กิจของพระภิกษุ คือ ศึกษาพระธรรมขัดเกลากิเลส
โดย khampan.a  11 พ.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 40143

หทเย นิเธตพฺพยุตฺตกํ
(ข้อความที่ควรเก็บไว้ในหทัย)
[๕๗๕]

กิจของพระภิกษุ คือ ศึกษาพระธรรมขัดเกลากิเลส


พระภิกษุมีกิจ ๒ กิจ [คันถธุระ และ วิปัสสนาธุระ] ตั้งแต่ในครั้งพุทธกาล คือ เห็นคุณค่าของการมีชีวิตเพื่อจะดำรงชีวิตเพื่อขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต ตัดขาดจากโลกที่เต็มไปด้วยความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส ในความสนุกสนานในความเพลิดเพลินวงศาคณาญาติทั้งหมด สละทั้งหมด บรรพชา ละทั้งหมด เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่มีใจที่มั่นคงว่าจะอบรมขัดเกลาจิตด้วยธรรม ธรรมไม่ใช่เป็นการศึกษาเรื่องอื่นที่ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นทั้งหมดต้องเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งสามารถที่จะเข้าใจได้ในภาษาของตนๆ

ความเข้าใจต่างหากที่จะขัดเกลากิเลส ถ้าไม่มีความเข้าใจ อะไรๆ ที่ทำ แต่ไม่ใช่การเข้าใจธรรมขัดเกลากิเลสไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นการบวชเป็นพระภิกษุเพื่อขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิตซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจพระธรรม เพราะถ้าไม่ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ จุดประสงค์ที่วางไว้สำเร็จไม่ได้เลย เพราะว่าไม่มีอะไรที่จะไปขัดเกลากิเลสได้ และเมื่อมีความเข้าใจถูกต้องเห็นค่าของพระวินัยอย่างยิ่งเคารพในพระวินัยอย่างสูง เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยทุกข้อ เบาสบาย เพราะจิตขณะนั้นปลอดโปร่ง เป็นไปด้วยการที่จะละคลายความติดข้อง

เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรจะละคลายความติดข้องได้ตราบใดที่ยังเป็นเราและไม่รู้หนทางจริงๆ ไม่มีปัญญาจริงๆ ก็ไม่ใช่หนทางของบรรพชิตคือผู้ที่สละเพื่อที่จะขัดเกลากิเลสรู้แจ้งอริยสัจจธรรมจนถึงการดับกิเลส เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าอะไรเป็นกิจของภิกษุในพระธรรมวินัย ถ้ามีการศึกษาธรรมให้เข้าใจ เป็นคันถธุระที่จะทำให้ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยเพื่อเบาสบายในการที่จะละคลาย ปัญญาก็สามารถที่จะเกิดได้ไม่มีอะไรเป็นเครื่องติดขัด

* หมายเหตุ * คันถธุระ คือ กิจในการศึกษาพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นพระไตรปิฎก ไม่ใช่การเรียนวิชาทางโลก วิปัสสนาธุระ คือ กิจหน้าที่ในการอบรมปัญญา เพื่อดับกิเลส อันอาศัยการศึกษาพระธรรมคำสอนที่เป็นคันถธุระ


กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

อ่านหัวข้ออื่นๆ คลิกที่นี่ ... เก็บไว้ในหทัย



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 11 พ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 2    โดย petsin.90  วันที่ 11 พ.ย. 2564

กราบอนุโมทนาค่ะ