พระพุทธศาสนาคัดค้านลัทธิ ๓ อย่างคือ ปุพเพกตวาท ลัทธิที่ถือว่าเป็นไปตาม
อำนาจกรรมเก่า อิสสรนิมมานเหตุวาท ลัทธิที่ถือว่าผู้มีอำนาจบันดาล และ อเหตุกวาท
ลัทธิที่ถือว่าไม่มีเหตุ อะไรๆ ก็เป็นไปเอง
ได้ยินผู้รู้ท่านอธิบายธรรมะว่า "ทุกอย่างเป็นไปแล้วแต่อำนาจของการสะสม แล้วแต่
ใครจะสะสมมาอย่างไร" จึงสงสัยว่า ความเชื่อเช่นนี้ จะต่างจากลัทธิปุพเพกตวาทตรงไหน
ขอท่านผู้รู้โปรดชี้แนะหลักคิดด้วยครับ - ขอบพระคุณครับ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจลัทธิ 3 ประการให้ถูกต้องก่อนครับว่าท่านกล่าวถึงอะไรและมุ่ง
หมายถึงอะไร เมื่อเข้าใจถูกแล้ว ก็จะสามารถมาอธิบายกับคำกล่าวอื่นได้ครับ
ลัทธิ 3 ประการ เป็นความเห็นผิดทั้ง 3 ประการ ซึ่งความเห็นผิดทั้ง 3 ประการก็มี
1.ปุพเพกตวาท
2.อิสสรนิมมานเหตุวาท
3.อเหตุกวาท
ปุพเพกตวาท คือ ความเห็นผิดที่ว่า บุคคลได้รับความรู้สึกสุข ทุกข์และเฉยๆ
เพราะกรรมเก่าทำมาเท่านั้น สังเกตนะครับว่า ท่านมุ่งหมายถึง การได้รับความรู้สึก
สุข ทุกข์ เฉยๆ นั่นคือเวทนานั่นเอง อันเป็นความเห็นที่ว่า เวทนาทีเกิดขึ้นที่บุคคล
กำลังมีความรู้สึก สุข ทุกข์อยู่ในขณะนี้เพราะกรรมเก่าเท่านั้น
ทำไมถึงเป็นความเห็นผิด ที่เห็นผิดเพราะว่า ในความเป็นจริง การได้รับเวทนาที
เป็นสุขและทุกข์ ไม่ใช่เพียงเพราะวิบาก ที่เป็นผลของกรรมเท่านั้นครับ ขณะที่เจ็บ
เป็นทุกขเวทนา เป็นผลของกรรมเก่าแน่นอน อันเป็นเวทนาที่เกิดเพราะกรรมเก่า
แต่เวทนาไม่ใช่เกิดเพราะกรรมเก่าที่ทำไว้เท่านั้นครับ เมื่อศึกษาพระอภิธรรมแล้ว
เวทนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท เวทนาจึงเกิดกับจิตชาติ กุศลก็ได้ อกุศลก็ได้
กิริยาก็ได้และวิบากที่เป็นผลของกรรมก็ได้ เพราะฉะนั้น เวทนา ความรู้สึกเกิดกับจิต
ชาติวิบาก เป็นเวทนาทีเกิดเพราะกรรมเก่า และเวทนาก็เกิดกับจิตที่เป็นกุศลกรรม
และอกุศลกรรม นั่นคือ เวทนาเกิดไม่ใช่เฉพาะกรรมเก่า แต่เมื่อทำกรรมในปัจจุบัน ก็มี
เวทนาเกิดร่วมด้วย เช่น ขณะที่ฆ่าสัตว์ ขณะนั้นมีจิตเกิดขึ้น มีเวทนาเกิดขึ้นร่วมด้วย
เป็นโทมนัสเวทนา แต่เวทนาที่เป็นโทมนัสเวทนาทีเกิดขึ้นพร้อมกับการฆ่าสัตว์
เวทนานั้นไม่ได้เกิดเพราะกรรมเก่าเท่านั้น แต่เกิดกับกรรมใหม่ที่ทำในขณะนั้น นี่ก็
แสดงให้เห็นว่า ความรู้สึก สุขและทุกข์ เฉยๆ ไม่ได้เกิดเฉพาะกรรมเก่าเท่านั้น เกิดกับ
กรรมใหม่ที่เป็นกุศลกรรม อกุศลกรรมก็ได้ คือ เวทนาเกิดพร้อมกัน ร่วมกับจิตที่ทำกรรม
ในขณะนั้นครับ
โดยนัยของกุศลกรรมก็เช่นกัน บางคนทำบุญ เกิดปิติโสมนัสขณะที่ทำ เวทนาเกิด
แล้ว คือ ความรู้สึกโสมนัสเกิดเพราะอาศัยกรรมใหม่ที่ทำที่เป็นกุศลกรรมนั่นเอง จึง
ไม่ใช่ความเห็นผิดที่ว่า เวทนา ความรู้สึก สุขและทุกข์ เฉยๆ เกิดเพราะกรรมที่ทำไว้แต่
ปางก่อนเท่านั้นครับ อย่างเช่น ในเรื่องของการป่วย เป็นโรค ผู้ที่ความเห็นผิดก็เข้าใจ
ผิดว่า การป่วย เป็นโรคเกิดเพราะผลของกรรมเก่าเท่านั้น ตามความเห็นผิด ในปุพเพ
