๙. โสมนัสชาดก ว่าด้วยการใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงค่อยทำ
โดย บ้านธัมมะ  26 ส.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 35972

[เล่มที่ 61] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 162

๙. โสมนัสชาดก

ว่าด้วยการใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงค่อยทํา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 61]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 162

๙. โสมนัสชาดก

ว่าด้วยการใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงค่อยทํา

[๒๑๖๕] ใครมาตี มาด่าท่านหรือ ทำไมท่าน จึงเสียใจ น้อยใจ เศร้าโศกอยู่ วันนี้มารดาบิดาของ ท่านมาร้องไห้รบกวน ประการใด หรือว่าวันนี้มีใคร มารังแกท่านให้ท่านต้องนอนเหนือแผ่นดิน.

[๒๑๖๕] (ดาบสตอบว่า) ขอถวายพระพรพระจอมภูมิบาล อาตมาภาพดีใจมาก ที่ได้เห็นมหาบพิตร อาตมาภาพเข้ามาอาศัยมหาบพิตร มิได้เบียดเบียนใคร ขอถวายพระพร อาตมาภาพถูกพระราชโอรส ของ มหาบพิตรเบียดเบียน.

[๒๑๖๖] (พระราชาทรงพระพิโรธ ตรัสว่า) เหวยเหล่านายทวารบาล พนักงานตำรวจดาบ และ นายเพชรฆาตทั้งหลาย พวกเจ้าจงไปทำตามหน้าที่ ของตนๆ จงไปยังภายในพระราชฐาน ฆ่าเจ้าโสมนัสสกุมารเสีย แล้วตัดเอาศีรษะมา ทูตทั้งหลายที่พระราชา ส่งไป ได้กราบทูลพระกุมารว่า ข้าแต่พระขัตติโยรส พระองค์เป็นผู้ที่พระอิสราธิบดี ราชบิดาทรงตัดขาด แล้ว พระองค์ต้องโทษ ถึงประหารชีวิต พระเจ้าข้า.


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 163

พระราชโอรส ทรงพระกันแสงอยู่ ทรงประคอง อัญชลี ยกพระหัตถ์ทั้งสิบนิ้วขึ้นอ้อนวอนว่า ตัวเรา อยากจะขอเข้าเฝ้าพระราชบิดา ผู้เป็นจอมประชา ราษฎร์ ขอท่านทั้งหลาย จงนำเราผู้ยังมีชีวิตไปเฝ้า พระราชบิดาเถิด.

ทูตทั้งหลายได้ฟังพระดำรัสของพระราชกุมาร แล้ว ได้พาพระราชโอรสเข้าเฝ้าพระราชา ฝ่ายพระราชโอรส ครั้นเห็นพระราชบิดา จึงกราบทูลไปแต่ ไกลว่า

ข้าแต่พระราชบิดา ผู้เป็นจอมประชาราษฎร์ พวกนายประตู ตำรวจดาบ และเพชฌฆาตทั้งหลาย พากันมาเพื่อจะฆ่าข้าพระพุทธเจ้าเสีย ข้าพระพุทธเจ้า ขอกราบทูลถาม ขอได้ทรงพระกรุณาโปรดบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพระพุทธเจ้า วันนี้ข้าพระพุทธเจ้ามีความผิดในเรื่องนี้เป็นประการใดหรือ พระเจ้าข้า.

[๒๑๖๗] ทิพพจักษุดาบสผู้ไม่ประมาท ทำกิจรดน้ำบำเรอไฟ ทั้งเวลาเย็นเวลาเช้าทุกเมื่อ เหตุไรเจ้า จึงเรียก ทิพพจักษุดาบสผู้สำรวมอินทรีย์ เป็นพรหมจารีเช่นนั้นว่า พราหมณ์คฤหบดี.

[๒๑๖๘] (พระกุมารทูลว่า) ขอเดชะ กุลุปกดาบสผู้นี้มีของเก็บไว้หลายอย่าง คือผลสมอพิเภก เผือกมัน และผลไม้ทั้งหลาย กุลุปกดาบสผู้นี้เป็นผู้


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 164

ไม่ประมาท เก็บรักษาของเหล่านั้นไว้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้า จึงเรียกดาบสนั้นว่า " คฤหบดี ".

[๒๑๖๙] (พระราชาตรัสว่า) ดูก่อนเจ้าโสมนัสสกุมาร เรื่องนี้เจ้าพูดได้จริง ดาบสผู้นี้มีของเก็บไว้ หลายอย่าง ดาบสผู้นี้เป็นผู้ไม่ประมาท เก็บรักษาสิ่งของเหล่านั้นไว้ เพราะฉะนั้น ดาบสผู้นี้ จึงชื่อว่า พราหมณ์ คฤหบดี.

[๒๑๗๐] (พระกุมารตรัสว่า) บริษัททั้งหลาย ทั้งชาวนิคมและชาวชนบทที่มาประชุมกันถ้วนทุกคน ขอจงฟังข้าพเจ้า พระราชาผู้เป็นจอมประชาราษฎร์นี้ เป็นพาล ได้ฟังคำชฎิลโกงแล้ว ตรัสสั่งให้ฆ่าเราเสีย โดยหาเหตุมิได้เลย.

[๒๑๗๑] (พระกุมารตรัสว่า) เมื่อรากยังเจริญ งอกงามแผ่ไพศาลอยู่ ไม้ไผ่ที่แตกเป็นกอใหญ่แล้ว ก็แสนยากที่จะถอนให้หมดสิ้นไปได้ ข้าแต่พระราช บิดา ผู้เป็นจอมประชาราษฎร์ ข้าพระพุทธเจ้า ขอถวาย บังคมพระยุคลบาท ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ข้าพระพุทธเจ้าจักออกบวช พระเจ้าข้า.

[๒๑๗๒] (พระราชาตรัสว่า) โสมนัสสกุมาร เอ๋ย เจ้าจงเสวยสมบัติอันไพบูลย์เถิด อนึ่ง บิดาจะมอบ อิสริยยศทั้งหมดให้แก่เจ้า เจ้าจงเป็นพระราชาของชาว กุรุรัฐเสียในวันนี้ทีเดียวเถิด อย่าบวชเลย เพราะการ บวชเป็นทุกข์.


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 165

[๒๑๗๓] (พระกุมารทูลว่า) ขอเดชะ บรรดา โภคสมบัติของพระองค์ ซึ่งมีอยู่ในราชธานีนี้ สิ่ง ไรเล่าที่ข้าพระพุทธเจ้าควรบริโภคมีอยู่หรือ? เมื่อ ชาติก่อนข้าพระพุทธเจ้าเคยรื่นรมย์อยู่ในเทวโลก ด้วย รูป เสียง กลิ่น รส และผัสสะทั้งหลาย ที่น่ารื่นรมย์ใจ ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าเคยบริโภคสมบัติมาแล้วใน ไตรทิพย์ เคยมีหมู่นางอัปสรแวดล้อมมาแล้ว ข้าพระพุทธเจ้ามารู้ว่า พระองค์เป็นพาล อันคนอื่นต้องนำไป แล้วจะอยู่ในราชสกุลเช่นนั้นไม่ได้เลย.

