรณผุดผ่องดุจทองคำธรรมชาติ ได้ทรงแสดงทุกขสัจและสมุทยสัจ และได้ทรงแสดงทุกขนิโรจสัจ อันปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ และมรรคสัจแก่ดีฉัน โดยประการที่ดีฉันจักรู้แจ้งได้ ดีฉันเป็นคนมีอายุน้อย ทำกาละ [ตาย] จุติจากชาตินั้นแล้ว ไปเกิดในชั้นไตรทศ [ดาวดึงส์] เป็นผู้เรืองยศ เป็นปชาบดีองค์หนึ่งของท้าวสักกะ นามว่า ยสุตตรา ปรากฏไปทุกทิศ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฉมา แปลว่า ที่พื้นดิน. จริงอยู่ บท นี้เป็นปฐมาวิภัตติ ลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ. บทว่า วิตฺตา แปลว่า ยินดีแล้ว. บทว่า ยโต แปลว่า โดยประการใด คือ โดยพระศาสดา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 346
ทรงแสดงสามุกังสิกธรรมเทศนายกขึ้นแสดงเอง (ไม่ต้องปรารภคำถาม เป็นต้นของผู้ฟัง ได้แก่เทศนาเรื่องอริยสัจ). บทว่า วิชานิสฺสํ ความว่า จักแทงตลอดอริยสัจ ๔.
บทว่า อปฺปายุกี ความว่า เป็นผู้มีอายุน้อย เพราะกรรมสิ้นสุดดุจที่เกิดต่อเนื่องกันว่า เพราะทำบุญอันโอฬารเช่นนี้ ท่านจึงไม่ต้องดำรงอยู่อย่างนี้ในอัตภาพมนุษย์ที่มากไปด้วยความทุกข์นี้. บทว่า อญฺตรา ปชาปติ ความว่า เป็นปชาบดีองค์หนึ่ง บรรดาปชาบดีหมื่นหกพันองค์ [ของท้าวสักกะ]. บทว่า ทิสาสุ วิสฺสุตา ความว่า ปรากฏ คือ รู้จักทั่วไปในทิศทั้งปวงในเทวโลกทั้งสอง. คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้ว นั่นแล.
จบอรรถกถานาควิมาน