กตวาท แต่ในความเป็นจริง ความป่วย โรคนั้นเกิดได้จากเหตุ 8 ประการ ไม่ใช่แค่กรรม
เก่าที่ทำไว้เท่านั้นครับ เช่น เกิดจากการเปลี่ยนฤดู เกิดจากการบริหารร่างกายไม่ดี
เกิดจากลม เกิดจากน้ำดีกำเริบ เกิดจากกรรมเก่า เป็นต้น ซึ่ง ความเห็นผิดที่เป็น
ปุพเพกตวาท ที่เห็นว่า เกิดจากกรรมเก่าเท่านั้น ก็ปฏิเสธ เหตุของการป่วย 7 ประการ
เชื่อเพียงอย่างเดียวว่าเกิดเพราะผลของกรรมเก่าเท่านั้นครับ
อีกนัยหนึ่ง ความเห็นผิดที่เชือ่ว่าเป็นผลของกรรมเก่าเท่านั้นที่ได้รับ สุข ทุกข์ ก็เป็น
การปฏิเสธในเรื่องของกรรมที่พระองค์ทรงแสดงว่า กรรมและการให้ผลของกรรม มี 3
อย่างคือ ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม (กรรมให้ผลในปัจจุบัน) อุปปัชชเวทนียกรรม (กรรม
ให้ผลในภพหน้า) อปรปริยายเวทนียกรม (กรรมให้ผลในชาติถัดๆ ไป) ลัทธิ ทีเห็นผิด
ว่า การได้รับ สุขและทุกข์ (เวทนา) เพราะกรรมเก่าเท่านั้นก็เท่ากับปฏิเสธ กรรมที่ให้
ผลในปัจจุบัน ทีเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม นั่นเองครับ นั่นก็เท่ากับว่าไม่ตรงตามสัจจะ
จึงเป็นความเห็นผิดครับ
อิสสรนิมมานเหตุวาท คือ ความเห็นผิดที่ว่า บุคคลได้รับความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉยๆ
เพราะพระเจ้าบันดาล มีพระอิศวร เป็นต้น ความเห็นผิดนี้ ก็เท่ากับปฏิเสธเรื่องของกรรม
ว่าไม่ใช่กรรมที่ทำให้ได้รับความรู้สึก สุข ทุกข์แต่เพราะมีบางสิ่งบันดาลให้มีความรู้สึก
สุข ทุกข์ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ก็ไม่ต้องทำอะไร เป็นไปตามพระเจ้าบันดาล และการที่คน
เราทำชั่ว ทำดี ก็พระเจ้าบันดาลอีกนั่นเองครับ
อเหตุกวาท คือ ความเห็นผิดที่เข้าใจว่า ความรู้สึก สุขและทุกข์ เฉยๆ เกิดขึ้นโดย
ไม่มีใครทำอะไรทั้งสิ้น ไม่มีเหตุและปัจจัยเลย เกิดขึ้นมาลอยๆ เอง อันปฏิเสธว่ามีผู้อื่น
ทำให้เกิดขึ้น ปฏิเสธเรื่องของกรรม การกระทำว่าไม่มีผลอะไรทั้งสิ้นครับ
เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ
ความเห็นผิด 3 ประการ [ติกนิบาต]
จากคำถามที่ว่า
ได้ยินผู้รู้ท่านอธิบายธรรมะว่า "ทุกอย่างเป็นไปแล้วแต่อำนาจของการสะสม แล้วแต่
ใครจะสะสมมาอย่างไร" จึงสงสัยว่า ความเชื่อเช่นนี้ จะต่างจากลัทธิปุพเพกตวาท
ตรงไหน ทุกอย่างเป็นไปแล้วแต่อำนาจของการสะสม แล้วแต่ใครจะสะสมมาอย่างไร"
-----------------------------------------------------------
การสะสม อะไรสะสม จิตสะสม สะสมอะไร สะสมสิ่งที่ดีหรือไม่ดี นั่นคือ สะสมกุศล
และอกุศล ดังนั้นเมื่อมีการเกิดขึ้นของจิตที่เป็น กุศล หรือ อกุศลเกิดขึ้นไม่ได้หายไป
ไหน สะสมต่อไปในจิตดวงต่อไปที่เกิดขึ้น ทำให้เป็นผู้มีอุปนิสัยที่ต่างๆ กันไปตามการ
เกิดขึ้นของจิตที่เกิดฝ่ายดีมาก หรือ ฝ่ายไม่ดีมากครับ เช่น เมื่อมีการโกรธเกิดขึ้น จิต
ที่โกรธเกิดขึ้นก็มีการสะสมต่อไป ทำให้มีการโกรธง่ายขึ้นและเมื่อโกรธบ่อยๆ ก็ทำให้