[๒๑๗๔] (พระราชาตรัสว่า) ดูก่อนพ่อโสมนัสส์ ถ้าหากว่า บิดาเป็นพาลต้องอาศัยผู้อื่นจูงไปไซร้ เจ้าจง อดโทษให้บิดาสักครั้งหนึ่งเถิด ถ้าแม้ว่าโทษเช่นนี้จะ พึงมีอีกไซร้ เจ้าจงกระทำตามมติของตนเถิด.

[๒๑๗๕] (พระกุมารตรัสว่า) กรรมที่บุคคลใด ไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนเสียก่อน แล้วทำลงไป ผลชั่วร้าย ย่อมมีแก่บุคคลนั้น เหมือนความวิบัติแห่งยาแก้โรค ฉะนั้น.

ส่วนกรรมที่บุคคลใดพิจารณาถี่ถ้วนก่อนแล้วทำ ลงไป ผลอันเจริญย่อมมีแก่บุคคลนั้นเหมือนความ ถึงพร้อมแห่งยาแก้โรคฉะนั้น.

คฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม เป็นคนเกียจคร้านไม่ดี บรรพชิตไม่สำรวมไม่งาม พระราชาไม่ใคร่ครวญเสีย ก่อนแล้วทำลงไป ไม่ดี บัณฑิตมีความโกรธเป็น เจ้าเรือน ก็ไม่ดี.


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 166

ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นอธิบดีแห่งทิศ กษัตริย์ทรง ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงค่อยทำ ยังไม่ได้พิจารณา ใคร่ครวญก่อนแล้ว ไม่ควรทำกิจการอะไร พระเกียรติ- ยศของพระราชาผู้ทรงใคร่ครวญเสียก่อนแล้ว จึงทำ ลงไป ย่อมเจริญยิ่งๆ ขึ้น.

ข้าแต่พระภูมิบาล อิสรชนควรพิจารณาเสียก่อน แล้วจึงลงอาชญา กรรมที่ทำด้วยความรีบร้อนย่อม เดือดร้อน อนึ่ง ความตั้งตนไว้โดยชอบ และประโยชน์ ของนรชน ย่อมไม่ตามเดือดร้อนในภายหลัง.

อนึ่ง ชนเหล่าใด จำแนกแจกแจงด้วยปัญญา แล้วกระทำกรรมทั้งหลาย ที่ไม่ตามเดือดร้อนในภายหลัง ในโลก กรรมของชนเหล่านั้น ท่านผู้รู้สรรเสริญ มีความสุขเป็นกำไร พุทธาทิบัณฑิตอนุมัติแล้ว.

ขอเดชะ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งประชาชน นายประตู ตำรวจดาบ และพวกเพชฌฆาต พากัน ไป จะฆ่าข้าพระพุทธเจ้า พวกนั้นพากันฉุดคร่าข้าพระพุทธ เจ้า ผู้กำลังนั่งอยู่ บนพระเพลาแห่งพระราชมารดา มาโดยพลัน.

ข้าแต่พระราชบิดา แท้จริงข้าพระพุทธเจ้า ถึง ความหวั่นกลัวต่อมรณภัย คับแคบ ฝืดเคืองเหลือเกิน วันนี้ข้าพระพุทธเจ้าได้มีชีวิตอันเป็นที่รัก หวานซาบซึ้งใจ รอดพ้นจากการถูกประหารมาได้แสนยาก จึง น้อมใจไปในบรรพชาอย่างเดียว.

[๒๑๗๖] (พระราชาตรัสว่า) ดูก่อนสุธรรมาเทวี โสมนัสสกุมารโอรสของเธอนี้ ยังรุ่นหนุ่ม น่าเอ็นดู


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 167

วันนี้เราอ้อนวอนเขาไว้ ก็ไม่ได้สมปรารถนา แม้เธอ ก็ควรจะอ้อนวอนโอรสของเธอดูบ้าง.

[๒๑๗๗] (พระนางสุธรรมาเทวีตรัสว่า) ดูก่อน พระลูกรัก เจ้าจงยินดีด้วยภิกขาจาริยวัตรเถิด จงใคร่- ครวญในธรรมทั้งหลายแล้วละเว้นบรรพชาของคนมิจ- ฉาทิฏฐิเสียเถิด เจ้าจงวางอาชญาในสรรพสัตว์ นักบวช ละวางอาชญาในสรรพสัตว์ทั้งหลายแล้ว เป็นผู้ไม่ถูก ติเตียน ย่อมเข้าถึงพรหมสถาน.

(พระราชาตรัสว่า) ดูก่อนสุธรรมาเทวี เธอพูดคำ เช่นใด คำเช่นนั้น น่าอัศจรรย์จริงหนอ เราได้รับ ทุกข์อยู่แล้ว เธอยังกลับเพิ่มทุกข์ให้อีก ฉันขอร้องเธอ ให้ช่วยอ้อนวอนลูก เธอกลับสนับสนุนให้โสมนัสสกุมารเกิดอุตสาหะยิ่งขึ้น.

[๒๑๗๘] (พระนางสุธรรมาเทวีตรัสว่า) พระอริยเจ้าเหล่าใดพ้นวิเศษแล้ว บริโภคปัจจัยอันหาโทษ มิได้ ดับรอบแล้ว เที่ยวไปในโลกนี้ หม่อมฉันไม่ อาจจะห้ามโอรสผู้ดำเนินไปตามมรรคา ของพระอริยเจ้า เหล่านั้นได้.

[๒๑๗๙] (พระราชาตรัสว่า) ชนเหล่าใดมีปัญญา เป็นพหูสูต ตรึกตรองเหตุการณ์ถี่ถ้วนมาก พระนาง สุธรรมาเทวีนี้ เป็นผู้มีความขวนขวายน้อย ปราศจาก ความโศกเศร้า ได้สดับคำสุภาษิตของชนเหล่าใด ชนเหล่านั้นควรจะสมาคมคบหาทีเดียว.

จบโสมนัสสชาดกที่ ๙


ความคิดเห็น 7    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 168

อรรถกถาโสมนัสสชาดก

พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภ ความที่พระเทวทัตพยายาม เพื่อจะปลงพระชนม์พระองค์ ตรัสพระธรรม เทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า โก ตํ หืสติ เหเติ ดังนี้.

