ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๒๑
~ ที่จะไม่ให้มีใครโกรธกันเลย ไม่ขัดใจกันเลย เป็นไปได้ไหม แม้แต่ในระหว่างสัตบุรุษ ก็คงจะมีเหตุการณ์ที่จะทำให้ขุ่นข้องหมองใจกันบ้าง แต่ก็กลับเชื่อมกันได้สนิทโดยเร็ว นี่คือผู้ที่เป็นบัณฑิต ผู้ที่เห็นว่า แล้วก็ตาย คือ ทุกคนที่เกิดมา จะรัก จะชังกันมากสักเท่าไร แล้วก็ตาย แล้วก็ลืมหมดทุกอย่างในชาตินี้ แต่ในระหว่างที่ยังไม่ตาย ยังไม่ลืมก็ยังจำไว้ แต่ว่าจะจำโดยฐานะของบัณฑิต หรือว่าจะจำโดยฐานะของคนพาล
ถ้าโดยฐานะของบัณฑิต แม้ว่าไม่ลืมเรื่องนั้น แต่ก็สามารถจะอภัยให้ได้ แล้วก็แม้วิวาทกันก็กลับเชื่อมกันได้สนิทโดยเร็ว สังเกตดูในระหว่างบัณฑิต มีการอภัยให้กัน มีการเป็นมิตรสหายกันอีกได้ มีการเกื้อกูลกันต่อไปได้ นั่นคือผู้ที่เข้าใจธรรม
~ ในขณะที่กุศลก็ค่อยๆ สะสมเพิ่มพูนขึ้นทีละน้อย อกุศลที่ยังไม่ได้ดับ ก็ยังมีปัจจัยที่จะเกิด เพราะฉะนั้น ผู้ที่กำลังขัดเกลากิเลสจึงเห็นกิเลส แล้วก็ขัดเกลากิเลส แล้วก็เห็นกิเลส แล้วก็ขัดเกลากิเลส ก็จะต้องเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
~ สำหรับผู้มีปัญญา จะพิจารณาชีวิตของตนเองในชาติหนึ่งๆ ได้ว่า ทุกสถานการณ์ต้องมีความอดทนอย่างมาก อดทนที่จะไม่เศร้าโศก อดทนที่จะไม่ขุ่นเคืองใจ เสียใจ น้อยใจในการกระทำในคำพูดของบุคคลอื่นในทุกสถานการณ์
~ ถ้าจะไม่ให้ความโกรธเกิดอีกเลย ต้องเป็นพระอนาคามีบุคคล ถ้ายังไม่เป็นพระอนาคามีบุคคล มีเหตุปัจจัยที่ความขุ่นเคืองหรือความโกรธจะเกิด ก็เกิด แต่ความโกรธหรือความขุ่นเคืองที่เกิดขึ้นนั้น ดับ เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรที่จะผูกโกรธ ถ้ามีเมตตาเกิดขึ้นในขณะนั้น ก็คือรู้ว่า เป็นสิ่งที่ทุกคนเหมือนกัน มีความผิดพลาด ไม่ใช่ว่าเราเท่านั้นที่จะเป็นคนที่ไม่ผิด แต่ว่าเราก็ต้องผิดเหมือนกัน และเวลาที่เราผิด คนอื่นอภัยให้ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อคนอื่นผิด เราก็อภัยให้เขาได้เหมือนกัน
~ ความเป็นภิกษุ ต้องหมายความถึงสภาพของจิตที่สามารถจะสละความเกี่ยวข้องในเรื่องของบ้านเรือน ในเพศของคฤหัสถ์ ไม่มีการดูโทรทัศน์หรือว่าเรื่องรื่นเริงบันเทิงต่างๆ ต้องเป็นผู้สามารถตัดความผูกพันนั้นได้จริงๆ เพราะเหตุว่าความเป็นภิกษุ ก็เป็นสภาพจิตที่สูงกว่าคฤหัสถ์
~ ถ้าสามารถที่จะอดทนได้ในขณะนั้น โทสะก็ไม่เกิด วาจาที่ไม่ดีก็ไม่มี แม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่มี ไม่ต้องกล่าวถึงวาจาที่รุนแรง แม้แต่เพียงคำเล็กน้อยที่เกิดจากใจที่โกรธ ก็ไม่มี
~ ค่อยๆ อดทนไปทีละเล็กทีละน้อย ทีหลังก็จะเป็นผู้ที่มีความอดทนเพิ่มขึ้น แล้วอดทนดีไหม แต่ถ้าอดทนได้ดีไหม? ต้องคิดถึงประโยชน์ก่อนที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด เราต้องพิจารณาประโยชน์ของสิ่งนั้น เมื่อเห็นว่าเป็นประโยชน์ ก็จะทำให้เราค่อยๆ เพิ่มความอดทนขึ้น
~ เป็นความละเอียดของจิต ซึ่งจะต้องระวังว่า สำหรับผู้ฟัง ถ้าฟังแล้วก็เกิดอกุศลไปใหญ่โต เพราะฉะนั้นผู้พูดก็ยุติเสีย เพื่อจะไม่ให้ผู้ฟังเกิดอกุศลมากไปอีก
~ เพียงอกุศลธรรมอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ก็เป็นเครื่องเตือนให้ระลึกได้ว่า แม้อกุศลธรรมอื่นๆ ก็ยังมีอยู่มากด้วย จึงเป็นผู้ที่จะเห็นความน่ารังเกียจของอกุศลธรรม ซึ่งมีอยู่ในตนได้ เพราะเหตุว่ามักจะรังเกียจอกุศลธรรมที่มีอยู่ในบุคคลอื่น แต่ว่าผู้ที่ฉลาดจะต้องเป็นผู้ที่รังเกียจอกุศลธรรมที่มีอยู่ในตน
~ ถ้าเกิดหิริ ความรังเกียจในอกุศลกรรม แล้วก็เกิดโอตตัปปะ การเห็นภัย เห็นโทษของอกุศลกรรม ก็จะเป็นปัจจัยให้เจริญกุศลยิ่งขึ้น
~ การอบรมเจริญปัญญาจะทำให้กิเลสอ่อนกำลังในการที่จะก่อตัวขึ้น คือ ไม่มีใครชนะกิเลสได้จริงๆ แต่ว่าการสะสมปัญญาไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้กิเลสอ่อนกำลังได้ในการที่จะก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็จะทำให้ช้าลง หรือแทนที่จะก่อตัวขึ้นอย่างรุนแรง ก็ทำให้การก่อตัวนั้นลดกำลังลงได้
~ พระธรรมทั้งหมดเพื่อไม่ประมาท เพื่อเข้าใจถูกว่า กิเลสมีมาก และการค่อยๆ เข้าใจธรรมเป็นหนทางดีที่ทำให้สามารถละกิเลสได้ ถ้าใครคิดว่า ละได้โดยไม่เข้าใจธรรม ผู้นั้นเข้าใจผิด
~ ข้อความในพระไตรปิฎกทั้งหมด เกื้อกูลต่อการที่จะให้กุศลจิตเกิด แม้แต่ข้อความที่ว่า พาลธรรมเป็นไฉน คือ อหิริกะ (ความไม่ละอายต่ออกุศล) อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวต่ออกุศล) ซึ่งทำให้ทุกท่านที่เคยมองคนอื่นว่าเป็นพาล ได้รู้สึกตัวว่า แท้จริงตัวท่านเอง ในขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นเป็นพาลแล้ว ไม่ต้องคำนึงถึงบุคคลอื่นเลยว่า จะเป็นคนพาลระดับไหน นั่นก็แล้วแต่ว่าอกุศลธรรมระดับไหนจะเกิด เป็นเรื่องของบุคคลอื่น แต่สำหรับเรื่องของตัวท่านเอง เป็นบัณฑิตหรือว่าเป็นพาลในขณะไหน ขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นเป็นพาล ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นจึงเป็นบัณฑิต
เพราะฉะนั้น สำหรับท่านเอง วันหนึ่งเป็นพาลมาก หรือเป็นบัณฑิตมาก แทนที่จะเป็นคนอื่น นี่คือประโยชน์ของการศึกษาพระธรรม เพื่อพิจารณาน้อมนำที่จะขัดเกลากิเลสทุกประการ
~ ธรรมเป็นเรื่องตรง และเป็นเรื่องอุปการะทุกชีวิตที่สามารถเจริญขึ้นในกุศลธรรม ด้วยปัญญา ความเห็นที่ถูกต้อง แต่ถ้าเข้าใจไม่ถูกต้องเพราะไม่รู้ ก็ทำทุกอย่างด้วยความไม่รู้ เพราะด้วยความไม่รู้จึงเป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง เป็นอกุศลประเภทต่างๆ บ้าง
~ กรรมที่ทำสำเร็จแล้วใครจะไปยกโทษให้ ก็ไม่ได้ แต่ว่าเมื่อได้กระทำกรรมแล้ว จิตใจก็ขุ่นมัว ไม่สงบ เดือดร้อน และรู้สึกตนว่าได้กระทำผิด แล้วก็ยังสามารถที่จะขอให้ผู้อื่นยกโทษให้ การที่จะขอโทษใครบางคนยากมากเลย ทำไม่ได้ ก็มีตัวอย่างมากมายพอสมควรที่แสดงให้เห็นว่าทำไม่ได้จริงๆ แม้แต่จะขอโทษ แต่ขณะใดก็ตามที่รู้ว่าสิ่งใดเป็นโทษแล้วเห็นโทษตามความเป็นจริง และถ้าได้กระทำผิดต่อผู้ใดก็ได้กล่าวความจริงให้คนนั้นได้ทราบว่าผิดไปที่ได้กระทำสิ่งนั้น ซึ่งเมื่อได้กล่าวอย่างนี้แล้วก็หมายความว่าต่อไปนี้ก็จะไม่กระทำอย่างนั้นอีก ทำให้เขาคลายความไม่สบายใจ แต่ว่าแล้วแต่กรรมที่ได้กระทำว่าเป็นกรรมที่จะทำให้เกิดผลแค่ไหน มาก น้อย ก็ต้องเป็นไปตามผลของกรรม เพราะเหตุว่าใครก็ยกโทษให้ไม่ได้
