[คำที่ ๒๕๕] มจฺฉตฺต
โดย Sudhipong.U  14 ก.ค. 2559
หัวข้อหมายเลข 32375

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  มิจฺฉตฺต

คำว่า มิจฺฉตฺต เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า มิด -  ฉัด - ตะ] มาจากคำสองคำรวมกัน คือคำว่า มิจฺฉา (ผิด) กับคำว่า ตฺต (ความเป็น) รวมกันเป็น  มิจฺฉตฺต แปลว่า ความเป็นสิ่งที่ผิด ซึ่งมีธรรม ๑๐ ประการ คือ ความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง  ความดำริผิด วาจาผิด การงานผิด เลี้ยงชีพผิด ความเพียรผิด ระลึกผิด ตั้งมั่นผิด ความเข้าใจผิดว่าตนเองเข้าใจอย่างถูกต้อง และ สำคัญว่าได้บรรลุธรรมหลุดพ้นจากกิเลส ทั้งหมดเป็นเรื่องของอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย  และ อกุศลธรรมที่ส่งเสริมให้อกุศลธรรมอื่นๆ เกิดมากขึ้น พอกพูนมากขึ้น คือ ความเห็นผิด ซึ่งเป็นความเป็นสิ่งที่ผิดประการหนึ่งใน ๑๐ ประการ  ซึ่งเมื่อมีอกุศลธรรมเหล่านี้ เสพคุ้น พอกพูนมากขึ้น ก็เป็นทำให้พลาดจากการเกิดในสวรรค์ พลาดจากการบรรลุมรรคผล ตามข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย  ทสกนิบาต มิจฉัตตสูตร ว่า   

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยมิจฉัตตะ จึงมีการพลาดจากสวรรค์และมรรคผล ไม่มีการบรรลุสวรรค์และมรรคผล เพราะอาศัยมิจฉัตตะอย่างไร จึงมีการพลาดจากสวรรค์และมรรคผล ไม่มีการบรรลุสวรรค์และมรรคผล  

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีความเห็นผิด ย่อมมีความดำริผิด ผู้มีความดำริผิด ย่อมมีวาจาผิด ผู้มีวาจาผิด ย่อมมีการงานผิด ผู้มีการงานผิด ย่อมมีการเลี้ยงชีพผิด ผู้มีการเลี้ยงชีพผิด ย่อมมีความพยายามผิด ผู้มีความพยายามผิด ย่อมมีความระลึกผิด ผู้มีความระลึกผิด ย่อมมีความตั้งมั่นผิด ผู้มีความตั้งมั่นผิด ย่อมมีความรู้ผิด ผู้มีความรู้ผิด ย่อมมีความหลุดพ้นผิด  

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยมิจฉัตตะ อย่างนี้แล จึงมีการพลาดจากสวรรค์และมรรคผล ไม่มีการบรรลุสวรรค์และมรรคผล”


 พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง  แสดงถึงสิ่งที่มีจริง ๆ  เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรม แม้ในเรื่องของอกุศลธรรมทั้งหลาย  พระองค์ก็ทรงแสดงไว้เป็นอันมาก เพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริงว่าเป็นธรรมที่มีจริง เป็นธรรมที่มีโทษ ให้ผลเป็นทุกข์ ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ เลยแม้แต่น้อย   เมื่อได้ฟังได้ศึกษาแล้ว ก็จะเข้าใจอย่างถูกต้อง ไม่หลงผิด ไม่เข้าใจผิด ไม่ดำเนินไปในทางที่ผิด แม้แต่ในเรื่องของความเป็นสิ่งที่ผิด ๑๐ ประการ (มิจฉัตตะ) ก็เช่นเดียวกัน เมื่อได้เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็รู้ได้เลยว่า ทางใดก็ตามที่ไม่ใช่ทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา ก็เป็นทางผิด ไม่ทำให้ปัญญาเจริญขึ้น   มีแต่จะทำให้อกุศลธรรมทั้งหลายเกิดสะสมพอกพูนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ซึ่งเมื่อมีความเห็นผิดแล้ว ก็จะมีความประพฤติเป็นไปผิดทั้งหมด ทั้งกาย วาจา ใจ คล้อยไปตามความเห็นที่ผิด คิดก็ผิด เป็นเหตุให้ทำอกุศลกรรมประการต่างๆ มากมายคล้อยไปตามความเห็นที่ผิด ในพระไตรปิฎกมีการเปรียบเทียบให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กาย วาจา ใจที่คล้อยตามความเห็นผิดของผู้ที่มีความเห็นผิด นั้น ย่อมเป็นไปเพื่อผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าชอบใจ ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพราะเหตุว่าเป็นกุศลธรรม นำมาซึ่งทุกข์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เหมือนกับเมล็ดสะเดาก็ดี เมล็ดบวบขม ก็ดี เมล็ดน้ำเต้าขม ก็ดี ที่บุคคลหมกไว้ในดินที่ชุ่มชื้น รสดิน รสน้ำที่มันถือเอาทั้งหมด  ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นของขม เพื่อเผ็ดร้อน เพื่อไม่น่ายินดี เท่านั้น และเพราะมีความเห็นผิดนี้เอง จึงทำให้เข้าใจผิดว่าตนเองมีความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง จนถึงมีความสำคัญผิดว่า ตนเองได้บรรลุธรรมดับกิเลสได้แล้ว ซึ่งมีโทษมากทีเดียว นี้คือความเป็นไปของสภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรม มีความเห็นผิด เป็นต้น ซึ่งเป็นธรรมที่ผิด ไม่ใช่ความถูกต้อง บุคคลผู้ที่มีความเห็นผิด มีการปฏิบัติผิด  ย่อมไม่สามารถที่จะพ้นไปจากวัฏฏะได้ มีแต่จะเพิ่มพูนการปฏิบัติผิดนั้นยิ่ง ๆ ขึ้นจนยากที่จะแก้ไข และ ที่น่ากลัวอีกอย่างหนึ่ง คือ เมื่อตนเองมีความเห็นผิดแล้ว ยังชักชวนให้ผู้อื่นมีความเห็นผิดตามไปด้วย เผยแพร่ความเห็นที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ยิ่งจะทำให้ผู้อื่นเกิดความเห็นผิดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่เป็นประโยชน์แก่ใครๆ เลย ทำให้คนหมู่มากออกจากคำจริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่จะต้องคิดพิจารณาที่จะให้เป็นสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูก) อยู่เสมอ เพื่อให้พ้นจากความเห็นผิด เพราะว่าความเห็นผิดนี้สำหรับผู้ที่มีอวิชชาและตัณหาแล้ว เกิดไม่ยากเลย คือ ย่อมมีความพอใจที่จะเห็นผิดไปต่างๆ นานา ได้ การจะพ้นจากความเห็นผิดได้นั้น  ต้องอาศัยการพิจารณาเหตุผลที่ถูกต้องสมควรจริงๆ ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมปัญญาซึ่งเป็นความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปตามลำดับ ความเข้าใจพระธรรมจะเป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายความเห็นผิด ความไม่รู้ และกิเลสทั้งหลาย เป็นเครื่องป้องกันไม่ให้ตกไปในฝ่ายที่ผิดอย่างแท้จริง      

ขณะที่ฟังพระธรรม เป็นการสะสมความเข้าใจถูก เริ่มที่จะมีความเห็นถูก จนกว่าจะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นๆ โดยที่จะต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา การที่ค่อยๆ เข้าใจธรรมเพิ่มขึ้นๆ นั้นดีกว่าที่จะไม่มีหนทางเลย ขณะที่ยังวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ นั้น ก็เหมือนกับการตกไปในเหวลึก เมื่อตกไปในเหวลึกแล้ว ก็ควรพยายามหาทางที่จะค่อยๆ ไต่ขึ้นมาทีละนิดทีละหน่อย ซึ่งก็เหมือนกับการที่เราเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อยจากการฟัง การศึกษาพระธรรมเป็นในชีวิตประจำวัน นั่นเอง เป็นหนทางเดียวที่จะเกื้อกูลให้ค่อยๆพ้นจากความเห็นผิด และ พ้นจากความเป็นสิ่งที่ผิดทั้งหมด และประการที่สำคัญ เราไม่สามารถที่จะทราบได้เลยว่า โอกาสที่เราจะเข้าใจธรรมในชาตินี้ จะเหลืออีกเท่าใด เพราะฉะนั้นแล้ว เวลาที่เหลืออยู่นี้จึงเป็นเวลาที่มีค่าที่สุดในการที่จะทำให้ตนเองมีความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น ไม่ประมาทในการฟังพระธรรม ซึ่งยากที่จะได้ฟัง และ ยากที่จะเข้าใจ แต่ไม่เหลือวิสัย เพราะเมื่อไม่ขาดกาฟังพระธรรม เห็นประโยชน์ของพระธรรม ฟังบ่อยๆ เนือง ๆ ความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น.

 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