(ข้อสงสัยจะใส่ในวงเล็บนะครับ)
ดูกรราหุล ภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่ในป่าก็ดีอยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า. เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว. เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจเข้า.
(ด้านบนนี้หมายความว่า มีสติรู้ลมที่หายใจเข้า-ออกตลอดทั้งสายใช่มั้ยครับ?)
ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจเข้า.
(ด้านบนนี้หมายความว่าอย่างไรครับ? กายสังขาร? ระงับแค่ไหน? อย่างไร?)
ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้ปีติหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้ปีติหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้สุขหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้สุขหายใจเข้า.
(กำหนดรู้สุข กับกำหนดรู้ปีติ แยกจากกันได้อย่างไร?)
ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตสังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตสังขารหายใจเข้า.
(จิตสังขาร หมายความว่าอย่างไร?)
ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตสังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตสังขารหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตหายใจเข้า.
(กำหนดรู้จิต ต่างจาก กำหนดรู้จิตสังขาร อย่างไร?)
(กำหนดรู้จิต ในที่นี้ เหมือนหรือต่างจาก จิตตานุปัสนา สติปัฏฐานอย่างไร?)
ย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้ร่าเริงหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้ร่าเริงหายใจเข้า.
(คำว่า "ทำจิตให้ร่าเริง" หมายความว่าอย่างไร?)
ย่อมสำเหนียกว่า จักดำรงจิตมั่นหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักดำรงจิตมั่นหายใจเข้า.
(คำว่า "ดำรงจิตมั่น" หมายความว่าอย่างไร?)
ย่อมสำเหนียกว่า จักเปลื้องจิตหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักเปลื้องจิตหายใจเข้า.
(คำว่า "เปลื้องจิต" หมายความว่าอย่างไร?)
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจเข้า.
(หมายถึงพิจารณาสิ่งใด, คำว่าพิจารณาหมายถึงคิดทบทวนหรือไม่?)
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมอันปราศจากราคะหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมอันปราศจากราคะหายใจเข้า.
(ธรรมอันปราศจากราคะ หมายความว่า?)
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ดับสนิท หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ดับสนิท หายใจเข้า.
(พิจารณาธรรมเป็นที่ดับสนิท หมายความว่า พิจารณานิพพาน หรือไม่?)
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่สละคืน หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่สละคืน หายใจเข้า.
(พิจารณาธรรมเป็นที่สละคืน หมายความว่าอย่างไร? ทำอย่างไร?)
ดูกรราหุล อานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
ดูกรราหุล เมื่ออานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้
ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ อันมีในภายหลัง อันบุคคลผู้เจริญอานาปานสติทราบชัดแล้วย่อมดับไป หาเป็นอันบุคคลผู้เจริญอานาปานสติไม่ทราบชัดแล้ว ดับไปไม่ได้ดังนี้.
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระราหุลมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล ...
ขอบคุณครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
(ด้านบนนี้หมายความว่า มีสติรู้ลมที่หายใจเข้า-ออกตลอดทั้งสายใช่มั้ยครับ?)
ควรเป็นอย่างนั้น คือ ถ้าสติและปัญญาเกิด ก็รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะที่หายใจ มีลมที่มากระทบ เป็นต้น ด้วยเข้าใจว่า เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา ในขณะที่หายใจเข้าและหายใจออก แต่ก็แล้วแต่ว่าสติจะเกิดหรือไม่ ไม่ใช่การบังคับให้รู้ตลอดสาย ครับ
(ด้านบนนี้หมายความว่าอย่างไรครับ? กายสังขาร? ระงับแค่ไหน? อย่างไร?)
กายสังขาร หมายถึง ลมหายใจ, ระงับกายสังขาร คือระงับลมหายใจส่วนหยาบ หมายถึง ลมหายใจเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน ซึ่งเกิดจากอกุศลก็ได้ หรือ กุศลก็ได้ เพราะฉะนั้น ระงับกายสังขาร จึงไม่ได้หมายความว่า ไม่ให้หายใจ แต่ระงับลมหายใจส่วนหยาบ ที่เกิดจากอกุศล ดังนั้น ขณะที่เจริญสมถภาวนาจนเริ่มได้ฌาน หรือ ขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วยปัญญา ขณะนั้นจิตเป็นกุศลที่มีกำลัง ก็ระงับกายสังขาร คือ ระงับลมหายใจที่เกิดจากอกุศลและระงับลมหายใจที่เกิดจากกุศลขั้นต่ำ แต่เกิดกายสังขารอย่างละเอียด คือ เกิดลมหายใจจากจิตที่เป็นกุศลที่มีกำลัง มีการเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาในขณะนั้น ครับ
(กำหนดรู้สุข กับกำหนดรู้ปีติ แยกจากกันได้อย่างไร?)
