[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 50
ปฐมปัณณาสก์
จรวรรคที่ ๒
๑๐. ภัตตุเทสกสูตร
ว่าด้วยพระภัตตุเทสก์ประกอบด้วยธรรม ๔
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 50
๑๐. ภัตตุเทสกสูตร
ว่าด้วยพระภัตตุเทสก์ประกอบด้วยธรรม ๔
[๒๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระภัตตุทเทสก์ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมอุบัติในนรก เหมือนเขานำตัวไปขังไว้ฉะนั้น ธรรม ๔ ประการ คืออะไร คือ ลำเอียงเพราะชอบกัน ลำเอียงเพราะชังกัน ลำเอียงเพราะเขลา ลำเอียงเพราะกลัว พระภัตตุทเทสก์ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมอุบัติในนรก เหมือนเขานำตัวไปขังไว้ฉะนั้น
ภิกษุทั้งหลาย พระภัตตุทเทสก์ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมอุบัติในสวรรค์ เหมือนเขาเชิญตัวไปประดิษฐานไว้ฉะนั้น ธรรม ๔ ประการ คืออะไร คือ ไม่ลำเอียงเพราะชอบกัน ไม่ลำเอียงเพราะชังกัน ไม่ลำเอียงเพราะเขลา ไม่ลำเอียงเพราะกลัว พระภัตตุทเทสก์ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ นี้แล ย่อมอุบัติในสวรรค์ เหมือนเขาเชิญตัวไปประดิษฐานไว้ฉะนั้น
ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ไม่สำรวมในกามทั้งหลาย เป็นผู้ไม่ประกอบด้วยธรรม ไม่เคารพธรรม ลำเอียงเพราะชอบกัน เพราะชังกัน และเพราะกลัว นั่นเราเรียกว่า ผู้เป็นหยากเยื่อในบริษัทพระสมณะผู้รู้ตรัส ไว้อย่างนี้แล.
เพราะเหตุนั้น ชนเหล่าใดตั้งอยู่ในธรรม ไม่ทำความชั่ว ไม่ลำเอียงเพราะชอบกัน ชังกัน และไม่ลำเอียงเพราะ
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 51
ความกลัว ชนเหล่านั้น เป็นสัตบุรุษ ควรสรรเสริญ นั่นเราเรียกว่า เป็นผู้ผุดผ่องในบริษัท พระสมณะผู้รู้ตรัสไว้อย่างนี้แล.
จบภัตตุเทสกสูตรที่ ๑๐
จบจรวรรคที่ ๒
อรรถกถาภัตตุเทสกสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในภัตตุเทสกสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า ภตฺตุทฺเทสโก ได้แก่ ภิกษุผู้แจกสลากภัตเป็นต้น. บทว่า กาเมสุ อสญฺตา ความว่า เหล่าชนผู้มีกิเลสกามไม่สำรวมในวัตถุกามทั้งหลาย. บทว่า ปริสกสาโว จ ปเนส วุจฺจติ ความว่า บริษัทเห็นปานนี้ เรียกชื่อว่า หยากเยื่อในบริษัท. บทว่า สมเณน ได้แก่ พระพุทธสมณะผู้รู้. บทว่า ปริสาย มณฺโฑ จ ปเนส วุจฺจติ ความว่า บริษัทเห็นปานนี้ เรียกว่า เป็นผู้ผ่องใสในบริษัท เพราะความผ่องใส.
จบอรรถกถาภัตตุเทสกสูตรที่ ๑๐
จบจรวรรควรรณนาที่ ๒
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. จารสูตร ๒. สีลสูตร ๓. ปธานสูตร ๔. สังวรสูตร ๕. ปัญญัตติสูตร ๖. โสขุมมสูตร ๗. ปฐมอคติสูตร ๘. ทุติยอคติสูตร ๙. ตติยอคติสูตร ๑๐. ภัตตุเทสกสูตร และอรรถกถา.