ผมรู้สึกตัวว่าทำตามอารมณ์เกินไปจนเกิดปัญหากับเพื่อนแล้วทำให้ทุกข์ใจ จริงๆ พอเข้าใจในหลักธรรมบ้าง แต่มันยากตรงการปฏิบัติมากๆ โดยเฉพาะเมื่อเราเจอภาวะจากสิ่งแวดล้อม พยายามทำใจให้นิ่งมันก็ไม่เป็นผล เคยพยายามฝึกสมาธิ แต่ก็ทำไม่ต่อเนื่อง รู้สึกว่าเป็นคนไม่ค่อยจริงจังเท่าไรด้วย พอจะแนะแนวทางได้มั้ยครับและสุดท้าย อยากทราบข้อมูลเกี่ยวกับ อตัมมยตา ครับ
ขอบพระคุณครับ..
เรื่องอกุศลจิตในชีวิตประจำวัน เป็นปกติของผู้ที่ยังละกิเลสยังไม่ได้ เมื่อมีเหตุปัจจัย อกุศลย่อมเกิดขึ้นทันที เหมือนต้นยางที่ถูกกรีดฉะนั้น คือ ในวันๆ หนึ่งตั้งแต่ตื่นขึ้นมา หลังจากเห็น ได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้กระทบสัมผัส ย่อมเกิดความพอใจ (โลภะ) บ้าง ความไม่พอใจ (โทสะ) บ้าง แม้ว่าจะเป็นผู้ได้ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาบ้าง แต่กิเลสทั้งหลายยังคงมีอยู่เต็ม คือ ยังละกิเลสอะไรยังไม่ได้ เพียงการศึกษา หรือการอบรมเจริญสติปัฏฐาน การละกิเลสต้องอาศัยปัญญาขั้นอริยะ คือ โลกุตรปัญญา จึงจะละได้ กว่าจะถึงขั้นนั้นได้ต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนาน ฉะนั้น ควรทราบว่าเรื่องอกุศลเป็นของธรรมดาของปุถุชน แต่ควรศึกษาว่าเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เรา
สำหรับเรื่องศัพท์ว่า อตัมมยตา ความหมายของคำนี้ คือ ความไม่มีตัณหา หรือปราศจากตัณหา โดยมากหมายถึง พระนิพพาน ในบางแห่งหมายถึงขณะที่ไม่มีตัณหา ได้แก่วิปัสสนาหรือจิตของผู้ไม่มีตัณหา เพราะคำว่า ตัมมยตา เป็นชื่อของตัณหา เมื่อมีอะไร ปฏิเสธ คือไม่มีตัณหา ดังหลักฐานในอรรถกถามีว่า
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 246 ในบทว่า อตมฺมยตา ตัณหา เรียกว่า ตมฺมยตา อธิบายว่า ความเป็นผู้ไม่มีตัณหา. บทว่า อตมฺมยตํ เจว อนฺตรํ กริตฺวา ความว่า ทำความเป็น ผู้ไม่มีตัณหานั่นแลให้เป็นเหตุ หรือกระทำไว้ในภายใน อธิบายว่า ให้เกิดขึ้นในจิต.
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 302 ตัณหาชื่อว่า ตมฺมยตา ในบทนี้ว่า อตมฺมยตํ. วิปัสสนาอันให้ถึงการออกจากการกลุ้มรุมของตัณหานั้น เรียกว่า อตมฺมยตา. บทว่า อตมฺมยตา ได้แก่ ความปราศจากตัณหา.
การฟังพระธรรมจะเป็นอุปการะ ทำให้สภาพธัมมะฝ่ายดีเกิดบ่อยขึ้น แทนที่จะเกิดอกุศลมากขึ้น แต่ปัญญาขั้นการฟังไม่ได้ดับกิเลส แม้โทสะได้ เหตุปัจจัยพร้อมก็เกิดอีกจนบางครั้งมีคำกล่าวว่า ทำไมศึกษาธัมมะ แล้วยังเป็นแบบนี้อีก ก็ต้องไม่ลืมว่ากิเลสมีหลายระดับ ปัญญาก็มีหลายระดับ ปัญญาขั้นการฟังดับกิเลสไม่ได้ แต่เป็นเบื้องต้นที่จะดับกิเลสได้ ดังนั้น หนทางเดียวที่จะดับกิเลสจึงไม่พ้นไปจากการอบรมวิปัสสนา (สติปัฏฐาน) รู้ว่าเป็นธัมมะ ไม่ใช่เรา ที่เราเดือดร้อนที่ตัวเองใจร้อน ก็เพราะยึดถือ ความโกรธว่าเป็นเรา ไม่รู้ว่าเป็นธัมมะ