ก็ในกาลครั้งนั้น พระบรมศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ใช่แต่ใน บัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในปางก่อนพระเทวทัตนี้ ก็พยายามเพื่อจะฆ่าเราตถาคต เหมือนกัน แล้วทรงนำอดีตนิทานมาตรัสดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล มีพระราชาทรงพระนามว่า เรณุราช เสวยราชสมบัติ ในอุตตรปัญจาลนคร แคว้นกุรุ. ครั้งนั้น พระดาบสชื่อ มหารักขิตะ มีดาบส ๕๐๐ เป็นบริวาร อยู่ในหิมวันตประเทศเที่ยวจาริกไป เพื่อจะเสพ อาหารรสเค็มและรสเปรี้ยว จนลุถึงอุตตรปัญจาลนคร พักอยู่ในพระราชอุทยาน รุ่งขึ้นพร้อมด้วยบริวารเที่ยวไปบิณฑบาตจนถึงราชทวาร. พระเจ้าเรณุราช ทรงเห็นหมู่ฤาษี ทรงเลื่อมใสในอิริยาบถ จึงตรัสสั่งให้นิมนต์มานั่ง ณ ท้อง พระโรง มีพื้นกว้างใหญ่อันประดับตกแต่งแล้ว ทรงอังคาสด้วยอาหารอัน ประณีต แล้วตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย อยู่ จำพรรษาที่อุทยานของข้าพเจ้าตลอดฤดูฝนนี้เถิด แล้วเสด็จไปพระราชอุทยาน พร้อมด้วยดาบสเหล่านั้น ตรัสสั่งให้สร้างที่อยู่พระราชทานบรรพชิตบริขาร ทรงนมัสการแล้วเสด็จกลับพระราชวัง. นับแต่นั้นมา ดาบสเหล่านั้นแม้ทั้งหมด ก็รับพระราชทานฉัน ในพระราชนิเวศน์เป็นประจำ. ก็พระราชามิได้มีพระโอรส จึงทรงปรารถนาจะได้พระโอรส. ราชโอรสก็หาได้มาอุบัติสมพระราช ประสงค์ไม่ ล่วงกาลฤดูฝน ๓ เดือนแล้ว ท่านมหารักขิตดาบส จึงเข้า


ความคิดเห็น 8    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 169

ไปถวายพระพรลาพระราชาว่า บัดนี้ ที่ป่าหิมพานต์เป็นรมณียสถาน พวก อาตมาภาพจะไปอยู่ที่ป่าหิมพานต์นั้นตามเดิม อันพระราชาทรงกระทำการ สักการะบูชาแล้ว จึงออกจากพระราชอุทยานไป ในเวลาเที่ยงวัน ได้แวะ ออกจากทางเสียในระหว่างมรรคา พาบริวารนั่งอยู่ที่เนินหญ้าแพรกอ่อนๆ ณ ภายใต้ต้นไม้มีร่มเงาอันเยือกเย็นต้นหนึ่ง.

ดาบสเหล่านั้นนั่งประชุมสนทนากันว่า ในพระราชวังหามีพระราชโอรส ที่จะสืบราชตระกูลไม่ ถ้าพระราชาจะพึงได้พระราชโอรส ก็จะเป็นการดีทีเดียว จะได้สืบราชสกุลสืบไป. ท่านมหารักขิตดาบส ได้ยินถ้อยคำของดาบส เหล่านั้นแล้ว จึงใคร่ครวญดูว่า พระราชาจักมีพระโอรสหรือไม่หนอ ทราบว่า จักมี จึงพูดขึ้นว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย พวกท่านอย่าคิดวิตกไปเลย วันนี้ เวลาใกล้รุ่ง เทพบุตรหนึ่งองค์จักจุติลงมา ถือปฏิสนธิในครรภ์แห่งอัครมเหสี ของพระราชา ชฎิลโกงผู้หนึ่งได้ยินดังนั้น จึงคิดว่า เราจักเป็นราชกุลุปกะ (พระดาบสประจำราชสำนัก) เสียแต่บัดนี้ จึงในเวลาที่พวกดาบสออกเดินทาง ไป แกล้งลวงว่าเป็นไข้แล้วนอนเสีย ถูกพวกดาบสอื่นๆ เตือนว่า ลุกขึ้นเถิด พวกเราจักไปกันละ. ก็ตอบว่า เราไม่สามารถจะไปได้. ท่านมหารักขิตดาบสรู้ เหตุที่ดาบสนั้นแกล้งนอน จึงกล่าวว่า ท่านสามารถจะไปได้เมื่อใด จงตามมา เมื่อนั้นเถิด ดังนี้แล้ว พาหมู่ฤาษีเดินทางไปยังหิมวันตประเทศทีเดียว. ฝ่าย ดาบสโกง จึงรีบย้อนกลับมาโดยเร็ว ยืนอยู่ที่ราชทวาร สั่งให้ราชบุรุษกราบทูล พระราชาว่า ดาบสอุปัฏฐากของท่านมหารักขิตดาบสมาเฝ้า ครั้นพระราชาตรัส สั่งให้รีบนิมนต์เข้าไปเฝ้า จึงขึ้นสู่ปราสาท นั่งบนอาสนะที่เขาปูไว้แล้ว. พระราชาทรงนมัสการพระดาบสแล้ว ประทับนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง ตรัสถามถึง สุขภาพอนามัยของพระฤาษีทั้งหลาย แล้วตรัสว่า พระคุณเจ้ารีบด่วนกลับมา


ความคิดเห็น 9    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 170

ทั้งนี้ด้วยเหตุอันใดหรือ? ดาบสโกงถวายพระพรว่า ขอถวายพระพรถูกต้อง ทีเดียว หมู่ฤาษีนั่งพักกันอยู่ตามสบาย ต่างสนทนาปราศรัยกันว่า ถ้าหากว่า พระโอรสผู้สืบสันตติวงศ์ของพระราชาจะพึงเสด็จอุบัติขึ้นไซร้ ข้อนั้นจะเป็น ความดีฉะนั้นแล้ว อาตมาภาพฟังคำสนทนานั้นแล้ว ตรวจดูด้วยทิพยจักษุว่า มหาบพิตรจักมีพระราชโอรสหรือไม่หนอ เห็นว่า เทพบุตรผู้มีมหิทธิฤทธิ์ จักจุติมาบังเกิดในพระครรภ์ แห่งพระนางสุธรรมาอัครมเหสี จึงคิดว่า ผู้ที่ ไม่รู้ ก็จะพึงทำลายพระครรภ์ให้พินาศเสีย จำเราต้องแจ้งแก่มหาบพิตรทั้งสอง จึงได้รีบมาเพื่อต้องการถวายพระพรให้ทรงทราบ บัดนี้ อาตมาภาพก็ได้ถวาย พระพรให้พระองค์ทรงทราบแล้ว ขอถวายพระพรลาไป. พระเจ้าเรณุราช ทรงโสมนัสยินดี มีพระหฤทัยเลื่อมใส ตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระคุณเจ้า ยังไปไม่ได้ ดังนี้แล้ว นำดาบสโกงไปสู่พระราชอุทยานี้ จัดแจงสถานที่อยู่ พระราชทาน. จำเดิมแต่นั้นมา ดาบสโกงนั้น ก็พำนักอาศัยขบฉัน ในราช ตระกูล จนได้มีนามว่า ทิพพจักษุดาบส (ดาบสผู้มีตาทิพย์) ทีเดียว.

ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์จุติจากดาวดึงส์พิภพ ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ แห่งพระนางสุธรรมาราชเทวี ในพระนครนั้น. ในวันขนานพระนามพระราชกุมารนั้น พระราชมารดาบิดา จึงขนานพระนามว่า โสมนัสสกุมาร. พระราชโอรสทรงเจริญพระชนมพรรษาด้วยกุมารบริหารโดยลำดับ ฝ่ายดาบส โกงจัดแจงปลูกผักอันเกื้อกูลแก่สูปะ และวัลลิผล คือผลไม้เครือเถา มีประการ ต่างๆ ด้านริมพระราชอุทยานแห่งหนึ่ง แล้วจำหน่ายขายแก่ชาวร้านตลาด รวบรวมทรัพย์ไว้. ในกาลเมื่อพระโพธิสัตว์ มีพระชันษาได้ ๗ ปี ประเทศ ชายแดนราชอาณาเขตกำเริบจลาจล. พระเจ้าเรณุราชตรัสสั่งว่า เจ้าอย่าประมาท ท่านทิพพจักษุดาบส ทรงให้พระราชกุมารรับคำแล้วเสด็จไป ด้วยหวังว่า เราจัก จัดการให้ปัจจันตชนบทสงบราบคาบ. ครั้นวันหนึ่ง พระราชกุมารคิดว่า เรา


ความคิดเห็น 10    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 171

จักไปเยี่ยมเยียนท่านชฎิล จึงเสด็จสู่พระราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นชฎิลโกง นุ่งผ้ากาสาวะหยักรั้งผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง สองมือถือน้ำข้างละหม้อ กำลัง รดน้ำไร่ผักอยู่ ก็ทรงทราบว่า ชฎิลผู้นี้เป็นชฎิลโกง ไม่บำเพ็ญสมณธรรม ของตน มัวปลูกผักทำสวนครัวเสีย จึงทรงทักทายให้ชฎิลโกงนั้นได้อายว่า ดูก่อนคฤหบดีพ่อค้าผัก ท่านกำลังทำอะไรอยู่? แล้วมิได้ทรงกราบไหว้ เสด็จออกกลับไปยังพระนคร. ชฎิลโกงคิดว่า บัดนี้ พระราชกุมารนี้ เป็น ศัตรูเราเสียแล้ว ใครรู้เข้า ความเสื่อมเสียอะไรๆ จักมี ควรที่เราจะกำจัด พระราชกุมารนั้น เสียแต่บัดนี้ทีเดียว ในเวลาใกล้ที่พระราชาจะเสด็จมา จึง โยนแผ่นหินไปรวมไว้ ณ ส่วนหนึ่ง ทุบต่อยหม้อน้ำให้แตก ทั้งเกลี่ยหญ้าทิ้ง เรี่ยราดไว้บนบรรณศาลา เอาน้ำมันทาตัว เข้าไปยังบรรณศาลา นอนคลุมโปง อยู่บนเตียง ทำประหนึ่งว่าถึงความทุกข์ร้อนอย่างใหญ่หลวง. พระราชาครั้น เสด็จมาแล้ว ทรงกระทำประทักษิณพระนคร ยังไม่เสด็จเข้าพระราชนิเวศน์ ทรงดำริว่า เราจักเยี่ยมเยียนท่านทิพพจักษุดาบสผู้เป็นเจ้าแห่งเราก่อน แล้ว เสด็จไปถึงประตูบรรณศาลา ทอดพระเนตรเห็นอาการอันวิปริตเช่นนั้น ทรง พระดำริว่า นี้เรื่องอะไรหนอ จึงเสด็จเข้าไปทอดพระเนตรเห็นชฎิลโกงนั้น นอนอยู่ ทรงลูบคลำเท้าทั้งสองของชฎิลโกง ตรัสพระคาถาที่ ๑ ความว่า

ใครมาตี มาด่าท่านหรือ ทำไมท่านจึงเสียใจ น้อยใจ เศร้าโศกอยู่ วันนี้มารดาบิดาของท่าน มา ร้องไห้รบกวน ประการใด หรือว่าวันนี้ ใครมารังแก ท่าน ให้ต้องนอนเหนือแผ่นดิน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หึสติ แปลว่า ทุบตี. บทว่า เหเติ แปลว่า ด่าว่า. บทว่า กวชฺช เสตุ ความว่า หรือว่าวันนี้ มีใครมาเบียดเบียน รังแก ให้ท่านต้องนอนเหนือแผ่นดิน.


ความคิดเห็น 11    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 172

ชฎิลโกงได้ยินพระดำรัสนั้น จึงทอดถอนหายใจลุกขึ้นกล่าวคาถาที่ ๒ ความว่า

ขอถวายพระพรพระจอมภูมิบาล อาตมาภาพ ดีใจมากที่ได้เห็นมหาบพิตร อาตมาภาพเข้ามาอาศัย มหาบพิตร มิได้เบียดเบียนใคร ขอถวายพระพร อาตมาภาพถูกพระราชโอรสของมหาบพิตรเบียดเบียน.

เบื้องหน้าแต่นี้ไป พึงทราบคาถาประพันธ์ ที่พระคันถรจนาจารย์ ประพันธ์ไว้ง่ายๆ ตามนัยวาระพระบาลีความว่า

(พระราชาทรงพระพิโรธ ตรัสว่า) เหวยเหล่า นายทวารบาล พนักงานตำรวจดาบ และนายเพชฌฆาต ทั้งหลาย พวกเจ้าจงไปตามหน้าที่ของตนๆ จงไป ยังภายในพระราชฐาน ฆ่าเจ้าโสมนัสสกุมารเสีย แล้ว ตัดเอาศีรษะมา.

ทูตทั้งหลายที่พระราชาส่งไป ได้กราบทูลพระกุมารว่า ข้าแต่พระขัตติโยรส พระองค์เป็นผู้ที่พระ อิสราธิบดี ราชบิดาทรงตัดขาดแล้ว พระองค์ต้องโทษ ถึงประหารชีวิต พระเจ้าข้า.

พระราชโอรส ทรงพระกันแสงอยู่ ทรงประคอง อัญชลี ยกพระหัตถ์ทั้งสิบนิ้วขึ้นอ้อนว่า ตัวเราอยาก จะขอเฝ้าพระราชบิดา ผู้เป็นจอมประชาราษฎร์ ขอ ท่านทั้งหลายจงนำเราผู้ยังมีชีวิตไปเฝ้าพระราชบิดาเถิด.


