[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 126
๑๐. เจติยสูตร
เจริญอิทธิบาท ๔ ทําให้อายุยืน
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 31]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 126
๑๐. เจติยสูตร
เจริญอิทธิบาท ๔ ทำให้อายุยืน
[๑๑๒๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้กรุงเวสาลี ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงเวสาลี ครั้นเสด็จเที่ยวบิณฑบาตแล้ว เวลาปัจฉาภัต เสด็จกลับจากบิณฑบาตแล้ว ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ เธอจงถือเอาผ้านิสีทนะ เราจะเข้าไปยังปาวาลเจดีย์ เพื่อพักผ่อนในตอนกลางวัน ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ถือผ้านิสีทนะตามพระผู้มีพระภาคเจ้าไปทางเบื้องพระปฤษฏางค์.
[๑๑๒๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปยังปาวาลเจดีย์ ประทับนั่งบนอาสนะที่ท่านพระอานนท์ปูถวาย ส่วนท่านพระอานนท์ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ กรุงเวสาลีเป็นที่น่ารื่นรมย์ อุเทนเจดีย์ก็เป็นที่น่ารื่นรมย์ โคตมกเจดีย์ก็เป็นที่น่ารื่นรมย์ สัตตัมพเจดีย์ก็เป็นที่น่ารื่นรมย์ พหุปุตตกเจดีย์ก็เป็นที่น่ารื่นรมย์ สารันททเจดีย์ก็เป็นที่น่ารื่นรมย์ ปาวาลเจดีย์ก็เป็นที่น่ารื่นรมย์ อิทธิบาท ๔ อันผู้ใดผู้หนึ่งเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 127
กระทำให้เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นที่ตั้ง ให้คล่องแคล่วแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ผู้นั้น เมื่อจำนงอยู่พึงดำรงอยู่ได้กัปหนึ่ง หรือเกินกว่ากัปหนึ่ง ดูก่อนอานนท์ อิทธิบาท ๔ อันตถาคตเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นที่ตั้ง ให้คล่องแคล่วแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคตนั้น เมื่อจำนงอยู่ พึงดำรงอยู่ได้กัปหนึ่งหรือเกินกว่ากัปหนึ่ง.
[๑๑๒๕] แม้เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำนิมิตอันโอฬาร กระทำโอภาสอันโอฬารอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ก็มิอาจรู้ทัน จึงมิได้ทูลวิงวอนพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงดำรงอยู่ตลอดกัปหนึ่ง ขอพระสุคตจงทรงดำรงอยู่ตลอดกัปหนึ่ง เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ดังนี้ เพราะถูกมารเข้าดลใจ.
[๑๑๒๖] แม้ครั้งที่ ๒ แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ เมืองเวสาลีเป็นที่น่ารื่นรมย์... ตถาคตนั้น เมื่อจำนงอยู่พึงดำรงอยู่ได้กัปหนึ่งหรือเกินกว่ากัปหนึ่ง.
[๑๑๒๗] แม้เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำนิมิตอันโอฬาร กระทำโอภาสอันโอฬารอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ก็มิอาจรู้ทัน จึงมิได้ทูลวิงวอนพระผู้มีพระภาคเจ้า... เพราะถูกมารเข้าดลใจ.
[๑๑๒๘] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า เธอจงไปเถิด อานนท์ เธอรู้กาลอันควรในบัดนี้เถิด ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ลุกจากอาสนะถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า กระทำประทักษิณแล้ว ไปนั่ง ณ โคนไม้แห่งหนึ่งในที่ไม่ไกล.