อีกประการหนึ่ง การฟังธัมมะ ในเรื่องธรรมที่ตรงกันข้ามกับความโกรธ เช่น เรื่องเมตตา ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ความโกรธเกิดน้อยลง เปลี่ยนเป็นเมตตามากขึ้นและให้อภัยครับ แต่ก็อย่างที่กล่าวข้างต้น เราจะพอใจแค่โกรธน้อยลง แต่ก็ยังยึดถือว่าเป็นเราที่โกรธ ก็ไม่มีวันที่จะดับกิเลสได้เลย จึงต้องฟังเรื่องสติปัฏฐานครับ ลองหาฟังในเว็ปนะครับ รวมทั้งประกอบการฟังเรื่องเมตตา และสภาพธัมมะฝ่ายดีต่างๆ ครับ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 436 ข้อความบางตอนจากมัลลิกาสูตร บุคคลค้นหาด้วยจิตตลอดทุกทิศ ไม่ได้พบใครซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนในที่ไหนๆ เลย สัตว์ทั้งหลายเหล่าอื่นก็รักคนมากเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 475
สุภาสิตชยสูตร ... ผู้ไม่โกรธตอบผู้ที่โกรธแล้ว ชื่อว่าชนะสงครามซึ่งชนะได้ยาก
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
คุณ Tin คะ
ดีนะคะ ที่อย่างน้อยๆ คุณทินก็ยังพอที่จะรู้จักตัวเองดีว่า เป็นวัยรุ่นที่ใจร้อน ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของวัยรุ่นค่ะ และทำไม่ถูกต้องกับเพื่อนแล้วทำให้ทุกข์ใจ แล้วเข้ามาที่เว็บไซต์นี้ (ซึ่งเป็นเว็บธรรม) ถามและขอคำแนะนำว่าควรจะทำอย่างไรดี? เว็บธรรมเป็นเว็บที่วัยรุ่นจะเข้ามาน้อยมาก แต่คุณทินก็เข้ามาถามปัญหา เป็นสิ่งที่ดีจริงๆ นะคะ ดูข่าวตอนนี้สิคะ ที่มีเด็กนักศึกษาเกาหลีใต้ ฆ่าผู้คนมากมาย เป็นเรื่องที่น่าเศร้าสลดเป็นอย่างยิ่ง
เด็กที่เป็นฆาตกรมีปัญหามากมายซึ่งจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ แต่เค้าน่าสงสารมากที่ไม่มีใครเป็นที่ปรึกษา เขาหาทางออกไม่ได้ จุดจบของเค้าก็เลยออกมาเป็นแบบนี้ ฉะนั้น คุณทินได้มาที่นี่ขอคำปรึกษา ดิฉันดีใจมากๆ ค่ะ ที่เห็นวัยรุ่นไทยอย่างคุณทินเข้ามาถามขอคำแนะนำจากเว็บนี้ ถ้าเป็นความคิดเห็นของดิฉัน ดิฉันจะขออณุญาตแนะนำว่า ถ้าเรารู้ตัวว่าเราผิดจริงก็ให้ไปขอโทษเพื่อนเสีย พูดอะไรก็ได้ที่จะทำให้เพื่อนสบายใจ ไม่ใช่พูดเพื่อให้เราสบายใจ แต่พูดเพื่อให้เพื่อนสบายใจ คือให้มีเมตตากับเพื่อน มีความปรารถนาดีกับเพื่อน จริงใจกับเพื่อน ถ้าคุณทินรักเพื่อนจริงๆ แล้วละก็ แค่นี้ดิฉันเชื่อว่า เพื่อนของคุณทินก็คงจะสบายใจขึ้น แล้วตัวคุณทินเองก็จะสบายใจขึ้นด้วย จริงๆ แล้วเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่เล็กมากๆ ความจริง ในชีวิตของมนุษย์เรามีเรื่องราวที่เราจะต้องทุกข์กว่านี้อีกเยอะแยะ อีกอย่างหนึ่ง ดิฉันมีข้อเตือนใจสำหรับตัวเองอยู่เสมอคือ ความไม่พอใจ ความทุกข์ใจต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ว่าจะเป็นในระดับไหนก็แล้วแต่ เกิดขึ้นเพราะเราไม่ได้ดั่งใจเรา เราอยากจะให้ทั้งโลกนี้เป็นไปดั่งที่ใจเราต้องการ แต่ความจริงคือ ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย ข้อเตือนใจข้อนี้ช่วยดิฉันได้เยอะมาก เพราะทำให้เบาสบายลง เริ่มสังเกตตัวเองได้เลยตั้งแต่บัดนี้ได้ค่ะว่าจริงๆ แล้วนั้น ความทุกข์ใจ ความไม่พอใจทั้งหลายที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นเพราะอะไร? และทำไมจึงเกิดขึ้น
ด้วยความปรารถนาดีจากใจจริง
จากแม่ของ ลูก ๒ วัยรุ่น ค่ะ
ทำไมบางคนใจเย็น ทำไมบางคนใจร้อน อุปนิสัยที่สะสมของแต่ละคนต่างกันคนที่เคยใจร้อน จะกลายเป็นคนใจเย็นก็ต้องใช้เวลา ขึ้นอยู่กับว่า เห็นโทษของกิเลส
ตัวเองแล้วรังเกียจ คิดที่จะเปลี่ยนนิสัยที่ไม่ดีให้ดี ได้ด้วยการศึกษาพระธรรม และอบรมขันติ เมตตา ให้มากขึ้น โดยเฉพาะปัญญาขาดไม่ได้เลย
ยินดีในกุศลจิตค่ะ