การอนุเคราะห์ การสงเคราะห์ [สังคหสูตร]
โดย วันชัย๒๕๐๔  27 ม.ค. 2553
หัวข้อหมายเลข 15288

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 117๒. สังคหสูตร ว่าด้วยสังคหวัตถุ ๔ ประการ

[๓๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังคหวัตถุ (ธรรมเป็นเครื่องสงเคราะห์) ๔ ประการนี้ สังคหวัตถุ ๔ ประการ คืออะไร คือ ทาน (การให้ปัน) ๑ เปยยวัชชะ (เจรจาไพเราะ) ๑ อัตถจริยา (บำเพ็ญประโยชน์ต่อกัน) ๑ สมานัตตตา (ความวางตนสม่ำเสมอ) ๑ นี้แล ภิกษุทั้งหลาย สังคหวัตถุ ๔ ประการ. การให้ปัน ๑ เจรจาไพเราะ ๑ บำเพ็ญประโยชน์ ๑ ความวางตนสม่ำเสมอ ในธรรมนั้นๆ ตามควร ๑ เหล่านี้แลเป็นธรรมเครื่องสงเคราะห์ในโลก เหมือนสลัก (ที่หัวเพลา) คุมรถที่แล่นไปอยู่ ฉะนั้น ถ้าธรรมเครื่องสงเคราะห์เหล่านี้ไม่มีไซร้ มารดาหรือบิดาก็จะไม่พึงได้รับความ นับถือหรือบูชาเพราะเหตุบุตร ก็เพราะเหตุที่บัณฑิตทั้งหลายยังเหลียวแลธรรมเครื่องสงเคราะห์เหล่านี้อยู่ เพราะเหตุนั้น บัณฑิตเหล่านั้น จึงได้ถึงความเป็นใหญ่ และเป็นที่น่าสรรเสริญ. จบสังคหสูตรที่ ๒



ความคิดเห็น 1    โดย วันชัย๒๕๐๔  วันที่ 27 ม.ค. 2553

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 118 อรรถกถาสังคหสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสังคหสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :- บทว่า สงฺคหวตฺถูนิ คือเหตุแห่งการสงเคราะห์กัน. ในบทว่าทานญฺจ เป็นอาทิ พึงทราบวินิจฉัยดังนี้. ก็บุคคลบางคนควรรับสงเคราะห์ด้วยทานอย่างเดียว ก็พึงให้ทานอย่างเดียวแก่เขา. บทว่า เปยฺยวชฺชํ คือพูดคำน่ารัก. จริงอยู่ บุคคลบางคนพูดว่า ผู้นี้ให้สิ่งที่ควรให้ แต่ด้วยคำๆ เดียว เขาก็พูดลบหลู่หมดทำให้เสียหาย เขาให้ทำไม ดังนี้. บางคนพูดว่า ผู้นี้ไม่ให้ทานก็จริง ถึงดังนั้น เขาก็พูดได้ระรื่นเหมือนเอาน้ำมันทา. ผู้เช่นนั้นจะให้ก็ตามไม่ให้ก็ตาม แต่ถ้อยคำของเขา ย่อมมีค่านับพัน. บุคคลเห็นปานนี้ย่อมไม่หวังการให้ ย่อมหวังแต่ถ้อยคำที่น่ารักอย่างเดียว ควรกล่าวแต่คำที่น่ารักแก่เขาเท่านั้น. บทว่า อตฺถจริยา คือพูดแต่เรื่องที่เป็นประโยชน์และทำความเจริญ. จริงอยู่ บางคนมิใช่หวังแต่ทานการให้ มิใช่หวังแต่ปิยวาจาถ้อยคำที่น่ารัก หากหวังแต่การพูดที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลการพูดที่ทำความเจริญแก่ตนถ่ายเดียว. พึงกล่าวแต่เรื่องบำเพ็ญประโยชน์แก่บุคคลผู้เห็นปานนั้นอย่างนี้ว่า ท่านควรทำกิจนี้ ไม่ควรทำกิจนี้ บุคคลเช่นนี้ควรคบ เช่นนี้ไม่ควรคบ. บทว่า สมานตฺตตา คือความเป็นผู้มีสุขมีทุกข์เสมอกัน. จริงอยู่บุคคลบางคน ย่อมไม่หวังสังคหวัตถุมีทานเป็นต้น แม้แต่อย่างหนึ่ง หากหวังความร่วมสุขร่วมทุกข์อย่างนี้ คือนั่งบนอาสนะเดียวกัน นอนบนเตียงเดียวกันบริโภคร่วมกัน. ถ้าเขาเป็นคฤหัสถ์ย่อมเสมอกันโดยชาติ บรรพชิตย่อมเสมอกันโดยศีล ความวางตนสม่ำเสมอนี้ ควรทำแก่บุคคลนั้น. บทว่า ตตฺถ ตตฺถ ยถารหํ ความว่า ความวางตนสม่ำเสมอใน ธรรมนั้นๆ ตามสมควร. บทว่า รถสฺสาณีว ยายโต ความว่า สังคหธรรมเหล่านี้ ย่อมยึดเหนี่ยวโลกไว้ได้ เหมือนสลัก (ที่หัวเพลา) ย่อมยึดรถที่แล่นไปอยู่ คือย่อมยึดยาน (คือรถ) ไว้ได้ฉะนั้น. บทว่า น มาตา ปุตฺตการณาความว่า ถ้ามารดาไม่พึงทำการสงเคราะห์เหล่านั้นแก่บุตรไซร้ ท่านก็ไม่พึงได้รับความนับถีอ หรือบูชา เพราะบุตรเป็นเหตุ. บทว่า สงฺคหา เอเตเป็นปฐมาวิภัติใช้ในอรรถทุติยาวิภัติ อนึ่ง ปาฐะว่า สงฺคเห เอเต ก็มี.บทว่า สมเวกฺขนฺติ คือ ย่อมพิจารณาเห็นโดยชอบ. บทว่า ปาสํสา จภวนฺติ คือ ย่อมเป็นผู้ควรสรรเสริญ. จบอรรถกถาสังคหสูตรที่ ๒


ความคิดเห็น 2    โดย yu_da2554hotmail  วันที่ 11 ก.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