การศึกษาพระอภิธรรมปิฎก
โดย Thanpisitsit@gmail.com  17 ส.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 35484

มีคำถามครับ

โดยปกติที่มูลนิธิ จะมีการศึกษาพระธรรมะครอบคลุมทั้งพระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม

ในส่วนของพระสูตรก็มีการยกข้อความในพระสุตตันตปิฎกมาแสดงในวันเสาร์เช้า ในส่วนของพระวินัย ก็มีการยกข้อความในพระวินัยปิฎกมาแสดงในวันอาทิตย์เช้าเช่นกัน

แต่การศึกษาปรมัตถธรรม จิต เจตสิก รูป ซึ่งเป็นส่วนของพระอภิธรรมนั้น มักจะศึกษาโดยใช้ หนังสือปรมัตถธรรมสังเขป เป็นหลัก ไม่ค่อยเห็นมีการยกข้อความในพระอภิธรรมปิฎกมาแสดง เลยสงสัยว่าพระอภิธรรมปิฎกนั้นยากเกินวิสัย หรือเป็นเพราะเหตุใดครับ

ขอบคุณครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 17 ส.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

หากได้เป็นผู้ฟังการสนทนาปรมัตถธรรมในช่วงปกติที่มีการสนทนาในวันเสาร์ ก็จะมีการยกข้อความในพระไตรปิฎก ที่เป็นส่วนของพระอภิธรรมด้วยครับ ในการสนทนาอธิบายประกอบ และ ในความเป็นจริง หนังสือปรมัตถธรรม ก็จะมีการยกข้อความในพระไตรปิฎกในส่วนของพระอภิธรรมประกอบด้วย ครับ

พระอภิธรรมปิฏก

เกี่ยวกับสภาพธรรม พร้อมทั้งเหตุและผลของธรรมทั้งปวง โดยไม่มีสัตว์ บุคคล เพราะแสดงแต่สภาพธรรมตามความเป็นจริง

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจก่อนว่า พระอภิธรรม เป็นธรรมที่มีจริง ละเอียดโดยความเป็นธรรม ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้สภาพธรรมที่เป็นพระอภิธรรม ตามความเป็นจริง แล้วทรงแสดงให้สัตว์โลกได้เข้าใจตามความเป็นจริง พระอภิธรรม จึงไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวัน เป็นธรรมที่มีจริงในขณะนี้ เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรสรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย คิดนึก กุศล อกุศล เป็นต้น นี้แหละ คือ พระอภิธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน พระอภิธรรมจึงไม่ได้อยู่ในตำรา

เชิญอ่านคำบรรยาย ท่าน อ.สุจินต์ในประเด็นที่ถาม ดังนี้

พระอภิธรรมเหมาะกับทุกคน

ถาม ผมได้ยินคนอื่นปรารภตั้งคำถามมาก่อน ก่อนที่ผมจะมาสงสัย สงสัยว่าทำไม เพราะเหตุใดในธรรมหลายๆ เรื่อง พระพุทธเจ้าท่านสอนแต่ลูกศิษย์หลายๆ คนสอนพระอรหันตสาวกหลายๆ รูป หรือสอนคนเป็นหมู่มาก แต่เรื่องทำไมเรื่องนี้ ท่านสอนมนุษย์ ท่านเลือกสอนตัวต่อตัว เฉพาะท่านสาลีบุตร ทำไมท่านไม่เลือกอรหันตสาวกที่เป็นหมู่มากๆ หรือสาธารณะชนทั่วไป ทำไมท่านสอนคนเดียว เพราะอะไรครับ

อ.สุจินต์ ที่จริงถ้าเทียบปัญญาของบุคคลในครั้งนั้น กับปัญญาของบุคคลในครั้งนี้จะเห็นว่าต่างกันมากทีเดียว ในสมัยโน้นมีพระอรหันต์มาก มีพระอนาคามี มีพระสกทาคามี มีพระโสดาบันมาก ถ้าท่านเหล่านั้นไม่เข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่เพียงได้ฟังพระธรรมสั้นๆ บางท่านที่เป็นอุคฆฏิตัญญูบุคคล รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ และบางท่านก็ต้องฟังมากละเอียดมาก อบรมมาก นานมาก ผู้เป็นเนยยบุคคล ทั้งที่กล่าวมาก แสดงมาก ก็ยังจะต้องอบรมเจริญมาก

