สุขหนอ...สุขหนอ
โดย พุทธรักษา  3 ม.ค. 2552
หัวข้อหมายเลข 10835

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สนทนาธรรมกับท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ถอดเทปโดย คุณสงวน สุจริตกุล

สำหรับเรื่องของ "ท่านพระภัททิยะ" ก็ยังมีข้อความต่อไปซึ่งคิดว่า จะเป็นประโยชน์ ต่อท่านผู้ฟังด้วย ข้อความต่อไป มีว่าครั้งนั้น ท่านพระภัททิยะ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดีได้เปล่งอุทานเนืองๆ ว่า "สุขหนอ สุขหนอ"
ครั้งนั้น ภิกษุเป็นจำนวนมากรูป ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถวายบังคม ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ท่านพระภัททิยะ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี ได้เปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ พระพุทธเจ้าข้า

ท่านพระภัททิยะ ฝืนใจประพฤติพรหมจรรย์โดยไม่ต้องสงสัยหรือมิฉะนั้น ก็ระลึกถึงสุขในราชสมบัติครั้งก่อนนั้นเอง เมื่อไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดีจึงเปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค รับสั่งกับพระภิกษุรูปหนึ่งว่า ดูกร ภิกษุ เธอจงมา จงเรียกภัททิยะภิกษุมา ตามคำของเรา ว่าท่านภัททิยะ พระศาสดา รับสั่งให้หาท่าน ภิกษุนั้น รับสนองพระพุทธพจน์แล้ว เข้าไปหาท่านพระภัททิยะ แล้วได้กล่าวว่า ท่านภัททิยะ พระศาสดา รับสั่งหาท่าน
นี่เป็นเรื่องเข้าใจผิด ของผู้ฟัง คือ เมื่อได้ยินอะไรแล้วก็แปลความหมาย ตามความคิด ความเข้าใจของตนเอง เช่นเวลาได้ยินใครกล่าวว่า "สุขหนอ สุขหนอ" ผู้ที่ไม่เคยได้รับ รสของความสุขจากการหมดกิเลส ก็คิดไปเอง ว่า ต้องเป็นเรื่องสุข เหมือนอย่างชาวโลกคือ สุข เพราะ รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ที่พอใจ

ฉะนั้น ผู้ที่ไม่ได้มีปกติอบรมเจริญปัญญา ย่อมไม่เข้าใจ สภาพจิตของผู้ที่มีปกติอบรมเจริญปัญญาได้ และคงเข้าใจผิดด้วย เพราะเพียงคำว่า สุขหนอ ก็เข้าใจผิดไปเอง ว่าคงจะหมายถึงสุขเวทนา ในรูป สัมผัส อย่างที่ตนเองเป็น
.
พระผู้มีพระภาค ทรงตรัสว่า ดูกร ภัททิยะ คำกล่าวว่า เธอไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี ได้เปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ จริงหรือ

ท่านพระภัททิยะ กราบทูลว่า จริงอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ดูกร ภัททิยะ ก็เธอพิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์อะไรไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี จึงได้เปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ

ท่านพระภัททิยะ กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า เมื่อก่อนข้าพระพุทธเจ้า เป็นพระเจ้าแผ่นดิน แม้ภายในพระราชวัง ก็ได้จัดการรักษาไว้อย่างเรียบร้อย แม้ภายนอกพระราชวัง ก็ได้จัดการไว้อย่างเข้มแข็ง แม้ภายในพระนครก็ได้จัดการรักษาไว้อย่างเรียบร้อย แม้ภายนอกพระนคร ก็ได้จักการรักษาไว้อย่างแข็งแรง ฯลฯ

ข้าพระพุทธเจ้านั้น แม้เป็นผู้อันเขารักษา คุ้มครองแล้ว อย่างนี้ ยังกลัว ยังหวั่น ยังหวาด สะดุ้งกลัว แต่บัดนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดีลำพังผู้เดียว ก็ไม่กลัว ไม่หวั่น ไม่หวาด ไม่สะดุ้ง ขวนขวายน้อย มีขนอันราบเรียบ เป็นอยู่ด้วยปัจจัย ๔ ที่ผู้อื่นให้ มีใจดุจมฤค เป็นอยู่

ข้าพระพุทธเจ้าพิจารณา เห็นอำนาจประโยชน์ นี้แลไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี จึงเปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงทราบเรื่องนั้นแล้วทรงเปล่งอุทาน ในเวลานั้น ดังนี้ "บุคคลใด ไม่มีความโกรธภายใจจิต และก้าวล่วงภพน้อย ภพใหญ่ มีประการเป็นอันมากเสียได้เทวดาไม่อาจเล็งเห็นวาระจิตของบุคคลนั้นผู้ปลอดภัย มีสุข ไม่มีโศก


