ขอรบกวนเรียนถามความหมายของคำว่า อุบาย ในทางธรรมะ เช่น ฉลาดในอุบาย และแตกต่างจากคำว่า โยนิโสมนสิการ หรือไม่ อย่างไรคะ
จากพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ ..การที่ภิกษุถือเอาสีเขียว สีเปือกตม สีดำ สีคล้ำ อย่างใดอย่างหนึ่งทำกัปปะ (พินทุ) อันปรากฏชัดแก่คนผู้นั่งอยู่บนหลังช้าง ชื่อว่ากัปปสันโดษ สันโดษคือกัปปะ.. เรียนถามว่าทำกัปปะ (พินทุ) เป็นกัปปสันโดษอย่างไรคะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จากความคิดเห็น คุณ เมตตา เรื่อง อุบาย
ถ้าจะกล่าวถึงอุบาย ภาษาบาลีคือ อุปายะ แล้ว ในทางพุทธศาสนาหมายถึงแนวทาง หรือหนทางแห่งความสำเร็จ ในทางที่เป็นกุศล ไม่ใช่อกุศล เพราะฉะนั้นหนทางแห่งความสำเร็จนั้นก็คือ การรู้แจ้ง และก่อนที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงนั้น ก็ต้องเริ่มจากขณะนี้ การรู้ถูกต้องในสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ ปัญญาค่อยๆ มีขึ้นได้จากการฟังให้เข้าใจ เมื่อรู้อุบายแล้ว ไม่ต้องไปหาอุบายอย่างอื่นเลย เพราะขณะที่คิดหาอุบายอื่น ขณะนั้นสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏก็ดับไปๆ ไม่มีโอกาสได้รู้สิ่งที่กำลังมีขณะนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว รู้จักอุบายหรือยัง? ที่จะดำเนินไปถึงความสำเร็จนั้นได้ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นเรื่องที่ไกลมาก แต่หนทางที่จะให้สำเร็จมี ก็ไม่ควรท้อถอย ไม่ควรหาทางลัดอื่นใด เพราะทางอื่นไม่ใช่ทางแห่งความสำเร็จ แต่เริ่มอบรมเจริญปัญญาได้ในชีวิตประจำวัน ด้วยการฟังพระธรรม ฟังสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้บ่อยๆ เนืองๆ เพื่อสะสมความเห็นถูกเข้าใจถูก สะสมปัญญาไปตามลำดับ....
เพราะปัญญาจะเจริญไพบูลย์ขึ้น ก็ต้องเริ่มสะสมไปทีละเล็ก ทีละน้อย
ส่วน โยนิโสมนสิการ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งองค์ธรรม คือ มนสิการเจตสิก หากเป็นการใส่ใจด้วยดีที่เกิดกับจิตที่ดี ก็เป็นโยนิโสมนสิการ ส่วน การใส่ใจไม่ดี คือ เกิดกับอกุศลจิตก็เป็นอโยนิโสมนสิการ ซึ่ง ขณะที่เป็นโยนิโสมนสิการ คือ ขณะที่จิตที่ดีเกิดขึ้น มีกุศลจิต เป็นต้น มีโยนิโสมนสิการแล้ว โดยไม่มีเราที่จะไปโยนิโส ไปทำโยนิโสมนสิการ แต่เมื่อใดกุศลจิตเกิด แสดงแล้วว่า มีโยนิโสมนสิการ หากไม่ใส่ใจด้วยดี กุศลจิตก็เกิดไม่ได้
โดยนัยตรงกันข้าม ขณะที่อกุศลจิตเกิด ไม่ได้คิดเลยว่า จะทำอโยนิโส แต่ อโยนิโสมนสิการก็เกิดแล้ว แสดงถึงการทำหน้าที่ของธรรมและเป็นอนัตตา ที่บังคับบัญชาไม่ได้เลย ครับ
เพราะฉะนั้น อุบาย จึงเป็นชื่อของแนวทางให้สำเร็จในทางกุศล ส่วน โยนิโสมนสิการ หมายถึง สภาพธรรมที่ใส่ใจด้วยดี แต่ไม่ได้หมายถึงแนวทางที่ให้สำเร็จ ครับ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
การพินทุ หมายถึง การทำจุดตำหนิลงบนบริขาร ซึ่งพระพุทธเจ้ากำหนดไว้ในพระธรรมวินัยว่า ไม่อนุญาตให้ใช้บริขารที่ปราศจากการทำจุดตำหนิ
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 95
การที่ภิกษุถือเอาสีเขียว สีเปือกตม สีดำ สีคล้ำ อย่างใดอย่างหนึ่งทำกัปปะ (พินทุ) อันปรากฏชัดแก่คนผู้นั่งอยู่บนหลังช้าง ชื่อว่า กัปปสันโดษ สันโดษด้วยกัปปะ.
เพราะฉะนั้น จึงหมายถึง การสันโดษ แม้การทำ กัปปะ พินธุ ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สำคัญที่ความเข้าใจถูก คำว่า อุบาย จะมีความหมายกว้างมาก เป็นไปอกุศล ก็มี เช่นหาอุบาย หรือ แนวทาง วิธีการที่จะทำทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดในทางที่เป็นอกุศล เช่น การฆ่า ให้สำเร็จ อย่างนี้ เป็นทางฝ่ายอกุศล ไม่ดีโดยประการทั้งปวง, แต่ถ้าเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม และ ปัญญาแล้ว ต้องเป็นอุบายหรือแนวทาง ที่ถูก ที่ควร เท่านั้น, ต้องมีความมั่นคงในหนทางแห่งความถูกต้อง คือ การอบรมเจริญปัญญา ถ้าหากว่า ไม่ได้เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก มีแต่การกระทำด้วยความหลงผิด ไม่รู้ตามความเป็นจริง นั่นย่อมไม่ได้เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญาอย่างแน่นอน มีแต่พอกพูนความไม่รู้และความเห็นผิดให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่าหนทางที่เป็นไปเพื่อการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จนกระทั่งสามารถดับกิเลสตามลำดับขั้น ก็คือ หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา เป็นหนทางเดียว ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายดำเนินมาแล้ว
-ความเป็นจริงของสภาพธรรมไม่เคยเปลี่ยน เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ที่พอจะเข้าใจ คือ ขณะที่อกุศลเกิดขึ้นเป็นไป นั้น เป็นอโยนิโสมนสิการ แต่ถ้ากุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไป ไม่ว่าจะเป็นกุศลในระดับใดก็ตาม ขณะนั้น ก็เป็นโยนิโสมนสิการ เป็นธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
โยนิโสมนสิการ หมายถึง ความคิดที่แยบคายในด้านกุศล ที่ทำให้เกิดกุศลทางกาย ทางวาจาและทางใจ ค่ะ
ใส่ใจด้วยดี
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