ผมได้ยินเขาสนทนากันในเรื่อง วินัยของสงฆ์ที่พระพุทธเจ้าได้บัญญัติไว้ คือ "ห้ามตัดทอนและต่อเติมสิ่งที่ได้บัญญัติไว้" แสดงว่า วินัยของสงฆ์นั้นจะอนุโลมไม่ได้ใช่หรือไม่ครับ แต่เขายังสนทนาเพิ่มเติมอีกว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า "เราอนุญาตให้ยกเลิกสิกขาบทเล็กน้อยได้" เพื่อไม่ให้เป็นที่ลำบากเกินไปสำหรับผู้มาบวชใหม่ และยังสนทนาเพิ่มเติมอีกว่า สมัยพุทธกาลมีพระรูปหนึ่งจะขอลาจากเพศบรรพชิต เพราะทนไม่ไหวกับวินัย พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้รักษาธรรมบทหนึ่งก็พอ แต่ผมจำไม่ได้ว่าธรรมนั้นกล่าวว่าอย่างไร สรุปแล้วสิกขาบทเล็กน้อยนั้น สามารถยกเลิกได้ตามเหตุการณ์ใช่หรือไม่ครับ แล้วสิกขาบทเล็กน้อยนั้น ใครจะเป็นผู้ตัดสินครับว่า เล็กน้อยหรือไม่ ขอความกรุณาช่วยอธิบายครับ
ขอบพระคุณครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
หากจะกล่าวว่า พระพุทธเจ้าให้ยกเลิกสิกขาบทเล็กน้อย แล้วใครเล่าที่จะให้ยกเลิก ข้อนั้นข้อนี้ แม้แต่ พระอริยสาวก ผู้เป็นพระอรหันต์ มีท่านพระมหากัสสปะ และ ท่านพระอานนท์ เป็นต้น เมื่อครั้งทำสังคายนา ครั้งที่ ๑ ผู้ล้วนทรงคุณ เลิศด้วยฤทธิ์และปัญญา ก็มีมติว่า เราจะไม่ยกเลิกสิกขาบทเล็กน้อย เพราะท่านเหล่านั้นเคารพในพระปัญญาคุณและเคารพในพระวินัยที่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้นที่จะบัญญัติได้ แม้ท่านพระสารีบุตรผู้เลิศด้วยปัญญาก็ไม่สามารถบัญญัติพระวินัยได้เลย นี่คือ ความเคารพในพระวินัยบัญญัติและเคารพในพระพุทธเจ้า ของผู้มีปัญญาในสมัยอดีตกาล ครับ
ส่วนข้อความที่ผู้ถามยกมาที่ว่า "เราอนุญาตให้ยกเลิกสิกขาบทเล็กน้อยได้" เพื่อไมให้เป็นที่ลำบากเกินไปสำหรับผู้มาบวชใหม่
ข้อความนี้ไม่มีในพระไตรปิฎก ที่กล่าวว่า ไม่ให้ลำบากสำหรับพระภิกษุบวชใหม่ ไม่มีข้อความนี้ครับ เชิญอ่านข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎก ดังนี้
"เรื่อง สิกขาบทเล็กน้อย"
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ ได้ชี้แจงต่อพระเถระทั้งหลาย ว่า "ท่านเจ้าข้า ... เมื่อจวนจะปรินิพพาน พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกับข้าพเจ้า ว่า ดูกรอานนท์ เมื่อเราล่วงไป สงฆ์หวังอยู่ จะพึง ถอนสิกขาบทเล็กน้อย เสียก็ได้" พระเถระทั้งหลาย ถามว่า "ท่านพระอานนท์ ก็ท่าน ทูลถามพระผู้มีพระภาค หรือเปล่า ว่า พระพุทธเจ้าข้า ก็สิกขาบทเหล่าไหน เป็นสิกขาบทเล็กน้อย"
พระเถระบางพวก กล่าวอย่างนี้ ว่า "เว้นปาราชิก ๔ นอกนั้น เป็นสิกขาบทเล็กน้อย"
ฯลฯ.
