อรูปวจรจิตและอรูปวิบากจิต
โดย pdharma  19 ก.พ. 2558
หัวข้อหมายเลข 26194

อรูปวจรจิตและอรูปวิบากจิต สองคำนี้ต่างกันอย่างไร

ขอบคุณครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 19 ก.พ. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อรูปาวจรจิต คือ ปัญจมฌานจิตที่ไม่มีรูปกรรมฐานเป็นอารมณ์ เพราะเห็นว่าเมื่อยังมีรูปกรรมฐานเป็นอารมณ์อยู่ ก็ยังใกล้ชิดต่อการที่จะมีกามเป็นอารมณ์ เมื่อบรรลุรูปปัญจมฌานแล้ว ก็เพิกรูปกสิณที่เป็นอารมณ์ โดยน้อมระลึกถึงสภาพที่ไม่มีรูปนิมิต และมีอารมณ์ไม่มีที่สุด

อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง คือ ...

-อรูปาวจรกุศลจิต ๔ ดวง

-อรูปาวจรวิบากจิต ๔ ดวง

-อรูปาวจรกิริยาจิต ๔ ดวง

ส่วน อรูปาวจรวิบากจิต คือ วิบากจิตที่ท่องเที่ยวไปในอรูปภูมิเท่านั้น หมายถึง อรูปฌานวิบากจิตซึ่งเป็นผลของอรูปฌานกุศล สำหรับบุคคลที่ได้อรูปฌานกุศลจิตแล้วไม่เสื่อมก่อนสิ้นชีวิต ในขณะจะมรณะ อรูปฌานกุศลจิตจะเกิดก่อนจุติจิตในมรณาสันวิถี คือวิถีจิตสุดท้ายใกล้ตาย มีผลทำให้อรูปฌานวิบากจิตทำกิจปฏิสนธิในอรูปพรหมภูมิ และทำภวังคกิจสืบต่อความเป็นอรูปพรหมบุคคลจนกว่าจะสิ้นกรรม และทำจุติกิจเคลื่อนจากความเป็นอรูปพรหมบุคคลเมื่อสิ้นกรรมแล้ว อรูปาวจรวิบากจิตมี ๔ ดวง คือ

๑. อากาสานัญจายตนวิบากจิต เป็นอรูปฌานวิบากจิตดวงที่ ๑

๒. วิญญาณัญจายตนวิบากจิต เป็นอรูปฌานวิบากจิตดวงที่ ๒

๓. อากิญจัญญายตนวิบากจิต เป็นอรูปฌานวิบากจิตดวงที่ ๓

๔. เนวสัญญานาสัญญายตนวิบากจิต เป็นอรูปฌานวิบากจิตดวงที่ ๔

จะเห็นได้ว่า ความแตกต่างของสองคำนี้ คือ อรูปาวจรจิต และ อรูปาวจรวิบากจิต ต่างกันที่ อรูปาวจรจิต กินความกว้างขวางกว่า อรูปาวจรวิบากจิต ซึ่ง อรูปวจรวิบากจิต เป็นส่วนหนึ่งของ อรูปวจรจิต 12 ดวง ครับ ซึ่ง อรูปาวจรจิต จะประกอบด้วย อรูปาวจรกุศลจิต ๔ ดวง และ อรูปาวจรกิริยาจิต ๔ ดวง ด้วย รวมทั้งครอบคลุม อรูปาวจรวิบากจิต ด้วย ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 19 ก.พ. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่า อรูปาวจรจิต เป็นการกล่าวถึงความเป็นไปของระดับขั้นของจิตที่เป็นขั้นอรูปาวจร ซึ่งมี ๓ ชาติ คือ เป็นชาติกุศล (อรูปาวจรกุศล) เป็นชาติกิริยา (อรูปาวจรกิริยา) และเป็นชาติวิบาก (อรูปาวจรวิบาก) จะไม่มีอรูปาวจรจิตที่เป็นอกุศลเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก แต่เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ

สิ่งที่ควรรู้ควรศึกษาให้เข้าใจในชีวิตประจำวัน ก็คือ จิต ที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน ที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง เป็นกุศล บ้าง อกุศล บ้าง เป็นต้น ที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเป็นธรรม ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ ในความเป็นจริงของธรรม แม้จิตแต่ละขณะ ก็เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย ธนฤทธิ์  วันที่ 19 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย ประสาน  วันที่ 20 ก.พ. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย pdharma  วันที่ 20 ก.พ. 2558

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 6    โดย ธุลีพุทธบาท  วันที่ 20 ก.พ. 2558

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาอาจารย์ทั้งสองท่านเป็นอย่างสูง ครับ.


ความคิดเห็น 7    โดย Jarunee.A  วันที่ 7 มี.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