สำหรับทานใดจะมีอานิสงส์มาก ข้อความใน อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ทานวรรคที่ ๔ เขตตสูตร มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พืชที่หว่านลงในนาอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ไม่มีผลมาก ไม่มีความดีใจมาก ไม่มีความเจริญมาก นาประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ อย่างไร
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นาในโลกนี้เป็นที่ลุ่มๆ ดอนๆ ๑ เป็นที่ปนหินปนกรวด ๑ เป็นที่ดินเค็ม ๑ เป็นที่ไถลงลึกไม่ได้ ๑ เป็นที่ไม่มีทางน้ำเข้า ๑ เป็นที่ไม่มีทางน้ำออก ๑ เป็นที่ไม่มีเหมือง ๑ เป็นที่ไม่มีคันนา ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พืชที่หว่านลงในนาอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการอย่างนี้ ไม่มีผลมาก ไม่มีความดีใจมาก ไม่มีความเจริญมาก
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ทานที่บุคคลให้ในสมณพราหมณ์ ผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ไม่รุ่งเรืองมาก ไม่เจริญแพร่หลายมาก สมณพราหมณ์ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการอย่างไร
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์ในโลกนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ๑ เป็นมิจฉาสังกัปปะ ๑ เป็นมิจฉาวาจา ๑ เป็นมิจฉากัมมันตะ ๑ เป็นมิจอาชีวะ ๑ เป็นมิจฉาวายามะ ๑ เป็นมิจฉาสติ ๑ เป็นมิจฉาสมาธิ ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ทานที่บุคคลให้ในสมณพราหมณ์ผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการอย่างนี้ ไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ไม่รุ่งเรืองมาก ไม่เจริญแพร่หลายมาก
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ส่วนพืชที่บุคคลหว่านลงในนาอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการมีผลมาก มีความดีใจมาก มีความเจริญมาก นาประกอบด้วยองค์ ๘ ประการอย่างไร
นาประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ อย่างไรนั้น ก็เป็นนาที่ตรงกันข้ามกับข้อต้น คือ เป็นนาซึ่งไม่เป็นที่ลุ่มๆ ดอนๆ ๑ ไม่เป็นที่ปนหิน ปนกรวด ๑ ไม่เป็นที่ดินเค็ม เป็นที่ไถลงลึกได้ ๑ เป็นที่มีทางน้ำเข้าได้ ๑ เป็นที่มีทางน้ำออกได้ ๑ เป็นที่มีเหมือง ๑ เป็นที่มีคันนา ๑
สำหรับบุคคลก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่เป็นผู้ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่เป็นผู้ที่ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ ๑ สัมมาสังกัปปะ ๑ สัมมาวาจา ๑ สัมมากัมมันตะ ๑ สัมมาอาชีวะ ๑ สัมมาวายามะ ๑ สัมมาสติ ๑ สัมมาสมาธิ ๑
ทานที่บุคคลให้ในสมณพราหมณ์ผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการอย่างนี้ มีผลมาก มีอานิสงส์มาก รุ่งเรืองมาก เจริญแพร่หลายมาก
พืชอันหว่านลงในนาที่สมบรูณ์ เมื่อฝนตกต้องตามฤดูกาล ธัญชาติย่อมงอก งาม ไม่มีศัตรูพืช ย่อมแตกงอกงามถึงความไพบูรณ์ให้ผลเต็มที่ ฉันใด โภชนะที่บุคคลถวายในสมณพราหมณ์ผู้มีศีลสมบูรณ์ ก็ฉันนั้น ย่อมนำมาซึ่งกุศลอันสมบูรณ์ เพราะกรรมที่เขาทำนั้นสมบรูณ์แล้ว เพราะฉะนั้น บุคคลในโลกนี้ ผู้หวังกุศลสัมปทา จงเป็นผู้มีประโยชน์ถึงพร้อม พึงคบหาท่านผู้มีปัญญาสมบูรณ์ ปุญญสัมปทาย่อมสำเร็จได้อย่างนี้
ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ได้จิตตสัมปทาแล้ว กระทำกรรมให้บริบูรณ์ ย่อมได้ผลบริบูรณ์ รู้โลกนี้ตามเป็นจริงแล้ว พึงถึงทิฏฐิสัมปทา อาศัยมัคค-สัมปทา มีใจบริบูรณ์ ย่อมบรรลุอรหัต เพราะกำจัดมลทินทั้งปวงได้แล้ว บรรลุถึงนิพพานสัมปทาได้แล้ว ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง การหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงนั้น จักเป็นสัพพสัมปทา
เพราะฉะนั้น สังฆทาน หรือว่าการให้กับผู้ที่เป็นเขตบุญจึงมีอานิสงส์มาก นอบน้อมต่อพระอริยเจ้า ถ้าไม่คิดถึงความเป็นพระอริยสงฆ์ ไม่คิดถึงความเป็นพระอริยเจ้าแล้ว จะมีความต่างกันของการให้ไหม
