กรรมนี่้เกิดจากอะไร
โดย ไก่บ้าน  13 เม.ย. 2555
หัวข้อหมายเลข 20961

สมัยนี้ทำไมโดนอะไรขึ้นมา เช่นรถชน ป่วย เจอกลั่นแกล้ง หินหล่นใส่หัวแตก ก็มักบอกว่า เป็นเพราะกรรมเก่า ... เพราะชาติที่แล้วเราไปทำกรรมเอาไว้ ชาตินี้จึงต้องมารับกรรม งั้นถ้าเราเดินไม่ดูตาม้าตาเรือ แล้วตกท่อระบายน้ำ นี่เป็นเพราะกรรมเก่าด้วยเปล่า ขับรถโดยประมาทนี่เป็นเพราะกรรมเก่าหรือเปล่า แล้วต้นไม้เจอพายุพัดหักตาย แล้วต้นไม้ไปทำกรรมอะไรไว้

แล้วกรรมนี่เกิดจากอะไร เกิดจากเราแต่ชาติก่อนไปทำกรรมเอาไว้ แล้วชาติก่อนกับชาตินี้ เป็นคนๆ เดียวกันหรือ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 14 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง คือ ความจงใจที่จะกระทำในสิ่งที่ดี และ สิ่งที่ไม่ดี ที่เรียกว่า กรรมดี และ กรรมไม่ดี กรรมดี หรือ กุศลกรรม เช่น การให้ทาน รักษาศีล เป็นต้น กระทำอกุศลกรรม เช่น การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น

ซึ่งกุศลกรรม และ อกุศลกรรม เป็นเหตุ เมื่อทำเหตุแล้ว ก็ต้องมีผล ไม่ใช่ว่า เมื่อทำแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นโมฆะ ไม่มีอะไรเลย แต่สภาพธรรมแต่ละอย่างเป็นเหตุ เป็นผลกัน คือ เมื่อมีเหตุ ก็ต้องเกิดผล ตามสมควรแก่เหตุที่กระทำ ครับ ดังนั้นเมื่อมีการทำกรรม ก็ต้อง มีผลของกรรมที่เกิดจากการทำกรรม ซึ่ง ผลของกรรมที่เรียกว่า วิบากนั้น ก็คือ ในชีวิตประจำวัน ก็เช่น การเห็น สิ่งที่ดีหรือไม่ดี การได้ยิน สิ่งที่ดีหรือไม่ดี การได้กลิ่น สิ่งที่ดีหรือไม่ดี การลิ้มรส สิ่งที่ดีหรือไม่ดี การรู้กระทบสัผัส สิ่งที่ดีหรือไม่ดี เหล่านี้ล้วน เป็นผล คือ เป็นผลของกรรมที่เกิดจากการทำกรรมดี และ ไม่ดีไว้ในอดีต เพราะ ไม่ใช่ ว่า อยู่ดีๆ ทำไม ถึงถูกหินกระทบศีรษะ คนอื่นไม่โดนทำไมเป็นเรา คนก็มีมากมาย และ คนที่เดินไม่ระวังก็มีมากมาย ทำไมต้องโดนและเจ็บเฉพาะเรา ก็เพราะ ผู้นั้นเอง ทำกรรมไม่ดีไว้เฉพาะตน คนอื่นไม่ได้ทำด้วย ผู้นั้นเองก็ต้องได้รับผลของกรรม มีการกระทบสัมผัสไม่ดี มีการกระทบแข็ง และทำให้เจ็บเกิดขึ้น ครับ กรรมของใครก็ของคน นั้น เป็นเของเฉพาะตน ทำไมบางคนเห็นสิ่งที่ดี บางคนเห็นสิ่งที่ไม่ดี ก็เพราะความแตกต่างกันไป ตามกรรมที่แต่ละคนทำมา ครับ ดังนั้น ผลของกรรมที่มีในชีวิตประจำวัน คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส ที่เป็นผล

