[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 142
ปฐมปัณณาสก์
จักกวรรคที่ ๔
๗. อปริหานิสูตร
ว่าด้วยอปริหานิธรรม ๔
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 142
๗. อปริหานิสูตร
ว่าด้วยอปริหานิธรรม ๔
[๓๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นผู้ไม่พอที่จะเสื่อม เป็นผู้ปฏิบัติใกล้พระนิพพานทีเดียว ธรรม ๔ ประการคืออะไรบ้าง คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล เป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ เป็นผู้หมั่นประกอบความไม่เห็นแก่นอน
ก็ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีลเป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมในพระปาฏิโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจรเห็นภัย ในโทษมาตรว่าน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล
ก็ภิกษุผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลายเป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เห็นรูปด้วยตาแล้ว ฟังเสียงด้วยหูแล้ว ดมกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว เป็นผู้ไม่ถือโดยนิมิต ไม่ถือโดยอนุพยัญชนะ อภิชฌาโทมนัส อกุศลบาปธรรมทั้งหลายจะพึงไหลไปตามภิกษุผู้ไม่สำรวมอินทรีย์คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะเหตุความไม่สำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอันใด ปฏิบัติเพื่อปิดกั้นเสียซึ่งอินทรีย์คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอันนั้น รักษาอินทรีย์คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถึงความสำรวมในอินทรีย์คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ภิกษุเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ ทั้งหลายเป็นอย่างนี้แล.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 143
ก็ภิกษุเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะเป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงกลืนกินอาหาร มิใช่เพื่อเล่น มิใช่เพื่อเมา มิใช่เพื่อตกแต่ง มิใช่เพื่อประเทืองผิว เพียงเพื่อความตั้งอยู่ได้แห่งกายนี้ เพื่อยังชีวิตให้เป็นไป เพื่อหายหิว เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ คิดว่า ด้วยการกินอาหารนี้ เราจักระงับเวทนาเก่าเสียได้ด้วย จักไม่ยังเวทนาใหม่ให้เกิดขึ้นด้วย ความเป็นไปได้ ความไม่มีโทษ และความอยู่ผาสุกจักมีแก่เรา ภิกษุเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะเป็นอย่างนี้แล
ก็ภิกษุเป็นผู้หมั่นประกอบความไม่เห็นแก่นอนอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เวลากลางวัน ชำระจิตจากอาวรณิยธรรม ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง เวลากลางคืน ตอนยามต้น ก็ชำระจิตจากอาวรณิยธรรม ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง ตอนยามกลาง สำเร็จสีหไสยา โดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าให้เหลื่อมกัน มีสติสัมปชัญญะ ทำอุฏฐานสัญญา ไว้ในใจ ตอนยามปลาย กลับลุกขึ้นชำระจิตจากอาวรณิยธรรม ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง ภิกษุเป็นผู้หมั่นประกอบความไม่เห็นแก่นอนเป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เหล่านี้แล ย่อมเป็นผู้ไม่พอที่จะเสื่อม เป็นผู้ปฏิบัติใกล้พระนิพพานทีเดียว.
ภิกษุผู้ตั้งอยู่ในศีล สำรวมในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จักประมาณในโภชนะ และหมั่นประกอบความไม่เห็นแน่นอน เป็นผู้มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งวันทั้งคืน เจริญกุศลธรรมเพื่อบรรลุคุณอันเกษมจาก
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 144
โยคะอยู่อย่างนี้ ชื่อว่าเป็นภิกษุยินดีในอัปปมาทธรรม หรือเห็นภัยในความประมาทโดยปกติ ย่อมเป็นผู้ไม่พอที่จะเสื่อม เป็นผู้ปฏิบัติใกล้พระนิพพานทีเดียว.
จบอปริหานิสูตรที่ ๗
อรรถกถาอปริหานิสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในอปริหานิสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า นิพฺพานสฺเสว สนฺติเก ความว่า ภิกษุประพฤติอยู่ในที่ใกล้พระนิพพานทีเดียว. บทว่า สีเล ปติฏฺิโต ได้แก่ ภิกษุตั้งอยู่ในปาฏิโมกขศีล. บทว่า เอวํวิหารี แปลว่า เมื่ออยู่อย่างนี้. บทว่า อาตาปี คือ ผู้ประกอบด้วยความเพียร. บทว่า โยคกฺเขมสฺส ความว่า เพื่อบรรลุ คุณอันเกษมจากโยคะ ๔ คือพระนิพพาน. บทว่า ปมาเท ภยทสฺสิ วา ได้แก่ เห็นความประมาทโดยเป็นภัย.
จบอรรถกถาอปริหานิสูตรที่ ๗