๑. ปริปุณณกเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระปริปุณณกเถระ
โดย บ้านธัมมะ  18 พ.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 40492

[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 429

เถรคาถา เอกนิบาต

วรรคที่ ๑๐

๑. ปริปุณณกเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระปริปุณณกเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 429

เถรคาถา เอกนิบาต วรรคที่ ๑๐

๑. ปริปุณณกเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระปริปุณณกเถระ

[๒๒๘] ได้ยินว่า พระปริปุณณกเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

สุธาโภชน์ มีรสตั้งร้อยที่เราบริโภคในวันนี้ ก็ไม่เหมือนอมตธรรมที่เราได้บริโภค พระธรรมอัน พระพุทธเจ้าผู้โคตมโคตร ทรงเห็นซึ่งธรรมหาประมาณมิได้ ทรงแสดงไว้แล้ว.

วรรควรรณนาที่ ๑๐

อรรถกถาปริปุณณกเถรคาถา

คาถาของท่านพระปริปุณณกเถระ เริ่มต้นว่า น ตถา มตํ สตรสํ. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำแล้ว ในพระพุทธเจ้าองค์ ก่อนๆ บังเกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า ธรรมทัสสี บรรลุถึงความเป็นผู้รู้แล้ว เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว ได้ทำการบูชาอย่างมโหฬาร ด้วยเครื่องสักการะไรดอกไม้เป็นต้น ที่เจดีย์ของพระศาสดา.


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 430

ด้วยบุญกรรมนั้น เขาบังเกิดในหมู่เทพทั้งหลาย กระทำบุญแล้ว ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่แต่ในสุคติภพอย่างเดียว เกิดในตระกูลแห่งเจ้าศากยะ ในพระนครกบิลพัสดุ์ ในพุทธุปบาทกาลนี้ ถึงความเป็นผู้รู้แล้ว ปรากฏนาม ว่า ปริปุณณกะ เพราะความเป็นผู้มีสมบัติบริบูรณ์.

เขาบริโภคอาหาร ชื่อว่า สตรส ตลอดกาลทั้งปวง เพราะเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมบัติ สดับข่าวว่า พระบรมศาสดาทรงเสวยพระกระยาหารที่ระคนกัน เกิดความสลดใจในสงสารว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้เป็นกษัตริย์ สุขุมาลชาติ ทรงเพ่งเล็งถึงความสุขในพระนิพพาน ทรงยังอัตภาพให้เป็นไป (ด้วยพระกระยาหาร) ตามมีตามได้ก่อน เพราะเหตุไร พวกเราจึงพากันละโมบในอาหาร จักต้องเป็นผู้มีอาหารที่บริสุทธิ์สะอาดด้วยเล่า สมควรที่พวกเราพึงแสวงหาความสุขคือนิพพานอย่างเดียว ดังนี้ ละฆรวาสวิสัย แล้วบวช ในสำนักของพระศาสดา อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนำในกายคตาสติ กรรมฐาน ดำรงอยู่ในกายคตาสติกรรมฐานนั้น การทำฌานที่ได้แล้วให้เป็นบาท กระทำกรรมในวิปัสสนา แล้วเจริญวิปัสสนากรรมฐาน บรรลุพระอรหัตแล้ว. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า

เมื่อพระองค์ผู้เป็นนาถะของโลก ทรงพระนาม ว่า ธรรมทัสสี ผู้ประเสริฐกว่านระ ปรินิพพานแล้ว เราได้ยกเสาธงขึ้นไว้ ที่เจดีย์ของพระพุทธองค์ผู้ประเสริฐที่สุด ได้ให้ช่างสร้างบันไดสำหรับประชาชน จะได้ขึ้นสู่พระสถูปอันประเสริฐ แล้วถือเอาดอกมะลิไปโปรยบูชาที่พระสถูป พระพุทธเจ้าน่าอัศจรรย์หนอ พระธรรมน่าอัศจรรย์หนอ ความถึง


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 431

พร้อมแห่งพระศาสดา น่าอัศจรรย์หนอ เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระสถูป ในกัปที่ ๙๔ แต่ภัทรกัปนี้ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช ๑๖ พระองค์ พระนามว่า "ถูปสิขะ" มีพลมาก. เราเผากิเลส ทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อจะเปล่งอุทานที่เปล่งออก ด้วยกำลังแห่งปีติ โดยมีความเคารพและความนับถืออย่างมากในพระธรรม ได้กล่าวคาถาว่า

สุธาโภชน์ มีรสตั้งร้อยที่เราบริโภคในวันนี้ ก็ไม่เหมือนอมตธรรมที่เราได้บริโภค พระธรรมที่พระพุทธเจ้าผู้โคตมโคตร ทรงเห็นซึ่งธรรมหาประมาณมิได้ ทรงแสดงไว้แล้ว ดังนี้.