ปีติ หมายถึง ปิติเจตสิก ส่วน สุข หมายถึง เวทนาเจตสิก ซึ่งการกำหนดรู้สุข และกำหนดรู้ปิติ ก็ต้องด้วยปัญญาและสติที่รู้ ซึ่ง มี ๒ นัย
๑. รู้โดยการเป็นอารมณ์
คือ ขณะที่เจริญสมถภาวนา นั้นย่อมเข้าฌานทั้ง ๒ (ปฐมฌานและทุติยฌาน) ซึ่งมีปีติ, ปีติชื่อว่าเป็นนั้นรู้แจ้งแล้วโดยอารมณ์ ด้วยการได้ฌานในขณะเข้าสมาบัติ โดยนัยเดียวกัน แม้สุข ก็โดยการเป็นอารมณ์ แต่มุ่งหมายถึงในฌานที่ ๓ และ ๔ ครับ
๒. รู้โดยการไม่หลงงมงาย
รู้ปิติและสุขโดยไม่หลงงมงาย คือ ด้วยปัญญาที่ทำให้ไม่หลงงมงาย รู้แจ้งตามความเป็นจริง แต่เป็นปัญญาระดับวิปัสสนา ไม่ใช่สมถภาวนา คือ รู้ลักษณะของปิติในขณะนั้นว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา โดยนัยเดียวกัน การรู้สุข ก็คือ รู้โดยวิปัสสนาที่รู้ลักษณะของสุขเวทนาที่เกิดในขณะที่หายใจว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ครับ
ซึ่งการจะแยกระหว่าง การกำหนดรู้ปิติ กับ สุข ก็ด้วยปัญญาที่จะเกิดทำหน้าที่แยกเองว่า ปัญญาจะรู้สภาพธรรมอะไร ครับ เพียงแต่ว่าถ้าเป็นการเจริญสมถภาวนา ฌาน ฌาน ๑ และ ๒ ชื่อว่ารู้แจ้งปิติก่อน ส่วน ฌาน ๓ และ ๔ รู้แจ้ง สุข ครับ
ถ้าเป็นการเจริญวิปัสสนา รู้ลักษณะของ ปิติ และ สุข อันนี้แล้วแต่ครับว่า สติและปัญญาจะเกิดระลึกรู้อะไรก่อน ครับ ปัญญาจะทำหน้าที่แยกเอง ครับ ไม่ใช่เรา ในขณะที่หายใจเข้าออกนั่นเอง
(จิตสังขาร หมายความว่าอย่างไร?)
จิตสังขาร หมายถึงสภาพธรรมที่ปรุงแต่งจิต ก็คือ เจตสิก ที่เป็น เวทนา สัญญา เป็นต้น
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 374
จิตสังขารบททั้งสอง เป็นอันท่านกล่าวเวทนาที่สัมปยุตด้วยสัญญาไว้ เพราะ พระบาลีว่า สัญญาและเวทนา เป็นเจตสิก ธรรมเหล่านี้เนื่องด้วยจิต เป็นจิตสังขาร ดังนี้. จตุกกะนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโดยเวทนานุปัสสนานัย ด้วยประการอย่างนี้
(กำหนดรู้จิต ต่างจาก กำหนดรู้จิตสังขาร อย่างไร?)
กำหนดรู้จิตโดยนัยสมถภาวนา คือ กำหนดรู้ด้วย ฌาน ๔ กำหนดรู้จิตสังขาร คือ ปัญญาที่เป็นวิปัสสนา ระลึกรู้ลักษณะของเวทนา เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ครับ
(กำหนดรู้จิต ในที่นี้ เหมือนหรือต่างจาก จิตตานุปัสนา สติปัฏฐานอย่างไร?)
กำหนดรู้จิต หมายถึง กำหนดรู้ด้วยการเจริญสมถภาวนา คือ การเจริญฌาน ถึง ฌานที่ ๔ ซึ่ง การกำหนดรู้จิตในการเจริญวิปัสสนา คือ จิตตานุปสัสสนา ต่างกันที่ การได้ฌาน ระงับกิเลสชั่วคราว ไม่ได้รู้ลักษณะของจิตจริงๆ ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา แต่จิตตานุปัสสนา เป็นหนทางการดับกิเลสหมดสิ้น เพราะรู้ลักษณะของจิตตามความเป็นจริงว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ครับ
(คำว่า "ทำจิตให้ร่าเริง" หมายความว่าอย่างไร?)
ความร่าเริง บันเทิง โดยทั่วไปที่เข้าใจกัน หมายถึงอกุศล แต่ในที่นี้ มุ่งหมายถึงความร่าเริง บันเทิงด้วยกุศลธรรม ดังนั้น ความร่าเริง บันเทิงในที่นี้ มี ๒ นัย คือ
๑. จิตร่าเริง บันเทิงด้วยการเจริญสมถภาวนา ขณะที่ได้ฌาน ๑ และ ๒ มีปิติ ขณะนั้นจิตร่าเริงด้วยปิติที่เป็นกุศลที่มีกำลัง
๒. จิตร่าเริง บันเทิงด้วยวิปัสสนา
ขณะที่เจริญวิปัสสนา รู้ปิติที่กำลังว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ชื่อว่าทำจิตให้ร่าเริงด้วยปัญญาที่รู้ความจริง ซึ่งไม่มีตัวตนที่จะทำจิต แล้วแต่ว่าสติและปัญญาเกิดรู้ความจริงหรือไม่ ครับ
(คำว่า "ดำรงจิตมั่น" หมายความว่าอย่างไร?)