ให้ทานแก่บุคคลอื่น ยาจก วณิพก หรือว่าคนกำพร้า คนเดินทาง กับการถวายแด่พระอริยเจ้า มีความต่างกันที่จิตจะนอบน้อมได้ในสงฆ์ เพราะเหตุว่าระลึกถึงความเป็นพระอริยเจ้าของพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย การให้นั้นจึงสามารถที่จะนอบน้อมในขณะที่ให้ได้ แต่ถ้าให้โดยที่ไม่ระลึกถึงความเป็นพระอริยเจ้า ก็เกือบจะไม่ต่างกันเลยกับการให้บุคคลอื่น เพราะว่าจิตในขณะนั้น ไม่ได้น้อมระลึกถึงความเป็นอริยสงฆ์ ก็เป็นทานทั่วไป เหมือนกับให้บุคคลอื่น ถึงแม้ว่าจะมีการเตรียมการอย่างใหญ่โตสักเท่าไรก็ตาม ใช้โภคทรัพย์มากสักเท่าไรก็ตาม แต่ใจของท่านไม่เสมอเหมือนกับเวลาที่ท่านน้อมระลึกถึงว่า ท่านถวายแด่พระอริยเจ้า
ความเป็นสงฆ์ ความเป็นสังฆรัตนะ หมายความถึงความเป็นพระอริยเจ้าที่จะเคารพได้สูง ที่จะทำให้จิตนอบน้อมได้อย่างยิ่ง ก็โดยประการเดียว คือ น้อมระลึกถึงความเป็นพระอริยเจ้า มิฉะนั้นแล้วขณะที่ให้ก็เหมือนกับการให้บุคคลอื่น จิตจะไม่นอบน้อมถึงกับเป็นสังฆทาน
ผู้ที่ประพฤติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ ประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นคุณธรรมของพระอริยเจ้า หรือผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงความเป็น พระอริยเจ้า เพราะฉะนั้น ถ้าจะเปรียบกับนาก็เป็นนาที่สมบูรณ์ เมื่อฝนตกต้องตามฤดูกาล ก็ย่อมจะให้ผลมาก นี่เป็นเหตุที่ว่า เพราะเหตุใดการถวายทานแก่ท่านที่ทรงคุณธรรมมีผลมาก ซึ่งในพระสูตรนี้มีข้อความที่ว่า
โภชนะที่บุคคลถวายในสมณพราหมณ์ผู้มีศีลสมบูรณ์ ก็ฉันนั้น ย่อมนำมาซึ่ง กุศลอันสมบูรณ์ เพราะกรรมที่เขาทำนั้นสมบูรณ์แล้ว เพราะฉะนั้น บุคคลในโลกนี้ ผู้หวังกุศลสัมปทา (คือ การถึงพร้อมด้วยกุศล) จงเป็นผู้มีประโยชน์ถึงพร้อม พึงคบหาท่านผู้มีปัญญาสมบูรณ์ ปุญญสัมปทาย่อมสำเร็จได้อย่างนี้
ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ได้จิตตสัมปทาแล้ว กระทำกรรมให้บริบูรณ์ ย่อมได้ผลบริบูรณ์ รู้โลกนี้ตามเป็นจริงแล้ว พึงถึงทิฏฐิสัมปทา
ที่ได้ผลไพบูลย์เพราะเหตุนี้ เพราะถ้าท่านให้ทานกับบุคคลที่ไม่ประพฤติ ไม่ปฏิบัติเพื่อความเห็นแจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะมีอะไรที่ช่วยท่านได้ ที่จะทำให้กุศลของท่านสมบูรณ์ขึ้นถึงการดับกิเลสได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท แต่ถ้าท่านถวายทานแก่ท่านผู้ประพฤติดี ประพฤติชอบ และเป็นผู้ที่บรรลุถึงทิฏฐิสัมปทา และท่านคบหาสมาคมกับบุคคลนั้น ท่านก็ย่อมได้บรรลุผลที่สมบูรณ์ที่สุดของกุศล คือ การที่ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
ข้อความต่อไปมีว่า
พึงถึงทิฏฐิสัมปทา อาศัยมัคคสัมปทา มีใจบริบูรณ์ ย่อมบรรลุอรหัต เพราะกำจัดมลทินทั้งปวงได้แล้ว บรรลุนิพพานสัมปทาได้แล้ว ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง การหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงนั้น จัดเป็นสัพพสัมปทา
ถึงพร้อมทุกประการทีเดียว เวลาที่หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ เพราะเหตุว่าถ้าท่านให้ทานในบุคคลทุศีล จะได้รับประโยชน์อะไร เพิ่มพูนมิจฉาทิฏฐิมากขึ้น เมื่อมิจฉาทิฏฐิมากขึ้น มิจฉาวาจาน้อยลงหรือเปล่า มิจฉากัมมันตะน้อยลงหรือเปล่า ไม่ได้น้อยลง ซึ่งก็เหมือนกับส่งเสริม หรือสนับสนุนมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาวาจา มิจฉา กัมมันตะ มิจฉาอาชีวะ
ถึงแม้ว่าท่านจะให้ทาน ได้อานิสงส์ของทานโดยท่านเกิดมาเป็นผู้ที่มีโภคสมบัติ มีทรัพย์สมบัติ แต่ท่านต้องถูกเบียดเบียนจากผู้ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาวาจา มิจฉา กัมมันตะ มิจฉาอาชีวะ เพราะฉะนั้น จะชื่อว่าให้ผลไพบูลย์ไม่ได้
ธรรมทั้งหมดประกอบด้วยเหตุผล แม้แต่ที่ว่า สังฆทานเป็นเลิศ เพราะเหตุว่าจะนำไปสู่ความสมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ที่ทำให้บรรลุความเป็นพระอรหันต์ได้
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 192
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 193