อุทธัจจะ
โดย gboy  24 ก.ย. 2555
หัวข้อหมายเลข 21781

ขอเรียนถามอาจารย์ครับเกี่ยวกับ

๑. โมหมูลจิตที่สัมปยุตด้วยอุทธัจจะ อย่างไรเรียกว่าฟุ้งซ่านครับ เช่นคิดเป็นจำนวนกี่เรื่องต่อๆ กันครับ

๒. กามาวจรมหากิริยาจิตเกิดขณะทำอะไรครับ

ขอบพระคุณครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 25 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

โมหมูลจิต คือ จิตที่เกิดร่วมกับโมหเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่หลง ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมทั้งหลายโมหมูลจิตมี ๒ ประเภท คือ

ดวงที่ ๑ อุเปกฺขาสหคตํ วิจิกิจฺฉาสมฺปยุตฺตํ

โมหมูลจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ประกอบด้วยความสงสัย (วิจิกิจฉาเจตสิก) ในความจริงของสภาพธรรมทั้งหลาย

ดวงที่ ๒ อุเปกฺขาสหคต อุทธจฺสมฺปยุตฺตํ

โมหมูลจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ประกอบกับความฟุ้งซ่าน (อุทธัจจเจตสิก)

ซึ่ง อุทธัจจะคืออะไร? คือ ความฟุ้ง ความไม่สงบแห่งจิต ความซัดส่ายแห่งจิต ความหมุนเวียนแห่งจิต. นี่คือคำอธิบายในพระไตรปิฎก

สำหรับ อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน เกิดกับอกุศลจิตทุกๆ ประเภท ดังนั้น ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นฟุ้งซ่านแล้ว แม้เพียงเล็กน้อย ซึ่ง ในพระไตรปิฎกก็อธิบายอุทธัจจะว่า คือ ความไม่สงบแห่งจิต อกุศลเพียงเล็กน้อย แม้เป็นโมหมูลจิตที่ประกอบด้วยอุทธัจจะ ขณะนั้น จิตไม่สงบด้วยอำนาจอกุศล เพราะฉะนั้น คำว่าอุทธัจจะ จึงมีความหมายหลากหลายนัย ทั้ง ความฟุ้งซ่าน และ ความไม่สงบแห่งจิต ความซัดซ่ายแห่งจิตในขณะนั้น แม้เพียงเล็กน้อย ที่เป็นอกุศล ก็ชื่อว่าไม่สงบ เพราะอกุศล ไม่ทำให้สงบจากนิวรณ์ กิเลส และฟุ้งไปด้วยอำนาจกิเลสที่เกิดขึ้น ดังนั้น จึงไม่ได้หมายความว่า ความฟุ้งซ่านที่เป็นอุทธัจจะ จะต้องเป็นการคิดเป็นเรื่องราวหลายๆ เรื่อง จะเป็นความฟุ้งซ่านที่หมายถึงอุทธัจจะ แต่แม้อกุศลจิตที่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย ยังไม่ได้คิดเป็นเรื่องราวมากมาย หลายๆ เรื่องก็เป็นอุทธัจจะด้วยความหมายความไม่สงบแห่งจิตนั่นเองครับ ซึ่งพระอรหันต์เท่านั้นที่จะละอุทธัจจเจตสิก ได้


๒. กามาวจรมหากิริยาจิตเกิดขณะทำอะไรครับ

กามาวจรมหากิริยาจิต เรียกว่า มหากิริยาจิต

มหากิริยาจิตมหา (ใหญ่, มาก) + กิริยา (สักว่ากระทำ) + จิตฺต (จิต) กิริยาจิตที่เป็นไปในอาการมาก หมายถึง สเหตุกกิริยาจิตของพระอรหันต์ที่เป็นกามาวจรภูมิ ที่เรียกว่า มหากิริยา เพราะเป็นจิตที่เป็นไปในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ คือ ในการกระทำความดีต่างๆ ของพระอรหันต์ รู้อารมณ์ได้ทั้ง ๖ มีอธิบดี ๔ และเป็นไปในทวารทั้ง ๓ มหากิริยาจิตนี้มีสภาพคล้ายกับมหากุศลจิต เพราะเป็นไปในอาการต่างๆ เหมือนกัน เพียงแต่เกิดกับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็เป็นมหากุศลจิต แต่ถ้าเกิดกับพระอรหันต์ก็เป็นมหากิริยาจิต มี ๘ ดวง คือ

๑. โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ .

มหากิริยาจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)

๒. โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ .

มหากิริยาจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลัง (มีการชักชวน)

๓. โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ .

มหากิริยาจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)

๔. โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ .

มหากิริยาจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลัง (มีการชักชวน)

๕. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ .มหากิริยาจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)

๖. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ .

มหากิริยาจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลัง (มีการชักชวน)

๗. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ .

มหากิริยาจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)

๘. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ .

มหากิริยาจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลัง (มีการชักชวน)

มหากิริยาจิต มีอีกชื่อหนึ่งว่า กามโสภณกิริยาจิต หรือกามาวจรสเหตุ-กกิริยาจิต เป็นทวิเหตุกะ ๔ ดวง มีเหตุ ๒ (อโลภเหตุและอโทสเหตุ) เป็นติเหตุกะ ๔ ดวง มีเหตุ ๓ (อโลภเหตุ อโทสเหตุ และอโมหเหตุ)

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 25 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

โดยปกติแล้ว ขณะที่เป็นอกุศลจะไม่ปราศจากความฟุ้งซ่านเลย เพราะอุทธัจจะเป็นอกุศลสาธารณเจตสิกที่เกิดร่วมกับอกุศลจิตทุกประเภท จะไม่เกิดร่วมกับกุศลจิตเลย เพราะเหตุว่าขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้นนั้น สงบจากอกุศล นี้คือ ความเป็นจริงของธรรมที่ใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง และไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาได้เลย เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ตัวอย่างขณะที่เป็นโมหะที่ประกอบด้วยอุทธัจจะ นั้น เช่น ในขณะที่งง ตื้อๆ คิดอะไรไม่ออก ขณะนั้นก็ไม่สงบ และ มีความไม่รู้เกิดร่วมด้วย และถ้าเป็นโมหะที่เกิดร่วมกับความสงสัย ขณะนั้นก็สงสัยในสภาพธรรม ทั้งไม่รู้ความจริงและ มีความไม่สงบด้วย

- มหากิริยาจิต เป็นจิตของพระอรหันต์ทั้งหมดจะไม่เกิดมีบุคคลนอกนี้ มหากิริยาจิตเป็นจิตที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่กุศล แต่เป็นเพียงแต่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่แล้วก็ดับไป เท่านั้นไม่เป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิดขึ้นในภายหน้า ตัวอย่างขณะที่เป็นมหากิริยาจิตของพระอรหันต์ เช่น ในขณะที่ท่านแสดงธรรมเกื้อกูลแก่ผู้อื่น ขณะที่ท่านทำการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่น เป็นต้น ทั้งหมด ล้วนเป็นธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เมื่อเป็นจิตแล้ว ก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ครับ

...ขอบพระคุณ อ. ผเดิม และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย gboy  วันที่ 25 ก.ย. 2555

ขอบพระคุณอาจารย์ที่ช่วยอธิบายอย่างละเอียดชัดเจนครับ


ความคิดเห็น 4    โดย gboy  วันที่ 25 ก.ย. 2555

เรียนถามอาจารย์เพิ่มเติมถึง

โสมนสฺสสหคตํ หสิตุปาทจิตตํ อสงฺขาริกํ กามาวจร อเหตุกกิริยจิต ครับ

ว่ามีหน้าที่อะไร

ขอบพระคุณครับ


ความคิดเห็น 5    โดย paderm  วันที่ 25 ก.ย. 2555

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

โสมนสฺสสหคตํ หสิตุปาทจิตตํ อสงฺขาริกํ กามาวจร อเหตุกกิริยจิต คือ หสิตุปปาทจิต เป็นอเหตุกกิริยาจิตที่เป็นมโนวิญญาณธาตุทำกิจชวนะ ซึ่งเป็นจิตที่ทำให้พระอรหันต์เกิดอาการแย้มยิ้ม เมื่อได้รับอารมณ์ที่เล็กน้อยเช่น เมื่อเห็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ควรแก่การหลีกเร้น หรือเมื่อได้ยินเสียงของผู้ที่กล่าวผรุสวาจาต่อกัน พระอรหันต์ก็เกิดอาการแย้มยิ้ม เพราะทราบว่าตนพ้นจากเหตุที่ทำให้ไปสู่อบายแล้ว หรือได้กลิ่นดอกไม้ ซึ่งควรที่จะน้อมนำไปบูชาพระเจดีย์ หรือต้นพระศรีมหาโพธิ์ หรือได้ลิ้มรสอาหาร แล้วคิดที่จะนำไปถวายแก่เพื่อนสหธรรมิก เป็นต้น

เชิญคลิกฟังคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ที่นี่ ครับ

หสิตุปปาทจิต - การยิ้ม

หสิตุปปาทจิตเป็นกิริยาจิต

หสิตุปปาทจิตเกิดกับรูปพรหมกับเทวดาได้หรือไม่


ความคิดเห็น 6    โดย ประสาน  วันที่ 25 ก.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย gboy  วันที่ 26 ก.ย. 2555

ขอบพระคุณครับ


ความคิดเห็น 8    โดย nong  วันที่ 1 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย peem  วันที่ 30 พ.ย. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