[คำที่ ๓๓๒] ทาน
โดย Sudhipong.U  4 ม.ค. 2561
หัวข้อหมายเลข 32452

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ทาน”

คำว่า ทาน เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงในภาษาบาลีว่า ดา - นะ] แปลว่า การให้ แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมในขณะนั้น เป็นการสละ เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ทั้งในเรื่องของการให้วัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้รับ การให้อภัย คือ ให้ความไม่มีภัย ให้ความปลอดภัยแก่ผู้อื่น ไม่ถือโทษโกรธผู้อื่น และ การให้ที่ประเสริฐยิ่ง คือ ให้ความเข้าใจถูกเห็นถูกในธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

ข้อความใน พระไตรปิฎก และอรรถกถา แสดงถึงความเป็นจริงของทาน ในนัยต่างๆ ดังนี้ คือ

“ครั้นเมื่อเรือนถูกไฟไหม้ เจ้าของขนของสิ่งใดออกได้ ของสิ่งนั้นก็เป็นประโยชน์แก่เจ้าของ ส่วนของที่ไม่ได้ขนออก ก็ไหม้อยู่ในที่นั้น ฉันเดียวกัน ครั้นเมื่อโลกอันชรามรณะไหม้อยู่อย่างนี้แล้ว ชาวโลกพึงขนออกด้วยการให้ทานเถิด สิ่งที่ให้เป็นทานไปแล้ว จัดว่าได้ขนออกอย่างดีแล้ว”

(พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยชนสูตร)

ด้วยบทว่า ทาเนน (การให้) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาอภัยทานด้วย ไม่ใช่ตรัสอามิสทาน (ให้วัตถุสิ่งของ) เท่านั้น

(ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ จวมานสูตร)

ธรรมทาน ได้แก่ การแสดงธรรมไม่วิปริต แก่ผู้มีจิตไม่เศร้าหมอง และได้แก่ การชี้แจงประโยชน์อันสมควร นำผู้ยังไม่เข้าถึงศาสนาให้เข้าถึง นำผู้เข้าถึงแล้วให้เจริญงอกงาม ด้วยทิฏฐธรรมิกประโยชน์ (ประโยชน์ปัจจุบัน) สัมปรายิกประโยชน์ (ประโยชน์ในภายหน้า) และปรมัตถประโยชน์ (ประโยชน์คือบรรลุมรรคผล) 

(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก)


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน ซึ่งควรอย่างยิ่งที่จะได้พิจารณาว่า ควรเจริญกุศลทุกประการ โดยที่อย่าเป็นผู้เว้นไม่เจริญกุศลประการหนึ่งประการใด ทั้งในเรื่องของทาน ศีล ความสงบของจิตจากกุศล และการอบรมเจริญปัญญา ด้วย

แม้แต่ในเรื่องของทานเรื่องเดียว ก็มีทั้งวัตถุทานหรืออามิสทาน (ให้วัตถุสิ่งของ) อภัยทาน (ให้อภัย) และธรรมทาน (ให้ธรรม) ซึ่งก็ควรที่จะครบทั้ง ๓ ทาน เพราะเหตุว่าผู้ที่ควรแก่วัตถุทานก็มีมาก ไม่ใช่น้อยเลย และถ้าวันหนึ่งๆ ไม่มีทานกุศลเลย ก็เป็นไปไม่ได้แน่ที่จะดับกิเลสได้อย่างเด็ดขาด ในชาติหนึ่งๆ ที่ทานกุศลไม่เกิด ไม่มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่มีกุศลจิตแม้ขั้นทาน แล้วก็จะให้ถึงการดับกิเลส ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

สำหรับอภัยทาน นั้น ไม่มีวัตถุสิ่งของที่จะให้ แต่ก็ควรพิจารณาว่า จะยากกว่าการสละวัตถุทานหรือไม่? เพราะเหตุว่าอภัยทาน เป็นการสละความเห็นแก่ตัว สละความรักตัวในการที่ไม่ให้อภัยในความผิดของคนอื่น หรือในความบกพร่องของคนอื่น ขณะที่ไม่อภัยให้บุคคลอื่น ขณะนั้นเป็นเพราะรักตัวเองที่ทำให้ไม่สามารถจะอภัยในความผิด หรือในความบกพร่องของคนอื่นได้ ลึกลงไปจริงๆ เป็นเพราะความรักตัว ความยึดมั่นในตัวตนนั่นเอง การสละความเห็นแก่ตัวขั้นอภัยทาน ทำให้สละความคิดร้าย สละความแค้นเคือง สละความผูกโกรธ สละความไม่หวังดี สละความไม่เป็นมิตร สละความไม่เกื้อกูล สละความไม่มีน้ำใจต่อคนอื่น