นี่แสดงให้ถึงความยากของธรรม เพราะฉะนั้นในครั้งโน้นพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมกับผู้ที่รับฟังแล้วสามารถที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้เป็นจำนวนมากมายทีเดียว แต่ว่าพระธรรมที่ยังเหลือถึงเรา แม้พระอภิธรรมปิฎกอยู่ในพระสุตตันตปิฎกทั้งหมด เพราะเหตุว่าถ้าจะกล่าวถึงในครั้งแรกของการที่ทำสังคายนา ก็จะเป็นการสังคายนาพระธรรมวินัยเท่านั้น ธรรมก็คืออภิธรรม โดยที่ว่าเป็นธรรมล้วนๆ แต่ว่าท่านสอนกันมาในเรื่องของสภาพธรรมจนกระทั่งถึงครั้งสังคายนา แล้วหลังจากนั้นก็จึงได้จำแนกออกอีกครั้งหนึ่ง ให้เป็น ๓ ปิฎก คือ เฉพาะหัวข้อ หรือธรรมล้วนๆ เป็นพระอภิธรรมปิฎก แต่ว่าผู้ที่ฟังธรรม ถ้าไม่เข้าใจอภิธรรม หรือว่าไม่เข้าใจธรรม ไม่สามารถจะรู้แจ้งสภาพธรรมได้เลย เพราะว่าเป็นเรื่องราวก็มีในพระสูตร เช่นได้ทรงแสดงธรรมกับบุคคลนั้นบุคคลนี้ แต่ว่าผู้ฟังสามารถที่จะแทงตลอดอริยสัจธรรม

นี่แสดงให้เห็นว่า พื้นปัญญาของท่านเหล่านั้นมีมาก ไม่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงอะไร ผู้นั้นเข้าใจธรรม รู้ว่าเป็นธรรม แต่ว่าคนในสมัยนี้ฟังดูเหมือนไม่ใช่อภิธรรมหรือว่าเหมือนไม่ใช่ธรรม เช่น พูดถึงเรื่องโลภะ คนในครั้งนั้นทราบเลยทันที รู้ได้ทันทีว่านั่นคือธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา แต่คนยุคนี้สมัยนี้ ต้องแสดงว่าเป็นเจตสิก หรือว่าเป็นสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมอะไรต่างๆ

นี่แสดงให้เห็นว่า ระดับขั้นของปัญญาของการฟังธรรมที่อบรมมานั้นต่างกัน ถ้าผู้ที่สามารถที่จะเข้าใจได้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม บรรลุกันเยอะแยะ อย่างนั้นก็สะดวก หมายความว่ามีพื้นปัญญาพร้อมที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม

ผู้ถาม ถ้าเช่นนั้น ขออนุญาตท่านอาจารย์สรุปนิดหนึ่งว่า อภิธรรมเหมาะสมที่จะเรียนกันเฉพาะผู้ที่มีปัญญาเพียงเท่านั้น หรือว่าเหมาะสมสำหรับผู้ที่มีปัญญาน้อยด้วย

สุ. ทุกคนค่ะ อย่าปิดกั้นตัวเอง เพราะว่าทุกคนจะต้องอบรมเจริญปัญญาขึ้น ถ้าเรารู้ว่า เราไม่มีปัญญา เราควรจะเรียนไหม ถ้าเรามีปัญญาแล้ว อย่างท่านพระอรหันต์ทั้งหลาย หรือแม้แต่ท่านพระอานนท์ ท่านพระสารีบุตร เวลาว่างท่านก็สนทนาธรรม แสดงว่าชีวิตของท่าน ท่านเห็นประโยชน์ หรือคุณค่าของธรรมของพระธรรมมากทีเดียวว่า สิ่งที่มีประโยชน์ที่สุดคือการที่จะได้เข้าใจธรรม

สมนึก จะกราบเรียนท่านอาจารย์ว่า ผมสงสัยว่าการศึกษาพระอภิธรรม ตามความเข้าใจของผมคิดว่า น่าจะศึกษาสำหรับบุคคลที่มีปัญญาน้อย เพื่อที่จะมีโอกาสเข้าใจสภาพธรรมที่ยากแล้วก็เข้าใจได้ลึกซึ้งขึ้น ถ้าเราสามารถจะศึกษาพระอภิธรรมเป็นพื้นฐาน รายละเอียดต่างๆ ทีละเล็กละน้อย ให้เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่รู้ได้ยากขึ้น