[๑๑๒๙] ครั้งนั้น มารผู้มีบาป เมื่อท่านพระอานนท์หลีกไปแล้วไม่นาน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ แล้วยืน ณ ที่ควรส่วน
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 128
ข้างหนึ่ง ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอพระสุคตจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้ เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า ดูก่อนมารผู้มีบาป ภิกษุสาวกของเราจักยังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับแนะนำ ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ประพฤติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ตนแล้ว ยังบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ข่มขี่ปรัปปวาทที่บังเกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยสหธรรมไม่ได้ เพียงใด เราจักยังไม่ปรินิพพาน เพียงนั้น ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บัดนี้ ภิกษุสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้เฉียบแหลมแล้ว ได้รับแนะนำแล้ว แกล้วกล้า เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว บอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ง่ายได้ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ข่มขี่ปรัปปวาทที่บังเกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยสหธรรมได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอพระสุคตจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้ เป็นในเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
[๑๑๓๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระดำรัสนี้ไว้ว่า ดูก่อนมารผู้มีบาป ภิกษุณีสาวิกาของเราจักยังไม่เฉียบแหลม... ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บัดนี้ ภิกษุณีผู้เป็นสาวิกาของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้เฉียบแหลมแล้ว... แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ข่มขี่ปรัปปวาทที่บังเกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยสหธรรมได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอพระสุคตจงทรงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้ เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 129
[๑๑๓๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระดำรัสนี้ไว้ว่า ดูก่อนมารผู้มีบาป อุบาสก ฯลฯ อุบาสิกาสาวิกาของเราจักยังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับแนะนำ ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติธรรม ไม่ประพฤติธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว ยังบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ข่มขี่ปรัปปวาทที่บังเกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยสหธรรมไม่ได้ เพียงใด เราจักยังไม่ปรินิพพาน เพียงนั้น ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บัดนี้ อุบาสิกาสาวิกาของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้เฉียบแหลมแล้ว ได้รับแนะนำแล้ว แกล้วกล้า เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว บอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ง่ายได้ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ข่มขี่ปรัปปวาทที่บังเกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยสหธรรมได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอพระสุคตจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้ เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
[๑๑๓๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระดำรัสนี้ไว้ว่า ดูก่อนมารผู้มีบาป พรหมจรรย์ของเรานี้ จักยังไม่สมบูรณ์ แพร่หลาย กว้างขวาง รู้กันโดยมาก แน่นหนา (มั่นคง) จนกระทั่งพวกเทวดาและมนุษย์ประกาศได้ดีแล้ว เพียงใด เราจักยังไม่ปรินิพพาน เพียงนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บัดนี้ พรหมจรรย์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าสมบูรณ์แล้ว แพร่หลาย กว้างขวาง รู้กันโดยมาก แน่นหนา (มั่นคง) จนกระทั่งพวกเทวดาและมนุษย์ประกาศได้ดีแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 130
จงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอพระสุคตจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้ เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
[๑๑๓๓] เมื่อมารกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสตอบว่า ดูก่อนมารผู้มีบาป ท่านจงมีความขวนขวายน้อยเถิด การปรินิพพานแห่งตถาคตจักมีในไม่ช้า แต่นี้ล่วงไปอีก ๓ เดือน ตถาคตจักปรินิพพาน.
[๑๑๓๔] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระสติสัมปชัญญะ ทรงปลงอายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ และเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปลงอายุสังขารแล้ว ได้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ และเกิดขนพองสยองเกล้าน่าสะพรึงกลัว ทั้งกลองทิพย์ก็บันลือลั่น.
[๑๑๓๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว ทรงเปล่งพระอุทานนี้ในเวลานั้น ความว่า
มุนี เมื่อเทียบเคียงนิพพาน และภพ ได้ปลงเสียแล้วซึ่งธรรมอันปรุงแต่งภพ ยินดีแล้วในภายใน มีจิตตั้งมั่นแล้ว ได้ทำลายแล้วซึ่งข่าย คือกิเลสอันเกิดในตน เปรียบดังเกราะ.
จบเจติยสูตรที่ ๑๐
จบปาวาลวรรคที่ ๑
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 131
อรรถกถาเจติยสูตร
สูตรที่ ๑๐.
คำว่า นิสีทนํ คือ หมายเอาท่อนหนัง.
