[คำที่ ๓๗๖] ทิฏฺวฐาส
โดย Sudhipong.U  8 พ.ย. 2561
หัวข้อหมายเลข 32496

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ ทิฏฺฐาสว”

คำว่า ทิฏฺฐาสว เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ทิด - ถา - สะ- วะ] มาจากคำว่า ทิฏฺฐิ (ความเห็น ซึ่งในที่นี้หมายถึงความเห็นผิด ที่เป็น มิจฉาทิฏฐิ เท่านั้น) กับคำว่า อาสว (อกุศลธรรมที่หมักดองหมักหมมมานาน เป็นอกุศลธรรมที่เกิดขึ้น แสดงถึงลักษณะของอกุศลธรรมที่สะสมมานาน เหมือนการหมักดองไว้นานมาก จึงทำให้มีการเกิดขึ้นของอกุศลธรรมที่ไหลไปได้ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ และ ไหลไปได้ทุกภพภูมิ เพราะตราบใดที่ยังไม่ได้ดับอาสวะ ก็ยังไม่พ้นจากอกุศลธรรมโดยประการทั้งปวง ยังไม่พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด) รวมกันเป็น ทิฏฐาสว แปลว่า อาสวะคือความเห็นผิด หรือแปลทับศัพท์เป็น ทิฏฐาสวะ

ข้อความบางตอนใน พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ แสดงความเป็นจริงของทิฏฐาสวะไว้ว่า ได้แก่ ความเห็นผิด ทั้งหมด เป็นทิฏฐาสวะ ดังนี้ คือ

“ความเห็นไปข้างทิฏฐิ ป่าชัฏคือทิฏฐิ กันดารคือทิฏฐิ ความเห็นเป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิ ความผันแปรแห่งทิฏฐิ สัญโญชน์ (อกุศลธรรมที่ผูกมัดสัตว์ไว้ในสังสารวัฏฏ์) คือทิฏฐิ ความยึดถือ ความยึดมั่น ความตั้งมั่น ความถือผิด ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิเป็นบ่อเกิดแห่งความพินาศ การถือโดยวิปลาสมีลักษณะเช่นว่านี้ อันใด นี้เรียกว่า ทิฏฐาสวะ มิจฉาทิฏฐิ แม้ทั้งหมด จัดเป็นทิฏฐาสวะ”

และข้อความในพระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ แสดงความเป็นจริงของมิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิด ไว้ ดังนี้

“ธรรม ที่ชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ เพราะอรรถว่า เห็นผิดโดยความไม่ถือเอาตามความเป็นจริง. มิจฉาทิฏฐินั้น มีความเห็นวิปริต (คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง) เป็นลักษณะ โดยนัยว่า ทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล ดังนี้ เป็นต้น”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ทรงแสดงไว้อย่างละเอียดตลอด ๔๕ พรรษา เพื่อประโยชน์ คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกของผู้ฟัง ผู้ศึกษา เกิดความเข้าใจถูก เห็นถูกเป็นปัญญาของตนเอง ไม่เห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพราะแต่ละคำแสดงถึงสิ่งที่มีจริงทั้งหมด สำหรับในเรื่องของกุศลธรรม ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายที่ไม่ดี นั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสดงจำแนกไว้หลายหมวด หลากหลายนัยตามความเป็นจริง เพื่อให้สัตว์โลกได้เข้าใจ และเห็นโทษของกุศลธรรม ตามความเป็นจริง หนึ่งในนั้น คือ อกุศลธรรมประเภทที่เป็นอาสวะ

อาสวะ เป็นกุศลธรรมที่บางเบาไหลไปอย่างรวดเร็ว ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจ ซึ่งไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวันเลย อาสวะเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ไม่รู้จนกว่าจะได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เมื่อกล่าวโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่พ้นไปจากโลภะ คือ ความติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ซึ่งก็มีจริงในชีวิตประจำวัน แต่เราก็ไม่รู้เลยว่าติดข้องแล้วในขณะนั้น หลังเห็น หลังได้ยิน เป็นต้น นี้คือ ลักษณะของอาสวะที่ ๑ คือ กามาสวะ