เป็นผู้มีการสะสมความโกรธมากขึ้น ทำให้มีอุปนิสัยมักโกรธนั่นเอง อันเกิดจากการ
สะสม จิตที่เกิดโกรธบ่อยๆ ดังนั้นคำว่าทุกอย่างเป็นไปตามการสะสม ท่านก็คงมุ่ง
หมายถึง อุปนิสัยทุกอย่างของแต่ละบุคคล ก็ไม่พ้นจากการสะสมมาของแต่ละบุคคล
นั่นคือไม่พ้นจากปัจจัย ที่เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยที่สะสมมาก็ไม่หายไปไหน สะสมเป็น
อุปนิสัย แต่จะเปรียบเทียบกับลัทธิที่เป็นปุพเพกตวาท ไม่ได้เพราะ มีความเห็นผิดว่า
การได้รับความรู้สึก สุข ทุกข์ เกิดจากกรรมเก่าในอดีตเท่านั้น ดังนั้น ลัทธินี้ท่านมุ่ง
หมายถึง การได้รับเวทนาที่เป็นสุข ทุกข์ เฉยๆ เกิดจากกรรมเก่า แต่จากข้อความที่ยก
มานั้น คำว่าทุกอย่างท่านมุ่งหมายถึง อุปนิสัยที่เกิดจากการสะสมมาทุกอย่าง ไม่ได้
หมายถึง ความรู้สึก สุขทุกข์ครับ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมแต่ละอย่างทีเกิดขึ้น ก็มี
เหตุปัจจัยหลายประการ มีปัจจัย 24 จึงเป็นเรื่องละอียด ลึกซึ้งครับ ขออนุโมทนาที่
ร่วมสนทนาครับ
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ความเห็นผิด เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ตราบใดที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคล ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ก็ย่อมจะมีได้เพราะยังไม่ได้ดับพืชเชื้อ
ของความเห็นผิด คือ ทิฏฐานุสัย นั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงต้องอาศัยการฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูก ตรงตามพระธรรมไปตามลำดับ ก็จะละคลายความเห็นผิดได้ มั่นคงในความเป็นจริงของธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรม เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีธรรมใดที่เกิดขึ้นลอยๆ โดยปราศจากเหตุปัจจัย สำหรับประเด็นเรื่องการสะสม นั้น สะสมทั้งส่วนที่ดี และ ไม่ดี ซึ่งจะไม่ปะปนกันเลย ดีคือดี ไม่ดี คือ ไม่ดี ซึ่งจะสังเกตได้ว่าเวลาที่แต่ละบุคคลเกิดในภพนี้ชาตินี้ มีสิ่งที่ติดมาแล้วคืออุปนิสัยที่เคยได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ เกิดใหม่ๆ ดูเหมือนจะเหมือนกันด้วยกันทั้งนั้น แต่พอโตขึ้นๆ ก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป ไม่มีอะไรเหมือนกันเลย ตามการสะสมของแต่ละบุคคลจริงๆ อกุศลในขณะนี้เกิดขึ้นเพราะเคยได้สะสมอกุศลมาแล้วในอดีต ในทางตรงกันข้าม กุศลที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เกิดขึ้นได้เพราะเคยได้สะสมกุศลมาแล้ว การสะสมเป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้เลยทีเดียว ขอยกตัวอย่างบุคคลผู้เลิศผู้ประเสริฐที่สุดในโลก คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่พระองค์จะได้ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น ต้องสะสมบารมี สะสมความดีประการต่างๆ เป็นระยะเวลาที่ยาวนานถึงสี่อสงไขยแสนกัปป์ จนกว่าจะสมบูรณ์บริบูรณทำให้พระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ในทางตรงกันข้าม กับอีกบุคคลหนึ่ง คือ ท่านพระเทวทัต เกิดในกาลสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนา แต่เพราะสะสมมาไม่ดี จึงเกิดความริษยา ประทุษร้ายได้แม้กระทั่งต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้กระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ มากมาย เป็นเหตุให้ตนเองไปเกิดในอเวจีมหานรก ซึ่งตอนที่ท่านเกิดมา ท่านก็ไม่รู้ว่าท่านจะเป็นอย่างนี้ แต่ก็เป็นไปแล้วตามการสะสม จึงเป็นเครื่องเตือนใจที่ดีเป็นอย่างยิ่ง พระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีต ก่อนที่ท่านเหล่านั้นจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้นั้น ท่านก็จะต้องเป็นผู้ได้สะสมอุปนิสัยที่ดี ได้สดับตรับฟังพระธรรม สะสมปัญญามาเป็นเวลาอันยาวนาน ด้วยกันทั้งนั้น ข้อนี้ก็เป็นเครื่องเตือนใจที่ดี สำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ฟังได้ศึกษาพระธรรม โดยเป็นผู้เห็นประโยชน์ของพระธรรม ว่า ไม่ควรที่จะท้อถอย ยิ่งยากก็ยิ่งจะต้องศึกษา เพราะปัญญาไม่สามารถจะเจริญขึ้นได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ต้องค่อยๆ ฟังค่อยๆ ศึกษาไปตามลำดับ เพียงแค่วันนี้ พรุ่งนี้ หรือ ชาตินี้ ยังไม่พอ ต้องสะสมความเข้าใจต่อไปอีกเป็นเวลาอันยาวนาน (จิรกาลภาวนา) ซึ่งมีข้ออุปมาเหมือนการจับด้ามมีด เมื่อจับบ่อยๆ นานๆ รอยสึกย่อมปรากฏได้ ปัญญาก็เช่นกัน ต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการสะสม ในการอบรม จึงจะเจริญขึ้นได้ ไม่ขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาต่อไป ครับ. ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่าน นอ.ทองย้อย,คุณผเดิมและทุกๆ ท่านครับ...
แม้แต่พระอรหันต์ที่ไม่ใช่พระพุทธเจ้าก็ยังละวาสนาไม่ได้ วาสนาหมายถึง การสะสม
อุปนิสัย มานานแสนนาน เช่น ท่านพระปิลินทวัจฉะ เป็นพระอรหันต์ ในอดีต
เคยเกิดเป็นพราหมณ์ 500 ชาติ มักเรียกคนอื่นว่าคนถ่อย จนเคยชิน มาในชาติ
ปัจจุบัน บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ยังเรียกคนอื่นว่าคนถ่อยค่ะ
ถ้อยคำที่ชวนให้เข้าใจคลาดเคลื่อน คือคำว่า สะสม กับคำว่า กรรมเก่า (ปุพเพ
กต = ทำแล้วในกาลก่อน = เคยทำมา)
กรรมเก่า คือ เคยทำมา สะสม ก็ชวนให้เข้าใจว่า ก็เคยทำมานั่นเอง
แต่ถ้าจำกัดความหมายของ ปุพเพกตวาท ว่าหมายเฉพาะ การได้รับความรู้สึก
สุข ทุกข์ เฉยๆ นั่นคือเวทนานั่นเอง (ความคิดเห็นที่ 1) ไม่ได้หมายรวมไปถึงอัธยาศัย
หรือนิสัยใจคอ หรือวาสนา หรือความเคยชินต่างๆ เช่น เคยสะสมมาในทางฟังธรรม ก็
จึงชอบฟังธรรม อะไรพวกนี้ ถ้าแยกความหมายเด็ดขาดอย่างนี้ ก็ชัดเจนครับ
ก็เป็นเรื่องที่ผู้ไม่รู้คำจำกัดความ จะต้องไปศึกษากันต่อไป
ขออนูโมทนาขอบคุณครับ สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