กรรมที่ประกอบด้วยปัญญา
โดย DjPut  16 มิ.ย. 2559
หัวข้อหมายเลข 27891

กรรมที่ประกอบด้วยปัญญา ได้แก่อะไรบ้าง อยากให้ยกตัวอย่าง หลายๆ แบบ และในกรณีของ ทาน อย่างไหนจะเป็น ทาน ที่เป็นปัญญา ทานอย่างไหนไม่เป็นปัญญา

อนุโมทนาครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 16 มิ.ย. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความดีที่เป็นกุศล นั้น ยังแบ่งเป็นประเภทใหญ่อีกประเภทคือ กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาและกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา กุศลเมื่อแบ่งเป็นระดับของกุศลก็มี กุศลขั้นทาน ศีลและภาวนา สำหรับกุศลขั้นภาวนานั้น ที่เป็นสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วยเสมอครับ เช่น สมถภาวนาก็ต้องมีปัญญาที่จะรู้ว่าจะอบรมความสงบที่เป็นกุศลจิตอย่างไรให้เกิดได้บ่อยๆ จนตั้งมั่น ส่วนกุศลที่เป็นวิปัสสนา ภาวนาก็ต้องมีปัญญาเช่นกัน คือ มีปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เราครับ
ส่วนกุศลที่เป็นขั้นทานและศีลนั้น ก็มีทั้งกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา และกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ครับ

ดังนั้น กุศลที่ประกอบด้วยปัญญา จะต้องเป็นกุศล ที่มีความเห็นถูก เป็นสำคัญ เช่น เชื่อกรรม และ ผลของกรรม ขณะที่เข้าใจพระธรรม มีปัญญาเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา
กุศลขั้นทาน มีทั้งที่ประกอบด้วยปัญญาและไม่ประกอบด้วยปัญญา ปกติทุกคนก็มีการให้ทาน ซึ่งบางครั้งก็มีปัญญาเกิดร่วมด้วย และไม่เกิดร่วมด้วย ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่ให้ทานกับขอทาน ก็สงสารจึงให้ ขณะนั้นไม่ได้มีความเห็นถูก คือ ปัญญาอะไรในขณะนั้น เพียงแต่มีจิตอนุเคราะห์เท่านั้นจึงให้ไป ขณะนั้นเป็นกุศลขั้นทานที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา
ส่วนปัญญา คือ ความเห็นถูกตามความเป็นจริง ซึ่งปัญญาก็มีหลายระดับ ปัญญาที่เชื่อกรรมและผลของกรรมว่ามีจริง นี่ก็เป็นปัญญาอย่างหนึ่ง ปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่เป็นปัญญาระดับวิปัสสนาก็อย่างหนึ่ง ครับ

ซึ่งในข้อความพระไตรปิฎกได้อธิบายทานที่ประกอบด้วยปัญญาว่า ปัญญาใด อันสัมปยุตด้วยเจตนาในทาน ย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้ ปัญญานี้ ชื่อว่า ทานมยปัญญา

ความหมาย คือ ปัญญาที่เกิดกับเจตนาที่ให้ทาน ปัญญาที่เกิดร่วมกับเจตนาให้ทานนั้นเป็น กุศลขั้นทานที่ประกอบด้วยปัญญาเรียกว่า ทานมยปัญญา ซึ่งเราก็ต้องเข้าใจละเอียดอีกต่อไปว่า เจตนาในการให้ มี 3 กาล คือ เจตนาก่อนที่จะให้ (ปุพพเจตนา) เจตนาขณะที่กำลังให้ (มุญจนเจตนา) เจตนาหลังจากให้แล้ว (อปรเจตนา) ดังนั้น ปัญญาใดที่เกิดร่วมกับเจตนา 1 ใน 3 กาล คือก่อนให้ ขณะให้ หลังให้ ก็ชื่อว่าเป็นกุศลขั้นทานที่ประกอบด้วยปัญญา

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ..ทานมยปัญญา [วิภังค์]

