1 ผู้ยินดีในผัสสะ ย่อมทำให้ล่วงศีล 5 ได้ เช่น ศีลข้อ 3 เมื่อกล่าวโดยปรมัตรถธรรม
เป็นอย่างไรครับ
2 ขณะใดที่ยินดีในผัสสะ ขณะใดที่ไม่ยินดีในผัสสะครับ
3 ผู้มีโทสะ โมหะ ในผัสสะ มีผลอย่างไรครับ (ถ้ายินดีหมายถึงโลภะเกิดใช่ไหมครับ)
4 การละความยินดีในผัสสะ มีความเกี่ยวข้องกับการละโมหะ โทสะ ในผัสสะหรือไม่
ครับ ถ้ามี มีอย่างไรครับ ...
ขอนอบน้อมแด่พระัรัตนตรัย
1 ผู้ยินดีในผัสสะ ย่อมทำให้ล่วงศีล 5 ได้ เช่น ศีลข้อ 3 เมื่อกล่าวโดยปรมัตรถ
ธรรมเป็นอย่างไรครับ
---------------------------------------------------------------------
ผัสสะ เป็นสภาพธรรมที่กระทบ ความยินดี เป็นสภาพธรรมที่เป็นโลภะ ความติดข้อง
ขณะที่เมื่อมีการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส ขณะนั้นมีผัสสะเกิดร่วมด้วยใน
ขณะนั้น ขณะที่มีการสัมผัสกาย มีการกระทบที่เป็นผัสสะ ทำกิจกระทบในขณะที่มีการ
สัมผัสเกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น โลภะก็ติดข้องในการกระทบนั้น ทีได้สัมผัสทางกาย ได้
เห็นรูปที่สวย ได้ยินเสียงที่ดี ได้กลิ่นที่ดี ได้รสที่ดี อันมีการกระทบทีเป็นผัสสะเป็น
ปัจจัยทำให้เกิดการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สัมผัสที่ดี จึงติดข้องในการกระทบ
สัมผัสนั้น ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เมื่อเป็นผู้ยินดี ติดข้องในผัสสะ การกระทบอารมณ์
ต่างๆ มีการเห็น ได้ยิน เป็นต้นแล้ว ก็ทำให้ติดข้องในรูปที่สวย (รูปหญิง) เป็นต้น จึงมี
การละเมิดในหญิงที่มีผู้ปกคอรงรักษา ผู้ใหญ่ยังไม่ได้ยกให้ จึงทำให้ผิดศีล ข้อ 3 เพราะ
มีความยินดีในผัสสะ ตามที่กล่าวมาเป็นเหตุให้ล่วงศีลข้อ 3 ครับ ถ้าไม่มีความติดข้อง
ยินดีในผัสสะ ในอารมณ์ต่างๆ แล้ว มีการเห็น รูปที่ดี เสียงที่น่าพอใจ สัมผัสที่ดี มี
ผัสสะเป็นปัจจัยแล้วก็จะไม่มีการก้าวล่วงศีล ข้อ 3 ได้เลยครับ เพราะไม่ได้ติดข้องใน
หญิงอื่นครับ เมือ่ไม่ติดข้องในหญิงอื่น ไม่ยินดีในผัสะ ก็ไม่ประพฤติสิ่งที่ไม่ดีกับหญิงอื่น
ครับ โดยทำนองตรงกันข้าม แม้ผู้หญิงก็ล่วงศีล ข้อ 3 เพราะมีการยินดีในผัสสะเป็น
ปัจจัยได้ หากตนเองมีสามีแล้ว ไปยุ่งกับชายอื่นครับ
และเมื่อมีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส อันมีผัสสะเป็นปัจจัย ก็
ทำให้มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ขโมยในสิ่งที่ชอบ ยินดีติดข้องในรูปนั้น และศีล ข้อ 3
ตามที่กล่าวมาและโกหกเพื่อให้ได้มาซึ่งรูปนั้น และดื่มสุราเมรัย เพราะติดข้องในรส
เป็นต้นครับ ซึ่งก็สามารถล่วงศีล 5 ได้ เพราะมีความยินดีในผัสสะครับ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้าที่ 58
ผู้ที่ยินดีในผัสสะแม้เข้าไปใกล้ผัสสะ ก็ย่อมผิดในภัณฑะมีเมียเขาเป็นต้น ที่คน
อื่นเขารักษาคุ้มครองไว้.
