หทเย นิเธตพฺพยุตฺตกํ
(ข้อความที่ควรเก็บไว้ในหทัย)
[๖๗๖]
คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว ย่อมเดือดร้อน
ขอกล่าวถึงข้อความในมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พาลบัณฑิตสูตร ข้อ ๔๖๗ – ๔๘๐ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลาย ณ พระวิหารเชตวัน ว่า
คนพาล คือ ผู้ที่คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว ย่อมเสวยทุกข์โทมนัส ๓ อย่างในปัจจุบัน คือเมื่อคนอื่นกล่าวถึงโทษภัยของทุจริตต่างๆ อกุศลจิต อกุศลกรรม สภาพธรรมที่ไม่ดีงาม ในขณะนั้นผู้นั้นก็รู้ตัวว่า เขาประพฤติอย่างนั้น เขามีสภาพธรรมอย่างนั้น ขณะนั้นจึงเป็นทุกข์โทมนัสข้อที่ ๑ ในปัจจุบัน
ใครก็ตามที่กระทำผิดทางกาย ทางวาจา ทางใจ และก็ได้ฟังพระธรรม และก็รู้ว่าพระธรรมได้แสดงเหตุผลว่าสภาพธรรมใดเป็นกุศล สภาพธรรมใดเป็นอกุศล ผู้ที่มีความประพฤติชั่วทางกาย ทางวาจา ทางใจ ก็ย่อมจะรู้สึกตัวว่าตนเองเป็นผู้ที่มีสภาพธรรมที่ไม่ดี ในขณะนั้นก็จะรู้สึกเป็นทุกข์โทมนัส นี่เป็นทุกข์โทมนัสข้อที่ ๑ ในปัจจุบัน
และเมื่อเขาเห็นโทษภัยที่ผู้ทำทุจริตถูกลงโทษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกายที่ได้รับการทรมานต่างๆ ก็ย่อมกลัวที่จะได้รับโทษภัยเพราะอกุศลกรรมที่ตนได้กระทำแล้วนั้น จึงเป็นทุกข์โทมนัสข้อที่ ๒ แม้ในปัจจุบัน
คือทำอกุศลกรรมแล้วก็ย่อมกลัวผลของอกุศลกรรม ที่จะต้องเกิดขึ้นกับตน ในขณะที่หวั่นไหว กลัวโทษ กลัวผลของอกุศลกรรม ในขณะนั้นก็เป็นทุกข์โทมนัสข้อที่ ๒ ในปัจจุบัน
และเมื่อเขาไม่ว่าจะนั่งบนตั่ง นอนบนเตียง หรือว่าบนพื้นดิน ก็คิดถึงผลของอกุศลกรรมที่จะได้รับในภพภูมิข้างหน้าต่อไป คือในนรกเป็นต้น ขณะนั้นก็ย่อมเศร้าโศกโทมนัส เปรียบเหมือนเงายอดภูเขาใหญ่ย่อมปกคลุมครอบงำแผ่นดินในเวลาเย็น คนพาลย่อมเสวยทุกข์โทมนัสข้อที่ ๓ นี้แล ในปัจจุบัน
เพราะฉะนั้นผู้ใดที่มีความคิดชั่ว มีวาจาชั่ว มีการกระทำชั่ว ก็แสดงให้เห็นว่า ทุกข์ย่อมติดตามคนนั้นไป แม้ในขณะที่รู้ เพราะเหตุว่าได้ฟังพระธรรม ในขณะที่เห็นผลของอกุศลกรรมที่คนอื่นได้รับ ก็ย่อมรู้สึกโทมนัสว่า ตนเองก็จะต้องได้รับด้วยในปัจจุบันชาติ และเมื่อคิดถึงในภพภูมิต่อไป รู้ว่าเป็นเหตุที่จะต้องให้เกิดในอบายภูมิ ก็เป็นทุกข์โทมนัส
พระผู้มีพระภาคตรัสทุกข์ในนรกว่ายากที่จะเปรียบกับทุกข์ในภูมิมนุษย์ได้ เพราะทุกข์ในมนุษย์ไม่ถึงเสี้ยวของทุกข์ในนรก
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
อ่านหัวข้ออื่นๆ คลิกที่นี่ ... เก็บไว้ในหทัย
กราบอนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และยินดีในความดีค่ะ
กราบอนุโมทนากุศลค่ะท่านอาจาร