[เล่มที่ 66] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 20
ข้อความบางตอนจาก
ว่าด้วยผู้หลีกเร้น
[๓๙๖] คำว่า เป็นผู้หลีกเร้น ในคำว่า บุคคลเป็นผู้หลีกเร้นไม่หลอกลวง
ความว่า
เพราะละเสียแล้วซึ่งราคะ โทสะ โมหะ
ความโกรธ ความผูกโกรธ ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทั้งปวง
จึงชื่อว่า ผู้หลีกเร้น
สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ก็ภิกษุเป็นผู้หลีกเร้นอย่างไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้ละความถือตัวว่า เป็นเราแล้ว มีรากอันตัดขาดแล้ว
ทำไม่ให้มีที่ตั้งดังตาลยอดด้วน
ให้ถึงความไม่มีในภายหลัง มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้หลีกเร้นอย่างนี้แล เพราะฉะนั้น
จึงชื่อว่าเป็นผู้หลีกเร้น.
ว่าด้วยความหลอกลวง ๓ อย่าง
[๓๙๗] เรื่องความหลอกลวง ในคำว่า ไม่หลอกลวง มี ๓ อย่าง
คือเรื่องความหลอกลวง กล่าวด้วยการซ่องเสพปัจจัย ๑ เรื่องความ
หลอกลวงอาศัยอิริยาบถ ๑ เรื่องความหลอกลวง
กล่าวด้วยการพูดเลียบเคียง ๑.
เรื่องความหลอกลวงกล่าวด้วยการซ่องเสพปัจจัยเป็นไฉน
พวกคฤหบดีในโลกนี้ ย่อมนิมนต์ภิกษุด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขารภิกษุนั้นมีความปรารถนาลามกอันความปรารถนา
ครอบงำ มีความต้องการด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย
เภสัชบริขาร อาศัย ความเป็นผู้อยากได้มาก ย่อมบอกคืนจีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เธอย่อมพูดอย่างนี้ว่า ประโยชน์
อะไรแก่สมณะด้วยจีวรมีค่ามาก สมณะควรเที่ยวเลือกเก็บผ้าเก่าจากป่าช้า
กองหยากเยื่อ หรือร้านตลาด แล้วทำสังฆาฏิใช้ ข้อนั้นเป็นการสมควร
ประโยชน์อะไรแก่สมณะด้วยบิณฑบาตอันมีค่ามาก สมณะควรสำเร็จความ
เป็นอยู่ด้วยก้อนข้าวที่ได้มาด้วยปลีแข้ง โดยความประพฤติแสวงหา ข้อนั้น
เป็นการสมควร ประโยชน์อะไรแก่สมณะด้วยเสนาสนะมีค่ามาก สมณะ
ควรอยู่ที่โคนต้นไม้ อยู่ที่ป่าช้า หรืออยู่ในที่แจ้ง ข้อนั้นเป็นการสมควร
ประโยชน์อะไรแก่สมณะด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารมีค่ามาก สมณะพึง
ทำยาด้วยมูตรเน่าหรือชิ้นลูกสมอ ข้อนั้นเป็นการสมควร เธออาศัยความ
เป็นผู้อยากได้มากนั้น จึงทรงจีวรที่เศร้าหมอง ซ่องเสพเสนาสนะที่
เศร้าหมอง และฉันคิลานปัจจัยเภสัชบริขารที่เศร้าหมอง พวกคฤหบดี
เห็นภิกษุนั้นแล้ว ย่อมทราบอย่างนี้ว่า สมณะนี้มีความปรารถนาน้อย
เป็นผู้สันโดษสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ปรารภความเพียร มีวาทะ
กำจัดกิเลส ก็ยิ่งนิมนต์เธอด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย
เภสัชบริขาร เธอก็กล่าวอย่างนี้ว่า เพราะประจวบด้วยเหตุ ๓ ประการ
กุลบุตรผู้มีศรัทธาย่อมประสบบุญมาก คือเพราะประจวบด้วยศรัทธา
กุลบุตรผู้มีศรัทธาก็ประสบบุญมาก เพราะประจวบด้วยไทยธรรม กุลบุตร
ผู้มีศรัทธาย่อมประสบบุญมาก เพราะประจวบด้วยพระทักขิไณยบุคคล
กุลบุตรผู้มีศรัทธาย่อมประสบบุญมาก พวกท่านมีศรัทธานี้อยู่ มีไทยธรรม
นี้อยู่ ทั้งอาตมาก็เป็นปฏิคาหก ถ้าอาตมาจักไม่รับ พวกท่านก็จักเสื่อมจาก
บุญไป อาตมาไม่มีความต้องการด้วยปัจจัยนี้ แต่อาตมาจะรับด้วยความ
อนุเคราะห์พวกท่าน จำเดิมแต่นั้น เธอก็รับจีวรมาก รับบิณฑบาตมาก
รับเสนาสนะมาก รับคิลานปัจจัยเภสัชบริขารมาก ความกำหน้าสยิ้ว
ความเป็นผู้มีหน้าสยิ้ว ความหลอกลวง กิริยาที่หลอกลวง ความเป็นผู้
หลอกลวง เห็นปานนี้ นี้เรียกว่า เรื่องความหลอกลวงกล่าวด้วย
การซ๋องเสพปัจจัย.
