อุปมาวีถีจิตทางปัญจทวาร
โดย บ้านธัมมะ  24 ก.พ. 2551
หัวข้อหมายเลข 7510

ในอัฏฐสาลินีอรรถกถาธรรมสังคณีปกรณ์ อุปมาการเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ของวิถีจิตทางปัญจทวารว่า...

พระราชาองค์หนึ่งบรรทมหลับอยู่บนแท่นบรรทม มหาดเล็กคนหนึ่งถวายนวดพระยุคลบาทอยู่ นายทวารหูหนวกยืนอยู่ที่พระทวาร ทหารยาม ๓ คนยืนเรียงลำดับอยู่ ทีนั้นยังมีคนบ้านนอกคนหนึ่ง ถือเครื่องราชบรรณาการมาเคาะประตูเรียก นายทวารหูหนวกไม่ได้ยินเสียง มหาดเล็กผู้ถวายนวดพระยุคลบาทจึงให้สัญญาณ นายทวารหูหนวกจึงเปิดประตูดูด้วยสัญญาณนั้นทหารยามคนที่หนึ่งรับเครื่องราชบรรณาการส่งให้คนที่สอง คนที่สองส่งให้คนที่สาม คนที่สามทูลเกล้าฯ ถวายพระราชา พระราชาเสวย
คำอุปมาเปรียบเทียบแสดงให้เห็น วิถีจิต ที่เกิดขึ้น รับรู้อารมณ์แต่ละขณะว่า ขณะที่อารมณ์กระทบกับจักขุปสาท เปรียบเหมือนคนบ้านนอกที่ถือเครื่องบรรณาการมาเคาะที่พระทวาร มหาดเล็กที่ถวายงานนวดพระยุคลบาทของพระราชาคือ ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นขณะที่รู้ว่ามีแขกมาเคาะที่ทวาร จึงให้สัญญาณคือรู้อารมณ์ที่กระทบ แล้วก็ดับไป จักขุวิญญาณจิต ก็เกิดขึ้นสืบต่อทำกิจเห็นที่จักขุปสาท แล้วต่อจากนั้นทหารยามคนที่หนึ่งคือ สัมปฏิจฉันนจิต ก็รับเครื่องราชบรรณาการส่งให้คนที่สองคือ สันตีรณจิต คนที่สองส่งให้คนที่สามคือ โวฏฐัพพนจิต คนที่สามทูลเกล้าฯ ถวายพระราชาคือชวนจิต พระราชาได้เสวยเครื่องราชบรรณาการคือ อารมณ์ นั้น

ดาวน์โหลดหนังสือ --> ปรมัตถธรรมสังเขป



ความคิดเห็น 1    โดย tonnkhaow  วันที่ 23 เม.ย. 2551

ขออนุญาตเรียนถามเพื่อความเข้าใจครับ

หากเปรียบ จักขุวิญญาณจิตเป็นนายทวารหูหนวกผู้เปิดประตู แล้วทำไมจึงมองว่า จักขุวิญญาณจิต เป็นวิบากจิตครับ เพราะดูแล้ว เป็นจิตทีทำงานโดยไม่ได้คอยรับทอดสิ่งใดที่เกี่ยวข้องกับอดีตกรรมแต่อย่างใดเลย ดูเหมือนจะเกิดขึ้น ณ เวลาใด ที่ ปัญจทวาราวัชชนจิต อันไม่ใช่วิบากจิตต้องการเสียมากกว่า ทีแรกเข้าใจว่า จักขุวิญญาณจิต เป็นผลจากปัจจัยอันเป็นกรรมในอดีตเสียอีก


ความคิดเห็น 2    โดย study  วันที่ 23 เม.ย. 2551

จักขุวิญญาณ โดยชาติแล้วเป็นชาติวิบาก เป็นผลของกรรมในอดีตจักขุวิญญาณจิต เปรียบเหมือนนายทวารหูหนวกผู้เปิดประตู เพราะทำกิจเห็นเท่านั้น


ความคิดเห็น 3    โดย tonnkhaow  วันที่ 24 เม.ย. 2551

ขอบคุณครับที่กรุณาตอบคำถาม อยากให้ดูหัวข้อในกระดาน หมายเลข 07670

ขณะใดเป็นวิบากจิต ประกอบด้วยครับ เพราะดูเหมือนกล่าวค่อนข้างชัดเจนว่าจักขุวิญญาณจิตเป็นวิบาก หากเปรียบเป็นนายทหารหูหนวกจะค่อนข้างเสริมความเข้าใจไปในทางว่า จิตดวงนี้ไม่ได้มาจากวิบากเลย เหมือนเกิดขึ้นมาเพื่อสานต่อการทำงานของปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งก็ไม่ได้เป็นจิตวิบากอยู่แล้วเท่านั้น แต่หากจักขุวิญญาณจิตนี้เป็นนายทวารที่เปิดประตูเองคิดเองโดยไม่รอคำสั่งใคร น่าจะเสริมให้เข้าใจว่าเป็นวิบากได้บ้าง เพราะจะเปิดให้หรือไม่ก็ขึ้นกับวิบาก จึงอยากทราบต่อไปอีกด้วยครับ ที่ว่าจิตใดเป็นวิบาก หรือเป็นผลมาจากกรรมในอดีต มีอะไรเป็นข้อแตกต่างจนทำให้สามารถแบ่งแยกออกจากจิตอื่นที่ไม่ใช่วิบากได้ครับ เพราะความเป็นจิตวิบากในตัวอย่างนี้ เหมือนไม่เห็นความเป็นผลแห่งกรรมในอดีตมาเกี่ยวข้องชัดเจนเท่าใดนักขออภัยที่ถามยาวครับ เนื่องจากสนใจเจาะจงเรื่องจิตวิบากสัมพันธ์กับกรรมในอดีตได้อย่างไรเป็นพิเศษครับ


ความคิดเห็น 4    โดย study  วันที่ 24 เม.ย. 2551

การศึกษาปรมัตถธรรมจะทำให้ทราบจิตประเภทต่างๆ คือ โดยชาติการเกิด แบ่งเป็น ๔ ชาติ คือ กุศลชาติ อกุศลชาติ วิบากชาติ กิริยาชาติ จิตชาติกุศลและอกุศลเป็นเหตุจิตชาติวิบากเป็นผล อนึ่ง วิบากจิตในชีวิตประจำวันมีมาก เช่น จิตเห็น จิตได้ยิน จิตรู้กลิ่น จิตรู้รส จิตรู้โผฏฐัพพะ และนอกจากนั้นมีจิตที่ทำกิจสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะมหาวิบากจิต มหคตวิบาก โลกุตรผลจิตก็เป็นวิบาก โดยหลักพระธรรมที่ทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น ถ้าไม่มีเหตุคือกุศลและอกุศล วิบากจิตเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้นี้เป็นจิตวิบากสัมพันธ์กับกรรมในอดีต อนึ่ง ถ้าไม่เข้าใจอุปมาเรื่องนายทวารหูหนวกก็ขอให้ศึกษาชาติของจิตจะเข้าใจจิตมากยิ่งขึ้น ครับ


ความคิดเห็น 5    โดย chatchai.k  วันที่ 5 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