"เรื่อง ไม่บัญญัติ และ ไม่ถอนพระบัญญัติ"
ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปะ ประกาศให้สงฆ์ทราบด้วย ญัตติทุติยกรรมวาจา ว่า ดังนี้
ญัตติทุติยกรรมวาจา
"ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์ จงฟังข้าพเจ้า สิกขาบทของพวกเรา ที่ปรากฏ แก่คฤหัสถ์ มีอยู่แม้ พวกคฤหัสถ์ ก็รู้ว่า สิ่งนี้ ควรแก่สมณะ เชื้อสายพระศากยบุตรสิ่งนี้ ไม่ควร ถ้าพวกเรา จักถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสีย จักมีผู้กล่าวว่า พระสมณโคดม บัญญัติสิกขาบท แก่สาวกทั้งหลายเป็นการชั่วคราว พระศาสดา ของพระสมณะเหล่านี้ยังดำรงอยู่ ตราบใดสาวกเหล่านี้ ก็ยังศึกษาในสิกขาบททั้งหลายอยู่ ตราบนั้น เพราะเหตุที่ พระศาสดาของสมณะเหล่านี้ ปรินิพพานแล้ว พระสมณะ เหล่านี้ จึงไม่ศึกษา ในสิกขาบทในบัดนี้ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ ถึงที่แล้ว "สงฆ์" ไม่พึงบัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ ไม่พึงถอนพระบัญญัติ สิ่งที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว พึงสมาทาน ประพฤติในสิกขาบททั้งหลายตามที่ทรงบัญญัติแล้ว"
ฯลฯ
ท่านผู้ฟัง จะเห็นถึงความเคารพ นอบน้อม ของพระอรหันต์ทั้งหลาย ที่มีต่อพระผู้มีพระภาค แม้ว่าจะทรงอนุญาติให้ถอน "สิกขาบทเล็กน้อย" แต่ พระอรหันตเถระทั้งหลาย ท่านก็มีความเคารพ ในสิกขาบท ที่พระผู้มีพระภาค ได้ทรงบัญญัติแล้ว เพราะฉะนั้น พระอรหันตเถระทั้งหลายก็ไม่ถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติแล้วและ ไม่บัญญัติ สิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ ถ้าหากว่าท่านผู้ฟัง ในสมัยนี้ มีความคิดเห็น ว่า พระวินัยบัญญัติ ข้อใด อาจจจะประพฤติไม่ได้ หรือว่า ไม่เหมาะ ไม่ควร ก็ขอให้ท่านระลึกถึง พระอรหันตเถระทั้งหลาย ในการกระทำสังคายนาพระธรรมวินัย ครั้งที่ ๑ ซึ่ง พระอรหันตเถระทั้งหลายมีความเห็นร่วมกัน ว่า ท่านจะไม่บัญญัติสิ่งที่พระผู้มีพระภาค ไม่ทรงบัญญัติ และ จะไม่ถอนสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาค ทรงบัญญัติแล้ว
แนวทางเจริญวิปัสสนาครั้งที่ ๖๐๑ บรรยาย โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระภิกษุทุกรูป ทุกยุคทุกสมัย จะต้องสมาทานศึกษาน้อมประพฤติตามในสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ กล่าวคือ ไม่กระทำในสิ่งที่ผิด และ น้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น จะไม่มีการบัญญัติเพิ่ม และ ไม่มีการถอนสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้แล้ว ซึ่งจะต้องกลับมาที่การตั้งต้นว่า บวช เพื่ออะไร ถ้าไม่มีความจริงใจที่จะศึกษาพระธรรมวินัย ขัดเกลากิเลสของตนเองในเพศบรรพชิต นั่น ไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัยอย่างแน่นอน มีแต่โทษเท่านั้น เมื่อมีการล่วงละเมิดสิกขาบทต่างๆ ไม่ประพฤติตามพระวินัย ก็กำลังทำทางให้ตนเองไปเกิดในอบายภูมิเท่านั้น ไม่ว่าจะบวชนานหรือพึ่งบวชก็ตาม เพราะเหตุว่า การล่วงละเมิดสิกขาบท แล้วไม่มีการเห็นโทษ ไม่มีการแก้ไขให้ถูกต้องตามพระวินัย ก็เป็นผู้มีอาบัติเป็นเครื่องกั้นการบรรลุธรรม และ กั้นการเกิดในสุคติภูมิ ด้วย นั่นหมายความว่า ถ้าหากมรณภาพ (ตาย) ในขณะที่ยังเป็นพระภิกษุอยู่ ชาติถัดไป ก็เกิดในอบายภูมิเท่านั้น น่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง ที่สำคัญ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ทรงบังคับให้ใครบวช แม้เป็นคฤหัสถ์ ก็สามารถศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสของตนเองได้ ครับ
ขอเชิญคลิกฟังการสนทนาได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ ครับ
พระธรรมวินัย ๐๒๗
พระธรรมวินัย ๐๒๘
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างละเอียด
กราบอนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาด้วยครับ
ผู้บวชหากคิดยกเลิกสิกขาบทใดๆ ที่พระพุทธองค์บัญญัติไว้ ท่านเหล่านั้นก็ควรลาสิกขาออกมาเป็นฆราวาสจะดีกว่าครับ คนบวชควรมีเฉพาะผู้อุทิศตนต่อพุทธองค์เท่านั้น
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร
ขอเชิญศึกษาพระธรรม...
รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์
พระไตรปิฎก
ฟังธรรม
วีดีโอ
ซีดี
หนังสือ
กระดานสนทนา
กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