ดำรงจิตไว้มั่นหายใจเข้า หายใจออก คือ ขณะนั้นได้ฌาน ก็คือดำรงจิตไว้มั่นด้วยกำลังของฌานในขณะนั้น หรือ ขณะที่รู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะที่หายใจ ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ชื่อว่าดำรงจิตไว้มั่นด้วยวิปัสสนาที่เป็นชั่วขณะของสมาธิ คือ ขณิกสมาธิ ครับ
(คำว่า "เปลื้องจิต" หมายความว่าอย่างไร?)
เปลื้องจิต ในที่นี้ หมายถึง เปลื้อง หรือปล่อยไป ปล่อยซึ่งอะไร ก็ต้องปล่อย เปลื้อง ซึ่งธรรมที่ไม่ดี นั่นก็คือ ขณะที่ลมหายใจได้ ฌาน มีฌาน ขั้นที่ ๑ ก็เปลื้อง ปล่อยจิตไป ปล่อย อกุศล คือนิวรณ์ ไปในขณะนั้น หรือ ขณะที่เจริญวิปัสสนา กำลังหายใจ มีสติและปัญญาเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งว่าเป็นธรรมไม่ใช่ เรา ชื่อว่า เปลื้องจิต ปล่อยจิต ปล่อย เปลื้องความเห็นผิดว่ามีเรา มีสัตว์ บุคลในขณะนั้น ครับ
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจเข้า.
(หมายถึงพิจารณาสิ่งใด, คำว่าพิจารณาหมายถึงคิดทบทวนหรือไม่?)
ไม่ใช่การคิดพิจารณาทบทวน เป็นเรื่องราว ครับ แต่ต้องเป็นปัญญาระดับสิ่งที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดในขณะนั้น ในขณะที่กำลังหายใจว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ครับ
(ธรรมอันปราศจากราคะ หมายความว่า?)
ธรรมอันปราศจากราคะ หมายถึง พระนิพพาน ครับ
(พิจารณาธรรมเป็นที่ดับสนิท หมายความว่า พิจารณานิพพาน หรือไม่?)
วิปัสสนาและมรรค คือ สภาพธรรมที่พิจารณาธรรมคือพระนิพพาน คือ ประจักษ์พระนิพพาน นั่นเองครับ
(พิจารณาธรรมเป็นที่สละคืน หมายความว่าอย่างไร? ทำอย่างไร?)
หมายถึงปัญญาเกิดในขณะนั้นที่เป็นปฏินิสสัคคานุปัสสนา คือ การสละคืน ซึ่งกิเลสทั้งหลายและสละคืนด้วยการแล่นไปสู่พระนิพพาน ครับ
จะเห็นนะครับว่า การรู้ลมหายใจ มีทั้งนัยสมถภาวนาและวิปัสสนา ซึ่ง การรู้ลมหายใจเป็นอารมณ์ที่ละเอียดประณีตยิ่งนัก อันเป็นอารมณ์ของผู้มีปัญญามาก ของ มหาบุรุษ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นโดยนัยใด ก็ขาดปัญญาไม่ได้ ครับ ซึ่งจะต้องเริ่มจาการฟังพระธรรมให้เข้าใจเป็นเบื้องต้น เป็นสำคัญก่อน ครับ
เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ
ลมหายใจกับความสงบ !
ทำไมต้องมุ่งไปที่ลมหายใจ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ไม่ใช่ว่ามีตัวตนที่จะไปทำอะไร ไปกำหนดอะไร เพราะนั่นเป็นเรื่องของความไม่รู้ การทำอะไรด้วยความไม่รู้ ผลก็คือ ไม่รู้ เพราะพระธรรมทั้งหมดเป็นไปเพื่อการอบรมเจริญปัญญาโดยตลอด จึงควรตั้งต้นด้วยการฟังพระธรรมให้เข้าใจ ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากการฟังในเรื่องของรูปธรรมและนามธรรม เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมก็จะเป็นเหตุให้มีการระลึกรู้สภาพธรรมที่มีจริงตามความเป็นจริง
แม้แต่ในเรื่องของลมหายใจก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดปรากฏก็สามารถเข้าใจได้ จึงสำคัญอยู่ที่การตั้งต้นจริงๆ ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ลมหายใจ เป็นอารมณ์ของอานาปานสติได้ เป็นได้ทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนา และต้องเป็นผู้มีปัญญามาก เช่น พระพุทธเจ้า ค่ะ
ขอบคุณครับ