๗. เรื่องอตุลอุบาสก [๑๘๐]
โดย บ้านธัมมะ  26 ก.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 34978

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 462

๗. เรื่องอตุลอุบาสก [๑๘๐]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 42]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 462

๗. เรื่องอตุลอุบาสก [๑๘๐]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภอุบาสก ชื่อ อตุละ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "โปราณเมตํ" เป็นต้น.

อตุละโกรธพระเรวตะเพราะท่านไม่พูดด้วย

ความพิสดารว่า อตุละนั้นเป็นอุบาสกชาวกรุงสาวัตถี มีอุบาสก เป็นบริวาร ๕๐๐ คน วันหนึ่ง พาพวกอุบาสกเหล่านั้นไปวิหาร เพื่อต้องการฟังธรรม ใคร่จะฟังธรรมในสำนักพระเรวตเถระ ไหว้พระเรวตเถระแล้วนั่ง.

ก็ท่านผู้มีอายุนั้น เป็นผู้ยินดีในการหลีกเร้น เที่ยวไปผู้เดียวเหมือนราชสีห์, ฉะนั้น ท่านจึงไม่กล่าวอะไรกับอุบาสกนั้น เขาโกรธว่า "พระเถระนี้ ไม่กล่าวอะไร" จึงลุกขึ้น ไปยังสำนักพระสารีบุตรเถระ ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง, เมื่อพระเถระกล่าวว่า "พวกท่านมาด้วยต้องการอะไร?" จึงกล่าวว่า "ท่านขอรับ ผมพาอุบาสกเหล่านี้เข้าไปหาพระเรวตเถระ เพื่อต้องการฟังธรรม, พระเถระไม่กล่าวอะไรแก่ผมนั้นเลย, ผมนั้นโกรธท่าน จึงมาที่นี้, ขอท่านจงแสดงธรรมแก่ผมเถิด."

ลำดับนั้น พระเถระกล่าวว่า "ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงนั่งเถิด อุบาสกทั้งหลาย" แล้วแสดงอภิธรรมกถาอย่างมากมาย.

อตุละโกรธคนผู้พูดมาก

อุบาสกโกรธว่า "ชื่อว่าอภิธรรมกถา ละเอียดยิ่งนัก สุขุมยิ่งนัก, พระเถระแสดงอภิธรรมอย่างเดียวมากมาย, พวกเราต้องการอะไรด้วย


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 463

พระอภิธรรมนี้" ดังนี้แล้ว ได้พาบริษัทไปยังสำนักพระอานนทเถระ; แม้เมื่อพระเถระกล่าวว่า "ทำไม? อุบาสก," จึงกล่าวว่า "ท่านขอรับ พวกผมเข้าไปหาพระเรวตเถระ เพื่อต้องการฟังธรรม, ไม่ได้แม้แต่การสนทนาและปราศรัยในสํานักของท่าน เลยโกรธ แล้วจึงมายังสำนักของพระสารีบุตรเถระ, แม้พระเถระนั้น ก็แสดงอภิธรรมอย่างเดียวละเอียดนัก มากมายแก่พวกผม, พวกผมโกรธแม้ต่อพระเถระนั่นว่า "พวกเราต้องการอะไรด้วยอภิธรรมนี้ แล้วจึงมาที่นี้; ขอท่านจงแสดงธรรมกถา แก่พวกผมเถิด ขอรับ."

พระเถระ. ถ้าอย่างนั้น ขอพวกท่านจงนั่งฟังเถิด.

พระเถระแสดงธรรมแก่พวกเขาแต่น้อยๆ ทำให้เข้าใจง่าย.

อตุละโกรธคนผู้พูดน้อย

พวกเขาโกรธแม้ต่อพระเถระแล้ว ก็ไปยังสำนักพระศาสดา ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง.

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะพวกเขาว่า "อุบาสกทั้งหลาย พวก ท่านมาทำไมกัน."

พวกอุบาสก. เพื่อต้องการฟังธรรม พระเจ้าข้า.

พระศาสดา ก็พวกท่านฟังธรรมแล้วหรือ?