แต่ขณะที่เป็นกุศลจิต อกุศล เช่น ขุ่นเคืองใจ เศร้าใจ ขณะนั้นไม่ใช่ผลของกรรมแล้ว เป็นการสะสมมาของแต่ละบุคคลที่เกิดจากกิเลส มีโทสะ เป็นต้น ทำให้เกิดความเศร้า ใจ ขุ่นเคืองใจ หรือ เกิดความคิดที่ดี มีเมตตา หวังดี ขณะนั้นก็ไม่ใช่ผลของกรรม แต่เป็น จิตที่ดี ที่เป็นกุศลกรรม ครับ ดังนั้น เราจะต้องแยกว่า ชีวิตโดยส่วนใหญ่แบ่งเป็น ๒ อย่างคือ ส่วนที่เป็นเหตุ คือ การทำกรรม คือ กุศลกรรม อกุศลกรรม ที่ไม่ใช่ผลของกรรม และ ส่วนที่เป็นผล คือ วิบากที่เป็น เห็น ได้ยิน ... รู้กระทบสัมผัส ครับ และทุกอย่างก็ต้องมีเหตุ แม้การจะได้รับกระทบจากหิน ก็ต้องมีเหตุตามที่กล่าวมา แต่ชีวิตที่ดำเนินไป ไม่ได้เป็นผลของกรรมที่เป็นวิบากตลอดเวลา เป็นกุศลจิต อกุศลจิตบ้างที่เป็นเหตุ ครับ

กรรมที่เป็นกุศลกรรม อกุศลรรม จึงเกิดจากมีความไม่รู้ มีกิเลส จึงทำให้มีการทำกรรมที่เป็นกุศลกรรม อกุศลกรรม ส่วนผลของกรรม ที่เป็นวิบาก มี เห็น ได้ยิน ... รู้กระทบสัมผัสเกิดจาก การกระทำกรรมที่เป็นเหตุ คือ กุศลกรรมและอกุศลกรรมไว้

ส่วนชาติก่อนกับชาตินี้ ก็เป็นเพียงสมมติเรียกให้เข้าใจถึงช่วงเวลา การเปลี่ยนภพภูมิของสัตว์ เช่น ชาติก่อนเป็นเทวดา ชาตินี้เป็นมนุษย์ แท้ที่จริงก็เป็นเพียง จิต เจตสิกที่เกิดขึ้นและดับไป สืบเนื่องกันไป ไม่มีสัตว์ บุคคล เพียงแต่เราเรียกสมมติให้เรารู้กัน

ชาติก่อน กับชาตินี้ก็เป็นเพียง จิต เจตสิกแต่ละขณะที่เกิดขึ้นและดับไปเท่านั้น ครับ

เพราะมีแต่ธรรมไม่ใช่เรา ไม่มีสัตว์ บุคคล ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา


ความคิดเห็น 2    โดย tookta  วันที่ 14 เม.ย. 2555

ได้อ่านกระทู้ต่างๆ แล้วไม่เข้าใจ เกิดความสงสัยว่า จิต เจตสิก คืออะไร

รบกวนช่วยอธิบายให้เข้าใจด้วยนะคะ


ความคิดเห็น 3    โดย paderm  วันที่ 14 เม.ย. 2555

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นสภาพรู้ เป็นใหญ่ในการรู้ ซึ่งจิตที่มีในชีวิตประจำวัน เช่น จิตเห็น (การเห็น) จิตได้ยิน (การได้ยิน) ขณะที่ชอบ ก็มีจิต เป็นจิตที่ชอบ เป็นอกุศลจิต จิตไม่ดี ขณะที่โกรธ ก็มีจิตที่โกรธ เป็นอกุศลจิต จิตไม่ดี ขณะที่มีเมตตา หวังดี ก็เป็นจิตที่ดี เป็นต้น

สรุปได้ว่า จิต เป็นสภาพรู้ ขณะที่เห็น ก็เป็นจิตเห็นเกิดขึ้น ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ คือ สีที่ปรากฏทางตา ขณะที่ได้ยิน ก็เป็นจิตได้ยิน เมื่อจิตเป็นสภาพรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ จิตได้ยิน รู้เสียง สิ่งที่ถูกจิตได้ยินรู้ คือ เสียงนั่นเองครับ ดังนั้น จิตเป็นสภาพรู้และเกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน

เจตสิก เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตเสมอ คือ ถ้าไม่มีเจตสิก จิตก็เกิดไม่ได้ เจตสิก มีหลายอย่าง เช่น ความจำ ก็เป็นเจตสิก เรียกว่า สัญญาเจตสิก ความโกรธก็เป็นเจตสิก เรียกว่า โทสเจตสิก เป็นต้น ครับ

สำคัญที่จะต้องเริ่มศึกษาธรรม อย่างจริงจัง ก็จะทำให้เข้าใจพระธรรมากขึ้นครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

จิต คือ อะไร

จิต และ เจตสิก!