บทว่า สตรสํ ได้แก่ โภชนะมีรสตั้ง ๑๐๐. บางอาจารย์กล่าวว่า โภชนะที่เขาจัดปรุงด้วยเนยใสที่หุงแล้วตั้ง ๑๐๐ ครั้งเป็นต้น ชื่อว่า สตรสโภชนะ โภชนะที่มีรสตั้ง ๑๐๐. อีกอย่างหนึ่ง ศัพท์ว่า สต มีอรรถเป็นอเนก ดังในประโยคมีอาทิว่า สตโส สหสฺสโส. เพราะเหตุนั้น โภชนะใดมีสูปะ เป็นอเนก มีโภชนะเป็นอเนก โภชนะนั้น ท่านเรียกว่า สตรส เพราะมีรส มิใช่น้อย. อธิบายว่า ได้แก่โภชนะที่มีรสต่างๆ กัน. ข้าวที่สะอาดนั่นเอง เรียกว่า สุธาโภชน์ ชื่อว่าเป็นอาหารของเทวดาทั้งหลาย.

บทว่า ยํ มยชฺช ปริภุตฺตํ ความว่า สุธาโภชน์ที่มีรสตั้ง ๑๐๐ ใด อันเราบริโภคแล้วในวันนี้. ก็บทว่า ยํ มยา ปริภุตฺตํ นี้ พึงประกอบเข้า แม้ในบทว่า สตรสํ สุธนฺนํ นี้ด้วย. ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ดังนี้ว่า


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 432

ก็นิพพานสุขใด อันสงบประณีตล่วงส่วนทีเดียว อันเราเสวยอยู่ในวันนี้ คือในบัดนี้ ด้วยสามารถแห่งการเข้านิโรธสมาบัติ นิพพานสุขนั้น อันเรารู้แล้ว คือกำหนดแล้ว ได้แก่อบรมดีแล้ว ฉันใด โภชนะมีรสตั้ง ๑๐๐ อันเราบริโภคแล้ว ในเวลาครองราชย์ก็ดี และสุธาโภชน์ที่เราบริโภคแล้ว ในอัตภาพของเทวดาก็ดี ก็ฉันนั้น ประมาณไม่ได้ คือกำหนดไม่ได้. เพราะเหตุไร เพราะนิพพานสุขนี้ อันพระอริยเจ้าทั้งหลายเสพแล้ว ไม่เป็นที่ตั้งแห่งกิเลสทั้งหลาย แต่โภชนะมีรสตั้งร้อยนั้น อันปุถุชนเสพแล้ว เป็นไปกับด้วยอามิส (และ) เป็นที่ตั้งของกิเลสทั้งหลาย โภชนะที่มีรสตั้งร้อยจึงไม่เข้าถึงการนับ คือไม่ถึงเสี้ยว ได้แก่ไม่เข้าถึงส่วนแห่งเสี้ยวของนิพพานสุขนั้น. บัดนี้ พระเถระเมื่อจะแสดงธรรมที่ท่านกล่าวว่า สุธาโภชน์ที่มีรสตั้งร้อย ที่เราบริโภคในวันนี้ ดังนี้ จึงกล่าวว่า พระธรรมที่พระพุทธเจ้าผู้โคตมโคตร ทรงเห็นซึ่งประมาณมิได้ ทรงแสดงไว้แล้ว ดังนี้.

ความของคาถานั้น ประกอบสัมพันธ์ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรง เห็นพระนิพพาน อันหาประมาณมิได้ กำหนดไม่ได้ ชื่อว่าสงบแล้ว เพราะไม่มีความเกิดขึ้นและความสิ้นไป เป็นอสังขตธาตุ ด้วยพระสยัมภูญาณ คือ ทรงเห็นซึ่งไญยธรรม อันหาประมาณมิได้ คือมีประมาณหาที่สุดมิได้ เพราะเหตุนั้น ธรรมอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้โคตมโคตร ผู้มีปกติเห็นธรรมอันหาประมาณมิได้พระองค์นั้น ทรงแสดงแล้วด้วยดี โดยนัยมีอาทิว่า ธรรมเป็นที่สิ้นไป เป็นที่สำรอกกิเลส ไม่ตาย ประณีต ดังนี้บ้าง ว่า ทำให้สร่างเมากำจัดความระหาย ดังนี้บ้าง ว่าเป็นที่เข้าไปสงบแห่งสังขารทั้งปวง ดังนี้บ้าง พระนิพพาน (นั้น) อันเราเสวยแล้วในวันนี้.

จบอรรถกถาปริปุณณกเถรคาถา