อีกตัวอย่าง ก่อนจะให้ พิจารณาว่าควรที่จะให้เพื่อสละกิเลสคือความตระหนี่ การคิดด้วยปัญญาที่เห็นโทษของกิเลสก่อนที่จะให้ ก็เป็นกุศลขั้นทานที่ประกอบด้วยปัญญา และขณะที่ให้ ก็มีปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกุศลจิตที่เกิดขึ้นในขณะนั้นว่า เป็นธรรมไม่ใช่เรา ในขณะนั้นเป็นกุศลขั้นทานที่ประกอบด้วยปัญญ าครับ เป็นต้น
นี่คือกุศลขั้นทานที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ซึ่งสามารถเกิดได้ในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ปัญญาก็จะเจริญขึ้น กุศลประการต่างๆ ก็เจริญขึ้นด้วยเพราะปัญญาที่เจริญขึ้น รวมทั้งกุศลที่ทำก็ประกอบด้วยความเห็นถูกด้วยครับ ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย kullawat  วันที่ 16 มิ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย panasda  วันที่ 16 มิ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย khampan.a  วันที่ 16 มิ.ย. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กุศลจิต ที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น มีทั้งที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา และ ประกอบด้วยปัญญา และควรที่จะได้พิจารณาว่า ปัญญา เป็นความเข้าใจถูก เห็นถูกตามความเป็นจริง เป็นธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ถ้าไม่เคยสะสมปัญญามาเลย ก็ไม่มีทางที่ปัญญาจะเกิดขึ้นได้
แต่เพราะได้ฟังพระธรรม ได้เข้าใจความจริง เข้าใจในเหตุในผลของธรรม ปัญญาจึงสามารถเกิดขึ้นได้ แม้แต่ในขณะให้ทาน ก็เช่นเดียวกัน ปัญญาก็สามารถเกิดขึ้นได้ในขณะนั้น มีความเข้าใจอย่างถูกต้องว่าการให้ทานมีผล การให้ทานเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ซึ่งเป็นกุศลจิตที่ประเสริฐยิ่ง เพราะประกอบด้วยปัญญา
แต่ถ้าจะพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว กุศลจิตในชีวิตประจำวัน เกิดน้อยมาก และยิ่งก็กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาแล้ว ก็ยิ่งน้อยกว่านั้นอีก แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นกุศลที่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา ก็ยังดีกว่าขณะที่จิตเป็นอกุศล อย่างเทียบกันไม่ได้เลยทีเดียว
กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ที่ทุกคนสามารถที่จะอบรมเจริญให้เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ที่เห็นได้ชัด ก็คือ ฟังพระธรรม ขณะที่ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ นี้แหละ คือ กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งเป็นความเข้าใจถูก เห็นถูก และยังจะเป็นปัจจัยให้กุศลธรรมประการอื่นๆ เจริญขึ้นด้วย
ในเรื่องของทาน การสละวัตถุสิ่งของ สละกิเลส สละความตระหนี่ของตนเอง ในเรื่องของศีล การวิรัติงดเว้นจากทุจริตประการต่างๆ ประพฤติในสิ่งทีดีงามในชีวิตประจำวัน และเป็นเหตุปัจจัยให้ได้ฟัง ได้ศึกษาได้สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกต่อไป เพราะเห็นประโยชน์ของความเข้าใจธรรม เข้าใจสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน
ซึ่งทางเดียวที่จะทำให้เข้าใจขึ้น ก็คือ ฟังต่อไป เมื่อสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ บ่อยๆ เนืองๆ ก็เป็นเหตุให้สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ได้ ซึ่งสติปัฏฐาน ก็เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา อีกด้วย สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ฟังพระธรรมให้เข้าใจ ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 5    โดย ํํญาณินทร์  วันที่ 16 มิ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย ประสาน  วันที่ 17 มิ.ย. 2559

สาธุๆ ๆ อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ


ความคิดเห็น 7    โดย peem  วันที่ 17 มิ.ย. 2559

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 10    โดย DjPut  วันที่ 21 มิ.ย. 2559

ขอบอนุโมทนาครับ