เมตตา กรุณา เป็นความต้องการ หรือเป็นตัณหา ไหมครับ
โดย teezaboo  25 พ.ย. 2566
หัวข้อหมายเลข 47013

เมตตา กรุณา เป็นความต้องการ หรือเป็นตัณหา ไหมครับ
เพราะคิดว่าการอยากช่วยถือเป็นความต้องการจึงสงสัยว่าเป็นตัณหาหรือไม่
ถ้าไม่เป็นตัณหาแล้วเป็นอาลมณ์กุศลแบบใด ความต้องการแบบใดที่ไม่มี
ความติดข้อง



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 26 พ.ย. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเมตตา กับ กรุณา เป็นธรรมคนละประเภท กล่าวคือ เมตตา เป็นลักษณะของความมีไมตรี มีความเป็นเพื่อน ความหวังดี ความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ไม่หวังร้ายต่อผู้อื่น ส่วน กรุณา เป็นธรรมฝ่ายดีอีกประเภทหนึ่ง หมายถึง สภาพธรรมที่ประสงค์จะช่วยบุคคลอื่นให้พ้นจากทุกข์ เมื่อเห็นผู้อื่นเป็นทุกข์ ได้รับความลำบากแล้วมีการช่วยเหลือ ขณะนั้นเป็นกุศลจิต ที่ประกอบด้วยกรุณา ดังข้อความใน พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ ๕๒๙ ดังนี้
ที่ชื่อว่า เมตตา เพราะอรรถว่า ธรรมนี้ มีในมิตร หรือว่า ย่อมเป็นไปเพื่อมิตร.

ธรรมที่ชื่อว่า กรุณา เพราะอรรถว่า ย่อมกระทำหทัยของสาธุชนทั้งหลายให้หวั่นไหว ในเพราะคนอื่นมีทุกข์. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า กรุณา เพราะอรรถว่า ย่อมบำบัด หรือย่อมเบียดเบียน (ซึ่งทุกข์ของผู้อื่น) คือ ย่อมยังทุกข์ของผู้อื่นให้พินาศไป


ถ้าจะพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว เพราะมีเมตตา เป็นเบื้องต้น จึงมีการช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์ เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีเมตตา ไม่มีความเป็นมิตรเป็นเพื่อนแล้วการที่จะช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์ ย่อมจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และประการสำคัญที่ควรพิจารณา คือ ในชีวิตประจำวัน ไม่ค่อยจะได้พบเห็นสัตว์ที่ประสบทุกข์บ่อยนัก จึงเป็นโอกาสของการอบรมเจริญเมตตา คือ ความเป็นมิตร เป็นเพื่อน มีไมตรีจิตที่ดีต่อกัน มีความปรารถนาดีต่อกัน ไม่หวังร้ายต่อกัน ซึ่งเป็นกุศลธรรมที่ควรอบรมเจริญให้มีขึ้นเป็นอย่างยิ่ง
-ไม่ว่าจะเป็น ณ สถานที่ใด ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใครก็ตาม ไม่มีเครื่องกั้นเลยกับการที่จะมีเมตตา -เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ก็ควรที่จะมีเมตตาต่อกัน ไม่ควรที่จะโกรธกัน ไม่ควรที่จะเบียดเบียนกัน ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม
-เกิดความขุ่นเคือง พร้อมทั้งซ้ำเติม ซึ่งเป็นการทำให้บุคคลนั้นเดือดร้อน นั่นไม่ใช่ลักษณะของเมตตา
-ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะต้องโกรธกัน ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเบียดเบียนทำร้ายกันแต่ควรอย่างยิ่งที่จะให้อภัยและทำสิ่งที่ดีให้แก่กัน
-เมตตากับพยาบาทจะเกิดร่วมกันไม่ได้ ขณะใดที่โกรธ รู้ได้เลยว่าเพราะขาดเมตตาจึงโกรธ ขณะใดที่เมตตา ก็รู้ได้เช่นกันว่าขณะนั้นเป็นสภาพจิตที่ห่างไกลจากความโกรธ
-เวลาที่โกรธแล้วไม่ลืม สังขารขันธ์ก็จะปรุงแต่งต่อไปอีก ถึงกับเป็นความพยาบาทเป็นความขุ่นเคืองที่คิดจะประทุษร้าย ปองร้ายเบียดเบียนผู้อื่น
-ถ้าไม่มีเมตตา ไม่อบรมเมตตาก็ไม่สามารถจะระงับความพยาบาทได้เลย ขณะใดที่ขุ่นเคืองใจ แม้เพียงเล็กน้อย ขณะนั้นก็ไม่มีเมตตาต่อผู้อื่นแล้ว
-ในชีวิตประจำวัน มีตา เห็น มีหู ได้ยินเสียงของบุคคลต่างๆ อยู่ตลอดเวลา
จึงควรอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้ไม่อิ่มในการอบรมเจริญเมตตาให้มีมากขึ้น -เมตตา ต้องอบรมเจริญให้แผ่ไป จะไปจำกัดทำไมของดีๆ (เมตตา เป็นธรรมฝ่ายดี ที่ควรอบรมเจริญในชีวิตประจำวัน)
-เมตตา มีคุณมากมากมาย พร้อมทั้งอุปการะเกื้อกูลให้กุศลธรรมอื่นๆ เจริญขึ้นด้วยจึงควรอย่างยิ่งที่จะอบรมเจริญให้มีขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะนำมาซึ่งประโยชน์สุขทั้งแก่ตนและบุคคลอื่นอย่างแท้จริง


ทั้งเมตตาและกรุณา เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี จะไม่ใช่ความติดข้องต้องการเหมือนโลภะแต่อย่างใด ครับ

... ยินดีในกุศลของคุณ teezaboo และทุกๆ ท่านด้วยครับ ...


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 26 พ.ย. 2566

ยินดีในกุศลจิตครับ


ความคิดเห็น 3    โดย ทรงศักดิ์  วันที่ 28 พ.ย. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