พระธรรมวินัยใครบัญญัติ
โดย sairung  18 พ.ย. 2557
หัวข้อหมายเลข 25795

การบนมัสการพระอาจารย์ทุกรูป คือดิฉันมีความสงสัยว่าใครเป็นผู้บัญญัติพระธรรมวินัยค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 18 พ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมวินัย ก็คือ พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งมี ๓ ปิฎก คือ

๑. พระวินัยปิฏก

๒. พระสุตตันตปิฏก

๓. พระอภิธรรมปิฏก

พระวินัยปิฏก เกี่ยวกับระเบียบข้อประพฤติ ปฏิบัติ เพื่อพรหมจรรย์ขั้นสูงยิ่งขึ้นเป็นส่วนใหญ่

พระสุตตันปิฏก เกี่ยวกับหลักธรรม ที่ทรงเทศนาแก่บุคคลต่างๆ ณ สถานที่ต่างๆ เป็นส่วนใหญ่

พระอภิธรรมปิฏก เกี่ยวกับสภาพธรรม พร้อมทั้งเหตุ และผลของธรรม ทั้งปวง

ซึ่งพระธรรมวินัย บัญญัติขึ้นโดยพระพุทธเจ้า แต่พระสาวกนำสืบต่อๆ กันมาครับ สมัยทำสังคายนา ท่านพระอานนท์ และพระเถระทั้งหลาย รวบรวมจากพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ๘๒,๐๐๐ ธรรมขันธ์และจากท่านพระสารีบุตร ๒,๐๐๐ ธรรมขันธ์ รวมเป็น ๘,๔๐๐ ธรรมขันธ์ แต่ทั้งหมด ก็บัญญัติ แต่งตั้งขึ้นจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครับ

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 320

ประทานโอวาทแก่ภิกษุสงฆ์

[๑๔๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่าดูก่อนอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดีอันใดอันเราแสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา

ทุกคำในพระไตรปิฎกนั้น ทุกคำ เป็นพระราชดำรัส ที่แสดงให้เข้าใจความจริงที่กำลังปรากฏ เป็นความจริงซึ่งเป็นธรรมะ เป็นพระอภิธรรม ก็คือขณะนี้ ในชีวิตประจำวัน มีเห็น มีได้ยิน...มีคิดนึก ทุกอย่างเป็นธรรมะแต่ละอย่าง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเลยแม้แต่ขณะเดียว ที่เคยคิดว่าเป็นบุคคลต่างๆ นั้น แท้จริงทุกคนนั้นเป็นอภิธรรม เป็นแต่เพียงจิต เจตสิก และรูปเท่านั้น ถ้าไม่มีจิต เจตสิก และรูป บุคคลต่างๆ ก็ไม่มี เราก็ไม่มี

ทุกคำในพระไตรปิฎกเป็นอภิธรรมทั้งหมด ไม่ว่าปิฎกไหน ก็ไม่พ้นจากสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ พระอภิธรรมปิฎก ทรงแสดงสิ่งที่มีจริง จิต เจตสิก รูป ก็คือ ขณะนี้เอง ในชีวิตประจำวันมี จิตเห็น จิตได้ยิน กุศลจิต อกุศลจิต....จิตประเภทต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นไปแต่ละขณะ ไม่มีใครจะบังคับให้จิตประเภทใดเกิดขึ้นได้เลย เพราะแต่ละขณะเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัย สำหรับพระสุตตันตปิฎกนั้น ทรงแสดงถึงบุคคลต่างๆ ซึ่งก็ไม่พ้นจากจิต เจตสิก และรูป ในส่วนของพระวินัยปิฎกทรงบัญญัติข้อประพฤติปฏิบัติสำหรับพระภิกษุ

เพื่อเป็นการขัดเกลากิเลสยิ่งๆ ขึ้นทั้งหมดก็ไม่พ้นจากสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏก็คือ จิต เจตสิกและรูป ทรงเตือนให้รู้ว่าพระธรรมนั้นลึกซึ้ง ละเอียด รู้ตามได้ยาก ไม่ประมาทที่จะศึกษาพระธรรม พิจารณาไตร่ตรองให้เกิดความเข้าใจถูกเห็นถูกว่าแต่ละขณะเป็นธรรมทั้งหมด ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนใดๆ ทั้งสิ้น ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 18 พ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมคำสอนทั้งหมดเกิดจากพระปัญญาตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเมื่อประมวลแล้วก็เป็นพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม

พระวินัยปิฎก เป็นคำสอนที่เกี่ยวข้องกับพระภิกษุโดยตรง ถ้าคฤหัสถ์ได้ศึกษา ย่อมเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เพศบรรพชิตเป็นอย่างมาก ดังนั้นคฤหัสถ์ควรศึกษาด้วย เพราะมีประโยชน์กับทุกบุคคลทุกระดับชนชั้น มารยาทความประพฤติที่ดีงามทั้งหลายก็มีปรากฏในพระวินัยปิฎก พระวินัยแต่ละสิกขาบท พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติด้วยพระองค์เอง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมประกาศพระศาสนาตลอด ๔๕ พรรษา พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงนั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก ของผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษามีความเข้าใจและน้อมประพฤติปฏิบัติตาม ซึ่งมีผู้ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงมีจำนวนนับไม่ถ้วน ทั้งเทวดา พรหม และ มนุษย์ แล้วพระธรรมก็มีการทรงจำสืบต่อมาจนถึงสมัยปัจจุบันเป็นพระไตรปิฎก ข้อความในพระไตรปิฎก แสดงให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมด

ถ้าได้ศึกษาด้วยความละเอียด รอบคอบจริงๆ ศึกษาเพื่อความเข้าใจจริงๆ ตรงตามพระธรรม ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะทั้งหมดนั้น เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมประการต่างๆ เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองเป็นสำคัญ

ดังนั้น จึงควรอย่างยิ่งที่จะตั้งต้น ด้วยการตั้งใจฟัง ตั้งใจศึกษาพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยความละเอียดรอบคอบ ความเข้าใจถูกเห็นถูกก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปทีละเล็กทีละน้อย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 18 พ.ย. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย sairung  วันที่ 18 พ.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย ธนฤทธิ์  วันที่ 19 พ.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย chatchai.k  วันที่ 27 พ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