พวกอุบาสก. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เบื้องต้น พวกข้าพระองค์ เข้าไปหาพระเรวตเถระ, ท่านไม่กล่าวอะไรกับพวกข้าพระองค์, พวกข้าพระองค์โกรธท่านแล้ว จึงไปหาพระสารีบุตรเถระ, พระเถระนั้น แสดงอภิธรรมแก่พวกข้าพระองค์มากมาย, พวกข้าพระองค์กำหนด


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 464

อภิธรรมนั้นไม่ได้ จึงโกรธ แล้วเข้าไปหาพระอานนทเถระ พระเถระนั้น แสดงธรรมแก่พวกข้าพระองค์น้อยนัก, พวกข้าพระองค์โกรธแม้ต่อท่าน แล้วมาในที่นี้.

การนินทาสรรเสริญเป็นของเก่า

พระศาสดา ทรงสดับถ้อยคำของเขาแล้ว จึงตรัสว่า "อตุละ ข้อนั้น เขาเคยประพฤติกันมาตั้งแต่โบราณทีเดียว, ชนทั้งหลายติเตียน ทั้งคนนิ่ง ทั้งคนพูดมาก ทั้งคนพูดน้อยทีเดียว, ด้วยว่าผู้อันเขาพึงติเตียน อย่างเดียวเท่านั้น หรือว่าผู้อันเขาพึงสรรเสริญอย่างเดียวไม่มีเลย; แม้พระราชาทั้งหลาย คนบางพวกก็นินทา บางพวกก็สรรเสริญ, แผ่นดินใหญ่ก็ดี, พระจันทร์และพระอาทิตย์ก็ดี, ธาตุมีอากาศเป็นต้นก็ดี, คนบางพวกนินทา บางพวกสรรเสริญ, แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ประทับนั่งแสดงธรรมในท่ามกลางบริษัท ๔ บางพวกนินทา บางพวกสรรเสริญ; ก็การนินทาและสรรเสริญของพวกอันธพาลไม่เป็นประมาณ; แต่ผู้ที่ถูกบัณฑิตผู้มีปัญญาติเตียน จึงชื่อว่า เป็นอันติเตียน ผู้อันบัณฑิตสรรเสริญแล้ว ชื่อว่าเป็นอันสรรเสริญ" ดังนี้แล้ว ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า :-

๗. โปราณเมตํ อตุล เนตํ อชฺชตนามิว

นินฺทนฺติ ตุณฺหิมาสีนํ นินฺทนฺติ พหุภาณินํ

มิตภาณิมฺปิ นินฺทนฺติ นตฺถิ โลเก อนินฺทิโต

น จาหุ น จ ภวิสฺสติ น เจตรหิ วิชฺชติ

เอกนฺติ นินฺทิโต โปโส เอกนฺตํ วา ปสํสิโต

ยญฺเจ วิญฺญู ปสํสนฺติ อนุวิจฺจ สุเว สุเว


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 465

อจฺฉิทฺทวุตฺตึ เมธาวึ ปญฺาสีลสมาหิตํ

เนกฺขํ ชมฺโพนทสฺเสว โก ตํ นินฺทิตุมรหติ

เทวาปิ นํ ปสํสนฺติ พฺรหฺมุนาปิ ปสํสิโต.

"อตุละ การนินทาและสรรเสริญนั่น เป็นของเก่า,

นั่นมิใช่เป็นเหมือนมีในวันนี้, ชนทั้งหลาย

ย่อมนินทาผู้นั่งนิ่งบ้าง, ย่อมนินทาผู้พูดมากบ้าง,

ย่อมนินทาผู้พูดพอประมาณบ้าง, (๑) ผู้ไม่ถูกนินทาไม่มี

ในโลก คนผู้ถูกนินทาโดยส่วนเดียว หรือว่าอันเขา

สรรเสริญโดยส่วนเดียวไม่ได้มีแล้ว จักไม่มี และไม่มี

อยู่ในบัดนี้; หากว่าวิญญูชนใคร่ครวญแล้วทุกๆ วัน

สรรเสริญผู้ใด ซึ่งมีความประพฤติไม่ขาดสาย มีปัญญา

ผู้ตั้งมั่นด้วยปัญญาและศีล, ใครเล่าย่อมควร

เพื่อติเตียนผู้นั้นผู้เป็นดังแท่งทองชมพูนุท (๒) , แม้เทวดา

และมนุษย์ทั้งหลาย ก็สรรเสริญเขา ถึงพรหมก็

สรรเสริญแล้ว."

