(ธาตุวิภังคสูตร)
ต่อไป คือ อากาศธาตุ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุ ก็อากาศธาตุเป็นไฉน คือ อากาศธาตุภายในก็มี ภายนอกก็มี ก็อากาศธาตุภายในเป็นไฉน ได้แก่ สิ่งที่ว่าง ปรุโปร่ง กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน คือ ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ซึ่งเป็นทางให้กลืนของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม เป็นที่ตั้งของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม และเป็นทางระบายของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้มแล้วออกทางเบื้องล่าง หรือแม้สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไรๆ ที่ว่าง ปรุโปร่ง กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน นี้เรียกว่า อากาศธาตุภายใน
ก็อากาศธาตุทั้งภายในและภายนอกนี้แล เป็นอากาศธาตุทั้งนั้น พึงเห็นอากาศธาตุนั้นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ครั้นเห็นแล้วจะเบื่อหน่ายอากาศธาตุ แล้วจะให้จิตคลายกำหนัดอากาศธาตุได้
ที่ในกายมีอากาศธาตุคั่นอยู่ เป็นช่องว่างละเอียดทุกปรมาณูทีเดียว ที่ทำให้ร่างกายนี้แตกย่อยยับเป็นส่วนๆ เป็นชิ้นๆ อย่างละเอียดได้ เพราะเหตุว่ามีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ทั่วไปในร่างกาย แล้วประโยชน์ของการที่ทรงแสดงอากาศธาตุก็เพื่อที่จะให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้วที่หลงยึดถือ คือ อากาศธาตุด้วย เป็นส่วนว่างในร่างกาย แต่เพราะอาศัยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม มาประชุมรวมกันทำให้สำคัญยึดถือส่วนที่มาประชุมรวมกันที่อากาศนี้เองว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
อุปมาเหมือนกับที่ว่างแห่งหนึ่ง ยังไม่มีไม้ ยังไม่มีอิฐ ยังไม่มีปูน ยังไม่มีเชือก ยังไม่มีเถาวัลย์ ยังไม่มีวัตถุที่จะมาก่อสร้างให้เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น ก็ไม่เกิดความยึดถือว่าเป็นบ้าน เป็นเรือน เป็นอาคารต่างๆ แต่พอเอาอิฐ เอาไม้ เอาปูน เอาเชือก เอาเถาวัลย์ เอาดินเหนียว หรือเอาอะไรๆ ก็ตามมาประกอบขึ้นไปที่นั้น อากาศธาตุที่ว่างในที่นั้นก็มีส่วนอื่นมาประชุมรวมเกิดขึ้นให้สำคัญผิดว่า เป็นบ้าน เป็นเรือน เป็นอาคารต่างๆ ฉันใด ที่กายนี้ก็เหมือนกัน ส่วนแท้ๆ ส่วนหนึ่งที่มีก็คือ อากาศธาตุ แต่ว่ามีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม มารวมมาปนอยู่ด้วยก็เลยทำให้ยึดถือว่าเป็นตัวตน
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 96