ความคิดเห็น 12    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 173

ทูตทั้งหลายได้ฟังพระดำรัส ของพระราชกุมาร แล้ว ได้พาพระราชโอรสเข้าเฝ้าพระราชา ฝ่ายพระราชโอรส ครั้นเห็นพระราชบิดา จึงกราบทูลไปแต่ ไกลว่า

ข้าแต่พระราชบิดา ผู้เป็นจอมประการาษฎร์ พวกนายประตู พนักงานตำรวจดาบ และเพชฌฆาต ทั้งหลาย พากันมาเพื่อจะฆ่าข้าพระพุทธเจ้าเสีย ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบทูลถาม ขอได้ทรงพระกรุณา โปรดตรัสบอกเนื้อความนั้น แก่ข้าพระพุทธเจ้า วันนี้ ข้าพระพุทธเจ้ามีความผิดในเรื่องนี้ เป็นประการใด หรือ พระเจ้าข้า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อหึสโก ความว่า ข้าพระองค์ไม่ เบียดเบียนใครๆ เป็นผู้เพรียบพร้อมด้วยศีลและอาจาระ. บทว่า เรณุมนุ- ปวิสฺส ความว่า ขอถวายพระพร พระองค์เรณุมหาราช อาตมาภาพเข้ามา อยู่อาศัย. บทว่า เหยิโตสฺมิ ความว่า อาตมาถูกโอรสของพระองค์ พาพวก บริวารเป็นอันมาก เข้ามากล่าวหมิ่นประมาทว่า เฮ้ยเจ้าดาบสโกง เพราะ เหตุไร เจ้าจึงมาอยู่ในที่นี้ ดังนี้แล้ว งัดแผ่นหินโยนทิ้ง ซ้ำทุบต่อยหม้อน้ำ แล้วมิหนำ ชกต่อยถีบเตะเบียดเบียนอาตมาภาพอีกด้วย. ดาบสนั้นกล่าวคำเท็จ แต่งให้เป็นเหมือนจริง ทูลให้พระราชาหลงเชื่อ ด้วยประการฉะนี้.

บทว่า อายนฺตุ ความว่า พระเจ้าเรณุราช ทรงกริ้วพระราชกุมารว่า นับแต่กาลที่ได้ปฏิบัติผิดในพระผู้เป็นเจ้าของเราแล้ว โสมนัสสกุมารนั้น จัก ละอายแม้ในตัวเราก็หามิได้ เมื่อจะตรัสสั่งบังคับให้สำเร็จโทษพระราชกุมาร


ความคิดเห็น 13    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 174

เสียจึงตรัสอย่างนี้. บทว่า กสาวิยา ความว่า พระเจ้าเรณุราช ตรัสสั่งว่า เหวย! เหล่าชาวเพชฌฆาตทุกหมู่เหล่าผู้มีขวานอยู่ในมือ จงมาโดยวิธีการ ของตนๆ. บทว่า วรํ ความว่า จงตัดศีรษะอันประเสริฐ คือ อวัยวะเบื้องสูง นำมาให้เรา. บทว่า ราชิโน ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทูตทั้งหลายที่ พระราชาทรงส่งไปจากราชสำนัก พากันรีบไปล้อมจับพระราชกุมาร ซึ่งพระราชมารดาทรงประดับตกแต่งแล้ว ให้ประทับเหนือพระเพลาของพระองค์ แล้วพากันกราบทูลความนั้น บทว่า อิสฺสเรน หมายถึง พระราชา. บทว่า วิติณฺโณสิ ความว่า พระองค์เป็นผู้อันพระราชาตัดขาดแล้ว.

บทว่า ส ราชปุตฺโต ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระราชโอรส ทรงสดับถ้อยคำของทูตเหล่านั้นแล้ว สะดุ้งตกพระทัยกลัวต่อมรณภัย ผลุดลุก จากพระเพลาของพระมารดา. บทว่า ปฏิทสฺสเยถ ความว่า ท่านทั้งหลายจงนำ เราเข้าเฝ้า. บทว่า ตสฺส ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทูตเหล่านั้น ฟังพระดำรัส นั้นของพระกุมารแล้ว จึงงดการประหารชีวิตไว้ และเอาเชือกมัดพระกุมาร จูงไปเฝ้าพระราชา เหมือนดังคนจูงโคฉะนั้น ก็เมื่อพวกเพชฌฆาต กำลังนำ พระกุมารไป พระนางสุธรรมาราชเทวี พร้อมด้วยนางนักสนม แวดล้อมด้วย หมู่ทาสี อีกทั้งชาวพระนครทั้งหลาย ต่างพูดกันว่า พวกเราจักไม่ยอมให้ สำเร็จโทษพระกุมารผู้หาความผิดมิได้แล้วได้ตามไป พร้อมกับพระกุมารนั้น.

บทว่า อาคจฺฉุํ ความว่า พวกเพชฌฆาตมายังสำนักของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อจะลงพระราชอาญา. บทว่า หนฺตุํ มมํ ความว่า เพื่อจะฆ่าข้าพระพุทธเจ้า เสีย. บทว่า โกนีธ ความว่า พระกุมารทูลถามว่า พระราชบิดาตรัสสั่งให้ ประหารชีวิตข้าพระพุทธเจ้าด้วยประการใด อะไรหนอเป็นความผิดของข้า พระพุทธเจ้าในเรื่องนี้.


ความคิดเห็น 14    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 175

พระเจ้าเรณุราชตวาดว่า ภวัคคพรหมยังต่ำนัก โทษของเจ้าใหญ่โต มาก เมื่อจะตรัสบอกโทษผิดของพระราชกุมาร จึงตรัสพระคาถาความว่า

ทิพพจักษุดาบสผู้ไม่ประมาท ทำกิจรดน้ำบำเรอ ไฟ ทั้งเวลาเย็นเวลาเช้าทุกเมื่อ เหตุไรเจ้าจึงเรียกทิพพจักษุดาบสผู้สำรวมอินทรีย์ เป็นพรหมจารีเช่นนั้นว่า " พราหมณ์ คฤหบดี "

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุทกํ สชาติ ความว่า ทำการลงสู่น้ำ. บทว่า ตํ ตาทิสํ ความว่า พระเจ้าเรณุราชตรัสว่า เพราะเหตุไร เจ้าจึง ร้องเรียกทิพพจักษุดาบสผู้เป็นเจ้าของเราเห็นปานนั้น ด้วยวาทะว่า " คฤหบดี " เล่า.

ลำดับนั้น พระกุมารกราบทูลว่า ขอเดชะพระอาญาไม่พ้นเกล้า เมื่อ ข้าพระพุทธเจ้าเรียกคฤหบดีแท้ๆ ด้วยวาทะว่า คฤหบดี ดังนี้ จะมีโทษผิด อะไรหรือ ดังนี้แล้วตรัสคาถาความว่า

ขอเดชะ กุลุปกดาบสผู้นี้มีของเก็บไว้หลายอย่าง คือผลสมอพิเภก เผือกมัน และผลไม้ทั้งหลาย กุลุ- ปกดาบสผู้นี้เป็นผู้ไม่ประมาทเก็บรักษาสิ่งของเหล่านั้น ไว้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้า จึงเรียกดาบสนั้นว่า " คฤหบดี ".

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มูลา ได้แก่ พืชทั้งหลายมีพืชที่เกิดจาก รากเป็นต้น. บทว่า ผลา ได้แก่ วัลลิผลาผลนานาชนิด. บทว่า เต รกฺขติ โคปยตปฺปมตฺโต ความว่า กุลุปกดาบสของเสด็จพ่อนี้ ทำการปลูกผัก นั่งเฝ้าอยู่ ไม่ประมาท ทำรั้วล้อมคุ้มครองดูแล ด้วยเหตุนั้นแหละ กุลุปก


ความคิดเห็น 15    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 176

ดาบสนั้น จึงจัดว่าเป็นพราหมณ์คฤหบดีของเสด็จพ่อ. บทว่า อิติ นํ อหมฺปิ คหปติ ความว่า ที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลมา หากเสด็จพ่อไม่ทรงเชื่อ โปรดตรัสสั่งให้ถามชาวร้านขายผัก ที่พระราชทวารทั้ง ๔ ทิศดูเถิด.