ท่านเรียกวัดที่สร้างไว้ที่เจดีย์สถานของอุเทนยักษ์ว่า อุเทนเจดีย์.
แม้ใน โคตมกเจดีย์ เป็นต้นก็นัยเดียวกันนี้เอง.
คำว่า ภาวิตา คือ อันเจริญแล้ว.
คำว่า พหุลีกตา คือ ที่กระทำเรื่อยๆ ไป.
คำว่า ทำให้เป็นดุจยาน คือ ทำให้เหมือนยานที่เทียม (โคไว้ที่แอก) แล้ว.
คำว่า ทำให้เป็นที่ตั้ง คือ ทำให้เหมือนเป็นวัตถุ เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้ง.
คำว่า ให้คล่องแคล่วแล้ว คือ อันมั่นคงยิ่ง.
คำว่า อันสั่งสมแล้ว ได้แก่ สั่งสมไว้โดยทุกด้าน คือ อันเจริญดีแล้ว.
คำว่า อันปรารภดีแล้ว คือ ที่เริ่มไว้แล้วเป็นอย่างดี.
ครั้นตรัสโดยไม่ชี้ชัดลงไปอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงชี้ชัดลงไปอีกครั้ง จึงตรัสคำว่า ตถาคตสฺส โข ดังนี้เป็นต้น.
และในคำเหล่านี้ คำว่า กัป หมายเอาอายุกัป (กำหนดอายุ).
ในกาลนั้น อันใดเป็นประมาณอายุของพวกมนุษย์ บุคคลพึงทำประมาณอายุนั้นให้บริบูรณ์ดำรงอยู่.
คำว่า กปฺปาวเสสํ คือ หรือเกินร้อยปีที่ตรัสว่า กัปหรือเกิน.
ฝ่ายท่านพระมหาสิวเถระ กล่าวว่า สำหรับพระพุทธเจ้าทั้งหลายแล้ว ย่อมไม่มีการคุกคามในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ก็เหมือนเมื่อทรงข่มเวทนาปางที่แทบจะสิ้นพระชนม์ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน เวฬุวะ (เวฬุวคาม) ตั้งสิบเดือน นั่นแหละ ฉันใด ก็ฉันนั้น เมื่อทรงเข้าสมาบัตินั้นบ่อยๆ พึงข่มไว้ได้เป็นสิบเดือน ก็จะพึงทรงดำรงอยู่ได้ตลอดภัทรกัปนี้ทีเดียว.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 132
ถามว่า ก็ทำไมจึงไม่ทรงดำรงอยู่เล่า.
ตอบว่า ขึ้นชื่อว่า พระสรีระที่เป็นผลของกรรมที่ถูกกิเลสเข้าไปยึดครองแล้ว ถูกชราทั้งหลายมีพระทนต์หักเป็นต้น จะครอบงำ ธรรมดาว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ยังไม่ถึงความเป็นผู้มีพระทนต์หักเป็นต้นเลย ก็ย่อมปรินิพพานในส่วนพระชนมายุที่ ๕ ในเวลาที่ยังทรงเป็นที่รักที่ชื่นใจของคนจำนวนมากนั่นเอง แต่เมื่อเหล่าพระมหาสาวกผู้เป็นพุทธานุพุทธปรินิพพานแล้ว ก็ย่อมเป็นสรีระที่ต้องตั้งอยู่โดดเดี่ยว เหมือนตอไม้. หรือมีภิกษุหนุ่มและสามเณรห้อมล้อมบ้าง แต่นั้นก็จะต้องถึงความเป็นผู้ที่พึงถูกเยาะเย้ยเหยียดหยามว่า โอ้ บริษัทของพวกพุทธ์ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงไม่ดำรงอยู่.
แต่เมื่อตรัสคำเช่นนี้แล้ว มารนั้นก็ชอบใจ.
คำว่า อายุกัป นี้แหละ ท่านได้ชี้ชัดลงไปในอรรถกถาแล้ว.