ท่านผู้ฟังยังกลัว หรือว่า สุขแล้ว ไม่ต้องกลัวอีกต่อไปแล้ว ยังกลัวอยู่มากมายเหลือเกิน ใช่ไหม กลัวสารพัดอย่าง ทุกข์ยาก เจ็บไข้ อันตรายจากภัยพิบัติต่างๆ กลัวบาดเจ็บ กลัวอันตรายซึ่งเกิดจากบุคคลภายนอก หรือจากเหตุการณ์ต่างๆ นี่ไม่ใช่ "สุข" เพราะว่า ยังมีกิเลสอยู่ ถ้ายังมีกิเลสอยู่ แล้วจะไม่ให้กลัว ได้ไหม
เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทั้งหลาย ต้องมีเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้น ตามความเป็นจริงสำหรับผู้ที่ดับกิเลส ถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ละโทสมูลจิต เป็นสมุจเฉทไม่มีความกลัว ไม่มีความโกรธ จึงเป็นสุขผู้ที่ดับกิเลส ถึงความเป็นพระอนาคามี และ พระอรหันต์ท่านย่อม "เป็นสุขหนอ" ได้จริงๆ ซึ่งต่างกับผู้ที่ยังมีกิเลสที่แม้จะมีผู้ปกป้อง คุ้มครอง พิทักษ์รักษา ฯลฯ ก็ยังหวาดหวั่น กลัวภัยอันตรายต่างๆ ได้เพราะว่ายังมีกิเลสอยู่
ขออนุโมทนา



ความคิดเห็น 1    โดย suwit02  วันที่ 4 ม.ค. 2552

สาธุ


ความคิดเห็น 2    โดย choonj  วันที่ 4 ม.ค. 2552

สุขหนอ สุขหนอ ไม่คิดว่า ไม่ไช่ความสุขของกายและใจ แต่เป็นความสุขของการที่ไม่มีกิเลส แล้วความสุขที่ไม่มีกิเลสเป็นยังไงหนอ ครับ


ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 4 ม.ค. 2552

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ชีวิตของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) กับบุคคลผู้ไม่มีกิเลสแล้ว ย่อมมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะเหตุว่าผู้ที่ยังมีกิเลส กิเลสย่อมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่อยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ขุ่นเคืองใจ ไม่สบายใจ กลัว ความติดข้องต้องการ ยินดีพอใจ ความริษยา เป็นต้น ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ไม่สะอาด เป็นทุกข์อยู่เนืองๆ และเพราะยังมีกิเลส จึงทำให้ยังมีการเวียนว่ายตายเกิดจากภพหนึ่งไปสู่อีกภพหนึ่ง ไม่สามารถออกไปจากสังสารวัฏฏ์ได้ ยังมีทุกข์อยู่ร่ำไป

แต่สำหรับบุคคลผู้ที่ไม่มีกิเลสแล้ว ไม่มีอะไรที่จะทำให้จิตใจเศร้าหมองอีกต่อไป ไม่มีทุกข์ใจ ไม่มีความเดือดร้อนใจใดๆ ทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าจะมีขันธ์เกิดขึ้นเป็นไป ก็ไม่เป็นไปกับด้วยกิเลส ไม่มีกิเลสเกิดขื้นอีก และเมื่อท่านดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ไม่มีการเกิดอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ เป็นการดับทุกข์ ดับวัฏฏะได้อย่างเด็ดขาด ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 4    โดย pornpaon  วันที่ 4 ม.ค. 2552

ฉะนั้น ผู้ที่ไม่ได้มีปกติ อบรมเจริญปัญญา ย่อมไม่เข้าใจ สภาพจิต ของผู้ที่มีปกติ อบรมเจริญปัญญาได้และคงเข้าใจผิดด้วย เพราะเพียงคำว่า สุขหนอ ก็เข้าใจผิดไปเอง ว่าคงจะหมายถึงสุขเวทนา ในรูปสัมผัส อย่างที่ตนเองเป็น

อ่านแล้วนึกถึงการฟังของตนเองจังค่ะ

ฟังแล้วมักคิดเอาเองบ่อยๆ เพราะไม่ได้รู้อัธยาศัยของบุคคลอื่น จึงมักเอาตนเป็นประมาณ และเพราะไม่เข้าใจความละเอียดของจิต ไม่เข้าใจสภาพธรรม จึงเกิดการคิดเอง เข้าใจเอาเอง และเข้าใจผิดเอง ง่ายมาก คงต้องหัดเป็นผู้ฟังสิ่งที่ได้ยินให้ละเอียดรอบคอบกว่านี้ เพราะผลของความเข้าใจผิด มักร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ความเห็นผิด

ขออนุโมทนาคุณพุทธรักษา

ขออนุโมทนาในกุศลจิตและกุศลวิริยะของทุกท่านค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย เกมส์  วันที่ 4 ม.ค. 2552
ขออนุโมทนาครับ

ความคิดเห็น 6    โดย pamali  วันที่ 23 มิ.ย. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย chatchai.k  วันที่ 15 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