พระราชาจึงตรัสสั่งให้ราชบุรุษไปเรียกชาวร้านขายผักมาซักถาม ชาวร้านขายผักทั้งหลายก็พากันกราบทูลว่า ขอเดชะ เป็นความจริงพระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระพุทธเจ้าซื้อผักและผลไม้จากมือของท่านดาบสรูปนี้จริง. พระราช กุมารโสมนัสส์ ตรัสสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่พิสูจน์สิ่งของดู ทำให้เห็นประจักษ์ ราชบุรุษของพระกุมารเข้าไปยังบรรณศาลาของดาบสนั้น แล้วค้นนำเอาห่อ กหาปณมาสกที่ได้จากการขายผัก มาถวายยืนยัน แด่พระราชา. พระราชา ทรงทราบว่า พระมหาสัตว์ไม่มีความผิด จึงตรัสพระคาถา ความว่า

ดูก่อนเจ้าโสมนัสสกุมาร เรื่องนี้เจ้าพูดได้จริง ดาบสผูนี้ มีของเก็บไว้หลายอย่าง ดาบสผู้นี้เป็นผู้ไม่ ประมาท เก็บรักษาสิ่งของเหล่านั้นไว้ เพราะฉะนั้น ดาบสผู้นี้จึงชื่อว่า พราหมณ์ คฤหบดี.

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ ทรงพระดำริว่า การที่เราเข้าป่าหิมพานต์ แล้วบวชเสีย ดีกว่าอยู่ในสำนักของพระราชาผู้โง่เขลาเห็นปานนี้ แล้วแถลง โทษของพระราชาให้แจ้งชัด ในท่ามกลางบริษัทนั่นเอง แล้วกราบทูลลาว่า ข้าพระพุทธเจ้าจักทูลลาออกไปบรรพชาเสียวันนี้ทีเดียว. พระโพธิสัตว์ทำสักการะ แก่บริษัทแล้ว ตรัสพระคาถาความว่า

บริษัททั้งหลาย ทั้งชาวนิคม และชาวชนบท ที่มาประชุมกันถ้วนทุกคน ขอจงฟังข้าพเจ้า พระราชาผู้เป็นจอมประชาราษฎร์นี้ เป็นพาลได้ฟังคำชฎิล โกงแล้วตรัสสั่งให้ฆ่าเราเสียโดยหาเหตุมิได้.


ความคิดเห็น 16    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 177

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พาลายํ พาลสฺส ความว่า พระราชานี้ เป็นพาลด้วยพระองค์เอง ทรงฟังถ้อยคำของชฎิลโกงผู้เป็นพาลโง่เขลาแล้ว ตรัสสั่งให้ฆ่าข้าพเจ้าโดยหาเหตุมิได้.

ก็แลพระโพธิสัตว์เจ้า ตรัสดังนี้แล้ว ถวายบังคมพระราชบิดาให้ทรง อนุญาตให้พระองค์ทรงบรรพชาแล้ว ตรัสพระคาถานอกนี้ความว่า

เมื่อรากยังเจริญงอกงามแผ่ไพศาลอยู่ ไม้ไผ่ที่ แตกเป็นกอใหญ่แล้ว ก็แสนยากที่จะถอนให้หมดสิ้น ไปได้ ข้าแต่พระราชบิดาผู้เป็นจอมประการาษฎร์ เกล้ากระหม่อมฉันขอถวายบังคมพระยุคบาท ขอ พระราชทานพระบรมราชานุญาต กระหม่อมฉันจักขอ ออกบวช พระเจ้าข้า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิสเต ความว่า (ไม้ไผ่) แตกเป็นกอ ลำใหญ่. บทว่า ทุนฺนิกฺขโย ความว่า ยากที่จะถอนให้หมดสิ้น.

ต่อแต่นี้ไป เป็นคาถาประพันธ์ โต้ตอบระหว่างพระราชากับพระราชโอรส.

(พระราชาตรัสว่า) โสมนัสสกุมารเอ๋ย เจ้าจง เสวยสมบัติอันไพบูลย์เถิด อนึ่ง บิดาจะมอบอิสริยยศ ทั้งหมดให้แก่เจ้า เจ้าจงเป็นพระราชาของชาวกุรุรัฐ เสียในวันนี้ทีเดียวเถิด อย่าบวชเลย เพราะการบวช เป็นทุกข์.

(พระโพธิสัตว์ทูลว่า) ขอเดชะ บรรดาโภคสมบัติของพระองค์ ซึ่งมีอยู่ในราชธานีนี้ สิ่งไรเล่าที่


ความคิดเห็น 17    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 178

ข้าพระพุทธเจ้าควรบริโภคมีอยู่หรือ เมื่อชาติก่อน ข้าพระพุทธเจ้าเคยรื่นรมย์ อยู่ในเทวโลกด้วยรูป เสียง กลิ่น รส และผัสสะทั้งหลายที่น่ารื่นรมย์ใจ ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า เคยบริโภคสมบัติมาแล้วในไตรทิพย์ เคยมีหมู่นางอัปสรแวดล้อมมาแล้ว ข้าพระพุทธเจ้า มารู้ว่า พระองค์เป็นพาล อันคนอื่นต้องนำไป แล้ว จะอยู่ในราชสกุลเช่นนั้น ไม่ได้เลย.

(พระราชาตรัสว่า) ดูก่อนพ่อโสมนัสส์ ถ้าหากว่า บิดาเป็นพาล ต้องอาศัยผู้อื่นจูงไปไซร้ เจ้าจงอดโทษ ให้แก่บิดาสักครั้งหนึ่งเถิด ถ้าแม้ว่าโทษเช่นนี้จะพึงมี อีกไซร้ เจ้าจงกระทำตามมติของตนเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุกฺขา ความว่า พระราชาตรัสวิงวอน พระโอรสว่า ลูกรัก ขึ้นชื่อว่าการบรรพชาเป็นทุกข์ เพราะต้องมีชีวิตเนื่องด้วย ผู้อื่น เจ้าอย่าบวชเลย จงเป็นพระราชาเถิด.

บทว่า กินฺนูธ เทว ความว่า ขอเดชะ พระองค์ผู้ทรงพระคุณ อันประเสริฐ โภคสมบัติของพระราชบิดาเหล่าใด มีอยู่ในราชธานีนี้ ในโภค สมบัติเหล่านั้น สิ่งใดเล่า สมควรที่ข้าพระพุทธเจ้าจะพึงบริโภคใช้สอยได้ มีอยู่แลหรือ.