คำว่า ตํ นั้น ในคำว่า ยถา ตํ มาเรน ปริยฏฺิตจิตฺโต เป็นเพียงคำลงมาแทรกเข้าไว้.
อธิบายว่า ปุถุชนแม้อื่นใดๆ ที่ถูกมารดลใจ คือ ถูกมารท่วมทับใจแล้ว ไม่พึงอาจเพื่อแทงตลอดได้ฉันใด พระเถระก็ไม่สามารถแทงตลอดฉันนั้นเหมือนกัน.
จริงอยู่ มารย่อมดลจิตผู้ที่ยังละวิปลาส ๑๒ อย่างไม่ได้หมด.
ส่วนพระเถระ ยังละวิปลาส ๔ อย่างไม่ได้ เพราะฉะนั้น มารจึงยังดลใจของท่านได้.
ถามว่า ก็แล เมื่อมารนั้นจะทำการดลใจ ย่อมทำอะไร.
ตอบว่า ย่อมแสดงรูปารมณ์ที่น่ากลัวบ้าง ให้ยินอารมณ์ คือเสียงบ้าง จากนั้น สัตว์ทั้งหลายได้เห็นรูปนั้น หรือได้ยินเสียงนั้นแล้ว ก็ทิ้งสติ เกิดเวียนหน้าขึ้นมา มันสอดมือเข้าปากแล้วบีบหัวใจสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่านั้นก็ยืนสลบไสล.
ก็มารนี้สามารถสอดมือเข้าไปในปากของพระเถระเชียวหรือ ก็มันแสดงอารมณ์ที่น่ากลัว พระเถระได้เห็นอารมณ์นั้น ก็แทงตลอดแสงแห่งนิมิตไม่ได้ ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึง
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 133
สามครั้ง เพื่ออะไร.
เพื่อทรงทำให้เพลาโศก ด้วยการยกความผิดขึ้นว่า นี่ เป็นความกระทำไม่ดีของเธอเอง นี่เป็นความผิดของเธอเอง เมื่อพระเถระทูลอ้อนวอนภายหลังว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงดำรงอยู่เถิด พระพุทธเจ้าข้า.
ในคำว่า มารผู้มีบาป นี้ ชื่อว่า มาร เพราะประกอบสัตว์ไว้ในความฉิบหายให้ตาย.
คำว่า ผู้มีบาป เป็นคำใช้แทนมารนั้นเอง.
ก็มารนั้น เพราะประกอบด้วยบาปธรรม จึงเรียกว่า ผู้มีบาป.
ถึงคำว่า กัณห์ (ดำ) อันตกะ (ผู้ทำที่สุด) นมุจิ เผ่าพันธ์ผู้ประมาท ก็ล้วนแต่เป็นชื่อของมารนั้นเอง.
คำว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระดำรัสนี้ คือ ในสัปดาห์ที่ ๘ แห่งการบรรลุความตรัสรู้พร้อมของพระผู้มีพระภาคเจ้า มารนี้แล ได้มาที่โคนโพธิทีเดียว ทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาเพื่อประโยชน์อันใด พระองค์ก็ทรงได้บรรลุประโยชน์อันนั้นแล้ว ทรงแทงตลอดสัพพัญญุตญาณแล้ว พระองค์ท่องเที่ยวไปในโลกหาประโยชน์อะไรกัน แล้วได้อ้อนวอนเหมือนในวันนี้แหละว่า พระเจ้าข้า บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงปรินิพพานเถิด ขอพระสุคตเจ้าจงปรินิพพานเถิด.
และพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสปฏิเสธไปกะมารนั้นเป็นต้น ว่า น ตาวหํ.
มารหมายเอาพระดำรัสนั้น จึงกล่าวคำว่า พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระดำรัสนี้ไว้แล้วแล ดังนี้เป็นต้น.
ในบทเหล่านั้น คำว่า ผู้เฉียบแหลม หมายถึง ผู้ฉลาดด้วยอำนาจมรรค.
