อภิธรรมในชีวิต [13] รูปปรมัตถ์ มีทั้งหมด 28 รูป
โดย พุทธรักษา  31 ม.ค. 2554
หัวข้อหมายเลข 17802

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปรมัตถธรรมไม่ใช่มีแต่นามปรมัตถ์เท่านั้น ยังมีรูปปรมัตถ์ ซึ่งเป็นปรมัตถธรรมที่ ๓ รูปทั้งหมดมี ๒๘ รูป (ประเภท) รูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน มี ๔ รูป ซึ่งภาษาบาลีเรียกว่า มหาภูตรูป ๔ คือ

๑. ธาตุดิน ปฐวี เป็นลักษณะ แข็ง หรือ อ่อน

๒. ธาตุน้ำ อาโป เป็นลักษณะที่เกาะกุม

๓. ธาตุไฟ เตโช เป็นลักษณะร้อน หรือ เย็น

๔. ธาตุลม วาโย เป็นลักษณะไหว หรือ ตึง

มหาภูตรูป ๔ มีรูปอื่นๆ ซึ่งภาษาบาลีเรียกว่า อุปาทายรูป เกิดร่วมด้วย (เพราะว่า) รูปแต่ละรูปไม่เกิดตามลำพัง รูปเกิดรวมกันเป็นกลุ่ม (เสมอ) อย่างน้อยที่สุดต้องมีรูป ๘ รูปเกิดรวมกัน

ข้อมูลเพิ่มเติม จาก "ธัมมนิทเทส"

อุปาทายรูป

อุป (เข้าไป) + อาทาย (ถือเอา อาศัย) + รูป (รูป)

รูปที่เข้าไปอาศัยมหาภูตรูป หมายถึง รูป ๒๔ รูป นอกเหนือจากมหาภูตรูป ๔ ซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นเองตามลำพังได้ จะต้องอาศัยมหาภูตรูปเกิดพร้อมกัน มหาภูตรูป ๔ จึงเป็นที่อาศัยของอุปาทายรูป ๒๔ เป็นเหมือนกับแผ่นดิน ที่เป็นที่อาศัยรองรับต้นไม้หรือบ้านเรือน อุปาทายรูป ๒๔ จะเกิดไม่พร้อมกันทั้งหมด ขึ้นอยู่กับสมุฏฐานที่เป็นปัจจัยให้เกิด และเกิดในกลาปไหน แต่ที่แน่นอนคืออวินิพโภครูป ๘ รูป ต้องเกิดพร้อมกัน และมีอยู่เป็นพื้นฐานในกลุ่มของรูปทุกกลุ่ม

อวินิพโภครูป

อ --> น (ไม่มี) + วิ (วิสํ) (แยกกัน) + นิพฺโภค (เป็นไป) + รูป (รูป)

รูปที่ไม่มีความเป็นไปแยกออกจากกัน หมายถึงกลุ่มของรูป ๘ รูป (สุทธัฏฐกกลาป) ซึ่งเป็นส่วนที่เล็กที่สุดของรูปที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา รูปที่เหลืออีก ๒๐ รูป ถ้าจะเกิดก็ต้องอาศัยเกิดพร้อมกับอวินิพโภครูป ๘ รูปนี้ เช่น กลุ่มของจักขุปสาทรูป ซึ่งมี ๑๐ รูป (จักขุทสกกลาป) ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา ชีวิตินทรีย์ และจักขุปสาท

ลักษณะต่างๆ ของรูปสามารถรู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ รูปธรรมมีจริง เพราะมีลักษณะที่ปรากฏให้รู้ได้ เราบัญญัติเรียกรูปว่า ร่างกายบ้าง โต๊ะบ้าง (เป็นต้น) ทั้งร่างกายและโต๊ะมีลักษณะแข็ง ซึ่งรู้ได้ (ทางกาย) ด้วยการกระทบสัมผัส ซึ่งทำให้เห็นความจริงว่า ไม่ว่าจะเป็นร่างกายหรือโต๊ะ ลักษณะที่แข็งนั้นเป็นแข็งเหมือนกัน สภาพแข็งเป็นปรมัตถธรรม "ร่างกาย" หรือ "โต๊ะ" ไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่เป็นสมมติบัญญัติ เราเข้าใจ (ผิด) ว่าร่างกายดำรงอยู่ และยึดถือว่า ร่างกายเป็นตัวตน แต่ที่เรียกว่า "ร่างกาย" นั้นเป็นเพียงรูปต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป คำบัญญัติว่า "ร่างกาย" นั้นอาจจะทำให้เราเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงผิดไป เราจะประจักษ์แจ้งซึ่งความจริง ถ้าเรารู้ลักษณะที่ต่างกันของรูปเมื่อรูปปรากฏ


หนังสือ "พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน" [Abhidhamma in Daily Life] โดย นีน่า วันกอร์คอม แปลโดย อ. ดวงเดือน บารมีธรรม จัดพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๓ โดย มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

เปิดอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...

พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน



ความคิดเห็น 1    โดย พุทธรักษา  วันที่ 31 ม.ค. 2554

จิต เจตสิก และรูป เกิดขึ้นเมื่อมีปัจจัยปรุงแต่งเท่านั้น ภาษาบาลีเรียก (สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง) ว่าสังขารธรรม การเห็นย่อมเกิดไม่ได้ถ้าไม่มี (ปัจจัยปรุงแต่ง) จักขุปสาทและสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เลียงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สภาพธรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ย่อมดับเมื่อเหตุปัจจัยดับ บางคนเข้าใจว่าเสียงยังดังอยู่ แต่ที่คิดว่าเสียงยังดังอยู่นั้น ตามความเป็นจริงแล้ว เป็นรูปที่เกิดดับสืบต่อกันหลายขณะ (ที่คิดว่าสภาพธรรมต่างๆ ยังไม่ดับไป เพราะว่าสภาพธรรมเกิดดับสืบต่อกันหลายขณะ)


ความคิดเห็น 2    โดย พุทธรักษา  วันที่ 31 ม.ค. 2554

ปรมัตถธรรมที่ ๔ คือ นิพพานปรมัตถ์ นิพพานเป็นธรรมที่ดับกิเลส นิพพานเป็นอารมณ์ที่รู้แจ้งได้ทางมโนทวาร เมื่อประพฤติปฏิบัติตามหนทางที่ถูกต้องซึ่งนำไปสู่นิพพาน ซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลาย ตามความเป็นจริง นิพพานเป็นนามธรรม แต่นิพพานก็ไม่ใช่จิตหรือเจตสิก (เพราะว่า) นิพพานเป็นนามธรรมที่ไม่เกิดและไม่ดับ เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ซึ่งภาษาบาลีเรียกว่า วิสังขารธรรม นิพพานไม่เกิดเพราะเป็นสภาพธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ฉะนั้น นิพพานจึงไม่ดับ จิตและเจตสิกเป็นนามธรรมซึ่งรู้อารมณ์ นิพพานเป็นนามธรรมซึ่งไม่รู้อารมณ์ แต่นิพพานเป็นอารมณ์ของจิตและเจตสิกได้ นิพพานไม่ใช่บุคคล ตัวตน นิพพานเป็นอนัตตา

สงเคราะห์ปรมัตถธรรม ๔ ดังนี้ คือ

จิต เจตสิก และรูป เป็นสังขารธรรม

นิพพาน เป็นวิสังขารธรรม

เมื่อศึกษาพระธรรม จำเป็นจะต้องรู้ว่าสภาพธรรมใดเป็นปรมัตถธรรมประเภทใด มิฉะนั้นแล้วคำสมมติบัญญัติต่างๆ อาจทำให้เราเข้าใจผิดได้ เช่น เราควรทราบว่าสภาพธรรมที่เรียกว่า "ร่างกาย" เป็นรูปปรมัตถ์ต่างๆ ไม่ใช่จิตปรมัตถ์หรือเจตสิกปรมัตถ์ เราควรรู้ว่า นิพพานไม่ใช่จิตหรือเจตสิก แต่เป็นปรมัตถธรรมที่ ๔ นิพพานเป็นสภาพธรรมที่ดับสังขารทั้งปวง เมื่อพระอรหันต์ดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่มีการเกิดอีก

สังขารธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ไม่เที่ยง (อนิจจัง) สังขารธรรมเป็นทุกข์ เพราะไม่เที่ยง

ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน (สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา) เพราะฉะนั้น สังขารธรรมทั้งหลาย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แต่ธรรมทั้งหลาย คือ ปรมัตถธรรมทั้ง ๔ ซึ่งรวมทั้งนิพพานด้วย เป็น อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน


ความคิดเห็น 3    โดย พุทธรักษา  วันที่ 31 ม.ค. 2554

คำถาม (ท้ายบท)

๑. นามธรรมและรูปธรรมต่างกันอย่างไร

๒. จิตและเจตสิกต่างกันอย่างไร

๓. เจตสิกรู้อารมณ์หรือไม่

๔. จิตมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่า ๑ ดวง (ประเภท) หรือเปล่า

๕. นิพพานรู้อารมณ์ได้ไหม

๖. นิพพานเป็นตัวตนหรือเปล่า


ความคิดเห็น 4    โดย chatchai.k  วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย Lurdhavuth  วันที่ 21 พ.ค. 2564

วันนี้อ่านแล้วทำให้เข้าใจแทบจะทุกคำ ขออนุโมทนาในคำบรรยายจริงๆครับ


ความคิดเห็น 6    โดย Wisaka  วันที่ 10 พ.ย. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย nui_sudto55  วันที่ 12 ม.ค. 2567

สาธุครับ