บทว่า ปริวารโต ความว่า ข้าพระพุทธเจ้าอันนางเทพอัปสรเคย บำรุงบำเรอมาแล้ว. อีกนัยหนึ่ง ปาฐะก็อย่างนี้เหมือนกัน.

ได้ยินว่า พระญาณระลึกชาติได้เกิดขึ้นแก่พระโพธิสัตว์ เพราะเหตุนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าจึงตรัสอย่างนี้.


ความคิดเห็น 18    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 179

บทว่า ปรเนยฺยํ ความว่า (พระองค์เป็นพาล) ต้องอาศัยคนอื่น นำไปด้วยไม้เท้า ดังคนตาบอด.

บทว่า ตาทิเส ความว่า พระโพธิสัตว์ตรัสอย่างนี้ เพื่อจะให้พระราชบิดาทรงทราบว่า บัณฑิตไม่พึงอยู่ในสำนักของพระราชาเช่นนั้น ข้าพระพุทธเจ้ารอดชีวิตมาได้วันนี้ ก็ด้วยกำลังญาณของตน ข้าพระพุทธเจ้าจักอยู่ใน สำนักของพระราชบิดา หาได้ไม่.

บทว่า ยถามตึ ความว่า พระเจ้าเรณุราชทรงขอให้พระราชโอรส งดโทษให้ว่า ถ้าหากว่าโทษผิดเห็นปานนี้ของบิดาจะพึงมีอีกไซร้ เมื่อนั้นเจ้า จงทำตามอัธยาศัยเถิด.

พระมหาสัตว์ เมื่อจะถวายโอวาทพระราชบิดา จึงตรัสคาถา ๘ คาถา ความว่า

กรรมที่บุคคลใดไม่พิจารณา ให้ถี่ถ้วนเสียก่อน แล้วทำลงไป ผลชั่วร้ายย่อมมีแก่บุคคลนั้น เหมือน ความวิบัติแห่งยาแก้โรคฉะนั้น.

ส่วนกรรมที่บุคคลใดพิจารณาถี่ถ้วนก่อนแล้วทำ ลงไป ผลอันเจริญย่อมมีแก่บุคคลนั้น เหมือนความ ถึงพร้อมแห่งยาแก้โรคฉะนั้น.

คฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม เป็นคนเกียจคร้านไม่ดี บรรพชิตไม่สำรวม ไม่งาม พระราชาไม่ทรงใคร่ครวญ เสียก่อนแล้วทำลงไป ไม่ดี บัณฑิตมีความโกรธเป็น เจ้าเรือน ก็ไม่ดี.


ความคิดเห็น 19    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 180

ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นอธิบดีแห่งทิศ กษัตริย์ทรง ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงค่อยทำ ยังไม่ได้พิจารณา ใคร่ครวญก่อน แล้วไม่ควรทำกิจการอะไร พระเกียรติยศของพระราชาผู้ทรงใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึง ทำลงไป ย่อมเจริญยิ่งๆ ขึ้น.

ข้าแต่พระจอมภูมิบาล อิสรชนควรพิจารณา เสียก่อนแล้วจึงลงอาชญา กรรมที่ทำด้วยความรีบร้อน ย่อมเดือดร้อน อนึ่ง ความตั้งตนไว้โดยชอบ และ ประโยชน์ของนรชนย่อมไม่ตามเดือดร้อนในภายหลัง.

อนึ่ง ชนเหล่าใดจำแนกแจกแจง ด้วยปัญญา แล้วกระทำกรรมทั้งหลาย ที่ไม่ตามเดือดร้อนในภาย หลังในโลก กรรมของชนเหล่านั้นท่านผู้รู้สรรเสริญ มีความสุขเป็นกำไร พุทธาทิบัณฑิต อนุมัติแล้ว.

ขอเดชะ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน นายประตู ตำรวจดาบ และพวกเพชฌฆาต พากันไป จะฆ่าข้าพระพุทธเจ้า พวกนั้นพากันฉุดคร่า ข้าพระพุทธเจ้า ผู้กำลังนั่งอยู่บนพระเพลาแห่งพระราชมารดา มาโดยพลัน.

ข้าแต่พระราชบิดา แท้จริง ข้าพระพุทธเจ้าถึง ความหวั่นกลัวต่อมรณภัย คับแคบ ฝืดเคืองเหลือเกิน วันนี้ข้าพระพุทธเจ้าได้มีชีวิตอันเป็นที่รัก หวานซาบซึ้งใจ รอดพ้นจากการถูกประหารมาได้แสนยาก จึง น้อมใจต่อบรรพชาอย่างเดียว.


ความคิดเห็น 20    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 181

บรรดาบทเหล่านั้นว่า อนิสมฺม ความว่า ไม่ตรวจตราพิจารณา คือใคร่ครวญ (ก่อนทำ). บทว่า อนวตฺถาย จินฺติตํ ความว่า ไม่กำหนด คือไม่พิจารณาดำริตริตรองให้รอบคอบ. บทว่า วิปาโก โหติ ปาปโก ความว่า จริงอยู่พิษสงคือความวิบัติแห่งยาแก้โรคเป็นฉันใด ผลลามกชั่วร้าย ย่อมมีแก่บุคคลนั้นฉันนั้น.

บทว่า อสญฺโต ความว่า บรรพชิตผู้ไม่สำรวมด้วยกายทวาร เป็นต้น เป็นผู้ทุศีล. บทว่า ตํ น สาธุ ความว่า ความโกรธของบัณฑิต นั้นเองไม่ดี. บทว่า นานิสมฺม ความว่า ยังไม่ได้พิจารณาใคร่ครวญก่อนแล้ว ไม่ควรกระทำกิจการอะไร. บทว่า ปณเยยฺย ความว่า พึงเริ่มตั้งคือพึงยัง อาชญาให้เป็นไป. บทว่า เวคา ความว่า โดยเร็ว คือ โดยฉับพลันทันที.

บทว่า สมฺมาปณิธี จ ความว่า ความตั้งตนไว้โดยชอบและประโยชน์ ของนรชน ที่ทำด้วยจิตอันตั้งไว้โดยแยบคาย ย่อมเป็นของไม่ตามเดือดร้อน ในภายหลัง. บทว่า วิภชฺช ความว่า ชนเหล่าใด จัดแจงด้วยปัญญาอย่างนี้ว่า กิจการเหล่านี้ควรทำ เหล่านี้ไม่ควรทำ. บทว่า กมฺมายตนานิ ได้แก่ การงานทั้งหลาย. บทว่า พุทฺธานุมตานิ ความว่า การงานอันบัณฑิต อนุมัติแล้ว ย่อมเป็นของหาโทษมิได้. บทว่า กฏุกํ ความว่า ขอเดชะ ข้าแต่พระราชบิดา ข้าพระพุทธเจ้า ถึงความหวั่นกลัวต่อมรณภัย อันเผ็ดร้อน คับแคบ ฝืดเคืองเหลือเกิน. บทว่า ลทฺธา ความว่า ได้ชีวิตคืนมาด้วย กำลังแห่งญาณของตน. บทว่า ปพฺพชฺชเมวาภิมโนหมสฺมิ ความว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้มีจิตน้อมเฉพาะต่อบรรพชาอย่างเดียว.