พระธรรม จึงเป็นเหมือนกระจกที่จะส่องใจของแต่ละบุคคล ให้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงอย่างชัดเจนว่า ตนเองมีทานขั้นไหน เพียงวัตถุทานหรือว่ามีอภัยทานด้วย เพราะบางคนอาจจะสละวัตถุง่ายมาก แต่อภัยทาน ให้ยากทีเดียว เพราะฉะนั้น ก็ควรเห็นความเห็นแก่ตัว ความยึดมั่นในตัวตน ความรักตัว ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้ไม่อภัยในความผิดและความบกพร่องของคนอื่น ถ้าเห็นความบกพร่องของตัวเองที่ไม่ให้อภัย ว่า เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ น่ากลัว ก็ควรที่จะรีบอภัยให้ทันทีโดยไม่รีรอ และควรที่จะคิดต่อไปอีกว่า ผู้ที่ควรแก่การรับอภัยทานนั้น ไม่มีเว้นเลย ทั้งคนดีและคนชั่ว ถ้ายังเป็นในลักษณะที่ว่าคนนี้อภัยให้ได้ คนนั้นอภัยให้ไม่ได้ ก็เป็นเรื่องของกุศลทั้งนั้น เพราะตามความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่ควรแก่การที่จะรับอภัยทานนั้นไม่ควรเว้นเลย ต้องเสมอกันทุกคน ทั้งคนดีและคนชั่ว บางคนอาจจะอภัยให้เฉพาะคนดีเพราะเหตุว่าเขาดี ก็อภัยให้ แต่คนชั่วไม่อภัย อย่างนี้ยังไม่ถูกต้อง

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงส่องให้เห็นถึง โลภะ (ความติดข้อง) ความยึดมั่นในความเป็นตัวตน และ อโลภะ (ความไม่ติดข้อง ซึ่งเป็นกุศลธรรม) ที่จะค่อยๆ สละความยึดมั่นในความเห็นแก่ตัวหรือในความเป็นตัวตน ลง ซึ่งจะต้องไม่ใช่แต่เฉพาะสละวัตถุเป็นทานเท่านั้น แม้อภัยทานก็ควรที่จะมีแก่ทุกคน ไม่ใช่แต่เฉพาะกับคนดีเท่านั้น ขณะที่ไม่อภัยให้นั้น ขณะนั้นไม่ได้สละความเห็นแก่ตัวเลย ถ้าอภัยให้เมื่อใด ก็แสดงว่าสละความรักตัวเอง ความยึดมั่นในตัวตน ความเห็นแก่ตนลง

สำหรับผู้ที่เข้าใจธรรม เห็นประโยชน์ของพระธรรม ก็กล่าวพระธรรม แสดงพระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็เป็นธรรมทาน หมายถึง การให้ธรรม การให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับธรรม ถ้าหากจะพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว ธรรมทาน เป็นการสละความเห็นแก่ตัวขั้นสูงทีเดียว เพราะเหตุว่ากุศลทั้งหลายจะเจริญขึ้นได้ก็เพราะธรรมทาน แม้ว่าจะมีวัตถุทานสักเท่าไร ก็ไม่พอที่จะเกื้อกูลคนที่ยากไร้ที่ควรแก่การที่จะรับวัตถุทานในสังสารวัฏฏ์ ทั้งในอดีต ทั้งปัจจุบัน ทั้งในอนาคตได้ การสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น ด้วยวัตถุทาน ก็เป็นเพียงการช่วยเหลือสงเคราะห์ให้เขาอยู่ต่อไปในสังสารวัฏฏ์ เวียนสุข เวียนทุกข์ ซึ่งไม่พ้นจากความลำบากยากไร้ได้โดยเด็ดขาด เพราะฉะนั้น ธรรมทานจึงเป็นการสละความเห็นแก่ตัว สละความยึดมั่นในตัวตน โดยบำเพ็ญประโยชน์ขั้นสูงสุดเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น

บุคคลผู้ที่จะเกื้อกูลผู้อื่นในทางธรรม ต้องเป็นผู้ที่ศึกษาพระธรรม พิจารณาพระธรรม เข้าใจพระธรรม จึงเผยแพร่พระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ช่วยเหลือบุคคลอื่นให้เข้าใจพระธรรม โดยทางหนึ่งทางใด ไม่ว่าจะเป็นโดยการสนทนาธรรม แสดงธรรม ตลอดจนถึงการสงเคราะห์ช่วยเหลือในเรื่องที่จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจพระธรรมทั้งหมด ก็เป็นธรรมทาน และพร้อมกันนั้นก็จะต้องเป็นผู้ที่น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมด้วย ไม่ใช่เพียงแต่เป็นผู้ที่จะให้ธรรมเป็นทาน เท่านั้น

เพราะฉะนั้นแล้ว การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ไม่มีวันจบ กิจที่จะพึงกระทำก็ไม่มีวันจบสิ้น จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์ จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนจะได้พิจารณาจริงๆ ว่าจะต้องมีความมั่นคง อดทน และจริงใจที่จะเจริญกุศลทุกประการ สะสมความดีต่อไป ไม่ประมาทในชีวิตอันมีประมาณน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การอบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะต้องได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