สุ. ที่กล่าวว่าทุกคน หมายความถึงทุกคนที่สนใจ และพร้อมที่จะรับฟังพระธรรม เพราะเหตุว่าถ้าจะไปบอกว่า ทุกคนควรศึกษา แต่คนนั้นไม่เห็นประโยชน์เลย อย่างไรๆ เขาก็ไม่ศึกษา เพราะฉะนั้นผู้ที่จะศึกษาคือผู้ที่มีปัญญาแล้ว แล้วก็เป็นผู้ที่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงด้วยว่า ปัญญาที่มีอยู่นี้ยังไม่พอ นี่สำคัญที่สุด คือถ้าใครคิดว่ามีปัญญาพอแล้ว ไม่มีใครจะเป็นอย่างนั้นได้ พระอรหันต์ไม่มีกิจที่จะต้องทำอีกแล้ว แต่ชีวิตของท่าน ท่านก็ยังสนทนาธรรมกัน

นี่ก็แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของพระธรรม ซึ่งทุกคนควร แต่ว่าเมื่อพูดว่าทุกคนควรไม่ได้หมายความว่าทุกคนทำ แล้วแต่การสะสมของบุคคลนั้นว่า จะมีความสนใจ และจะมีการเห็นประโยชน์ไหม แต่ทั้งหมดของพระพุทธศาสนา คือ ให้ผู้ฟังหรือพุทธศาสนิกชนเกิดปัญญาของตนเอง นี่คือพระมหากรุณาที่ทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์ของผู้ฟัง คือ เพื่อให้เกิดปัญญาของผู้ฟังเอง แล้วก็ค่อยๆ เจริญขึ้นด้วย

สมนึก ผมไม่ทราบว่าจะเข้าใจที่ท่านอาจารย์เข้าใจหรือเปล่า ผมรู้สึกว่าท่านอาจารย์อธิบายเมื่อกี้ หมายความว่าถ้าคนไหนสนใจธรรมแล้ว สามารถที่จะทราบพระอภิธรรมได้ ใช่ไหมครับ

สุ. ที่ถามว่า ควรเรียนพระอภิธรรมไหม ใครควรเรียน ดิฉันก็บอกว่าทุกคนควร เพราะว่าทุกคนไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็ควรจะรู้ ไม่ใช่ว่าทุกคนรู้แล้ว แต่ทุกคนไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็ควรเรียน แล้วคนที่รู้ รู้หมดหรือยังรู้ทั่วหรือยัง จบเป็นพระอรหันต์หรือยัง ถ้ายังไม่เป็นอย่างนั้นก็ต้องเรียนทั้งนั้น ไม่ว่าใคร จะรู้น้อยรู้มากก็ควรจะเรียน แม้แต่พระอรหันต์ท่านก็ยังสนทนาธรรมกัน ก็แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของธรรมที่จะเกื้อกูลต่อไป ไม่ใช่แต่เฉพาะตัวเอง ยังสามารถที่จะเกื้อกูลบุคคลอื่นต่อๆ ไปด้วย

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 17 ส.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ไม่ว่าจะเป็นพระสูตร พระวินัย หรือพระอภิธรรม ก็ละเอียดลึกซึ้ง ยาก ทั้งนั้น แต่ไม่เหลือวิสัยสำหรับผู้ที่เห็นประโยชน์เห็นคุณค่า เมื่อค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ พิจารณาไตร่ตรองในคำที่ได้ยินได้ฟัง ความเข้าใจถูกเห็นถูกก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น
ในการสนทนาธรรม ในช่วงเวลาปกติของ มศพ. (ที่ยังไม่มีการระบาดของไวรัสโควิด) ทั้งเสาร์และอาทิตย์ มีครบ ทั้ง ๓ ปิฎก (วันเสาร์ ช่วงเช้า สนทนาพระสูตร ช่วงบ่าย สนทนาปรมัตถธรรม, วันอาทิตย์ ช่วงเช้า สนทนาพระวินัย และ สนทนาพื้นฐานพระอภิธรรม ช่วงบ่าย สนทนาพื้นฐานปัจจัยสภาพธรรม และ สนทนาเรื่องปฏิบัติธรรม) และที่สำคัญ ไม่ว่าจะยกข้อข้อความใดมา ก็ไม่พ้นไปจากเพื่อให้เข้าใจความเป็นจริงของของสิ่งที่มีจริง ที่เป็นธรรม ที่ละเอียดลึกซึ้ง ปฏิเสธความเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นตัวตนอย่างสิ้นเชิง
สำหรับ คำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ท่านอาจารย์ก็จะยกข้อความทั้งในส่วนของพระสูตร ในส่วนของพระวินัย ในส่วนของพระอภิธรรม และอรรถกถา ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่ท่านอาจารย์ได้บรรยายอยู่ โดยตลอด เพื่อประโยชน์ให้ผู้ฟังผู้ศึกษา ได้มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ซึ่งทุกท่านที่ได้ฟังรายการแนวทางเจริญวิปัสสนา ตั้งแต่ต้น ก็จะทราบได้เป็นอย่างดี ครับ



ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เกี่ยวกับการศึกษาพระอภิธรรม ดังนี้

"บางคนอาจจะกลัวว่า พระอภิธรรมปิฏกยากมาก และไม่มีโอกาสได้ฟังบ่อย แต่เมื่อเข้าใจความหมายของธรรมว่า ธรรมคือทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงๆ และการที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ได้ถูกต้องนั้นมีหนทาง เดียวคือศึกษาพระอภิธรรม เพราะอีกนัยหนึ่งนั้น อภิธรรมเป็นธรรมส่วนละเอียดจริงๆ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงจากการตรัสรู้ คือประจักษ์แจ้งสัจจธรรม ความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ

ผู้ที่ไม่ศึกษาพระอภิธรรมนั้น อาจจะเพราะคิดว่าพระอภิธรรมละเอียดมากเกินไป แต่ถ้าเข้าใจว่าอภิธรรมคือเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังคิดนึก กำลังได้ลาภ กำลังเสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ การเจ็บ การตาย ไม่พ้นไปจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โลกทั้งหมดจะกี่โลกก็ตาม โลกพระจันทร์ หรือพรหมโลก ก็ไม่พ้นไปจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน เกิดเป็นสัตว์ เป็นเทพ ก็มีตา มีหู ฯลฯ ไม่พ้นไปจาก ๖ โลกนี้เลย ฉะนั้น ๖ โลกนี้คือพระอภิธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยละเอียด การศึกษาพระอภิธรรมจึงเป็นการศึกษาที่ทำให้ค่อยๆ รู้จักตัวเอง รู้จักโลกตามความเป็นจริง เป็นสัจจธรรม


ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ
ธรรมไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน

ธรรมคืออะไร
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย chatchai.k  วันที่ 17 ส.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย petsin.90  วันที่ 17 ส.ค. 2564

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย chatchai.k  วันที่ 30 ส.ค. 2565

ในการศึกษาพระอภิธรรม ต้องรู้ว่า จุดประสงค์คือเพื่ออะไร

การฟังพระธรรมเพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ และที่ชื่อว่า อภิธรรม ก็คือว่าเป็นธรรมส่วนละเอียด ที่จะทำให้เห็นจริงว่า สภาพธรรมเหล่านี้ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะเหตุว่าก่อนที่จะฟังพระธรรม ก็ยึดถือสภาพธรรมทั้งหมดว่าเป็นเรา เป็นตัวตน ที่กำลังเห็น ก็เป็นเราเห็น ที่กำลังได้ยิน ก็เป็นเราได้ยิน ที่กำลังคิดนึก ก็เป็นเราคิดนึก ที่กำลังเป็นสุข เป็นทุกข์ ก็เป็นเรา นี่เป็นความเห็นผิด จึงศึกษาพระธรรมส่วนละเอียดที่เป็นพระอภิธรรม เพื่อที่จะให้เข้าใจได้จริงๆ ว่า ไม่มีสักขณะเดียวซึ่งเป็นตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

นี่คือขั้นฟัง ขั้นศึกษาให้เข้าใจจริงๆ แต่ไม่ใช่ขั้นประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้น การที่จะประจักษ์แจ้ง เป็นปัญญาขั้นที่ไม่ใช่เพียงขั้นการฟัง แต่ว่าเป็นปัญญาที่เจริญขึ้นจนกระทั่งสามารถแทงตลอดลักษณะเกิดดับของสภาพธรรมในขณะนี้ได้ ก็จะต้องอาศัยสติปัฏฐานที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยการฟังเข้าใจ จุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรมว่า ศึกษาเพื่อประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม เมื่อเข้าใจอย่างนี้ สติปัฏฐานจึงจะเกิดได้ มิฉะนั้นแล้วสติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้ ถ้าไม่เข้าใจจุดประสงค์ของการศึกษา และจุดประสงค์ของสติปัฏฐาน

ที่มา ... คลิกที่นี่