อาสวะที่ ๒ คือ ภวาสวะ ความติดข้องยินดีพอใจในภพ ในขันธ์ ในความมีความเป็น พระอรหันต์เท่านั้นที่จะไม่มีความติดข้องในภพ แม้พระอนาคามียังมีความติดข้องในขันธ์ที่ท่านเกิด ในความมีความเป็นของท่านที่เกิดขึ้นมาเป็นอย่างนั้น ขณะที่มีความเห็นผิดเกิดขึ้น ก็เป็นทิฏฐาสวะ ซึ่งเป็นอาสวะที่ ๓ และ เป็นไปพร้อมกับความไม่รู้ เป็นอาสวะ ที่ ๔ คือ อวิชชาสวะ อาสวะทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด แต่เป็นกุศลธรรม เป็นธรรมที่ควรรู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา และเป็นสิ่งจะต้องละได้ด้วยปัญญา

สำหรับ อกุศลธรรมที่น่ากลัวและเป็นอันตรายอย่างยิ่งเป็นหนึ่งในอาสวะด้วย คือ ความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) อันเนื่องมาจากความไม่รู้ความจริง นั้นเอง ความเห็นผิด เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เป็นความเห็นที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง ซึ่งจะเห็นได้ว่า ความเห็นผิดเป็นอกุศลธรรมที่อันตรายมาก มีโทษมาก เพราะว่า เมื่อมีความเห็นผิดแล้ว กาย วาจา ใจ ย่อมเป็นไปในทางที่ผิด ด้วย บุคคลผู้ที่มีความเห็นผิด มีการปฏิบัติผิด ย่อมไม่สามารถที่จะพ้นไปจากวัฏฏะได้ มีแต่จะเพิ่มพูนข้อปฏิบัติผิดนั้นยิ่งๆ ขึ้น และ ที่น่ากลัวอีกอย่างหนึ่ง คือ ตนเองมีความเห็นผิดแล้ว ยังชักชวนให้ผู้อื่นมีความเห็นผิดตามไปด้วย เผยแพร่ความเห็นที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ยิ่งจะทำให้ผู้อื่นเกิดความเห็นผิดเพิ่มมากขึ้น ทำให้ออกจากคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งไม่เป็นประโยชน์แก่ใครๆ เลย ทั้งสิ้น จึงควรที่จะได้พิจารณาจริงๆ ว่า เริ่มเห็นโทษของความเห็นผิดบ้างหรือยังว่าอันตรายแค่ไหน ถ้าเข้าใจพระธรรมผิด เป็นโทษแค่ไหนที่ไม่ได้ไตร่ตรองความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ที่ตรงตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงแล้ว นอกจากจะเป็นโทษแก่ตนเองแล้วยังประกาศชักชวนคนอื่นให้เข้าใจผิดด้วย โทษนั้นจะมากสักแค่ไหน เพราะเหตุว่า เป็นการทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สำหรับบุคคลที่มีความเห็นผิดในชาติแล้ว มีหรือที่ชาติต่อไปจะไม่เห็นผิดต่อไปอีก เป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมาก

ดังนั้น พุทธบริษัท ต้องมีความเคารพอย่างยิ่งในพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณและพระมหากรุณาคุณ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่งโดยประการทั้งปวง เพื่อสัตว์โลกจะได้ไม่เข้าใจผิด คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง แสดงความเป็นจริงของธรรมทั้งหมด ต้องฟังศึกษาด้วยความเคารพละเอียดรอบคอบไตร่ตรองจนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจได้ถูกต้องจริงๆ มิฉะนั้นแล้ว ก็เป็นผู้หันหลังให้พระธรรม ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่แต่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว มีแต่จะมีความเห็นที่เพิ่มขึ้นๆ จากโลกนี้ไปอีก แม้ได้ยินได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่สนใจ ไม่พิจารณาไตร่ตรองแล้วมีการเข้าใจผิดซึ่งเป็นโทษอย่างยิ่ง

หนทางที่ถูกต้อง คือ ควรจะได้ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ขณะที่ฟังพระธรรม เป็นการสะสมความเข้าใจถูก เริ่มที่จะมีความเห็นถูก จนกว่าจะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นๆ โดยที่ต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญาอย่างแท้จริง ขณะที่ค่อยๆ เข้าใจธรรมเพิ่มขึ้นๆ นั้น เป็นขณะที่มีค่าที่ประเสริฐที่สุด ที่จะน้อมไปเป็นไปเพื่อการดับอกุศลธรรม มีความเห็นผิด เป็นต้นได้ในที่สุด เพราะขณะที่เข้าใจ ปัญญาเกิด ก็คุ้มครองไม่ให้เกิดความเห็นผิด แล้ว และในขณะนั้นอกุศลอื่นๆ ก็เกิดไม่ได้ด้วย.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 17 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