เชิญคลิกฟังที่นี่ครับ

จิต

จิต - เจตสิก


ความคิดเห็น 4    โดย tookta  วันที่ 14 เม.ย. 2555

ขอขอบคุณนะคะที่อธิบายให้เข้าใจ


ความคิดเห็น 5    โดย ไก่บ้าน  วันที่ 14 เม.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย เซจาน้อย  วันที่ 14 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย khampan.a  วันที่ 14 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นเจตนาเจตสิก เกิดร่วมกับจิตทุกชาติ ทุกขณะ ไม่มีเว้น กล่าวคือ เจตนาเกิดร่วมกับจิตชาติกุศลก็ได้ เกิดร่วมกับชาติอกุศลก็ได้ เกิดร่วมกับชาติวิบากก็ได้ เกิดร่วมกับชาติกิริยาก็ได้ แต่ถ้าเป็นกรรมที่จะให้ผลภายภายหน้า ต้องเป็นกรรมที่เป็นกุศลกรรม กับ อกุศลกรรมเท่านั้น กุศลกรรม เป็นการกระทำที่ดีงาม ซึ่งจะต้องมีกุศลจิตเกิดขึ้น จึงมีการกระทำกรรมที่เป็นกุศลประการต่างๆ ซึ่งก็ไม่พ้นจากขณะจิตที่เป็นกุศล ที่เป็นไปในทานบ้าง ในศีลบ้าง ในการอบรมเจริญปัญญาบ้าง ส่วนอกุศลกรรม เป็นการกระทำที่ไม่ดี มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จเป็นต้น อันเป็นผลมาจากการมีกิเลสและมีอกุศลจิตเกิดขึ้น ซึ่งเป็นอกุศลที่มีกำลังจึงล่วงเป็นอกุศลกรรมประการต่างๆ กุศลกรรม ดับไปแล้วก็จริง สามารถเป็นปัจจัยให้กุศลวิบากซึ่งเป็นผลของกุศลกรรมเกิดได้ และ อกุศลกรรมดับไปนานแล้วก็จริง แต่ก็เป็นปัจจัยให้อกุศลวิบาก ซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรม เกิดได้ เพราะฉะนั้น กุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก ในชีวิตประจำวัน ก็คือ ทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็ทำให้ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ในสิ่งที่ดี ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แต่ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมแล้ว จะตรงกันข้ามเลย คือ ทำให้ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ในสิ่งที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ โดยที่ไม่มีใครทำให้เลย เป็นเพราะอดีตกรรมที่ตนเองได้กระทำไว้แล้วเท่านั้น ถึงคราวให้ผล ผลเช่นนั้นจึงเกิดขึ้น ทั้งหมดล้วนเป็นธรรมที่มีจริงที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 8    โดย wannee.s  วันที่ 15 เม.ย. 2555

สิ่งไม่มีชีวิต เช่น ต้นไม้ ไม่ได้เกิดจากกรรม เกิดจากอุตุ ต้นไม้เสื่อมสลายไป หรือแตกหัก เพราะลมบ้าง น้ำบ้าง ไฟบ้าง ตรงข้าม สิ่งที่มีชีวิตเท่านั้นที่เกิดจากกรรม เราไม่สามารถรู้ได้ว่ากรรมไหนจะให้ผลก่อนทั้งดีและไม่ดี ส่วนการตายก็เปรียบเหมือนการลอกคราบเกิดเป็นคนใหม่ ไม่ใช่คนเก่า แต่การสะสมนิสัยที่ดี หรือ ไม่ดี ก็ติดตัวไปในภพหน้า เป็นปัจจัยให้สะสมอย่างนั้นอีก ค่ะ