สังโยชน์กับอหิริกะและอโนตตัปปะ
โดย ผู้ร่วมเดินทาง  8 ต.ค. 2555
หัวข้อหมายเลข 21857

เรียนท่านอาจารย์วิทยากร

มีคำถามจากกระดานสนทนาธรรมะ DSG ภาคภาษาอังกฤษ ถามว่า

ในสังโยชน์ ๑๐ ท่านกล่าวว่า อุทธัจจะ ว่าเป็นสังโยชน์

แต่ทำไมท่านไม่ยกด้วยว่า อหิริกะ และ อโนตตัปปะ เป็นสังโยชน์ด้วย ทั้งที่ทั้งสองนี้

เป็นเจตสิกที่ไม่อาจแยกจากอุทธัจจะและโมหเจตสิกเลย

มีคำอธิบายที่ควรแยกแยะอย่างไรครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 8 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น ล้วนแสดงถึงสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกุศล อกุศล หรือไม่ใช่ทั้งกุศลและไม่ใช่ทั้งอกุศล ทั้งหมดเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา

เวลาที่ได้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม สำคัญที่การตั้งต้นจริงๆ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้กล่าวอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นเครื่องเตือนใจที่ดีเป็นอย่างยิ่ง เพื่อไม่ประมาทในพระธรรมแต่ละคำ ว่า คำนั้น คือ อะไร มีความหมายว่าอย่างไร รวมถึงคำว่า สังโยชน์ ด้วย (บางครั้งก็เขียนเป็นสัญโญชน์) หมายถึง สภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรม ที่ผูกมัดเหล่าสัตว์ไว้ในวัฏฏ์ ไม่ให้ออกไปจากวัฏฏะ แต่ละประเภทที่ทรงแสดงว่า เป็นสังโยชน์ ทั้งโดยนัยของพระสูตรและพระอภิธรรม ล้วนแสดงถึงความเป็นธรรมที่ผูกไว้อย่างชัดเจน อย่างเช่น

โลภะ ความติดข้องยินดีพอใจ ก็ผูกไว้กับสิ่งนั้น เป็นไปในอารมณ์ต่างๆ ไม่ปล่อยไป ไม่สละ ถ้ายังมีโลภะก็ยังไม่พ้นไปจากวัฏฏะ ยังถูกผูกไว้ในวัฏฏะ

โทสะก็เป็นสังโยชน์ คือ ปฏิฆสังโยชน์ เวลาที่ความโกรธเกิดขึ้นเป็นไปนั้น ย่อมถูกผูกไว้ ครุ่นคิดวุ่นวายเดือดร้อน ตรึงไว้ ไม่ให้เป็นกุศล ไม่ทำให้ปัญญาเจริญขึ้นเพราะถูกครอบงำหรือผูกไว้ด้วยความโกรธ

อวิชชา เป็นความไม่รู้ ผูกไว้ในวัฏฏะ ตราบใดที่ยังมีอวิชชา ก็ยังไม่พ้นไปจากวัฏฏะได้เลย ความลังเลสงสัยในสภาพธรรมก็เป็นสังโยชน์เป็นเครื่องผูกไว้ ทำให้ไม่เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง

ความเห็นผิด ก็เป็นสังโยชน์ ผูกไว้ไม่ให้ไปสู่ความเห็นที่ถูกต้อง เพราะถูกผูกไว้ด้วยความเห็นผิด คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของสภาพธรรม เป็นต้น

รวมไปถึงอุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน ความไม่สงบแห่งจิต ก็ทรงแสดงไว้ว่าเป็นสังโยชน์ด้วย ทุกครั้งที่อกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปนั้น จะไม่ปราศจากอุทธัจจะซึ่งเป็นความไม่สงบแห่งจิตเลย พอความไม่สงบเกิดขึ้นก็ยังเป็นเหตุให้แสวงหาความไม่สงบเพิ่มมากยิ่งขึ้น คือ เป็นอกุศลมากยิ่งขึ้นโดยไม่รู้ตัวเลย