ผู้ได้รับการแนะนำ และผู้แกล้วกล้า ก็อย่างนั้นนั่นแล.
คำว่า เป็นพหูสูต คือ ชื่อว่า เป็นพหูสูต เพราะเขาได้ฟังด้วยอำนาจปิฎกสามมามาก.
ชื่อว่า ผู้ทรงธรรม ก็เพราะจำทรงธรรมนั้นแหละ.
อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นใจความในคำว่า ผู้ทรงธรรม นี้อย่างนี้ว่า เป็นพหูสูตทางปริยัติ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 134
และเป็นพหูสูตทางปฏิเวธ จึงชื่อว่า เป็นผู้ทรงธรรม เพราะจำทรงธรรมคือ ปริยัติและปฏิเวธนั่นเอง.
คำว่า ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺนา คือ เป็นผู้ปฏิบัติธรรม คือวิปัสสนาอันเป็นธรรมที่ไปตามธรรมของพระอริยเจ้า.
คำว่า สามีจิปฏิปนฺนา คือ เป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่สมควร.
คำว่า อนุธมฺมจาริโน คือ เป็นผู้ประพฤติตามธรรมเป็นปกติ.
คำว่า สกํ อาจริยกํ คือ วาทะอาจารย์ของตน.
คำทั้งหมดเป็นต้นว่า จักบอก เป็นคำสำหรับใช้แทนกันและกันนั่นเอง.
คำว่า โดยสหธรรม คือ ด้วยถ้อยคำที่มีเหตุ มีการณ์.
คำว่า มีปาฏิหาริย์ คือ จะแสดงธรรมทำให้ออกจากทุกข์ได้.
คำว่า พรหมจรรย์ ได้แก่ ศาสนพรหมจรรย์ทั้งสิ้น ที่สงเคราะห์ด้วยไตรสิกขา.
คำว่า อิทฺธํ ได้แก่ สำเร็จพร้อมแล้วด้วยความยินดีในฌานเป็นต้น.
คำว่า ผีตํ ได้แก่ ถึงความเจริญ ด้วยอำนาจการถึงพร้อมแห่งอภิญญา เหมือนดอกไม้บานสะพรั่ง.
คำว่า วิตฺถาริตํ ได้แก่ แผ่ไปด้วยอำนาจตั้งมั่นในส่วนแห่งทิศนั้นๆ.
คำว่า รู้กันโดยมาก ได้แก่ ที่คนหมู่มากรู้คือแทงตลอดด้วยอำนาจการตรัสรู้ของมหาชน.
คำว่า หนาแน่น ได้แก่ ถึงความเป็นของหนาแน่น ด้วยอาการทุกอย่าง.
ถามว่า อย่างไร.
ตอบว่า จนกระทั่งพวกเทวดาและมนุษย์ประกาศดีแล้ว หมายความว่า อันพวกเทวดาและมนุษย์ที่ประกอบด้วยชาติแห่งผู้รู้ทั้งหมด ประกาศดีแล้ว.
คำว่า มีความขวนขวายน้อย คือ หมดอาลัย.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มารผู้มีบาป เจ้าแล ตั้งแต่สัปดาห์ที่แปดมาได้เที่ยวโวยวายว่า พระเจ้าข้า บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงปรินิพพานเถิด ขอพระสุคตเจ้า จงปรินิพพานเถิด.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า บัดนี้ตั้งแต่วันนี้ เจ้าจงเลิกความอุตสาหะได้แล้ว จงอย่าทำความพยายามเพื่อการปรินิพพานของเราเลย.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 135
คำว่า ทรงมีพระสติสัมปชัญญะทรงปลงอายุสังขาร คือ ทรงตั้งพระสติไว้เป็นอย่างดี ทรงใช้พระญาณกำหนดแล้วจึงทรงปลง คือ ทรงสละอายุสังขาร.
ในกรณีนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงปลงอายุสังขารอย่างใช้พระหัตถ์โยนก้อนดินทิ้ง แต่ทรงเกิดความคิดว่า เราจะเข้าผลสมาบัติตลอดเวลาประมาณสามเดือนเทียว ต่อจากนั้นจักไม่เข้าสมาบัติอื่น พระอานนท์หมายเอาอาการอย่างนั้น จึงได้กล่าวว่า ทรงปลงแล้ว. ปาฐะว่า อฺสฺสชฺชิ ดังนี้ก็มี.
คำว่า มหาภูมิจาโล คือ การไหวของแผ่นดินอย่างใหญ่. เล่ากันว่า ครั้งนั้น หมื่นโลกธาตุได้หวั่นไหวแล้ว.
คำว่า น่าสะพรึงกลัว คือ ทำให้เกิดความกลัว.
คำว่า กลองทิพย์ ก็บันลือลั่น คือ กลองของเทวดาก็ดังก้อง.
ฝนก็คำรามแสนคำราม. สายฟ้าที่มิใช่เวลาก็แปลบปลาบ มีคำที่ท่านอธิบายว่า ฝนก็ตกชั่วขณะ.
ถามว่า คำว่า ทรงเปล่งอุทาน นี้ ทรงเปล่งทำไม อาจมีบางคนพูดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ถูกมารที่ติดตามข้างพระปฤษฎางค์ รบกวนว่า ปรินิพพานเถิด พระเจ้าข้า ปรินิพพานเถิด พระเจ้าข้า จึงทรงปลงอายุสังขารเพราะความกลัว.
ตอบว่า โอกาสของมารนั้นจงอย่ามี สำหรับผู้กลัวหาได้มีอุทานไม่ เพราะฉะนั้นจึงทรงเปล่งอุทานชนิดที่ปล่อยออกมาเพราะแรงปีติ.
ในพระอุทานนั้น ชื่อว่า สิ่งที่เทียบเคียง เพราะถูกเทียบถูกกำหนดแล้ว โดยความเป็นสิ่งประจักษ์แม้แก่สุนัขและจิ้งจอกเป็นต้นทั้งหมด.
สิ่งเทียบนั้นคืออะไร.
คือ กามาวจรกรรม.
ที่ชื่อว่า ไม่มีสิ่งเทียบ เพราะไม่ใช่สิ่งที่เทียบได้ หรือสิ่งที่เทียบได้ คือสิ่งที่เหมือนกัน ของสิ่งนั้นได้แก่โลกิยกรรม อย่างอื่นไม่มี.
สิ่งที่ไม่มีอะไรเทียบได้นั้นคืออะไร คือ มหัคคตกรรม.
อีกอย่างหนึ่ง สิ่งที่เป็นกามาวจรและรูปาวจร เป็นสิ่งที่เทียบได้ สิ่งที่เป็นอรูปาวจรเป็นสิ่งที่เทียบไม่ได้ สิ่งที่มีวิบากน้อยเป็นสิ่งที่เทียบได้ สิ่งที่มี
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 136
วิบากมาก เป็นสิ่งที่เทียบไม่ได้.
คำว่า สมฺภวํ คือ เป็นเหตุแห่งการเกิดของสัตว์เหล่านั้น อธิบายว่า ทำให้เป็นก้อน ทำให้เป็นกอง.
คำว่า ภวสงฺขารํ คือ เครื่องปรุงแห่งการเป็นขึ้นอีก.
คำว่า ได้ปลงเสียแล้ว คือ ปล่อยแล้ว.
คำว่า มุนี คือ มุนีผู้เป็นพุทธะ.
คำว่า ยินดีแล้วในภายใน คือ ผู้ยินดีภายในอย่างแน่นแฟ้น.
คำว่า มีจิตตั้งมั่น คือ ผู้ตั้งมั่นด้วยอำนาจอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ.
คำว่า ได้ทำลายแล้ว เหมือนเกราะ คือ ได้ทำลายเหมือนผู้ทำลายเกราะ.
คำว่า เกิดในตน คือ กิเลสที่เกิดในตน.