2.ขณะใดที่ยินดีในผัสสะ ขณะใดที่ไม่ยินดีในผัสสะครับ
ขณะที่เมื่อเห็นรูปแล้ว เกิดความชอบ โลภะเกดิขึ้น ยินดี ชื่อว่า ยินดีในผัสสะ ขณะที่
ได้ยิน เสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัสแล้วติดข้อง เกิดโลภะ ชื่อว่า ยินดีแล้วใน
ผัสสะ ขณะที่ไม่ยินดีในผัสสะ คือ ขณะที่สติเกิดเฉพาะหน้า คือ สติและปัญญาเกิด
ระลึกลักษณะของสาภพธรรมที่กำลังปรากฎ ที่ผัสสะกำลังกระทบ คือ ขณะที่เห็น ได้ยิน
ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส เป็นต้น สติและปัญญารู้ว่า เห็น ได้ยิน..และธรรมที่กำลัง
ปรากฎเป็นธรรมไม่ใช่เราครับ ขณะนั้นสติและปัญญาเกิด เป็นผู้ไม่ยินดีในผัสสะขณะ
นั้นครับ
3 ผู้มีโทสะ โมหะ ในผัสสะ มีผลอย่างไรครับ (ถ้ายินดีหมายถึงโลภะเกิดใช่ไหมครับ)
ความยินดีในผัสสะ มุ่งหมายถึง โลภะ คือ ความติดข้องครับ และขณะที่เป็นอกุศล ตือ
ขณะที่ยินดีในผัสสะ ในสิ่งทีเห็น เสียงที่ได้ยิน ขณะนั้นก็มีโมหะด้วย คือ ไม่รู้ตามความ
เป็นจริงว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เราครับ และเมื่อเห็น ได้ยิน สิ่งต่างๆ ก็เกิดโทสะได้
เพราะกิเลสที่สะสมมา เมื่อกระทบกับรูปที่ไม่ดี เป็นต้น และเมื่อติดข้อง ยินดีในผัสสะ
ในอารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฎในขณะนี้แล้ว เมื่อไม่ได้ นึกถึงในอารมณ์ที่ไม่ได้ ก็เป็นทุกข์
เป็นโทสะแล้วในขณะนั้นครับ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้าที่ 84
เมื่อบุคคลถูกต้องผัสสะ มัวใส่ใจถึงผัสสะนั้นว่า เป็น
นิมิตที่น่ารัก เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้นั้นย่อมมีจิตกำหนัด
เพลิดเพลินอยู่ทั้งยึดมั่นผัสสะนั้นด้วย เวทนานิใช่น้อย
ซึ่งมีผัสสะเป็นแดนเกิด ย่อมเจริญมากขึ้นแก่ผู้นั้น
อภิชฌาและวิหิงสา ย่อมเบียดเบียนจิตของผู้นั้นให้เดือด
ร้อน ความทุกข์ย่อมเป็นไปแก่ผู้นั้น ผู้มัวคำนึงถึงผัสสะ
อยู่อย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกผู้นั้นว่า เป็นผู้
ห่างไกลพระนิพพาน.
4 การละความยินดีในผัสสะ มีความเกี่ยวข้องกับการละโมหะ โทสะ ในผัสสะหรือไม่
ครับ ถ้ามี มีอย่างไรครับ ...
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
เมื่อกล่าวถึงการละความยินดีในผัสสะ หมายถึงการละความติดข้อง ในอารมณ์ที่ปรากฏ
ทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ซึ่งเมื่อละโลภะได้หมดสิ้น ก็ชื่อว่าละกิเลสประการต่างๆ
ได้หมดสิ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความไม่รู้ ที่เป็นโมหะ และโทสะได้ด้วยครับ ผู้ที่จะไม่
ยินดีในผัสสะอีกเลย คือ พระอรหันต์ครับ
หนทางในการละความยินดีในผัสสะ คือ การเจริญสติปัฏฐาน 4 ระลึกรู้ลักษณะของ
สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เราครับ โดยที่ขณะที่เห็น ได้ยิน ขณะนั้น
ก็มีสติเฉพาะหน้า คือ มีสติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมว่าเห็นเป็นธรรมไม่ใช่เรา
ได้ยิน เป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้นไม่ติดข้อง ไม่ยินดีในผัสสะ เพราะรู้ตามควาเมป็นจริง
นั่นเองครับ นี่คือหนทางดับกิเลส ละความยินดีในผัสสะ ซึ่งก็ต้องเริ่มจากการฟังพระ
ธรรมให้เข้าใจทีละเล็กละน้อย ซึ่งต้องใช้เวลาอบรมยาวนาน เป็นจิรกาลภาวนาครับ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้าที่ 80
ผู้ใดถูกต้องผัสสะแล้วเป็นผู้มีสติเฉพาะหน้า ผู้นั้นไม่
กำหนัดยินดีในผัสสะ เป็นผู้มีจิตคลายกำหนัดเสวย
อารมณ์อยู่ ทั้งไม่ยึดมั่นผัสสะนั้น กิเลสชาติมีอภิชฌา
เป็นต้น ย่อมไม่เป็นไปแก่พระโยคีผู้ถูกต้องผัสสะ โดย
ความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น กิเลสทั้งปวงของพระโยคี
ผู้เสวยเวทนาอยู่ย่อมสิ้นไป ไม่ก่อรากขึ้นได้ฉันใด ผู้นั้น
เป็นผู้มีสติประพฤติอยู่ก็ฉันนั้น ทุกข์ย่อมไม่เป็นไปแก่
ผู้นั้น ผู้ไม่คำนึงถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
ผู้นั้นว่า มีในที่รักใกล้พระนิพพาน.