และแม้ไม่มีโลภะเกิด ไม่มีโทสะเกิดขึ้น ไม่มีวิจิกิจฉาความลังเลสงสังในสภาพธรรม เกิดขึ้นเป็นไป อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านก็เกิดขึ้นแสดงถึงความไม่สงบแห่งจิตในขณะที่จิตเป็นอกุศล

แต่สภาพธรรม ๒ อย่าง คือ อหิริกะ ความไม่ละอายต่ออกุศล และ อโนตตัปปะ ความไม่เกรงกลัวต่ออกุศล ที่เป็นอกุศลธรรมที่เกิดร่วมกับอุทธัจจะ ตลอดไปจนถึงเกิดร่วมกับอกุศลจิตทุกประเภทเลย ไม่แสดงว่าเป็นสังโยชน์ เพราะไม่ได้แสดงถึงความผูกไว้ตรึงไว้อย่างชัดเจนเหมือนกิเลสประการอื่นๆ เป็นแต่เพียงธรรมที่อยู่ในฐานะเดียวกัน เกิดร่วมกันกับสังโยชน์อื่นๆ

แต่ในที่สุดแล้วทั้งโมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ และ อุทธัจจะ ก็จะถูกดับได้อรหัตตมรรค

เมื่อกล่าวถึงความเข้าใจโดยรวมแล้ว ตราบใดก็ตามที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ยังไม่พ้นไปจากวัฏฏะ จนกว่าจะสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น สูงสุด คือ ถึงความเป็นพระอรหันต์ เมื่อนั้น ก็จะไม่ถูกผูกไว้ด้วยกิเลสประการต่างๆ อีก พร้อมทั้งไม่เป็นเหตุให้มีการเกิดในภพใหม่อีกต่อไป

ประโยชน์ของผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาธรรมในส่วนที่กล่าวถึงอกุศลธรรม นั้น คือ เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง เห็นโทษเห็นภัยของอกุศลที่มีมากเป็นอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นผู้ไม่ประมาทในการที่จะได้ฟังพระธรรม ได้ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาจนกว่ากิเลสทั้งปวงจะถูกดับหมดสิ้นไป ครับ.

ขอเิชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ความต่างของสังโยชน์ ในพระสูตรและอภิธรรม

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 8 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็เข้าใจความหมายของสังโยชน์ครับว่า สังโยชน์จริงๆ มีอรรถว่าอะไร ก็จะเข้าใจประเด็นปัญหานี้ ครับ

สังโยชน์ คือ สภาพธรรมที่ผูก ผูกสัตว์ไว้ในวัฏฏะ คือ ไม่ให้ออกไปจากวัฏฏะ คือการเกิดไปได้ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เป็นสังโยชน์ จึงเป็นเครื่องกั้นที่จะทำให้ออกไปจากสังสารวัฏฏ์ โดยในพระไตรปิฎก แสดงความละเอียดของสังโยชน์ที่เป็นอุทธัจจะไว้อย่างละเอียดน่าพิจารณาว่า เป็นสภาพธรรมที่เป็นสังโยชน์ เพราะว่า ผูกไว้ไม่ให้พ้นไปจากข้อปฏิบัติที่ถูก ยกตัวอย่างเช่น วิปัสสนูกิเลสที่เกิดขึ้น ในขณะที่เกิดโอภาส แสงสว่าง เพราะพิจารณาผิด ปรารภแสงสว่างนั้น ความฟุ้งซ่านอุทธัจจะก็เกิดขึ้น ผูกไว้ ไม่ให้พ้นไปสู่ข้อปฏิบัติ หรือ วิปัสสนาขั้นต่อไป ครับ

