ฝันคือความจำสิ่งที่ปรากฏ
โดย nattawan  7 ก.ย. 2567
หัวข้อหมายเลข 48427

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ฝัน คือ ความจำสิ่งที่ปรากฏ ไม่มีสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ แล้วจะมีเราได้อย่างไร
เพราะเมื่อหลับก็ไม่มีอะไรทั้งหมด

สนทนาธรรมที่ Royal Princess หัวหิน
พ. ๗ ก.ย. ๕๙
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง



ความคิดเห็น 1    โดย nattawan  วันที่ 7 ก.ย. 2567

สิ่งที่มีแล้วไม่รู้ ทำให้เกิดความยินดีติดข้อง เช่น ทุกคนเห็น แต่ไม่รู้เลยว่าแท้จริงเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นแล้วดับ แต่ว่าการเกิดดับสืบต่อเร็วสุดที่จะประมาณได้ ก็ปรากฏสีสันต่างๆ กันไป เป็นรูปร่างต่างๆ ทำให้เห็นว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นดอกไม้ แล้วก็เป็นที่ติดข้องยึดถือทั้งนั้น ซึ่งไม่มีวันพอ ไม่จบและเปลี่ยนความต้องการไปเรื่อยๆ ไม่รู้เลยว่าถ้าไม่ติดข้องทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะสบายกว่าเพราะไม่ต้องเดือดร้อนด้วยประการใดๆ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุปมาการติดข้องในสิ่งที่ปรากฏต่างๆ ว่าเหมือน แมงเม่าบินเข้ากองไฟ เพราะฉะนั้น ปัญหาอยู่ที่จิต ถ้าไม่มีจิต ไม่ต้องเดือดร้อนเลย

บ้านธัมมะ ๗ พ.ย. ๕๕

รายการบ้านธัมมะ 7 พฤศจิกายน 2555


ความคิดเห็น 2    โดย nattawan  วันที่ 7 ก.ย. 2567

ปัญหาทั้งหลายมาจากจิต จิตที่มีปัญหาคือจิตที่ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะเต็มไปด้วยอกุศลธรรม

บ้านธัมมะ ๓๑ ต.ค. ๕๕

รายการบ้านธัมมะ 31 ตุลาคม 2555

Photo cr. Earth laughs In flowers


ความคิดเห็น 3    โดย nattawan  วันที่ 7 ก.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิปลาส (วิปัลลาส) ความคลาดเคลื่อน, ความตรงกันข้าม, ความผันแปร หมายถึง ความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงด้วยอาการ ๓ ที่เกิดกับอกุศลจิต ๑๒ ดวงเท่านั้น คือสัญญาวิปลาส ๑ จิตตวิปลาส ๑ ทิฏฐิวิปปลาส ๑ วิปลาส ๓ นี้เป็นไปในอาการ ๔ คือ ในสิ่งที่ไม่งามว่างาม ๑ ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ๑ ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ๑ ในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน ๑

จึงกลายเป็นวิปลาส ๑๒ อย่าง คือ

๑. สัญญาวิปลาส จำผิดว่ารูปเป็นของงาม พระอนาคามีจึงละได้

๒. สัญญาวิปลาส จำผิดว่าเวทนาเป็นสุข พระอรหันต์จึงละได้

๓. สัญญาวิปลาส จำผิดว่าจิตเที่ยง พระโสดาบันจึงละได้

๔. สัญญาวิปลาส จำผิดว่าธรรมเป็นตัวตน พระโสดาบันจึงละได้

๕. จิตตวิปลาส คิดผิดว่ารูปเป็นของงาม พระอนาคามีจึงละได้

๖. จิตตวิปลาส คิดผิดว่าเวทนาเป็นสุข พระอรหันต์จึงละได้

๗. จิตตวิปลาส คิดผิดว่าจิตเที่ยง พระโสดาบันจึงละได้

๘. จิตตวิปลาส คิดผิดว่าธรรมเป็นตัวตน พระโสดาบันละได้

๙. ทิฏฐิวิปลาส เห็นผิดว่ารูปเป็นงาม พระโสดาบันละได้

๑๐. ทิฏฐิวิปลาส เห็นผิดว่าเวทนาเป็นสุข พระโสดาบันละได้

๑๑. ทิฏฐิวิปลาส เห็นผิดว่าจิตเที่ยง พระโสดาบันละได้

๑๒. ทิฏฐิวิปลาส เห็นผิดว่าธรรมเป็นตัวตน พระโสดาบันละได้

พระโสดาบันและพระสกทาคามีละวิปลาสได้ ๘ ประเภท คือสัญญาวิปลาสในธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน ๑ ในธรรมที่เที่ยง ๑ จิตตวิปลาสในธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน ๑ ในธรรมที่เที่ยง ๑ และทิฎฐิวิปลาสในอาการทั้ง ๔

