เนื่องจากจิตและธรรมที่ได้บรรลุลึกซึ้งยิ่งนัก
เวลาท่านจะกระทำอะไรแต่ละอย่างนั้น ย่อมจะผิดแปลกแตกต่างจากคนธรรมดาหรือไม่
โดยเฉพาะเวลาพูด ท่านมีลักษณะการพูดที่คล้ายกันหรือไม่ประการใด
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระอรหันต์ คือ ผู้ที่ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด ไม่มีเหลือ เมื่อดับกิเลสได้ทั้งหมดแล้ว ชีวิตของท่านก็ดำเนินไปอย่างผู้ไม่มีกิเลส ซึ่งจะแตกต่างไปจากผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่อย่างสิ้นเชิง เช่น ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ติดข้องยินดีพอใจในสิ่งต่างๆ มีการกระทำและการพูดที่เป็นไปด้วยอำนาจของกิเลส มีการะทำที่เป็นการประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น มีการพูดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เป็นต้น ตามการะสมของแต่ละบุคคล แต่สำหรับพระอรหันต์แล้ว ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย
ในสาวัชชสูตร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า พระอรหันต์ เป็นผู้ไม่มีโทษ หมายความว่า ความประพฤติทางกาย ทางวาจา และทางใจ ของพระอรหันต์ ไม่เป็นไปกับด้วยโทษเลย เพราะไม่เป็นไปกับด้วยกิเลสใดๆ ทั้งสิ้น พระอรหันต์ ไม่มีจิต เจตสิก ที่เป็นไปกับด้วยกิเลสเกิดขึ้นอีกเลย แต่ก็ยังมีจิตประเภทอื่นๆ เกิดขึ้น ซึ่งโดยปกติของพระอรหันต์จะมีจิตเพียง ๒ ชาติ (ชาติ คือ การเกิดขึ้นของจิต) ได้แก่ วิบากชาติ (จิตเกิดขึ้นเป็นวิบากรับผลของกรรม เช่น ขณะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส เป็นต้น จิตเห็นไม่ว่าจะเป็นของใคร ก็เป็นเพียงวิบากจิตที่เกิดขึ้นทำกิจเห็นแล้วก็ดับไป เหมือนกัน) กับ กิริยาชาติ (จิตเกิดขึ้นเป็นกิริยา คือ ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่วิบาก เช่นในขณะที่พระอรหันต์แสดงธรรม เกื้อกูลแก่ผู้อื่น เป็นต้น) จนกว่าจะดับขันธปรินิพพาน ซึ่งเมื่อดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่มีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ ไม่มีจิต เจตสิก และ รูปเกิดขึ้นอีกเลย เป็นผู้สิ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า พระอรหันต์ เป็นผู้ห่างไกลจากกิเลส ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย การกระทำและคำพูดของท่าน ล้วนเป็นไปด้วยอำนาจของกิริยาจิต ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระอรหันต์ คือ ผู้ที่ดับกิเลสหมดสิ้นแล้ว พระอรหันต์จะมีได้ ก็เพราะการประชุมรวมกัน ของสภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิกและรูป เมื่อยังมีจิต เจตสิก พระอรหันต์ก็ยังมีการคิด เมื่อ มีการคิด ก็ยังมีการแสดงออกทางกายและวาจา แต่เมื่อพระอรหันต์ไม่มีกิเลสแล้ว การคิด ของพระอรหันต์จึงไม่เป็นไปในกุศล หรือ อกุศลเลย แต่คิดเป็นไปในทางที่ดี เป็นกิริยา จิตที่ดีนั่นเอง กาย วาจาของพระอรหันต์ก็เป็นไปในทางที่ดี ไม่เป็นไปกับกิเลส