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น -ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าเมื่อกล่าวถืงธรรมหรือปรมัตถธรรมแล้ว ย่อมหมายถึงสิ่งที่มีจริงอันได้แก่ นามธรรม และ รูปธรรม ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมเหล่านี้เลย โดยปกติแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพระอริยบุคคล หรือ ปุถุชน ก็ย่อมมีผัสสะด้วยกันทั้งนั้น มีผัสสะกระทบกับอารมณ์ที่จิตรู้ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ไม่พ้น ๖ ทางนี้เลย แต่ที่ต่างกัน คือ ปุถุชน ไหลไปอย่างรวดเร็วด้วยอำนาจของอกุศลธรรมประการต่างๆ มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เมื่อสะสมมีกำลังมากขึ้นๆ ก็กระทำทุจริตกรรมล่วงศีลได้ทั้นนั้นไม่ว่าจะเป็นข้อใดๆ ก็ตาม ซึ่งจะประมาทกำลังของกิเลสไม่ได้เลย ส่วนพระอริยบุคคลทุกระดับขั้น ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ละกิเลสอย่างหยาบที่จะเป็นเหตุให้ล่วงศีล ๕ ได้หมดสิ้น และ ดับกิเลสส่วนละเอียดได้ทั้งหมดเมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์ ไม่ว่าจะกระทบกับอารมณ์ใดๆ ย่อมเป็นผู้มั่นคง ไม่หวั่นไหว ย่อมเป็นผู้อยู่เป็นสุข ไม่เดือดร้อนวุ่นวายเหมือนกับปุถุชน -ขณะที่ติดข้องยินดีพอในผัสสะ เป็นอกุศลธรรม เป็นโลภะ ถ้าจะกล่าวโดยนัยตรงกันข้าม ในขณะที่เป็นอกุศลด้วยเช่นเดียวกัน คือ ไม่ติดข้องยินดีพอใจ แต่เป็นความขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ ก็ไม่พ้นไปจากอกุศลเลย สำหรับในขณะที่จิตเป็นกุศล ไม่ว่าจะเป็นระดับใด อกุศล เกิดไม่ได้เลย ไม่มี โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เกิดขึ้นเลยในขณะที่จิตเป็นกุศล เมื่ออบรมเจริญปัญญาถึงขั้นที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ดับกิเลสตามลำดับ กิเลสที่ดับแล้วก็ไม่เกิดอีกเลย -ในชีวิตประจำวัน ยากที่จะพ้นไปจากอกุศลธรรมประการต่างๆ ได้ มีอกุศลจิตเกิดขึ้นมากในชีวิตประจำวัน ทั้งความติดข้องยินดีพอใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ ทั่งความขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ เป็นต้น และทุกครั้งที่จิตเป็นอกุศล จะมีโมหะซึ่งเป็นความหลง ความไม่รู้เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง กล่าวได้ว่าทุกขณะที่จิตเป็นอกุศล เป็นการให้อาหารแก่อวิชชาหรือโมหะ เพิ่มพูนโมหะขึ้นเรื่อยๆ , กุศลจิตเกิดน้อยมาก แต่ถึงแม้ว่าจะเกิดน้อย ก็มีค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ในขณะที่ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย เพียงแค่ตั้งใจฟัง เพื่อความเข้าใจจริงๆ ขณะนั้นจิตเป็นกุศล ละคลายความไม่รู้และอกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นการระงับอกุศล ชั่วขณะที่จิตเป็นกุศล -ถ้าจะพิจารณาให้ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นแล้ว จะเห็นได้ว่าตราบใดที่ยังมีกิเลสประการต่างๆ มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ต่อไป
แต่ว่าความเป็นผู้มีปัญญา ที่จะอบรมเจริญเพื่อความรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สามารถทำให้ถึงที่สุด คือ ที่สุดของการท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏฏ์ได้ ไม่ต้องมีการเกิดใหม่ในภพใหม่ อีก นั่นหมายความว่า เป็นผู้ถึงซึ่งความสิ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง ไม่ต้องมีการเกิดอีก ไม่มีสภาพธรรมใดๆ เกิดขี้นอีกเลย ไม่ต้องเห็น ไม่ต้องได้ยิน เป็นต้น ไม่ต้องรู้อารมณ์ใดๆ พร้อมทั้งไม่มีกิเลสเกิดขึ้น ซึ่งกล่าวโดยสรุป คือ ไม่มีทุกข์ใดๆ อีกเลย ทั้งหมดทั้งปวงนั้น เพราะปัญญาที่ค่อยๆ อบรมเจริญขึ้น นั่นเอง ครับ. ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขออนุโมทนาค่ะ
"..ผู้มัวคำนึงถึงผัสสะอยู่อย่างนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกผู้นั้นว่า เป็นผู้ห่างไกลพระนิพพาน.."
"..ทุกขณะที่จิตเป็นอกุศล
เป็นการให้อาหารแก่อวิชชาหรือโมหะ เพิ่มพูนโมหะขึ้นเรื่อยๆ .."
"..กุศลจิตเกิดน้อยมาก แต่ถึงแม้ว่าจะเกิดน้อย ก็มีค่า..เป็นการระงับอกุศล.."
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณผเดิม อ.คำปั่น และทุกท่านค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