เมื่อพระมหาสัตว์เจ้าแสดงธรรมอย่างนี้แล้ว พระเจ้าเรณุราชตรัสเรียก พระราชเทวี มาเฝ้าแล้วตรัสพระคาถาความว่า


ความคิดเห็น 21    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 182

ดูก่อนสุธรรมาเทวี โสมนัสสกุมารโอรสของเธอ นี้ ยังรุ่นหนุ่ม น่าเอ็นดู วันนี้เราอ้อนวอนเขาไว้ ก็ ไม่ได้สมปรารถนา แม้เธอก็ควรจะอ้อนวอนโอรสของ เธอ ดูบ้าง.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยาจิตเว ความว่า เพื่อช่วยอ้อนวอน. พระนางสุธรรมาเทวี กลับส่งเสริมพระโอรส เพื่อบรรพชาอย่างเดียว ตรัสคาถาความว่า

ดูก่อนพระลูกรัก เจ้าจงยินดีด้วยภิกขาจาริยวัตร เถิด จงใคร่ครวญในธรรมทั้งหลาย แล้วละเว้นบรรพชา ของคนมิจฉาทิฏฐิเสียเถิด เจ้าจงวางอาชญาในสรรพสัตว์ นักบวชละวางอาชญาในสรรพสัตว์ทั้งหลายแล้ว เป็นผู้ไม่ถูกติเตียนแล้ว ย่อมเข้าถึงพรหมสถาน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิสมฺม ความว่า เมื่อเจ้าจะบวชแน่ จงใคร่ครวญดูแล้วละการบรรพชาของมิจฉาทิฏฐิกชนเสีย จงบรรพชาลัทธิ อันเป็นธรรมนำสัตว์ออกจากทุกข์ ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิเถิด.

ลำดับนั้น พระเจ้าเรณุราชตรัสพระคาถา ความว่า

ดูก่อนสุธรรมาเทวี เธอพูดคำเช่นใด คำเช่นนั้น น่าอัศจรรย์จริงหนอ เราได้รับทุกข์อยู่แล้ว เธอยังกลับ เพิ่มทุกข์ให้อีก ฉันขอร้องเธอให้ช่วยอ้อนวอนลูก เธอ กลับสนับสนุนให้โสมนัสสกุมารเกิดอุตสาหะยิ่งขึ้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยาทิสญฺจ ความว่า เธอพูดคำนี้เช่นใด คำนั้นน่าประหลาดอัศจรรย์จริงหนอ. บทว่า ทุกฺขิตํ ความว่า เธอเพิ่มทุกข์ ให้ฉันซึ่งมีทุกข์อยู่แล้วโดยปกติ ให้ทุกข์หนักขึ้น.


ความคิดเห็น 22    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 183

พระนางเทวี ตรัสคาถาอีกความว่า

พระอริยเจ้าเหล่าใด พ้นวิเศษแล้วบริโภคปัจจัย อันหาโทษมิได้ ดับรอบแล้วเที่ยวไปในโลกนี้ หม่อมฉัน ไม่อาจจะห้ามโอรสผู้ดำเนินไปตามมรรคาของพระอริยเจ้าเหล่านั้นได้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิปฺปมุตฺตา ความว่า หลุดพ้นแล้ว จากกิเลสทั้งหลาย มีราคะเป็นต้น. บทว่า ปรินิพฺพุตา ความว่า ผู้ดับแล้ว ด้วยกิเลสปรินิพพานธาตุ. บทว่า ตมริยมคฺคํ ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรง พระคุณอันประเสริฐ หม่อมฉันไม่อาจจะห้ามพระโอรสของหม่อมฉัน ผู้เจริญรอยมรรคาอันเป็นของแห่งพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น เหล่านั้นได้.

พระราชาทรงสดับพระเสาวนีย์ ของพระนางเทวีแล้วตรัสคาถาสุดท้าย ความว่า

ชนเหล่าใดมีปัญญา เป็นพหูสูต ตรึกตรองเหตุ- การณ์ถี่ถ้วนมาก พระนางสุธรรมาเทวีนี้ เป็นผู้มี ความขวนขวายน้อย ปราศจากความโศกเศร้า ได้สดับ คำสุภาษิตของชนเหล่าใด ชนเหล่านั้นควรจะสมาคม คบหาทีเดียว.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พหุานจินฺติโน ความว่า เป็นผู้คิด เหตุการณ์ต่างๆ เป็นอันมาก. บทว่า เยสายํ ตัดบทเป็น เยสํ อยํ. แท้จริง พระนางสุธรรมาราชเทวีนั้น ได้ทรงสดับคำสุภาษิตของโสมนัสสกุมารนั่นเอง จึงเกิดเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย แม้พระราชาก็ตรัสหมายถึงพระราชโอรส นั้นเหมือนกัน.


ความคิดเห็น 23    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้า 184

พระมหาสัตว์เจ้า ถวายบังคมพระราชมารดาบิดาแล้วกราบทูลว่า ถ้าหากว่าโทษผิดของข้าพระพุทธเจ้ามีอยู่ไซร้ ขอพระชนกชนนี ได้โปรดทรง พระกรุณาอดโทษด้วยเถิด แล้วประคองอัญชลีต่อมหาชน บ่ายพระพักตร์ต่อ หิมวันตประเทศเสด็จดำเนินไป เมื่อมหาชนส่งเสด็จกลับแล้ว เทพยดาทั้งหลาย พากันมาด้วยเพศมนุษย์ พาข้ามขุนเขา ๗ ลูก นำไปสู่ป่าหิมพานต์ทรงบรรพชา เพศเป็นดาบส อยู่ในบรรณศาลา อันวิสสุกรรมเทพบุตรนิรมิตไว้ให้. เทพยดาทั้งหลายต่างอภิบาลบำรุงพระมหาสัตว์เจ้า ด้วยเพศมนุษย์ผู้อภิบาลบำรุงใน ราชสกุล จนกระทั่งจวบกาลพระมหาสัตว์เจ้ามีพระชนมายุได้ ๑๖ ปี. ฝ่าย มหาชนพากันโบยตีชฎิลโกงจนถึงสิ้นชีวิต. พระมหาสัตว์เจ้า ยังฌานและ อภิญญาให้เกิดแล้ว ได้เป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

พระบรมศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย แม้ในชาติก่อน พระเทวทัตนี้ ก็พยายามฆ่าเราตถาคตอย่างนี้ เหมือนกัน ดังนี้แล้ว ทรงประชุมชาดกว่า ชฎิลโกหกในครั้งนั้นได้มาเป็น พระเทวทัต พระมารดา ได้มาเป็นพระนางสิริมหามายา พระมหารักขิตดาบส ได้มาเป็นพระสารีบุตร ส่วนโสมนัสสกุมาร ได้มาเป็น เราผู้ตถาคต ฉะนี้แล.

จบอรรถกถาโสมนัสสชาดก