ซึ่งคำถามมีอยู่ว่า เวลาพูดของพระอรหันต์ลึกซึ้งมากน้อยเพียงใด เพราะจิตท่านบรรลุธรรมแล้ว ขอยกตัวอย่างพระอรหันต์ที่เลิศที่สุด คือ พระพุทธเจ้าครับ พระพุทธเจ้า ก็ทรง เปล่งพระวาจา แต่พระวาจาของพระพุทธเจ้า ไม่เป็นไปเนื่องกับกิเลสและพระวาจาของพระองค์ก็ประกอบด้วยประโยชน์ ที่สำคัญ พระอรหันต์ไม่ว่าพระพุทธเจ้าและพระสาวก ท่านเหล่านั้น ก็ล้วนพูดวาจาที่เป็นไปด้วย ๒ อย่าง คือ ปรมัตถสัจจะ และ สมมติสัจจะ
ปรมัตถสัจจะ คือ ความจริงที่เป็นสภาพธรรม ที่ไม่ใช่ สัตว์ บุคคล เช่น จิต เจตสิก รูป อายตนะ อริยสัจจะ
สมมติสัจจะ คือ ความจริงที่ชาวโลกสมมติขึ้นให้เข้าใจกัน เช่น พระราชา มนุษย์ เทวดา โต๊ะ เก้าอี้ เรา เขา เป็นต้น วาจาของพระอรหันต์ทั้งหลาย จึงไม่ละเว้นสมมติของชาวโลก ไม่ใช่ว่า พระอรหันต์ท่านดับกิเลสแล้ว ท่านจะกล่าวแต่ถ้อยคำอันลึกซึ้งที่เป็นปรมัตถสัจจะ เช่น กล่าวแต่เรื่องอายตนะ ปฏิจจสมุปบาท จิต เจตสิก รูป ขันธ์ ๕ แต่ พระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นผู้ฉลาดในโวหารของชาวโลก จึงกล่าวคำของชาวโลกที่สมมติกัน เช่น กล่าวในเรื่องของพระเจ้าแผ่นดิน เรื่อง ดิน ฟ้า อากาศ เรื่อง สัตว์ บุคคล ใช้คำว่า เรา เขา ตามปกติในชีวิตประจำวันครับ คือ พูดกันเป็นปกติเหมือนที่ชาวโลกพูดกัน เช่น ถามสารทุกข์สุขดิบ แต่ต่างตรงที่ ไม่มีกิเลสขณะที่พูดเลย เป็นกิริยาจิตครับ ส่วนบางโอกาส เมื่อเป็นคราวสนทนาธรรม พระอรหันต์ทั้งหลายก็กล่าวถ้อยคำอันลึกซึ้ง อันสมควรกับธรรมนั้น ซึ่งอาจจะกล่าวพระธรรมโดยลึกซึ้ง โดยนัยของสัตว์ บุคคลที่เป็นพระสูตร ซึ่งพระสูตรลึกซึ้งโดยอรรถะ กล่าวเรื่องพระราชา กล่าวเรื่องของ สัตว์ บุคคลต่างๆ เป็นต้น และบางคราวก็สิ่งที่ลึกซึ้งในส่วนของสภาพธรรม ที่เป็นปรมัตถสัจจะ ที่กล่าวแต่สภาพธรรมเท่านั้น ไม่มีสัตว์ บุคคลที่เป็น จิต เจตสิก รูป อายตนะ สัจจะ เป็นต้นครับ
สรุป คือ พระอรหันต์ทั้งหลาย ย่อมกล่าววาจาที่เหมาะสม สมควรกับสถานการณ์และกาลเวลา ทั้งสมมติสัจจะ ที่เป็นเรื่องราวของสัตว์ บุคคล และ ปรมัตถสัจจะ ที่เป็นสภาพธรรมที่เป็นจริง ซึ่งบางคราวก็กล่าววาจาที่ชาวโลกพูดกัน เช่น การถามสุข ทุกข์ ไม่ได้กล่าวลึกซึ้ง แต่จิตของท่านไม่มีกิเลส จิตของท่านลึกซึ้งครับ ส่วนบางคราวก็กล่าววาจาที่เป็นพระธรรมของพระพุทธเจ้าที่ลึกซึ้งทั้งอรรถะและธรรม ท่านจึงใช้ชีวิตเป็นปกติ ทั้งกายและวาจาของท่านก็เป็นปกติ แต่ไม่มีกิเลสนั่นเองครับ
ขออนุโมทนา
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 135
๕. อรหันตสูตร
[๖๔] ท. ภิกษุใดเป็นผู้ไกลจากกิเลส มีกิจทำเสร็จแล้ว มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด ภิกษุนั้นพึงกล่าวว่า เราพูด ดังนี้บ้าง บุคคลทั้งหลายอื่นพูดกะเราดังนี้บ้าง.
[๖๕] ภ. ภิกษุใดเป็นผู้ไกลจากกิเลส มีกิจทำเสร็จแล้ว มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด ภิกษุนั้นพึงกล่าวว่า เราพูดดังนี้บ้าง บุคคลทั้งหลายอื่นพูดกะเราดังนี้บ้าง ภิกษุนั้นฉลาดทราบคำพูดในโลก พึงกล่าวตามสมมติที่พูดกัน.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
พระอริยเจ้าทั้งหลาย เป็นผู้บรรลุธรรมดีแล้วหนอ เป็นผู้ฉลาดหนอ สาธุๆ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาที่อนุเคราะห์ครับ