[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 339
ข้อความบางตอนจาก ...
กาลามสูตร หรือ เกสปุตตสูตร
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสตอบว่า ควรแล้วท่านจะสงสัย ความสงสัยของท่านเกิดขึ้นแล้วในเหตุควรสงสัยจริง ท่านอย่าได้ถือโดยได้ฟังตามกันมา อย่าได้ถือโดยลำดับสืบๆ กันมา อย่าได้ถือโดยความตื่นว่าได้ยินอย่างนี้ๆ อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ถือโดยเหตุนึกเดาเอาอย่าได้ถือโดยนัยคือคาดคะเน อย่าได้ถือโดยความตรึกตามอาการอย่าได้ถือโดยชอบใจว่า ต้องกันลัทธิของตน อย่าได้ถือโดยเชื่อว่า ผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ถือโดยความนับถือว่า สมณะผู้นี้เป็นครูของเรา เมื่อใดท่านรู้ด้วยตนนั่นแลว่าธรรมเหล่านี้เป็นอกุศลธรรม เหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ ดังนี้ ท่านควรละธรรมเหล่านั้นเสีย เมื่อนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสห้ามไม่ให้ถือ โดยอาการสิบอย่าง มีถือโดยได้ฟังตามกันมาเป็นต้น ให้พิจารณารู้ด้วยตนเองแล้ว เว้นสิ่งที่ควรเว้นเสียอย่างนี้แล้ว จะทรงแนะนำ ให้กาลามชนได้ปัญญาพิจารณา เห็นสิ่งที่ควรเว้นนั้นด้วยตนเอง จึงตรัสปุจฉา ยกโลภะ (ความละโมบอยากได้ เหลือเกิน) โทษะ (ความมีใจโกรธขัดเคืองแล้ว ประทุษร้ายใจตัวเองแลผู้อื่น) โมหะ (ความหลง) ขึ้นถาม ให้กาลามชนทูลตอบตามความเห็นโดยลำดับ อย่างนี้
พ. ท่านจะสำคัญความนั้นเป็นไฉน โลภความอยากได้เมื่อเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือ หรือเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
กา. โลภนั้นย่อมเกิดขึ้นเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ พระพุทธเจ้าข้า.
พ. บุรุษผู้โลภแล้ว อันความโลภครอบงำแล้ว มีใจอันความโลภยึดไว้รอบแล้ว ฆ่าสัตว์มีชีวิตบ้าง ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้แล้วบ้าง ถึงภรรยาผู้อื่นบ้าง พูดเท็จบ้าง ชักชวนผู้อื่นให้เป็นอย่างนั้นบ้าง สิ่งใดเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์แก่ผู้อื่นนั้น สิ้นกาลนาน ผู้โลภแล้วชักชวนผู้อื่นในสิ่งนั้น อันจริงหรือไม่.
กา. ข้อนี้จริงอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า ฯลฯ
สาธุ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น