อุทธัจจะ จึงเป็นเครื่องผูกไว้ไม่ให้ออกไปจากวัฏฏะ เพราะไม่สามารถทำให้ผ่านวิปัสสนาญาณ และ ถึงการดับกิเลสได้ ครับ ซึ่งต่างจาก อหิริกะที่เป็นความไม่ละอาย และ อโนตตัปปะ ความไม่เกรงกลัวต่อบาป แม้จะเกิดกับอกุศลจิตทุกประภท ดังเช่น อุทธัจจะเจตสิก แต่ ไมได้เป็นเครื่องผูก ที่จะทำให้ติดในวิปัสสนาญาณ หรือ เป็นเครื่องผูกให้ไม่ออกไปจากวัฏฏะ ในส่วนของข้อปฏิบัติ

แต่อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน ทำให้ไม่สามารถทราบชัดตามความเป็นจริงของสภาพธรรมในขณะที่เกิดความฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้น อุทธัจจะ จึงแสดงโดยนัยที่เป็นเครื่องผูก ในข้อปฏิบัติที่จะทำให้ถึงการดับกิเลสเป็นสำคัญ ครับ

ดังข้อความในพระไตรปิฎก ครับ

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๒ - หน้าที่ 460

[๕๔๒]  ใจที่นึกถึงโอภาสอันเป็นธรรมถูกอุทธัจจะกั้นไว้ ย่อมมีอย่างไร?

เมื่อภิกษุมนสิการโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โอภาสย่อมเกิดขึ้น ภิกษุนึกถึงโอภาสว่า โอภาสเป็นธรรม เพราะนึกถึงโอภาสนั้น จึงมีความฟุ้งซ่านเป็นอุทธัจจะ ภิกษุมีใจอันอุทธัจจะนั้นกั้นไว้ ย่อมไม่ทราบชัดตามความเป็นจริง ซึ่งความปรากฏโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า มีใจที่นึกถึงโอภาสอันเป็นธรรม อุทธัจจะกั้นไว้ สมัยนั้นจิตที่ตั้งมั่นสงบอยู่ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้นตั้งมั่นอยู่. มรรคย่อมเกิดแก่ภิกษุนั้น มรรคย่อมเกิดอย่างไร? ฯลฯ

มรรคย่อมเกิดอย่างนี้ ฯลฯ ย่อมละสังโยชน์ได้


อีกนัยหนึ่ง อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านแห่งจิต อันเป็นภาวะที่กระสับกระส่ายของจิต แสดงภาวะที่เป็นเครื่องผูก ไม่ให้ไปสู่การดับกิเลส และ ไปสู่ข้อปฏิบัติที่ถูก ด้วยเหตุที่ว่า หากจิตไม่สงบแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเจริญสมถภาวนา และที่สำคัญ การเจริญวิปัสสนาภาวนา อันเป็นธรรมที่จะทำให้พ้นจากสังสารวัฏฏ์ พ้นจากสังโยชน์ เมื่อจิตไม่สงบ ประกอบด้วยอุทัจจะ ย่อมผูกสัตว์ไว้ให้ไม่สามารถเจริญวิปัสสนาได้ คือ ไม่สามารถประพฤติข้อปฏิบัติที่ทำให้ถึงความพ้นจากสังสารวัฏฏ์ได้ เพราะ อาศัยเครื่องผูกที่มีกำลัง คือ ความฟุ้งซ่านของจิตเป็นสำคัญ เพราฉะนั้น ความที่จิตสงบ ไม่ซัดส่าย ไม่ฟุ้งซ่าน จึงเป็นภาวะที่ควรแก่การอบรมปัญญา เพื่อถึงการดับกิเลส ส่วนภาวะที่จิตไม่สงบ ซัดส่าย ฟุ้งซ่าน เป็นสภาพธรรมที่ไม่ควรแก่การอบรมปัญญาในขณะจิตนั้น

เพราะฉะนั้น ปฏิปักษ์ สภาพธรรมที่เป็นเครื่องผูกจริงๆ จึงเป็นความฟุ้งซ่าน ที่เป็นอุทธัจจะเจตสิก ครับ ส่วน อหิริกะ ความไม่ละอาย และ อโนตตัปปะ ไม่เกรงกลัวต่อบาป แม้เกิดกับอกุศลจิตทุกประเภท แต่ไม่ได้แสดงถึงเป็นเครื่องผูกที่มีกำลัง

