สมาธิเพ่งถึงองค์มรรคทั้งหลาย เรียกว่า มิจฉาสมาธิ
โดย pdharma  15 ม.ค. 2558
หัวข้อหมายเลข 26044

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 11

มีข้อความตอนหนึ่งว่า "ก็สมาธิเพ่งถึงองค์ฌานทั้งหลาย เรียกว่า เอกัคคตาจิต... เพ่งถึงองค์มรรคทั้งหลายเรียกว่า มิจฉาสมาธิ"

อยากขอคำอธิบายว่า "สมาธิเพ่งถึงองค์มรรคทั้งหลาย เรียกว่า มิจฉาสมาธิ" นั้นเป็นมิจฉาสมาธิอย่างไรครับ

ขอขอบพระคุณ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 15 ม.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจพระธรรมตามความเป็นจริง ดังนั้น เมื่อได้ยินได้ฟังคำอะไร ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า สิ่งนั้น คือ อะไร และประการที่สำคัญ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทุกคำ ทุกพยัญชนะ เพื่อให้เข้าใจความจริง แม้แต่ คำว่า สมาธิ ก็เช่นเดียวกัน

สมาธิ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว เป็นเจตสิกประการหนึ่งที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้ เมื่อจิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ และก็จะต้องมีสมาธิ ซึ่งเป็นเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมกับจิตทุกครั้งทุกขณะ ไม่เว้นเลย ตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ ดังนั้น ไม่ว่าจะนั่ง จะยืน จะนอน จะเดิน จึงไม่ปราศจากสมาธิเลย เพราะเกิดกับจิตทุกขณะ และที่ควรพิจารณา คือ สมาธิหรือเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับอกุศล ก็เป็นอกุศลสมาธิ

อกุศลสมาธิ ซึ่งจากข้อความที่ผู้ถามยกมานั้น อยู่ในส่วนของการอธิบายในฝ่ายอกุศลธรรม ฝ่ายไม่ดี ซึ่ง สมาธิ ตามที่กล่าวแล้ว องค์ธรรม คือ เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเกิดกับอกุศลก็ได้ กุศลก็ได้ สมาธิ จึงไม่ได้หมายถึงสิ่งที่ดี แต่เป็นความตั้งมั่น ที่เป็นไปในฝ่ายอกุศลก็ได้ ซึ่งข้อความที่ว่า

"สมาธิเพ่งถึงองค์มรรคทั้งหลาย เรียกว่า มิจฉาสมาธิ" หมายถึง คำว่า เพ่ง คือ มุ่งหมายสมาธิที่มุ่งหมายไปในองค์มรรค คือ ในหนทาง ซึ่งหัวข้อที่ยกมาก่อนหน้านี้อธิบายโดยนัยอกุศลธรรม สมาธินั้นจึงเป็นหนทางผิด มิจฉามรรค เพราะฉะนั้น สมาธิที่เพ่งไปในองค์มรรคจึงเป็น มิจฉาสมาธิ คือ ความตั้งมั่นผิด แต่ถ้ามุ่งหมายในฝ่ายกุศลธรรม ซึ่งจะอธิบายในเล่มก่อนหน้านี้ ก็จะเป็น สัมมาสมาธิ ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย pdharma  วันที่ 15 ม.ค. 2558

ได้ย้อนกลับไปดู พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 1

บทภาชนีย์อกุศลธรรม

อกุศลจิต ๑๒

จิตดวงที่ ๑

[๒๗๕] ธรรมเป็นอกุศล เป็นไฉน

อกุศลจิต สหรคตด้วยโสมนัส สัมปยุตด้วยทิฏฐิ มีรูปเป็นอารมณ์ หรือมีเสียงเป็นอารมณ์ มีกลิ่นเป็นอารมณ์ มีรสเป็นอารมณ์ มีโผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ มีธรรมเป็นอารมณ์ หรือปรารภอารมณ์ใดๆ เกิดขึ้น ในสมัยใด มิจฉาสมาธิ มีในสมัยนั้น

ขอบพระคุณครับ


ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 15 ม.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้โดยละเอียดโดยประการทั้งปวง รวมถึงเรื่องสมาธิด้วย ทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริงเนื่องจากว่า สมาธิ มีทั้งสัมมาสมาธิ และมิจฉาสมาธิ มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะเมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว สมาธิเป็นเอกัคคตาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ เกิดกับจิตทุกขณะทุกประเภท ไม่มีเว้น ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดกับจิตประเภทใด ถ้าเกิดกับกุศล เป็นสัมมาสมาธิ แต่ถ้าเกิดกับอกุศล ก็เป็นมิจฉาสมาธิ คือ เป็นเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดร่วมกับอกุศล

ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่า อะไรเป็นสัมมาสมาธิ อะไรเป็นมิจฉาสมาธิ ก็จะเป็นเหตุให้ประพฤติปฏิบัติผิด พอกพูนความติดข้องความไม่รู้และความเห็นผิดให้หนาแน่นยิ่งขึ้น ไม่สามารถดำเนินไปในหนทางที่ถูกต้องได้เลย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 4    โดย wannee.s  วันที่ 15 ม.ค. 2558

ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิจะไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย ดวงทิพย์  วันที่ 15 ม.ค. 2558

สาธุขออนุโมทนา

ขอร่วมสนทนาด้วยคะ

ทรงตร้สไว้ว่า องค์มรรคนี้ ขาดสัมมาทิฏฐิไม่ได้เลย เมื่อเห็นถูกแล้ว มรรคองค์อื่นจึงเป็นสัมมา

สัมมาทิฏฐิคืออย่างไร คือรู้ว่า ธรรมะมีในขณะนี้ การเพ่งจ้องในสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นลักษณะของโลภะค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย chatchai.k  วันที่ 9 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย Jarunee.A  วันที่ 23 ก.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