~ ทุกชาติที่ทุกท่านฟังพระธรรม ก็เพื่อที่จะรู้ธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ถ้าท่านรู้ธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตามปกติ ตามความเป็นจริง จะไม่มีความสงสัยใดๆ เลยทั้งสิ้นว่า ทำไมบุคคลนั้นเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาจบลง จึงสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่รู้ธรรมทั้งหมดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง
~ พระพุทธศาสนาเป็นคำสอนที่ทำให้ผู้ฟังเกิดปัญญาของตัวเอง ไม่ใช่ให้เกิดความไม่รู้เลย ยิ่งศึกษาก็จะต้องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม และเหตุผลของสภาพธรรมนั้นๆ ยิ่งขึ้น จึงจะเป็นพระพุทธศาสนา คือ เป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
~ จุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรมคืออะไร? เป็นของธรรมดาสำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้นเวลาใดที่กิเลสประเภทใดเกิดขึ้น ก็จะเป็นไปตามกิเลสนั้น แต่พระธรรมที่ได้ทรงแสดง ก็จะเตือนให้รู้ว่า การศึกษาพระธรรมนั้นเพื่อประโยชน์อะไร เพื่อที่จะได้กลับมาสู่จุดประสงค์ที่ถูกต้อง
~ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อละอกุศลธรรมทั้งหมดเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) ถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งประกอบด้วยพระญาณต่างๆ ที่สามารถจะเกื้อกูลอนุเคราะห์สัตว์โลก ด้วยการทรงแสดงธรรมให้ผู้ฟังสามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตาม จนกระทั่งดับกิเลสได้หมดสิ้นเช่นเดียวกับพระองค์
~ คงไม่ลืมว่า กิเลสแต่ละวันเกิดหรือเปล่า? เกิด, เกิดน้อยหรือมาก? มาก แต่ที่มากกว่านั้นอยู่ในจิต ที่ยังไม่ปรากฏ ยังไม่เกิดขึ้น ยังหยั่งไม่ได้เลย เพราะกิเลสนั้นๆ เมื่อยังไม่ใช่ผู้ประเสริฐที่ดำเนินหนทางที่ประเสริฐ ก็ดับกิเลสไม่ได้เลย
~ สัตว์โลกหนาแน่นด้วยกิเลสและความไม่รู้ อย่างไรก็ไม่สามารถที่จะไปรู้แจ้งธรรมตามลำพังด้วยตัวเอง แต่ต้องอาศัยการฟังพระธรรม แล้วมีความเข้าใจไปตามลำดับขั้น ขั้นฟังไม่ใช่ขั้นประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้ไม่ประมาทในการฟัง
~ เมื่อเห็นประโยชน์ของกุศล ก็ไม่ละเลย แต่ว่าพากเพียรที่จะเจริญกุศลยิ่งขึ้น ก็จะทำให้เป็นอุปนิสสยปัจจัยในทางกุศลเพิ่มขึ้น อาศัยแต่ละขณะจิตซึ่งกุศลจิตเกิด จะทำให้ทางฝ่ายอกุศลจิตเบาบางลง.
ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๒๐
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.คำปั่น ด้วยค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนาครับ
กราบขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.คำปั่น ด้วยค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