พระอนาคามีละวิปลาสได้อีก ๒ คือ สัญญาวิปลาสในรูปที่ไม่งามว่างาม ๑และจิตตวิปลาสในรูปที่ไม่งามว่างาม ๑

พระอรหันต์ละวิปลาสที่เหลือทั้งหมดอีก ๒ คือ สัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาสในเวทนาที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ๒

อกุศลจิตทุกดวงเป็นจิตตวิปลาสอย่างหนึ่งในอาการ ๔ สัญญาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตทุกดวง เป็นสัญญาวิปลาสอย่างใดอย่างหนึ่งในอาการ ๔ ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทิฎฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง เป็นทิฏฐิวิปลาสอย่างใดอย่างหนึ่งในอาการ ๔

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสติปัฏฐาน ๔ เพื่อละวิปลาสทั้ง ๔ แต่ไม่ควรเจาะจงละวิปลาสอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะว่าทุกท่านที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลย่อมมีวิปลาสครบทั้ง ๔

ขณะที่สติปัฎฐานเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งโดยความเป็นอนัตตา เพราะความเข้าใจจากการฟังพระธรรมที่ถูกต้อง จึงเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติ ฯ เกิดขึ้น ขณะนั้นย่อมเป็นสติปัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่งในสติปัฏฐาน ๔ และความเข้าใจสภาพธรรมที่ค่อยๆ เกิดขึ้น ก็ย่อมค่อยๆ ละคลายวิปลาสนั้นๆ จนกว่าจะละได้เด็ดขาดเมื่อมรรคจิตเกิดขึ้น


ความคิดเห็น 4    โดย nattawan  วันที่ 7 ก.ย. 2567

... สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ว่า เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร เพื่อให้เข้าใจขั้นปริยัติเพิ่มขึ้นว่า เห็นเป็นเห็น เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล คิดเป็นคิด เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยเช่นกัน ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เป็นธรรมคนละอย่าง แต่เพราะ "ความไม่รู้" จึงปรากฏรวมกันเป็นโลก เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ซึ่งไม่มีใครสามารถรู้ความจริงนี้เองได้ จนกว่าจะได้ฟังธรรมจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งกว่าพระองค์จะตรัสรู้ความจริงนี้ได้ ก็ต้องทรงบำเพ็ญบารมีทุกประการยาวนานถึง 4 อสงไขยแสนกัป หลังจากนั้นทรงพระมหากรุณายิ่งใหญ่แสดงธรรมอีก 45 พรรษา ตลอดพระชนม์ชีพจนถึงเวลาใกล้ปรินิพพานก็ทรงแสดงธรรมเพื่อให้ผู้มีศรัทธาได้สะสมความเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรมะ ไม่ใช่เรา เป็นอนัตตา

อ่านเพิ่มเติม

สนทนาธรรมที่ฮานอย มายโจ ส.ค. - ก.ย. 2560 (4)


ความคิดเห็น 5    โดย nattawan  วันที่ 7 ก.ย. 2567

ธรรมะวันนี้ สี่คำ

#อริยสาวิตรี สิ่งที่นำมาซึ่งความปลาบปลื้มอย่างยิ่ง อันประเสริฐ

#สรณคมน์ การถึงรัตนทั้งสามคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งสูงสุด

#อธิศีลสิกขา ความปกติทางฝ่ายกุศล สภาพที่งดเว้นจากอกุศล เพราะขณะนั้นมีปัญญาเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง

#อำนาจ สภาพที่ยังสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้เกิดขึ้นเป็นไปตามกำลังของตน

บ้านธัมมะ
www.dhammahome.com


ความคิดเห็น 6    โดย chatchai.k  วันที่ 7 ก.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ


ความคิดเห็น 7    โดย Kalaya  วันที่ 7 ก.ย. 2567

อนุโมทนาค่ะ