ในข้อปฏิบัติที่ถึงการดับกิเลสได้ ที่สำคัญ ที่ไม่ได้แสดง ถึง อหิริกะ และ อโนตตัปะว่าเป็นเครื่องผูกในบางนัยนั้น เพราะ อหิริกะ ความไม่ละอายต่อบาป และ อโนตตัปปะ ความไม่เกรงกลัวต่อบาป แสดงถึงสภาพธรรมที่ชัดเจน ในอกุศลที่เป็นการล่วงศีล เพราะไม่มีความละอาย และ ไม่เกรงกลัวต่อบาป จึงมีการทำการล่วงศีล มีการทำอกุศลกรรมบถ เป็นสำคัญ ซึ่ง เหตุใกล้ให้เกิดกุศลขั้นศีล ก็เป็นหิริและโอตตัปะเจตสิก

นี่คือความละเอียดของพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ


ความคิดเห็น 3    โดย เข้าใจ  วันที่ 9 ต.ค. 2555

กราบอนุโมทนาในธรรมครับ


ความคิดเห็น 4    โดย nong  วันที่ 9 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย เมตตา  วันที่ 9 ต.ค. 2555

...ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ. คำปั่น อ. ผเดิม

ท่านผู้ร่วมเดินทาง และทุกๆ ท่าน ด้วยค่ะ...

ความคิดเห็น 6    โดย วันชัย๒๕๐๔  วันที่ 9 ต.ค. 2555

ขอบคุณ และ ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย ผู้ร่วมเดินทาง  วันที่ 9 ต.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์คำปั่น และอาจารย์ผเดิม และทุกๆ ท่านมากครับ


ความคิดเห็น 8    โดย ผู้ร่วมเดินทาง  วันที่ 10 ต.ค. 2555

เรียนอาจารย์คำปั่นและอาจารย์ผเดิม

ผมได้นำความเห็นของอาจารย์ทั้งสองท่านแปลเป็นภาษาอังกฤษให้สหายธรรมใน English dsg ที่สอบถามคำถามข้างต้นพิจารณา ซึ่งก็ได้รับความเข้าใจระดับหนึ่ง

นอกจากน้ันผมได้นำถ้อยคำของอาจารย์ผเดิมที่ได้คุยกันเมื่อวานนี้ว่า การศึกษาธรรมะต้องศึกษาด้วยความระมัดระวัง การศึกษาธรรมะไม่เหมือนกับการศึกษาวิชาการทางโลกทั่วๆ ไป ที่เราต้องพยายามเข้าใจในเหตุผลโดยละเอียดในวิชานั้นๆ แต่พระธรรมนั้นมีความละเอียดลึกซึ้ง พระปัญญาของพระพุทธองค์สูงสุดไม่มีใครจะเปรียบเทียบได้ ไม่มีใครเลยที่สามารถจะเข้าใจพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนได้ทั้งหมดและเข้าใจได้ในทันทีทันใด ปัญญาของแต่ละคนเป็นเรื่องของการสะสมไปทีละเล็กทีละน้อย

ดังนั้น ขณะศึกษาธรรมะจึงต้องตระหนักและประเมินปัญญาของแต่ละคนว่ามีเพียงใด เมื่อไม่สามารถที่จะเข้าในพระธรรมในเรื่องใด ตอนใด อย่าคิดโดยใช้เหตุผลของตนเองเนื่องจากจะยิ่งทำให้เกิดความสงสัยมากขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นวิจิกิจฉาสังโยชน์อันเป็นเครื่องผูกมัดหรือกั้นมิให้เข้าใจในสภาพธรรมะตามความเป็นจริงได้ พึงระลึกไว้เสมอๆ ว่า การศึกษาธรรมะก็เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ปรากฏได้เท่านั้น มิใช่จะไปเข้าใจได้ถ่องแท้ในธรรมะที่ไม่ปรากฏกับผู้ที่ยังมีปัญญาไม่เพียงพอ