ข้อนี้มีคำอธิบายว่า ทรงปลงสิ่งที่ได้ ชื่อว่า สมภพ เพราะอรรถว่า มีวิบาก. ชื่อว่า ภวสังขาร เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องปรุงแต่งภพ และชื่อว่าทรงปลงโลกิยกรรม กล่าวคือสิ่งที่เทียบได้และเทียบไม่ได้ ทรงได้ทำลายกิเลสที่เกิดในตนเหมือนนักรบผู้ยิ่งใหญ่ในสงความทำลายเกราะ และทรงเป็นผู้ยินดีในภายใน ทรงเป็นผู้ (มีพระหฤทัย) ตั้งมั่นแล้ว.
อีกอย่างหนึ่ง คำว่า ตุลํ (แปลว่า ชั่งก็ได้) ได้แก่ ทรงชั่งอยู่ คือ ทรงพิจารณาอยู่.
คำว่า สิ่งที่ชั่งไม่ได้ และ ความเกิดพร้อม ได้แก่ นิพพานและภพ.
คำว่า ธรรมอันปรุงแต่งภพ ได้แก่ กรรมที่ให้ถึงภพ.
คำว่า พระมุนีได้ทรงปลงแล้ว คือ พระพุทธมุนีได้ทรงชั่งโดยนัยเป็นต้นว่า ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง ความดับขันธ์ ๕ ได้สนิทเป็นนิพพาน เป็นของเที่ยง ทรงเห็นโทษในภพ และเห็นอานิสงส์ในพระนิพพานแล้วได้ทรงปลงตัวปรุงแต่งภพ อันเป็นรากเง่าของขันธ์ ๕ เสีย ด้วยอริยมรรคอันทำความสิ้นกรรม ที่ตรัสไว้อย่างนี้ว่า เป็นไปเพื่อสิ้นกรรม คือ ภวสังขาร อย่างไร ทรงยินดีภายในมีพระหฤทัยตั้งมั่น ได้ทรงทำลายแล้วซึ่งข่าย คือ กิเลสอันเกิดในตน เหมือนนักรบ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 137
ผู้ยิ่งใหญ่ทำลายเกราะฉะนั้น.
จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ได้ทรงทำลายกิเลสทั้งหมดซึ่งรวบรัดมัดอัตภาพตั้งอยู่ เหมือนทหารผู้ยิ่งใหญ่ทำลายเกราะ ด้วยกำลังสมถะและวิปัสสนา เริ่มตั้งแต่ส่วนเบื้องต้นอย่างนี้คือ ทรงยินดีในภายในด้วยอำนาจวิปัสสนา ทรงเป็นผู้มั่นคงด้วยอำนาจสมถะ (และได้ทรงทำลายกิเลส) ที่ได้ชื่อว่า สร้างตัวตน เพราะสร้างให้เกิดภายในตน และเพราะไม่มีกิเลส จึงชื่อว่าทรงละกรรม ด้วยการละกิเลสอย่างนี้คือ กรรม ชื่อว่าเป็นอันถูกปลงลงแล้ว เพราะไม่ทรงทำให้สืบเนื่อง สำหรับผู้ที่ละกิเลสได้แล้วขึ้นชื่อว่า ความกลัวไม่มี ฉะนั้น จึงทรงเป็นผู้ไม่กลัวเลย ทรงปลงอายุสังขารแล้ว และพึงทราบว่า ทรงเปล่งพระอุทานเพื่อทรงให้รู้ความเป็นผู้ไม่กลัวด้วย ดังนี้.
จบอรรถกถาเจติยสูตรที่ ๑๐
จบอรรถกถาปาวาลวรรคที่ ๑
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อปารสูตร
๒. วิรัทธสูตร
๓. อริยสูตร
๔. นิพพุตสูตร
๕. ปเทสสูตร
๖. สัมมัตตสูตร
๗. ภิกขุสูตร
๘. พุทธสูตร
๙. ญาณสูตร
๑๐. เจติยสูตร และอรรถกถา.