เรื่องความหลอกลวงกล่าวด้วยอิริยาบถเป็นไฉน
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้
มีความปรารถนาลามก อันความปรารถนาครอบงำ มีความประสงค์ในการยกย่อง
คิดว่า ประชุมชนจักยกย่องเราด้วยอุบายอย่างนี้
จึงสำรวมการเดิน สำรวมการนั่ง สำรวมการนอน ย่อมตั้งสติเดิน ตั้งสติยืน
ตั้งสตินั่ง ตั้งสตินอน ทำเหมือนภิกษุมีสมาธิยืน ทำเหมือนภิกษุมีสมาธินั่ง
ทำเหมือนภิกษุมีสมาธินอน และทำเหมือนภิกษุที่เจริญอาปาถกฌาน
(เจริญฌานต่อหน้าพวกมนุษย์) การตั้งใจ ตั้งการดำรงอิริยาบถ
ความทำหน้าสยิ้ว ความเป็นผู้มีหน้าสยิ้ว ความหลอกลวง กิริยาที่หลอกลวง
ความเป็นผู้หลอกลวง เห็นปานนี้ นี้เรียกว่า
เรื่องความหลอกลวงกล่าวด้วยอิริยาบถ.
เรื่องความหลอกลวงกล่าวด้วยการพูดเลียบเคียงเป็นไฉน
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ มีความปรารถนาลามก อันความปรารถนาครอบงำ
มีความประสงค์ในการยกย่อง คิดว่า ประชุมชนจักยกย่องเราด้วยอุบายอย่างนี้
จึงกล่าววาจาอิงอริยธรรม คือพูดว่า สมณะใดทรงจีวรอย่างนี้
สมณะนั้นมีศักดิ์มาก สมณะใดทรงบาตรอย่างนี้ สมณะนั้นมีศักดิ์มาก
สมณะใดทรงภาชนะโลหะ ทรงธมกรก ทรงผ้าสำหรับกรองน้ำ
ถือลูกกุญแจ สวมรองเท้า ใช้ประคดเอว ใช้สายโยกบาตรอย่างนี้
สมณะนั้นมีศักดิ์มาก พูดว่า สมณะใดมีอุปัชฌากะอย่างนี้ มีอาจารย์อย่างนี้
มีพวกร่วมอุปัชฌายะอย่างนี้ มีพวกร่วมอาจารย์อย่างนี้ มีมิตรอย่างนี้
มีพวกอย่างนี้ มีพวกที่คบกันมาอย่างนี้ มีสหายอย่างนี้ สมณะนั้นมีศักดิ์มากพูดว่า
สมณะใดอยู่ในวิหารเช่นนี้ สมณะนั้นมีศักดิ์มาก สมณะใดอยู่ในเรือน
มีหลังคาแถบเดียวอย่างนี้ อยู่ในปราสาทอย่างนี้ อยู่ในเรือนมีหลังคาโล้นอย่างนี้
อยู่ในถ้ำอย่างนี้ อยู่ในที่หลีกเร้นอย่างนี้ อยู่ในกุฎีอย่างนี้
อยู่ในเรือนยอดอย่างนี้ อยู่ในป้อมอย่างนี้ อยู่ในโรงกลมอย่างนี้ อยู่ในเรือนที่พักอย่างนี้
อยู่ในศาลาที่ประชุมอย่างนี้ อยู่ในมณฑปอย่างนี้ อยู่ที่โคนต้นไม้อย่างนี้
สมณะนั้นมีศักดิ์มาก อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีหน้าบูดเบี้ยว
ทำหน้าย่นยู่ยี่ หลอกลวง ปลิ้นปล้อน ตลบตะแลง อันผู้อื่นสรรเสริญ
ด้วยความที่คนวางหน้าว่า สมณะนี้ได้วิหารสมาบัติ อันมีอยู่เห็นปานนี้
ภิกษุนั้นย่อมกล่าวถ้อยคำเช่นนั้น อันปฏิสังยุตด้วยโลกุตรธรรมและ
นิพพานอันลึกลับ สุขุม ละเอียด ปิดบัง ความทำหน้าสยิ้ว ความเป็นผู้มีหน้าสยิ้ว
ความหลอกลวง กิริยาที่หลอกลวง ความเป็นผู้หลอกลวง เห็นปานนี้
นี้เรียกว่า เรื่องความหลอกลวงกล่าวด้วยการพูดเลียบเคียง.
เรื่องความหลอกลวง ๓ อย่างนี้ อันบุคคลใดละ ตัดขาด สงบ ระงับแล้ว
ทำไม่ให้ควรเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ บุคคลนั้นเรียกว่า
ผู้ไม่หลอกลวง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้หลีกเร้นไม่หลอกลวง.