ซึ่งถ้อยคำข้างต้นนี้ เป็นที่ชื่นชอบของสหายธรรม รวมถึงคุณนีน่าด้วยนะครับ และสหายธรรมท่านนี้ได้ยกสนทนาถึงเรื่องความลึกซึ้งของพระธรรมอันยากที่จะเข้าใจด้วยว่า

พระธรรมของพระพุทธองค์ลึกซึ้งด้วย

๑. เทศนา วิลาสะ (desanaa-vilaasa) หมายความถึง มีความงดงามหมดจดในคำสอน

๒. เวเนยะ อัชฌาสะยะ (veneyya-ajjhaasaya) หมายความถึง ทรงสอนบุคคลผู้พร้อมที่จะรับคำสอนและมีความปรารถนาในคำสอนนั้น

ซึ่งทั้งสองข้อข้างต้นนั้น มีคำอธิบายโดยละเอียดหรือไม่อย่างไรครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 9    โดย paderm  วันที่ 10 ต.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 8 ครับ

๑. เทศนา วิลาสะ (desanaa-vilaasa) หมายความถึง มีความงดงามหมดจดในคำสอน

เทศนาวิลาส คือ ความงามและไพเราะของเทศนา ของพระพุทธเจ้า ซึ่งไพเราะงดงาม ทั้งอรรถ ความหมายของพระดำรัสคำนั้นและ พยัญชนะที่สมบูรณ์ไพเราะ และที่สำคัญ มีหลากหลายนัยต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับอัธยาศัยและ เป็นพะรธรรมเทศนาที่งดงาม ไพเราะ เพราะทำให้สัตว์โลกเกิดปัญญา และ ละอวิชชา กิเลสประการต่างๆ จึงชื่อว่างามและไพเราะ และในพระไตรปิฎก ยังได้อธิบายครับว่า

งดงามไพเราะ

เพราะอาศัยพระปัญญาของพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ ความจริงของสภาพธรรมและสามารถถ่ายทอด บัญญัติคำได้เหมาะสม ให้ตรงตามความเข้าใจให้สัตว์โลกได้เข้าใจ โดยนัยต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับอัธยาศัยของสัตว์โลกที่เข้าใจคำนี้ หรือ บางคนก็เข้าใจอีกคำ จึงทรงแสดงหลากหลายนัย อันเป็นพระธรรมเทศนาที่ไพเราะ งดงาม เป็นเทศนาวิลาสอันเกิดจากพระปัญญาคุณ ครับ

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 475

ส่วนชื่อว่า เทศนาที่ถึงความงามแห่งเทศนา เพราะธรรมธาตุใด

อันเวไนยสัตว์แทงตลอดดีแล้ว ธรรมธาตุนั้น พระตถาคตทรงแทงตลอดมาดีแล้ว เพราะฉะนั้น พระศาสดาผู้ทรงบรรลุถึงความงามแห่งเทศนา ผู้ฉลาดในวิธีเทศนาเพราะทรงมีพระญาณใหญ่ ทรงกำหนดเทศนาได้ตามพระประสงค์ด้วยสามารถแห่งองค์นั้นๆ ในที่นี้ ทรงจำแนกปฐมฌานมีองค์ ๕ ทุติยฌานมีองค์ ๔ คือไม่มีวิตกมีแต่วิจาร ตติยฌานมีองค์ ๓ จตุตถฌานมีองค์ ๒ ปัญจมฌานก็มีองค์ ๒ นั่นแหละ นี้ชื่อว่า เทศนาวิลาส (ความงามแห่งเทศนา) .