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โปราณเมตํ คือการนินทาและสรรเสริญนั่นเอง เป็นของเก่า.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกอุบาสกนั้นว่า "อตุละ."

บาทพระคาถาว่า เนตํ อชฺชตนามิว ความว่า การนินทาหรือสรรเสริญนี้ เป็นเหมือนมีในวันนี้ คือเกิดขึ้นเมื่อตะกี้ หามิได้. อธิบายว่า


๑. ตามพยัญชนะว่า ผู้พูดพอนับได้. ๒. ทองพิเศษชนิดหนึ่งซึ่งได้มาจากแม่น้ำชมพู.


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 466

จริงอยู่ คนทั้งหลายย่อมนินทาคนนิ่งว่า "ทำไม? คนนี่จึงนั่งนิ่ง เหมือนคนใบ้ เหมือนคนหนวก เหมือนไม่รู้อะไรๆ เสียเลย" ดังนี้บ้าง, ย่อมนินทาคนพูดมากว่า "ทำไม? คนนี่จึงประพฤติเสียงกฏะกฏะ เหมือนกับใบตาลถูกลมพัด, คำพูดของผู้นี้ไม่มีที่สิ้นสุด" ดังนี้บ้าง, ย่อมนินทาผู้พูดพอประมาณว่า "ทำไม? คนนี่จึงสำคัญคำพูดของตนเหมือนทองคำและเงิน พูดคำสองคำแล้วนิ่งเสีย" ดังนี้บ้าง; คนชื่อว่าไม่ถูกนินทา ย่อมไม่มีในโลกนี้ แม้โดยประการทั้งปวง ด้วยประการอย่างนั้น.

บทว่า น จาหุ เป็นต้น ได้แก่ ไม่ได้มีแล้วแม้ในอดีต, ทั้งจักไม่มีในอนาคต.

สองบทว่า ยญฺเจ วิญฺญู ความว่า การนินทาหรือสรรเสริญของพวกชนพาล ไม่เป็นประมาณ, แต่บัณฑิตทั้งหลาย ใคร่ครวญแล้ว คือ ทราบเหตุแห่งนินทาหรือเหตุแห่งสรรเสริญแล้วทุกๆ วัน ย่อมสรรเสริญบุคคลใด ผู้ชื่อว่า มีความประพฤติไม่ขาดสาย เพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยสิกขาอันไม่ขาดสาย หรือด้วยความเป็นไปแห่งชีวิตไม่ขาดสาย ผู้ชื่อว่ามีปัญญา เพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาอันรุ่งเรืองในธรรม ชื่อว่าผู้ตั้งมั่นด้วยปัญญาและศีล เพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาอันเป็นโลกิยะและโลกุตระ และด้วยปาริสุทธิศีล ๔, ใครเล่า ย่อมควรเพื่อนินทาบุคคลนั้น ผู้เป็นดุจดังแท่งทองชมพูนุท อันเว้นจากโทษแห่งทองคำ อันควรเพื่อจะบุและขัด.

บทว่า เทวาปิ เป็นต้น ได้แก่ เทพดาก็ดี มนุษย์ผู้เป็นบัณฑิตก็ดี ย่อมลุกขึ้นชมเชย สรรเสริญ ซึ่งภิกษุนั้น.


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 25 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 467

บทว่า พฺรหฺมุนาปิ ความว่า ไม่ใช่เทพดาและมนุษย์อย่างเดียว (ย่อมสรรเสริญ), ถึงมหาพรหมในหมื่นจักรวาล ก็สรรเสริญบุคคลนั่นเหมือนกัน.

ในกาลจบเทศนา อุบาสกเหล่านั้นทั้ง ๕๐๐ ดำรงอยู่แล้วในโสดาปัตติผล ดังนี้แล.

เรื่องอตุลอุบาสก จบ.