๒. เวเนยะ อัชฌาสะยะ (veneyya-ajjhaasaya) หมายความถึง ทรงสอนบุคคลผู้พร้อมที่จะรับคำสอนและมีความปรารถนาในคำสอนนั้น ซึ่งทั้งสองข้อข้างต้นนั้น มีคำอธิบายโดยละเอียดหรือไม่อย่างไรครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

เวเนยะ อัชฌาสะยะ คือ พระพุทธเจ้าทรงสอนสัตว์โลกที่สามารถรู้ตามได้ คือสามารถสอนแล้วมีความเข้าใจ ซึ่งข้อนี้ก็เกี่ยวเนื่องกับ เทศนาวิลาสที่มีความงามไพเราะ เพราะพระองค์ทรงแสดงธรรม โดยพิจารณาอัธยาศัยของสัตว์โลก จึงใช้ถ้อยคำที่เหมาะสม ในคำแต่ละคำ ให้เหมาะกับแต่ละบุคคล เพื่อให้ผู้มีอัธยาศัยที่สะสมปัญญามา และ สะสมมาที่จะเข้าใจ ด้วยถ้อยคำนี้ จึงทรงแสดง พระธรรมตามอัธยาศัย เช่น พระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงกับบางบุคคล เรื่องขันธ์ บางคนพระองค์ทรงแสดงเรื่องธาตุ บางคนพระองค์ทรงแสดง เรื่องปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น ที่หลากหลายนั้น ด้วยธรรมเทศนาที่วิลาส ไพเราะ เพราะหลากหลายนัยด้วยพระปัญญาคุณ

ทำให้สัตว์โลกที่ต่างอัธยาศัยได้เข้าใจพระธรรมที่หลากหลายนัย ก็สามารถเกิดปัญญาและบรรลุธรรมด้วยกันทั้งนั้น เพราะ เป็นเวเนยะ ที่สามารถสั่งสอนให้รู้ตามได้ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา


ความคิดเห็น 10    โดย ผู้ร่วมเดินทาง  วันที่ 10 ต.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมมากครับ


ความคิดเห็น 11    โดย khampan.a  วันที่ 13 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง นั้น มีความงดงาม มีความไพเราะ เพราะแสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริง เป็นไปเพื่อการอบรมเจริญปัญญาโดยตลอด ไม่มีส่วนที่จะต้องตัดออก ไม่มีส่วนที่จะต้องเพิ่มเข้าไปใหม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มีโอกาสไสด้ฟัง ได้ศึกษาอย่างแท้จริง ซึ่งก็ไม่สาธารณะกับทุกคน ผู้ที่จะเห็นหรือเข้าใจถึงความไพเราะ งดงามของพระธรรม ก็ต้องเป็นผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรมและได้เข้าใจถูกเห็นถูกตามกำลังปัญญาของแต่ละบุคคล

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้อัธยาศัยของสัตว์โลก พร้อมทั้งแสดงพระธรรมตามควรแก่อัธยาศัยของผู้นั้น ซึ่งจะเห็นได้จากหลายๆ พระสูตรที่แสดงว่า พระภิกษุบางรูป บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา ได้รับคำพร่ำสอนของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ในเรื่องของธรรมแล้ว ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็เข้าใจว่าตนเองไม่สามารถจะอบรมเจริญปัญญาในเพศบรรพชิตได้ ก็คิดที่จะลาสิกขาไปเป็นคฤหัสถ์ พระอุปัชฌาย์อาจารย์ก็กล่าวว่าควรที่จะได้ไปกราบทูลพระสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน เมื่อไปถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสดงธรรมตามควรแก่อัธยาศัยของท่าน ก็ทำให้ให้ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ ซึ่งก็ต้องสอดคล้องกับความงดงามความไพเราะของพระธรรม อันแสดงถึงสัจจธรรม ความจริง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกของผู้ที่ได้ฟัง ด้วย นี้คือ พระมหากรุณาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงมีต่อสัตว์โลกอย่างแท้จริง ครับ

...ขอบพระคุณและขออนุโมทนา อ. ผเดิม, ท่านผู้ร่วมเดินทาง และทุกๆ ท่านครับ...